Link Copied!

“ช้างศึก” ผลัดกันชม

5 ปีกว่าในยุคประมุขลูกหนังไทยชื่อ “สมยศ” หากมองถึงการบริหารองค์กรแล้ว ต้องถือว่า “สอบผ่าน” และเป็นรูปธรรมชัดแจ้งกว่ายุคไหนๆ

ไม่ว่าจะเป็น การสร้างที่ทำการสมาคมใหม่, เดินหน้าโปรเจ็กต์ยักษ์สร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ, ปราบปรามขบวนการล้มบอลอย่างจริงจัง รวมไปถึงจัดอบรมโค้ชและยกระดับผู้ฝึกสอนจนฟีฟ่าให้การยอมรับ นอกจากนั้นยังไล่บี้ฟ้องร้องคดีกับ “ขั้วอำนาจเก่า” แบบที่ไม่เคยมีใครกล้าหือมาก่อน!!!

แต่ถ้ามองในแง่ผลงานทัพ “ช้างศึก” ต้องถือว่า “ติดลบ” โดยเฉพาะการถูกเวียดนามก้าวแซงหน้า หลังจากแฟนบอลเคยชื่นมื่นกับผลงาน “ซิโก้” ที่นำพาทีมชาติไทยกลับมา “ยืนหนึ่ง” ย่านอาเซียน และเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายเอเชีย ในศึกคัดบอลโลก 2018 แต่ต้องแยกทางกับสมาคมฯ ชุดนี้ด้วยเหตุผลที่ตกลงกันไม่ได้

นับจากนั้นมา “ช้างศึก” ก็เหมือนต้องคำสาป แม้สมาคมฯ จะคว้ากุนซือดีกรีไม่ธรรมดาอย่าง มิโลวาน ราเยวัช หวังเข้ามาช่วยกอบกู้หน้า แต่ยิ่งเล่นก็ยิ่งทรุด จนกระทั่งการมาของ “อากิระ นิชิโนะ” กุนซือเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย

หลายคนบอกว่า…นี่คือความหวังใหม่ของทัพ “ช้างศึก” !!!

ด้วยโปรไฟล์ที่สวยหรูดูสง่า มีประสบการณ์ทั้งในฐานะผู้เล่นที่เคยติดทีมชาติญี่ปุ่น 12 นัด ระหว่างปี 1977–1978 และเคยเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทัพ “ซามูไร” ตั้งแต่รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี, 23 ปี รวมถึงชุดใหญ่ที่พาทีมเข้าถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย

ส่วนระดับสโมสร เคยทำงานกับคาชิวา เรย์โซล, กัมบะ โอซากา, วิสเซล โกเบ และนาโกยา แกรมปัส โดยเฉพาะที่กัมบะ โอซากา สามารถพาทีมเดินหน้าคว้าแชมป์ ไม่ว่าจะเป็น เจลีก, เอ็มเพอเรอร์ส คัพ, เจลีก คัพ, เจแปนีส ซูเปอร์ คัพ จนกระทั่งเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก อีกทั้งยังเคยได้รางวัลผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมเจลีก ในปี 2000 และ 2005 รวมถึงผู้ฝึกสอนยอดเยี่ยมเอเอฟซี ปี 2008

เพียงแค่ 4 นัดผ่านของเกมคัด “เวิลด์ คัพ 2022” กุนซือเลือดซามูไรได้ปลุก “ช้างศึก” ให้มีชีวิตชีวา และเรียกพลัง “ศรัทธา” จากชาวลูกหนังสยามประเทศกลับมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะชัยชนะเหนือทีมท็อปซิกซ์เอเชียอย่าง “ยูเออี” ด้วยรูปแบบการเล่นที่น่าประทับใจ

แต่เส้นทางของ “นิชิโนะ” ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลังจากพา “ช้างศึก” บุกไปพุ่งชนความพ่ายแพ้ครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ามากุมบังเหียนต่อมาเลเซีย ตามด้วยบุกไปเสมอคู่ปรับเวียดนาม โนสกอร์ ก่อนเจอโควิด-19 เล่นงาน ทำให้ต้องทิ้งเกมเหย้า 2 นัด ไปเล่นสนามกลางที่ยูเออี ซึ่งผลลัพธ์ยากเกินกว่าจะทำใจรับได้ หลังเสมออินโดนีเซียแบบไม่เหลือฟอร์ม ก่อนโดน “เสือเหลือง” ย้ำแค้นส่งท้าย

ภาพที่วาดไว้สวยหรู ถูกขยี้ทิ้งชั่วพริบตา!!!

แม้บางคนยังเสียดาย อยากให้โอกาสไปต่อ แต่หลายคนส่ายหน้ามองว่าแผนการเล่นของ “นิชิโนะ” แทบไม่มีอะไรแปลกใหม่ เกมรุกยังมีปัญหาจบสกอร์ ส่วนเกมรับก็พร้อมจะเสียประตูได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะการไม่กลับมาพร้อมลูกทีมหลังภารกิจล้มเหลว (แม้จะมีเหตุผลยอมรับได้) ยิ่งกลายเป็นประทุเชื้อเพิ่ม

ในที่สุด “การยุติสัญญา” จึงเกิดขึ้น!!!

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อปี 2511 หรือ 53 ปีที่แล้ว “ช้างศึก” ได้ใช้บริการ “โค้ชต่างชาติ” คนแรกคือ “กึนเทอร์ กลอมบ์” ไล่จนมาถึง “อากิระ นิชิโนะ” รวมทั้งสิ้น 14 ราย ซึ่งทุกครั้งก็จะมีการตั้งคำถามตามมา

“โค้ชนอก” ดีกว่า “โค้ชไทย” หรือไม่???

จากผลงานกุนซือต่างชาติที่โดดเด่นเห็นชัดน่าจะมีอยู่แค่ 2 ราย คือ “คาร์ลอส โรแบร์โต คาร์วัลโญ” ชาวบราซิล ที่สามารถพาทีมชาติไทยคว้าอันดับ 4 ในเอเชียนเกมส์ 1990 รวมทั้งคว้าแชมป์คิงส์ คัพ 2 สมัย ในปี 1989 และ 1990

อีกรายคือ ปีเตอร์ วิธ ชาวอังกฤษ ที่พาทีมชาติไทยผ่านเข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย เป็นครั้งแรก รวมถึงคว้าอันดับ 4 เอเชียนเกมส์ 1998 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ, แชมป์ซีเกมส์ ปี 1999 ที่มาเลเซีย และแชมป์อาเซียน คัพ 2 สมัย ในปี 2000 กับปี 2002

ที่เหลือ…ไม่รอดตัวกลับไป ก็เอาชื่อมาทิ้ง!!!

หลังจากนี้จึงน่าสนใจว่า “แม่ทัพคนใหม่” สมาคมฯ จะเสี่ยงกลับมาใช้ “ของไทย” หรือยังจะลงทุนกับ “ของนอก” ???

กับวาระบริหารงานสมัย 2 ที่เหลืออยู่ไม่ถึง 3 ปีแน่นอนว่า “ประมุขลูกหนังไทย” ต้องการกอบกู้ชื่อเสียงและศรัทธาจากแฟนบอลกลับคืนมาให้ได้

ดังนั้น “กุนซือคนใหม่” จะต้องเผชิญกับภารกิจสุดท้าทาย โดยเฉพาะหากเป็น “ต่างชาติ” นอกจากผลงานแล้ว ยังต้องปรับตัวให้เข้ากับ “ไทยแลนด์สไตล์” การเรียกผู้เล่นที่อยากได้แต่บางสโมสรไม่อยากให้ หรือขอถอนเพราะเจ็บแต่พอเกมลีกกลับลงมาวิ่งปร๋อ

สำคัญสุดคือ ต้องรับมือให้ได้กับประเทศที่โซเชียลมีอิทธิพลต่ออนาคต!!!

ถึงตอนนี้ “แม่ทัพคนใหม่” จะเป็นใคร? จะเข้ามาแก้ปัญหาและพา “ช้างศึก” เดินไปข้างหน้าแบบไหน? ในฐานะแฟนบอลคงต้องคอยให้กำลังใจ

ยินดีต้อนรับ และขอให้โชคดี…

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares