Link Copied!

รางวัลมากความหมาย ตอนที่ 3 – รางวัลสร้างความเป็นธรรมในสังคม

นิยามความเป็นธรรมในสังคมที่ถูกต้องเหมาะสมคืออะไร กระแสเรียกร้องความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นตัวอย่างที่ดีและพัฒนาการของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนที่ยั่งยืนหรือไม่ แล้วด้วยเหตุผลใด NBA จึงกำหนดให้มีรางวัลผู้ส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคม มาค้นหาที่มากันครับ…

ความเป็นธรรมในสังคมเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดปัญหาหนึ่งในปัจจุบัน กระแส Black Lives Matter ซึ่งเรียกร้องการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อคนผิวสี เป็นกระแสที่โหมกระพือทั่วโลก ในวงการกีฬาก็เกิดปรากฏการณ์คุกเข่าเพื่อแสดงจุดยืนในการเรียกร้องการไม่เหยียดเชื้อชาติ (Racism)

ลีก NBA ฤดูกาล 2019/2020 ที่จัดแข่งแบบไม่มีผู้ชมในฟลอริดา ก็ใช้ชุดแข่งที่มีสโลแกนสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ ส่วนในวงการ F1 ลูอิส แฮมิลตัน แชมป์โลก 7 สมัยก็ออกมาให้สัมภาษณ์อย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับความยากลำบากจากการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เพียงเพราะเขาเป็นนักแข่งผิวสี

ในวงการธุรกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ที่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรจำนวนไม่น้อย ต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะขาดนโยบายที่สนองตอบต่อกระแสสังคมดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญในการสรรหาบุคลากรให้มีความหลากหลายในเชื้อชาติ การมีสวัสดิการเฉพาะสำหรับคนกลุ่มน้อย (Minorities) ความไม่ชัดเจนในการกำหนดคุณสมบัติทางเพศและเชื้อชาติสำหรับตำแหน่งกรรมการบริษัท เป็นต้น

กระแสดังกล่าวได้รับการตอบรับและต่อยอดทั่วโลก จนขอบเขตการเรียกร้องขยายวงไปจนถึงเรื่องประวัติศาสตร์ เกิดข้อเรียกร้องทุบทำลายอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้าทาสในอดีต ขอเปลี่ยนชื่ออาคารสถานที่สำคัญที่ตั้งชื่อตามผู้นำในอดีตที่อาจจะมีประวัติการปฏิบัติต่อคนผิวสีอย่างไม่เป็นธรรม เลยเถิดไปถึงการขอแก้เนื้อหาบทเรียนประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาอ่อนไหวต่อความรู้สึกคนผิวสี

จนกระทั่งนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ถึงกับต้องออกโรงมาพูดในทำนองร้องขอว่า จะเรียกร้องกันก็คงไม่ห้าม แต่อย่าไปบิดเบือนหรือโฟโตช็อปประวัติศาสตร์กันเลยครับ

นี่ยังดีนะครับที่มนุษย์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีความสามารถในการระลึกชาติ ไม่งั้น อีริค แคลปตัน หรือ จอห์น เมเยอร์ ที่เป็นนักดนตรีผิวขาวที่เล่นเพลงบลูส์ซึ่งขับขานความทุกข์ยากของคนผิวสี คงถูกขอให้ย้อนกลับไปเกิดในไร่ฝ้ายแถบลุยเซียนาแน่ๆ เลยครับ

จริงๆ แล้วในวงการ F1 ก็ไม่ได้มีความเห็นเรื่องนี้ตรงกันในกลุ่มนักแข่งสุดยอดของโลก 20 คนนะครับ ช่วงเริ่มฤดูกาลก็มีนักแข่ง 10 คนที่คุกเข่า และอีก 10 คนก็ไม่คุกเข่า

Credit: nba.com

ใน NBA ฤดูกาล 2019/2020 ก็มีนักบาสเกตบอลจำนวนหนึ่งไม่คุกเข่าก่อนเริ่มเกม และไม่ใส่เสื้อที่มีสโลแกนส่งเสริมความเท่าเทียม

ในวงการธุรกิจ CEO ที่มีชื่อเสียงหลายคนก็ออกมาตำหนิกระแสสังคมที่เข้ามาบิดเบือนระบบทรัพยากรบุคคลของบริษัท ที่ควรจะตั้งอยู่บนพื้นฐานความสามารถและความดี (Merit) มากกว่าชาติกำเนิด และก็มีตัวอย่างที่ดีให้เห็นว่าคนเก่งมีความสามารถ แม้จะไม่ใช่คนผิวขาวก็สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดขององค์กรได้ เช่น ซุนดาร์ พิชัย CEO ของ Google ที่เป็นคนเชื้อสายอินเดีย

สรุปแล้ว “ความเป็นธรรมในสังคม” ควรจะนิยามขอบเขตกันอย่างไร แล้วผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคม ควรเป็นคนแบบไหนกันแน่

⚖️⚖️⚖️

ในปี 2021 ลีก NBA ได้กำหนดให้มีรางวัลผู้ส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม (Social Justice Champion Award) โดยตั้งชื่อรางวัลตาม คารีม อับดุล-จับบาร์ ตำนานเซ็นเตอร์ขอ แอลเอ เลเกอร์ส และมิลวอกี บักส์

คารีม ผู้เล่นที่คว้าแชมป์มาแล้ว 6 ครั้ง ได้รางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า 6 ครั้ง และได้รับการจารึกชื่อในหอประกาศเกียรติคุณนักบาสเกตบอล กล่าวไว้น่าฟังว่า เขาต้องการให้ผู้เล่นรุ่นหลัง ไม่เพียงแต่แข่งขันอย่างจริงจังในทุกๆ เกม แต่ควรที่จะแข่งขันกันทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นในทุกๆ วัน

ตลอดเวลา 20 ปีในลีกและอีกหลายทศวรรษหลังจากที่เขาเลิกเล่น คารีมมุ่งมั่นช่วยสังคมแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะในมุมของความเท่าเทียม การให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเชื้อชาติและการเปิดประตูให้คนด้อยโอกาส ที่มีข้อจำกัดเนื่องจากข้อบกพร่องของระบบที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถูกถามว่า รู้สึกอย่างไรที่ลีกกำหนดให้มีรางวัลนี้ และทำไมถึงพึ่งมามีรางวัลนี้ในปี 2021 คารีมกล่าวว่า

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติและตื่นเต้นที่ลีกตั้งชื่อรางวัลตามชื่อของผม ผมหวังว่ารางวัลนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เล่นได้เห็นว่าพวกเขาทำอะไรได้กว้างไกลมากกว่าเกมบาสเกตบอลแค่ไหน และเมื่อพวกเขาแข่งกันทำสิ่งที่ดีให้กับชุมชน ผลกระทบเชิงบวกจะเกิดขึ้นอย่างทวีคูณ”

“การเปลี่ยนแปลงบางอย่างจำเป็นต้องอาศัยเวลา ความมุ่งมั่น และการกระทำอย่างสม่ำเสมอ ถึงจะหมุนวงล้อแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ การสร้างความเป็นธรรมในสังคมก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องใช้ทั้งเวลา ความกล้าหาญที่จะพูด ความเชื่อว่าสิ่งที่คุณพูดสุดท้ายแล้วจะมีคนได้ยิน ผมดีใจที่คนในรุ่นปัจจุบันมีความกล้าแสดงออก และหยัดยืนในสิ่งที่พวกเขาคิดว่าถูกต้อง และเมื่อเทคโนโลยีที่ช่วยบันทึกหลักฐานความไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องดิจิทัล แล้วยังมีโซเชียลมีเดียที่ช่วยกระจายข่าว การสร้างความเป็นธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าสมัยผมมาก และเมื่อสิ่งเหล่านี้ได้รับการบอกกล่าวและรับรู้ในวงกว้าง มันก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่ลีกจะมีรางวัลแบบนี้ครับ”

และเมื่อผู้สื่อข่าวของอีเอสพีเอ็น (ESPN) สอบถามว่า ในตอนที่คารีมเริ่มต้นทำเรื่องเหล่านี้ ยากลำบากมากน้อยแค่ไหน และตอนนั้นเขาลงมือทำเพราะอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือแค่เพียงตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เขาตอบอย่างถ่อมตนว่า

“ลำบากมากครับ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยเหมือนตอนนี้ แต่ถ้าคุณมองย้อนไป ผมไม่ใช่คนแรกที่เริ่มทำเรื่องนี้นะครับ นักกีฬาแบบ บิล รัสเซล (เซ็นเตอร์ในตำนานของบอสตัน เซลติกส์) มูฮัมหมัด อาลี (ตำนานยอดนักชกรุ่นเฮฟวีเวท) และ แจ็คกี โรบินสัน (ตำนานนักเบสบอล) ทำเรื่องนี้มาก่อนผม พวกเขาต้องเจอเรื่องที่ยากกว่าผมมาก เพราะสภาพแวดล้อมในสังคมตอนนั้นคนที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมส่วนใหญ่ก้มหน้ายอมรับ พวกเขาต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากในการสร้างการเปลี่ยนแปลง และพวกเขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมได้เดินในเส้นทางเดียวกัน”

“เวลาคุณเริ่มต้นอยากเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไร การเปลี่ยนแปลงมันมักจะมาในเวลาที่ไม่ทันใจหรอกครับ คล้ายๆ ข่าวร้ายนั่นล่ะครับ ที่มักจะไม่เลือกกาละเทศะที่ควร” คารีมตอบกลั้วเสียงหัวเราะ

“การเปลี่ยนแปลงมักจะมาช้า และบางครั้งช้ามากเสียจนพาให้หมดกำลังใจ แต่เมื่อมันเกิดขึ้น คุณจะรู้ได้เลยว่ามันมีค่ามากมายแค่ไหน”

นี่ล่ะครับเหตุผลที่ NBA ตั้งชื่อรางวัลนี้ตามคารีม

⚖️⚖️⚖️

สำหรับกระบวนการในคัดเลือกผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ จะตัดสินโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วย

– คารีม อับดุล-จับบาร์

– ผู้อำนวยการสถาบันความหลากหลายและเชื้อชาติ – ดร. ริชาร์ด แล็ปชิก

– ผู้นำนักศึกษาด้านกิจกรรมรณรงค์ – ทีออนนา ลอฟท์ตัน

– CEO ของ National Urban League องค์กรอิสระที่ช่วยเหลือส่งเสริมคนผิวสีและคนกลุ่มน้อยที่ด้อยโอกาสในเขตเมือง – มาร์ค มอเรียล

– CEO UnidosUS องค์กรที่ดูแลเรื่องความเท่าเทียมของคนเชื้อสายฮิสแปนิก – เจเน็ต เมกวียา

– CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Rise องค์กรอิสระที่รณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน – อแมนดา นูเย็น

– รองเลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่ด้านปฏิบัติการของ NBA – มาร์ค ตาตัม

คณะกรรมการจะคัดเลือกผู้เข้ารอบสุดท้าย 5 คน ทั้ง 5 คนนึ้จะกำหนดองค์กรหรือหน่วยงานที่พวกเขาต้องการจะสนับสนุนงบประมาณสำหรับส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคม และจากนั้นจึงคัดเลือกผู้ที่ได้รับรางวัล

ผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้รับเงิน 100,000 เหรียญ เพื่อบริจาคให้แก่องค์กรที่กำหนดไว้ ส่วนอีก 4 คนจะได้รับเงิน 25,000 เหรียญ เพื่อบริจาคให้องค์กรที่พวกเขาต้องการให้ได้รับงบประมาณ

ท่านผู้อ่านคงเห็นได้อย่างชัดเจนนะครับ ว่ารางวัลนี้ลีกไม่ได้ตั้งขึ้นมาเอง แล้วเลือกผู้เข้ารอบสุดท้ายกันเอง แต่ลีกสร้างกลไกให้ทั้งผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนองค์กรที่ทำเรื่องความเป็นธรรมของสังคมมาต่อเนื่องยาวนาน จนรู้ว่าอะไรที่ได้ผลอะไรที่ไม่ได้ผล ตลอดจนมีตัวแทนของคนรุ่นปัจจุบัน (นักศึกษา) มาร่วมในการตัดสิน

ดังนั้นรางวัลนี้จึงมอบให้กับคนที่สร้างผลกระทบเชิงบวกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

ถ้าจะมองให้ลึกลงไปอีกนิดนะครับ นักบาสเกตบอลทั้ง 5 คนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น คาร์เมโล แอนโธนี ฟอร์เวิร์ดของเทรลเบลเซอร์ส, แฮริสัน บาร์นส์ การ์ดซาคราเมนโต คิงส์, โทไบอัส แฮร์ริส ฟอร์เวิร์ดฟิลาเดลเฟีย เซเวนตีซิกเซอร์ส, จรู ฮอลิเดย์ การ์ดจ่ายของมิลวอกี บักส์ และ ฮวน ทอสคาโน-แอนเดอร์สัน ฟอร์เวิร์ดของ โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส ทุกคนทำเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมด้วยแรงกาย แรงใจ และทุนทรัพย์ ของพวกเขาทั้งสิ้น แต่พวกเขาไม่ได้รับเงินรางวัลจากลีกเลย เพราะรางวัลทั้งหมดจะบริจาคให้องค์กรที่พวกเขาเลือกไว้…

กลไกการให้รางวัลแบบนี้ ตั้งอยู่บนแนวคิดของ “การขยายเครือข่ายของผู้ให้” นักบาสเกตบอลทั้ง 5 คนจึงเป็นตัวแทนของผู้ให้ที่ดี ผู้สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้ลีกมาร่วมสนับสนุนการทำดีดังกล่าว

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือแนวคิดการให้รางวัลตรงไปที่องค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคม ก็เปรียบเสมือนแนวคิด “การสร้างความเข้มแข็งของผู้ให้” นั่นเอง

หากเราแวะเวียนไปดูว่าทั้ง 5 คนที่ได้เข้ารอบสุดท้าย เขาทำอะไรกันบ้างจึงทำให้ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบสุดท้าย ก็จะเห็นได้ชัดเลยครับว่าทุกคนมุ่งมั่นช่วยเหลือแก้ไขระบบ กลไก กฎเกณฑ์ และข้อจำกัดของระบบงบประมาณ ที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม เช่น ช่วยเหลือชุมชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาเพราะอยู่นอกพื้นที่การศึกษา ช่วยเหลือผ่านกลไกงบประมาณเพื่อยกระดับมาตรฐานสารณสุขในพื้นที่ที่การแพทย์ที่ดีเข้าถึงยาก การช่วยเหลือองค์กรจัดนิทรรศการศิลปะสำหรับคนผิวสี การทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่ไม่ครอบคลุมการดูแลคนกลุ่มน้อย เป็นต้น โดยไม่ได้ขอสิทธิประโยชน์พิเศษใดๆ ให้กับคนผิวสีหรือคนกลุ่มน้อยแต่อย่างใดเลย เพราะพวกเขาตระหนักดีว่าการทำเช่นนั้น ก็จะเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมให้คนผิวขาว หรือกลายเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวขาวนั่นเอง

นักบาสเกตบอลทั้ง 5 คนมุ่งมั่นแก้ไขระบบ ด้วยความเชื่อว่าถ้าระบบดีขึ้น ผลที่ดีขึ้นก็จะตามมาเอง

กระแสสังคมบางอย่างเมื่อมีโมเมนตัมที่ดี ก็จะมีคนโหนกระแส จำนวนไม่น้อยหวังผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการ แต่ไม่ใส่ใจกับกระบวนการที่ถูกต้องและโปร่งใส สุดท้ายแล้วก็ไปสร้างให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมในรูปแบบใหม่

องค์กรหลายองค์กรต้องการตอบโจทย์แรงกดดันทางสังคมในเวลาอันสั้น เลยสร้างระบบโควตาขึ้นมา อาทิ สัดส่วนพนักงานผิวสีในองค์กร สัดส่วนผู้หญิงในคณะกรรมการ แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญในกระบวนการคัดเลือกตามคุณสมบัติ และอาจไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า การกำหนดโควตาก็ไม่ต่างจากการยอมรับกลายๆ ว่าระบบในองค์กรมีปัญหา

รางวัลผู้ส่งเสริมความเป็นธรรมในสังคม ที่ลีก NBA กำหนดให้มีในปีนี้ จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีเกี่ยวกับการคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนลึกซึ้งทั้งวัตถุประสงค์ กลไก และการคัดเลือกผู้ที่ได้รับรางวัล ทั้งนี้เพื่อให้ผลของรางวัลขยายคุณค่าได้กว้างไกลกว่าตัวรางวัลเอง ทั้งยังเป็นตัวอย่างของความเชื่อที่ว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและต่อยอดได้ ควรเกิดจากการปรับปรุงระบบและกลไก มากกว่าการสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ

รางวัลนี้จึงเป็นรางวัลมากความหมายอีกรางวัลหนึ่งครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares