Link Copied!
NBA

เก่งรอบด้าน หรือเด่นเฉพาะทาง อะไรดีกว่ากัน? NBA-The Player Part 8

“ทำไมนักกีฬาที่ทำลายสถิติที่ยืนยาวกว่าอายุคนหลายคน แต่กลับไม่มีความสุข”

“สถิติมีไว้เพื่อทำลาย” เป็นประโยคยอดนิยมในวงการกีฬา ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อที่ว่าพัฒนาการและสิ่งที่ดีกว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สถิติบางอย่างนั้น ดูแล้วยากมากที่จะมีใครทำลายลงได้

ในปี 1962 มีเหตุการณ์ที่สำคัญในลีก NBA เกิดขึ้น 2 อย่าง อย่างแรกคือสถิติทำคะแนน 100 คะแนนในเกมเดียวของ วิลท์ แชมเบอร์เลน ที่ยังคงอยู่ยั้งยืนยงจนถึงปัจจุบัน ใกล้เคียงที่สุดคือสถิติ 81 คะแนนของ โคบี ไบรอันท์ รองลงมาก็คือ 73 คะแนนของ เดวิด ทอมป์สัน จากทีมเดนเวอร์ นักเก็ตส์ ที่ทำไว้ในปี 1978 นอกจากนี้ก็มียอดนักบาสอีกเพียง 3 คนที่ทำแต้มได้เกิน 70 คะแนนต่อเกมคือ เอลจิน เบย์เลอร์ (เลเกอร์ส, 71 คะแนน, ปี 1961) เดวิด โรบินสัน (สเปอร์ส, 71, 1994) และล่าสุด เดวิน บุ๊กเกอร์ (ฟีนิกซ์ ซันส์, 70, 2017)

นั่นคือสถิติการเล่นในมิติของการทำคะแนนเพียงแขนงเดียว แต่ก็เป็นสถิติที่อย่าว่าแต่ยากที่จะทำลายเลยครับ แค่เทียบเคียงก็ยากแสนสาหัสแล้ว เพราะตั้งแต่มีลีกนี้มา มีผู้เล่นเพียง 6 คนเท่านั้นที่ทำแต้มถึงระดับ 70 คะแนน ขนาดเทพทำแต้มแบบ ไมเคิล จอร์แดน ก็ยังทำสูงสุดในอาชีพที่ 69 คะแนน ส่วนราชาคนปัจจุบัน เลบรอน เจมส์ ก็ทำสูงสุดในอาชีพถึงตอนนี้อยู่ที่ 61 แต้ม

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์อีกอย่างที่เกิดขึ้นในฤดูกาลนั้น คือการที่ ออสการ์ โรเบิรต์สัน (บิ๊กโอ) การ์ดทีมมิลวอกี บักส์ สร้างสถิติค่าเฉลี่ยทั้งฤดูกาลแบบทริปเปิลดับเบิล นั่นคือการทำคะแนนรีบาวด์ และแอสซิสต์ (ส่งบอลให้เพื่อนทำคะแนน) แต่ละอย่างมากกว่า 10 ครั้งต่อเกม ซึ่งนักบาสส่วนใหญ่นั้น เล่นบาสตลอดชีวิตก็ยังไม่เคยได้ทริปเปิลดับเบิลเลยครับ

นี่คือสถิติที่สะท้อนความยอดเยี่ยมของบิ๊กโอ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นเต้ยในแต่ละแขนง แต่เป็นผู้เล่นที่ทำลายความเชื่อเกี่ยวกับกีฬาบาสเกตบอล กีฬาทีมที่สร้างบนความเชื่อว่าผู้เล่นแต่ละตำแหน่งเป็นเสมือนผู้ชำนาญด้านใดด้านหนึ่ง มาประสานความสามารถกัน ไม่ใช่กีฬาที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเก่งไปเสียรอบด้าน

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งสองเหตุการณ์นั้น ในความเห็นของคุณผู้อ่าน ระหว่าง วิลท์ กับ บิ๊กโอ ใครเก่งกว่ากันครับ แล้วท่านผู้อ่านประทับใจสถิติไหนมากกว่ากันครับ…

🏀🏀🏀

ในมุมคณิตศาสตร์สถิติ หากเราเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยต่อเกม รีบาวด์ต่อเกม และแอสซิสต์ต่อเกมของตำนานผู้เล่น 2 คนนี้ ในฤดูกาล 1961-62 ก็จะมีหน้าตาสถิติประมาณนี้ครับ

วิลท์: 50.4 แต้ม/เกม 25.7 รีบาวด์/เกม 2.4 แอสซิสต์/เกม

ส่วนของบิ๊กโอ: 30.8, 12.5, 11.4

มาคิดกันเล่นๆ นะครับว่าการเล่นของสองผู้ยิ่งใหญ่มีผลต่อเกมอย่างไร สมัยนั้นไม่มีลูกยิง 3 คะแนน ดังนั้นการส่งบอลให้เพื่อนทำคะแนนหรือแอสซิสต์นั้นจะมีผลเท่ากับได้ 2 คะแนนต่อครั้ง

ถ้าใช้ตามหลักคิดนี้ คะแนนรวมต่อเกมที่วิลท์ช่วยทีมทั้งทำแต้มเองและส่งบอลให้เพื่อนทำแต้ม จะอยู่ที่ 105.6 แต้มต่อเกม ส่วนของบิ๊กโอจะอยู่ที่ 84.4 แต้มต่อเกม ในมุมนี้วิลท์เหนือกว่าบิ๊กโอเห็นๆ

หากเปรียบเทียบตำนานทั้งคู่ในเชิงของชื่อเสียง และความจดจำของสื่อและแฟนบาสแล้ว วิลท์ก็เป็นที่จดจำและกล่าวถึงมากกว่า ด้วยความสามารถในการทำแต้มและสถิติ 100 คะแนนในหนึ่งเกมของเขา

แต่ถ้าถามนักบาสที่เล่นในรุ่นราวคราวเดียวกันกับตำนานทั้งสอง เกือบทั้งหมดจะกล่าวว่าการเล่นของบิ๊กโอส่งผลกระทบต่อลีกอย่างมากมายมหาศาล และมากกว่าวิลท์เสียด้วยซ้ำ แผนการเล่นพัฒนารูปแบบที่หลากหลายขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะแนวคิดส่งบอลเข้าวงในให้เซ็นเตอร์แบบวิลท์ลุยทำแต้ม การเล่นฟาสต์เบรกก็มีทั้งความเร็วและประสิทธิผลมากขึ้น ก็เพราะผู้เล่นในแบบบิ๊กโอ

ไม่เท่านั้นนะครับ เพื่อนร่วมทีมของบิ๊กโอทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาเก่งขึ้นเมื่อเล่นกับบิ๊กโอ เพราะจังหวะที่บิ๊กโอส่งบอลให้พวกเขา เป็นจังหวะที่ง่ายต่อการทำแต้ม หลายต่อหลายครั้งบิ๊กโอผู้ซึ่งทำคะแนนด้วยตัวเองได้ดี ก็ดึงเอาตัวประกบออกจากตำแหน่งให้เพื่อนร่วมทีมว่าง ก่อนที่จะถวายพานจ่ายบอลไปให้เพื่อนทำสกอร์ การเล่นที่ช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมแบบนี้ ทำให้ทั้งทีมมีความมั่นใจ และสนุกต่อการเล่นมากขึ้น

ที่ถือเป็นคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงอีกอย่างหนึ่งของบิ๊กโอ คือ การเพิ่มโอกาสเข้าสู่ลีกของผู้เล่นตัวเล็ก ก็เพราะตัวอย่างความเป็นเลิศที่เขาแสดงให้เห็น

ตอนที่เขารีไทร์จากลีก บิ๊กโอทิ้งสถิติจำนวนรวมทริปเปิลดับเบิลสูงสุดตลอดกาลไว้ให้ลีกที่จำนวน 181 ครั้ง เพื่อให้เห็นภาพว่าเขาเก่งแค่ไหนนะครับ ลองนึกภาพตามนะครับว่าตอนที่ เมจิก จอห์นสัน การ์ดจ่ายที่ว่ากันว่าเก่งที่สุดตลอดกาลรีไทร์ เขาทำทริปเปิลดับเบิลรวมตลอดชีวิตการเล่นที่ 138 ครั้ง ส่วนเจมส์ ราชาบาสเก่งรอบด้านคนปัจจุบันนั้น ถึงตอนนี้ทำไป 99 ครั้ง ห่างบิ๊กโอเกือบเท่าตัว

สิ่งที่สถิติค่าเฉลี่ยทริปเปิลดับเบิลของบิ๊กโอต่างจากสถิติ 100 คะแนนของวิลท์ก็คือ สถิติดังกล่าวถูกทาบรัศมีไปเรียบร้อยแล้ว…ในอีก 55 ปีให้หลัง

🏀🏀🏀

นักบาสรุ่นหลานที่วัดฝีมือกับบิ๊กโอก็คือ รัสเซล เวสต์บรูค (รัส) ที่ทำสถิติแบบเดียวกับบิ๊กโอได้ในฤดูกาล 2016/2017 แถมรัสยังทำแบบเดิมได้อีก 2 ฤดูกาลติดกัน

และในฤดูกาล 2016/2017 นั้นรัสก็ทำสถิติจำนวนทริปเปิลดับเบิลในหนึ่งฤดูกาลที่ 42 ครั้ง ทำลายสถิติที่บิ๊กโอทำไว้เช่นกัน

ล่าสุดในวันที่ 10 พฤษภาคม 2021 นี้เอง รัสก็สร้างประวัติศาสตร์ทำทริปเปิลดับเบิลรวมตลอดอาชีพการเล่นแซงหน้าบิ๊กโอได้สำเร็จ เมื่อเขาทำทริปเปิลดับเบิลครั้งที่ 182 ในเกมที่ทีมของเขา วอชิงตัน วิซาร์ดส์ พ่ายต่อ แอตแลนตา ฮอว์กส์ หวุดหวิดหนึ่งแต้ม ทุบสถิติของบิ๊กโอที่อยู่ยั้งยืนยงมานานถึง 46 ปี เก่าแก่ยาวนานกว่าอายุหลายต่อหลายคน

จะว่าไปแล้วแฟนบาสประเภทแฟนพันธุ์แท้ก็คาดไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วล่ะครับว่ารัสจะต้องทำลายสถิติของบิ๊กโอได้ในปีนี้ แต่คนส่วนใหญ่และแฟนทั่วๆ ไป กลับให้ความสนใจฟอร์มการเล่นของ สเตฟ เคอร์รี ซึ่งในปีนี้พัฒนาการเล่นและการยิง 3 คะแนนไปอีกขั้น แถมยังทำแต้มสูงสุดในอาชีพได้อีกด้วย

เคอร์รี แม้จะเล่นคนละตำแหน่งกับวิลท์ แต่ก็มีความเหมือนวิลท์ในเรื่องความโดดเด่นในการทำคะแนน สร้างความตื่นเต้น สนุกเร้าใจ นำชัยมาสู่ทีม และเป็นขวัญใจคนดู

รัสก็ไม่ต่างจากบิ๊กโอ ทั้งที่สิ่งที่เขาแสดงความเป็นเลิศในเชิงบาสเกตบอลนั้นไม่ได้ด้อยกว่าสิ่งที่เคอร์รีทำ ทั้งในแง่คุณค่าและความสามารถเลย แต่เขากลับไม่เป็นที่กล่าวถึงยอมรับเท่ากับเคอร์รี

ถ้าจะบอกว่ารัสทำแต้มสู้เคอร์รีไม่ได้ ก็คงไม่สามารถชี้ชัดได้เช่นกัน เพราะรัสเองก็เป็นเจ้าของสถิติลีกที่ทำแต้มได้ 50 แต้มแล้วได้ทริปเปิลดับเบิลในเกมเดียวกัน

แต่แม้กระทั่งตอนที่ผมนั่งเขียนบทความอยู่นี้ คลิปในยูทูปที่รัสทำลายสถิติบิ๊กโอก็มียอดวิวที่ต่ำกว่าคลิปที่เคอร์รียิงนำชัยในวินาทีท้าย ทั้งๆ ที่สองเหตุการณ์เกิดขึ้นในคืนเดียวกัน เหตุการณ์หนึ่งเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ลีก อีกเหตุการณ์หนึ่งเป็นเรื่องของเกมหนึ่งเกมเท่านั้นเอง

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมคนส่วนใหญ่จึงให้ความสนใจคนที่เด่นด้านในด้านหนึ่งเป็นพิเศษ มากกว่าคนเก่งรอบด้านผู้มักจะปิดทองหลังพระให้คนอื่น

🏀🏀🏀

รัสเองมีความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง กับความรู้สึกที่ว่าสถิติและผลงานของเขาถูกประเมินคุณค่าต่ำเกินไป เขารู้สึกว่าคนที่สร้างประวัติศาสตร์ย่อมต้องใช้เวลาในการก่อร่างสร้างมัน ต่างจากความสำเร็จชั่วแล่น ความตื่นเต้นชั่วครั้งชั่วคราว

หนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้ความรู้สึกของเขารุนแรงจนต้องบ่นออกสื่อสังคมเป็นระยะ ก็คือการที่รัสต้องเล่นบาสเกตบอลอยู่ภายใต้ร่มเงาของซูเปอร์สตาร์คนอื่น อย่างสมัยที่เล่นให้ โอคลาโฮมา ซิตี้ ธันเดอร์ เขาก็ถูกประกายดาราของ เควิน ดูแรนท์ บดบัง แม้ว่าในภายหลังดูแรนท์จะย้ายออกมา และรัสกลายเป็นตัวหลักของทีม แต่ทีมก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนครั้งที่เขาเล่นร่วมกับดูแรนท์

ครั้งย้ายออกมาอยู่กับฮุสตัน ร็อกเก็ตส์ เขาก็อยู่ในร่มเงาของอดีตเพื่อนร่วมทีมอีกคนคือ เจ้าเครา เจมส์ ฮาร์เดน ตราบจนในปัจจุบันที่เขากลายมาเป็นคู่หูกับ แบรดลีย์ บีล เขาจึงได้พบกับความรู้สึกที่ลงตัวมากขึ้น

จริงๆ แล้วสิ่งที่รัสอาจจะไม่รู้ หรือรับรู้แต่มองข้ามมันไป ก็คือเพื่อนร่วมทีมของเขาทั้ง ดูแรนท์, ฮาร์เดน หรือกระทั่ง เลบรอน เจมส์ ที่เล่นด้วยกันในทีมชาติต่างซูฮกยกย่องรัสเป็นอย่างยิ่ง แต่รัสก็ยังรู้สึกว่าสังคมวงการบาสเกตบอล ให้การยอมรับยกย่องผลงานเขาน้อยเกินไป เขาให้ความสำคัญเรื่องนี้มากกว่าเรื่องใด

นั่นส่งผลให้เขากลายเป็นดาราอมทุกข์

สิ่งที่เกิดขึ้นกับรัสนั้น เกิดขึ้นกับหลายๆ คน ในหลายๆ วงการ อาทิ ในวงร็อกระดับพระกาฬจากแดนจิงโจ้ที่มีนามว่า เอซี/ดีซี (AC/DC) นักกีตาร์คอร์ดหรือริธึม มัลคอล์ม ยัง ผู้ที่เป็นเสาหลักของวง ทำหน้าที่แต่งเพลงหลัก และดูแลวง ก็ตกอยู่ในร่มเงาความโด่งดังของมือกีตาร์โซโล แองกัส ยัง ผู้เป็นน้อง หรือจะเป็นการที่ อเล็กซ์ แวน เฮเลน มือกลองระดับพระกาฬ ของวงแวน เฮเลน (Van Halen) ก็ถูกรัศมีกีตาร์เทพของน้องชาย แอ็ดดี้ แวน เฮเลน บดบังเสียมิดชิด

หากแต่สิ่งที่ต่างกันระหว่าง มัลคอล์ม, อเล็กซ์ และ รัส ก็คือ การที่นักดนตรีเอกทั้งสองคนนั้นมีความสุขกับสิ่งที่เขาทำ บทบาทที่เขามี และการยอมรับของคนที่เขาทั้งสองคิดว่ามีความหมายกับตัวเอง โดยไม่ปล่อยให้ความเห็นสาธารณะมามีน้ำหนักในความรู้สึก และสร้างความทุกข์ใจให้กับพวกเขา

ทั้งแองกัสและเอ็ดดี้รักและเคารพพี่ชายของพวกเขามาก และนั่นคือสิ่งที่ดีเกินพอสำหรับมัลคอล์มและอเล็กซ์

โลกทุกวันนี้ที่ชีวิตมนุษย์ถูกครอบงำด้วยสื่อสังคม การแสวงหาการยอมรับจากคนอื่น ทั้งที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จักกัน กลับกลายเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตและเป็นสารเสพติดสำหรับบางคน

หลายต่อหลายครั้ง คนที่ตั้งใจทำดีแต่เผอิญว่าต้องใช้เวลาเก็บเล็กผสมน้อยค่อยๆ สร้าง ค่อยๆ แต่งเติม กลับถูกมองข้ามเพราะความสำเร็จมันไม่ชัดเจน ไม่ตื่นเต้น และไม่ทันใจ เช่น เก่งรอบด้านแล้วไงล่ะ ช่วยให้ชนะเกมหรือเปล่า

สมการความทุกข์ของรัส ก็หนีไม่พ้นเงื่อนไขนี้

หากเพียงเราให้ความสำคัญกับคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่ทำ ความเห็นของคนที่เราเคารพและมีความหมาย ความสุขก็สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องให้คนที่ไม่มีความสำคัญกับเรามาเออออห่อหมกยกย่องเห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำ

เพราะว่าสิ่งที่ดีก็เป็นสิ่งที่ดีเสมอแม้จะมีการรับรู้ในคนกลุ่มน้อย และสิ่งที่ไม่ดีก็ยังคงความไม่ดีอยู่ร่ำไปแม้คนจำนวนมากจะปฏิบัติกัน

ผมเขียนบทความนี้เพื่อยกย่องความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของ รัสเซล เวสต์บรูค ยอดการ์ดที่ดีที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกบาสเกตบอลเคยมีมา และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเขาคงจะมีความสุขกับคุณค่าผลงานที่สร้างไว้ในเร็ววัน

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares