Link Copied!

รางวัลมากความหมาย ตอนที่ 2 “สุดยอดตัวสำรอง” กับรางวัลผู้เล่นคนที่หกยอดเยี่ยม

สถานะตัวสำรองนั้น ไม่ได้บ่งชี้ถึงความสุดยอด การเป็นตัวเลือกแรก หรือแม้กระทั่งความสำคัญต่อทีม แล้วทำไมลีกบาสเกตบอลระดับโลกแบบ NBA จึงมีรางวัลสุดยอดตัวสำรอง มอบให้นักกีฬาในทุกๆ ปี

คำว่า “ตัวสำรอง” คนทั่วไปเมื่อได้ยินครั้งแรก อาจจะเกิดความรู้สึกแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคน ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ใช่ความคิดเชิงบวกเลยครับ ยิ่งถ้ามีคนมาบอกว่าเราเป็นเพียงตัวสำรอง เราอาจจะรู้สึกด้อยค่าลงไปด้วยความรู้สึกว่า เราไม่ได้เป็นตัวจริงที่ถูกเลือก หรือถ้าถูกเลือกก็ไม่ใช่ตัวเลือกแรกของเขา เราไม่ได้เก่งที่สุด หรือว่าคุณสมบัติและความสามารถของเรามันยังไม่ถึงขั้นมาตรฐานที่เขากำหนดไว้

สำหรับคนที่อายุมากกว่า 40 ปี เสียงเพลงท่อนฮุกของคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง “รู้ตัวตั้งนานก็เตรียมใจไว้ก่อน ไอ้เรามันตัวสำรองคนหนึ่ง” ก็อาจจะผุดขึ้นมาในความคิดทันที ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะถึงขนาดต้องเตรียมใจกันเลยทีเดียว

เวลาที่เราเล่นกีฬา และก่อนแข่งแล้วได้ยินโค้ชเรียกชื่อเราว่าเป็นหนึ่งใน 11 คนแรกที่ลงแข่งฟุตบอล หรือ 6 คนแรกเกมวอลเลย์บอล หรือ 5 คนแรกของบาสเกตบอล หัวใจเราจะพองโตขึ้นทันทีเพราะได้เป็นตัวแทนของทีม ของเพื่อน ลงแข่งในฐานะตัวจริง

แต่ถ้าไม่ได้ยินชื่อเราในฐานะตัวจริง ไม่มากก็น้อยล่ะครับ ก็ต้องเดินจ๋อยๆ กลับมาที่ม้านั่งตัวสำรองข้างสนามคอยส่งใจไปช่วยเพื่อนในสนาม ถ้าลองคิดย้อนไปตอนเด็กที่ความคิดยังอาจไม่โตเป็นผู้ใหญ่นัก บางคนอาจจะถึงขนาดนึกเอาใจช่วยคู่แข่งให้ทำฟาวล์เพื่อนเราหนักๆ เผื่อมันเจ็บ เราจะได้โอกาสลงไปโชว์ลีลาให้โลกรู้ว่าเรามีฝีมือเหมือนกัน

นั่นล่ะครับ ความรู้สึกรวมๆ ต่อการเป็นตัวสำรอง

ครั้งแรกที่ผมได้ยินรางวัลที่ชื่อว่า รางวัลผู้เล่นคนที่หกยอดเยี่ยมประจำปี หรือ The Sixth Man of the Year Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ลีก NBA มอบให้กับสุดยอดตัวสำรอง ผมทั้งแปลกใจและสงสัยว่าทำไมต้องมีรางวัลประเภทนี้

แวบแรกผมคิดเปรียบเทียบกับรางวัลในเชิง “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” แต่เมื่อมองรายละเอียดแล้วก็เห็นว่าไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะนายอินทร์นั้นทำดีแต่คนไม่เห็น แต่รางวัลนี้มีให้คนที่ลงไปเล่น ผู้ชมก็เห็นกันเต็มๆ เพียงแต่พวกเขาลงมาเล่นจากม้านั่งสำรอง

แล้วทำไมต้องมีรางวัลนี้กันแน่ มาดูกันครับ

ลีกบาสเกตบอล NBA นั้นถือว่าเป็นลีกที่โปรแกรมแข่งขันค่อนข้างหนักหนาสาหัส ฤดูกาลปกติ (ก่อนโควิด) ก็ต้องแข่งกัน 82 นัด พอเข้าเพลย์ออฟก็ต้องแข่งแบบซีรีส์ 7 เกม ใครชนะถึง 4 เกมก่อนก็ได้ไปต่อ หากจะไปถึงแชมป์ก็ต้องเอาชนะในเพลย์ออฟ 4 รอบ ถ้าทีมที่เก่งสุดๆ กวาดซีรีส์ได้ใน 4 เกมทุกรอบ ก็จะต้องแข่งทั้งหมด 98 นัดถึงจะได้ชูถ้วยแชมป์ แต่ถ้าเผอิญปีนั้นทีมไม่ได้เก่งกว่ากันมาก ซีรีส์เพลย์ออฟกลายเป็นหนังยาวที่ต้องแข่งถึงเกมที่ 7 ทุกรอบ ในกรณีนี้กว่าจะได้แชมป์ก็ต้องลงเล่นถึง 110 นัดด้วยกัน

ด้วยความหนักหนาประมาณนี้ ทีมก็คงไม่สามารถพึ่งพิงผู้เล่นเฉพาะ 5 คนแรกหรือสตาร์ตเตอร์เพียงอย่างเดียว การมีผู้เล่นสำรองที่ทั้งสภาพร่างกายและทักษะไม่แตกต่างกันมากนัก จึงเป็นสิ่งที่ทีมขาดไม่ได้ ในภาษาเทคนิคของกีฬาประเภทนี้ จึงมักจะเรียกทีมที่มีผู้เล่นตัวสำรองหลายคนที่เล่นแทนที่ตัวจริงได้ว่าเป็นทีมที่มี Depth (ความลึก)

ในเชิงสถิติมีการวัดการทำคะแนนของตัวสำรองที่เรียกว่า เบนช์สกอร์ (Bench Score) ซึ่งทีมที่มีสถิติด้านนี้ดีกว่าก็มักจะเป็นผู้ชนะในเกมเป็นส่วนใหญ่

ถ้ามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง การจัดการแข่งขันจะเป็นระบบเหย้าเยือน แปลว่าแต่ละทีมต้องแข่งกับทีมอื่นๆ อย่างน้อย 2 นัด ถ้าอยู่ในดิวิชันเดียวกันต้องเจอกัน 4 นัด ถ้าอยู่คนละดิวิชันแต่สาย (Conference) เดียวกันก็ต้องเจอกัน 3 นัด

ประเด็นคือการที่ต้องเจอกันอย่างน้อย 2 นัดเหย้าเยือนนั้น เปิดโอกาสให้ได้ศึกษาคู่แข่งอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการเจาะลึกวิเคราะห์ผู้เล่นตัวหลักตัวจริง และแผนการที่ใช้ผู้เล่นตัวจริงขับเคลื่อนเกม

ผู้เล่นตัวสำรองเลยกลายเป็นตัวแปรที่คู่แข่งอาจคาดไม่ถึง สร้างรูปแบบเกมที่หลากหลาย หลายครั้งไม่ได้เป็นไปตามที่คู่แข่งวางแผนไว้ สำหรับบาสเกตบอล NBA การจัดผู้เล่นสำรองลงสนาม ไม่เพียงช่วยให้ตัวจริงได้พักเท่านั้น แต่หลายครั้งที่ทีมเพลี่ยงพล้ำ ตัวจริงเล่นไม่ได้ดังใจ ตัวสำรองที่ส่งลงไปอย่างเหมาะเจาะ อาจจะช่วยพลิกเกมให้กลับมาเป็นต่อได้อย่างคาดไม่ถึง

ตัวสำรองในลีก NBA จึงไม่ได้ด้อยค่าเหมือนตัวสำรองในบริบทอื่นของชีวิต แต่มีค่าไม่ต่างจากส่วนผสมวิเศษที่มีไว้สร้างชัยชนะเลยครับ

ทีมบาสเกตบอลนั้นทั้งทีมมีผู้เล่น 12 คน ลงเล่นครั้งละ 5 คน นั่นหมายถึงทีมมีตัวสำรอง 7 คน ผู้เล่นคนที่ 6 ก็คือผู้เล่นสำรองคนแรกที่โค้ชนึกถึงเวลาที่จะต้องถอดตัวจริงออกจากเกม ดังนั้นผู้เล่นคนที่ 6 เป็นคนที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจว่าจะสร้างผลงานได้ไม่แพ้ตัวจริง

รางวัลผู้เล่นคนที่ 6 ยอดเยี่ยม จึงเป็นรางวัลที่มอบให้ผู้เล่นสำรองชั้นเทพ ซึ่งลงสนามมาแล้วเล่นได้ไม่ต่างกับตัวจริง สร้างสรรค์เกมและมีอิทธิพลชี้ผลแพ้ชนะของเกมได้

ถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่า ถ้าเก่งขนาดนี้แล้วทำไมถึงเป็นตัวสำรอง เหตุผลหลักๆ เป็นตามนี้นะครับ

เหตุผลแรก ผู้เล่นถูกวางไว้เป็นตัวสำรองที่เป็นตัวตายตัวแทนผู้เล่นตัวจริงคนใดคนหนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นกันเร็วๆ นี้คือ ลู วิลเลียมส์ การ์ดจ่ายของแอตแลนตา ฮอว์กส์ ที่เป็นตัวสำรองหลักสำหรับ เทรย์ ยัง การ์ดจ่ายตัวจริงของทีม 

ในเกมที่ 4 ของซีรีส์ชิงแชมป์สายตะวันออกปีนี้ ยังบาดเจ็บและไม่สามารถลงช่วยทีมได้ ลูจึงต้องลงสนามแทน และทำผลงานได้ยอดเยี่ยมทำให้ทีมชนะมิลวอกี บักส์ เหตุผลส่วนหนึ่งนอกเหนือจากฝีมือที่ยอดเยี่ยมของลู ก็คือ รูปแบบเกมของฮอว์กส์ต่างไปจากเวลาที่ เทรย์ ยัง ลงสนาม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เกมรับของบักส์สับสนตั้งแต่เริ่มเกม เพราะเกมบุกของฮอว์กส์เปลี่ยนไป

ลู วิลเลียมส์ เป็นเจ้าของรางวัลนี้ถึง 3 สมัย สูงสุดในประวัติศาสตร์ลีกร่วมกับ จามาล ครอว์ฟอร์ด จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าทำไมลูจึงเป็นผู้เล่นสำรองที่ทุกทีมอยากมี แม้ว่าเขาจะเป็นผู้เล่นสำรองที่ค่าเหนื่อยสูงกว่าผู้เล่นตัวจริงบางคนเสียอีก

อีกเหตุผลก็คือ ผู้เล่นคนที่ 6 มีทักษะที่หลากหลาย สามารถทดแทนได้หลายตำแหน่ง แต่ความสามารถอาจจะไม่ลงตัวกับแผนการเล่นหลักของทีม หรืออาจกระทบกับสมดุลของความสามารถของผู้เล่น 5 คนแรก ตัวอย่างที่ดีของกรณีนี้คือ โทนี คูโคช สุดยอดผู้เล่นฟอร์เวิร์ดของชิคาโก บูลส์ ยุคที่มี ไมเคิล จอร์แดน และ สกอตตี พิพเพน

ก่อนเริ่มเล่นใน NBA คูโคชเป็นซูเปอร์สตาร์ของวงการบาสเกตบอลยุโรป เคยได้แชมป์ทั้งระดับสโมสรและระดับประเทศ ทีมโครเอเชียที่มีเขาประสานงานกับ ดราเซน เปโตรวิช เป็นทีมที่ยากจะต่อกร และพวกเขาสู้กับดรีมทีมของอเมริกาได้อย่างสนุก พูดง่ายๆ ว่าคูโคชนั้นสามารถเป็นผู้เล่นตัวจริงของทุกทีมใน NBA ได้

แต่ผู้เล่น 5 คนแรกของบูลส์ในยุคนั้น ประกอบด้วยผู้เล่นทักษะรอบตัว 3 คน คือ จอร์แดน, พิพเพน และ รอน ฮาร์เปอร์ และผู้เล่นชำนาญเฉพาะทางอีก 2 คนคือ เดนนิส ร็อดแมน จอมรีบาวด์ และ ลุค ลองลีย์ เซ็นเตอร์ที่เก่งในการเคลื่อนที่ทำเกมและการป้องกัน หากจะเติมคูโคชลงไปในชุดผู้เล่น 5 คนแรก ก็จะทำให้ทีมเสียสมดุลเพราะจะมีผู้เล่นทักษะหลากหลายมากจนเกินไป

ด้วยเหตุผลนี้คูโคชจึงต้องลงเล่นในฐานะตัวสำรองคนแรกหรือผู้เล่นคนที่ 6 ที่โค้ช ฟิล แจ็คสัน ไว้เนื้อเชื่อใจ ผู้เล่นที่มีความสูงระดับเขา นอกจากรีบาวด์ได้ดีสมตัวแล้ว ฝีมือการยิง 3 คะแนนและจ่ายบอลก็ยอดเยี่ยม การส่งเขาลงเล่นช่วยเปิดมิติของเกมให้กว้างขวางขึ้น ทำให้บูลส์เป็นทีมไร้ผู้ต่อต้าน

ด้วยฝีมือและประสบการณ์ที่สั่งสม แม้จะต้องลงเล่นเป็นตัวสำรอง คูโคชช่วยยิงลูกตัดสินชัยให้บูลส์หลายต่อหลายครั้ง และมีส่วนสำคัญช่วยให้บูลส์สร้างสถิติชนะถึง 70 ครั้งในฤดูกาลปกติเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ลีก

หลักฐานที่เป็นสิ่งยืนยันความยอดเยี่ยมของคูโคช คือการที่เขาได้รับการจารึกชื่อในหอเกียรติยศบาสเกตบอล (Basketball Hall of Fame) ความสำเร็จดังกล่าวบอกข้อเท็จจริงว่าแม้จะไม่ใช่ผู้เล่นตัวจริงโดยตลอด แต่ก็สามารถสร้างตำนานด้วยฝีมือที่ยอดเยี่ยมได้เช่นกัน

ผู้เล่นที่ได้รางวัลนี้หลายคนเป็นที่ชื่นชอบของแฟนบาสมากกว่าผู้เล่นตัวจริงเสียอีก ผู้เล่นแบบ จอห์น สตาร์ก เป็นขวัญใจชาวนิวยอร์กไม่แพ้ แพทริก อีวิง ส่วน มานู จิโนบิลี นักบาสอาร์เจนไตน์ก็เป็นที่รักของชาวเมืองซาน อันโตนิโอ หรือ เดล เคอร์รี พ่อของ สเตฟ เคอร์รี ก็เป็นที่ชื่นชอบของชาวเมืองชาร์ลอตต์

เจสัน เทอร์รี ชู้ตติ้งการ์ดของดัลลัส มาเวอริกส์ เป็นผู้เล่นที่ได้รางวัลนี้โดยที่เวลาลงเล่นเฉลี่ยต่อเกมสูงถึง 33.7 นาที สูงกว่าผู้เล่นตัวจริงของทีม 3 คนเสียอีก (เกม NBA 1 เกมยาว 48 นาที)

เจ้าเครา เจมส์ ฮาร์เด็น การ์ดตัวท็อปของลีก ก็เคยได้รางวัลนี้ ก่อนที่จะก้าวไปเป็นผู้เล่นตัวจริงและคว้ารางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าของลีก MVP ได้ในที่สุด ในประวัติศาสตร์ลีกนอกเหนือจากฮาร์เด็นแล้ว ก็มี บิล วอลตัน ที่ทำได้แบบเดียวกัน หากแต่วอลตันนั้นคว้ารางวัล MVP เมื่อคราวเล่นให้พอร์ทแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส ก่อนที่ในช่วงท้ายของชีวิตการเล่น เขามาคว้ารางวัลผู้เล่นคนที่หกยอดเยี่ยมสมัยที่เล่นเป็นตัวสำรองในทีมบอสตัน เซลติกส์

ทั้งฮาร์เด็นและวอลตันเป็นตัวอย่างที่ดีของทัศนคติมืออาชีพ ที่ทำเต็มที่ ใส่ทุกเม็ด มุ่งสร้างผลงานให้ทีม โดยไม่ปล่อยให้สถานะตัวจริง-ตัวสำรองมาบั่นทอนความสามารถ ต่างจากนักกีฬาชั้นนำหลายคนที่การถูกขอให้เป็นตัวสำรอง ไม่ต่างจากการถูกไล่ออกจากทีม หนึ่งในนั้นคือ อัลเลน ไอเวอร์สัน ที่ชีวิตการเล่นบาสเกตบอลสั้นกว่าที่ควร ก็เพราะอัตตาที่ยึดติดกับสถานะตัวจริง

สำหรับในปี 2021 ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้คือ จอร์แดน คลาร์กสัน ผู้เล่นลูกเสี้ยว ฟิลิปปิโน-อเมริกัน ผู้เลือกลงเล่นให้ทีมชาติฟิลิปปินส์ นับเป็นครั้งแรกที่นักกีฬาเชื้อสายอาเซียนได้รับรางวัลจากลีก

คลาร์กสันเล่นในลีกมาหลายปี ส่วนใหญ่รับบทบาทผู้เล่นสำรอง แต่ผลงานของเขากลับดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเมื่อเล่นกับแอลเอ เลเกอร์ส, คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส และในปัจจุบันกับยูทาห์ แจ๊ส เขาพูดเสมอว่าความโชคดีอย่างหนึ่งของการเป็นตัวสำรองคือการได้เห็นเกมในมุมกว้าง เรียนรู้รูปแบบเกมจากข้างสนาม เข้าใจสภาพจิตใจของทีมและคู่แข่ง เห็นจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ เวลาลงเล่นจะไม่เสียเวลามากในการปรับตัวเข้าสู่เกม

ทัศนคติของคลาร์กสันสร้างตัวอย่างของความคิดที่ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดเราก็สามารถพัฒนาตัวเองได้

รางวัลผู้เล่นคนที่หกยอดเยี่ยมประจำปี หรือเรียกภาษาบ้านๆ ว่ารางวัลสุดยอดตัวสำรองนั้น จึงมีความหมายที่ลึกซึ้ง และสถานะของการเป็นตัวสำรองนั้น ไม่ได้ด้อยค่าหรือไร้ความหมายแต่อย่างใดเลย

รางวัลนี้ยังให้ข้อคิดที่สำคัญเกี่ยวกับการให้ความสำคัญของคุณค่าสิ่งที่ทำ มากกว่าความสำคัญของสถานะ ตำแหน่ง และยศถาบรรดาศักดิ์

สำหรับการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลนี้ในแต่ละปี คณะกรรมการที่ประกอบด้วยนักข่าวกีฬาและผู้บรรยายเกม จะเป็นผู้ตัดสิน กลไกการคัดเลือกในลักษณะนี้ยังสะท้อนให้เห็นความคิดที่ว่า คุณค่าของผู้เล่นตัวสำรองนั้น ได้รับการมองเห็นและยกย่องผ่านสายตาผู้ชำนาญเกม และผ่านมุมมองของผู้ชม

กลไกการตัดสินนี้ยังให้มุมคิดว่าเราไม่ควรประเมินคุณค่าตัวเอง จากมุมมองหรือการตัดสินของใครคนใดคนหนึ่ง แถมยังให้ข้อคิดเชิงกำลังใจอีกว่า หากมุ่งมั่นทุ่มเทสร้างคุณค่า สุดท้ายจะมีคนเห็น นี่ละครับเป็นเหตุผลว่าทำไมรางวัลบางประเภทจึงมากความหมาย…เราจะไปต่อหรือห่อเหี่ยวก็อยู่ที่เรานะครับ และถ้าเรามั่นใจว่าเราทำสิ่งที่ดีมีคุณค่าก็จะมีคนเห็นในที่สุดครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares