Link Copied!

“บอลไทยไปบอลโลก” ไม่ไกลเกิน “ชบาแก้ว”

“บอลไทยไปบอลโลก” อาจจะเป็นแค่ความฝันของทัพ “ช้างศึก” แต่สำหรับ “ชบาแก้ว” พวกเธอทำความฝันให้เป็นจริงด้วยการผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาแล้ว 2 สมัยติดต่อกัน และกำลังจะไล่ล่าตั๋ว เวิลด์ คัพ สมัยที่ 3 ในศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศอินเดีย ภายใต้การคุมทีมของ มิโยะ โอกาโมโตะ กุนซือชาวญี่ปุ่น ที่มีหลากหลายเรื่องราวน่าสนใจกับการแข่งขันรายการนี้…

#จากไทยแลนด์เวย์สู่ซามูไรสไตล์

สองครั้งที่แข้งสาวไทยได้ไปเล่นฟุตบอลโลก อยู่ภายใต้การคุมทัพของ “โค้ชหนึ่ง” หนึ่งฤทัย สระทองเวียน โดยมี “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ลำซ่ำ ผู้จัดการทีมยืนเคียงข้าง ก่อนทั้งคู่จะประกาศยุติบทบาทหลังจบศึกที่ฝรั่งเศส ทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องสรรหาแม่ทัพคนใหม่สำหรับภารกิจสานต่อฟุตบอลโลกสมัยที่ 3 ก่อนจะแต่งตั้ง “มิโยะ โอกาโมโตะ” กุนซือแดนปลาดิบ เข้ามาคุมทัพ “ชบาแก้ว” ทั้งชุดใหญ่และรุ่น U20

โอกาโมโตะ วัย 43 ปี ถือเป็น 1 ใน 8 ผู้ฝึกสอนหญิงที่เป็นผู้ฝึกสอนระดับ JFA S License ในประเทศญี่ปุ่น (เทียบเท่า AFC Pro License) มีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้ช่วยโค้ช ทีมชาติญี่ปุ่น U17 ชุดรองแชมป์ฟุตบอลโลกหญิง ปี 2016 ณ ประเทศจอร์แดน และชุดแชมป์ฟุตบอลโลกหญิงรุ่น U20 ในปี 2018 ณ ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงยังเป็นอดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมหญิงของสโมสรเซเรโซ โอซากา ในลีกดิวิชัน 2

นอกเหนือจากโอกาโมโตะแล้ว สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ยังแต่งตั้ง “นัตซึโกะ โทโดโรกิ” อดีตผู้ฝึกสอนผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่นหญิงรุ่น U17 และทีมหญิงของสโมสรเซเรโซ โอซากา มาเป็นโค้ชผู้รักษาประตูทีมชาติไทยทั้งชุดใหญ่และ U20 เช่นเดียวกัน

#23 ขุนพลสอดแทรกสายเลือดใหม่

ผลงานประเดิมของ “ซามูไรสไตล์” นำทัพ “ชบาแก้ว” ชุดใหญ่ ลงทำการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซี วีเมนส์ เอเชียน คัพ 2022 รอบคัดเลือก ที่ปาเลสไตน์ และสามารถคว้าแชมป์กลุ่มมาครองด้วยชัยชนะ 2 นัดรวดแบบคลีนชีต เหนือมาเลเซีย 4-0 ก่อนถล่มเจ้าภาพ 7-0 ทำให้ตีตั๋วผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้าย ณ แดนภารตะ

ทีมชุดนั้น มิโยะ อากาโมโตะ เริ่มวางแผนสอดแทรกสายเลือดใหม่ที่ก้าวขึ้นมาจากเยาวชน 19 ปี และฟุตบอลลีกในประเทศอย่าง ชัชวาลย์ รอดทอง, อุไรพร ยงกุล และ โชติมณี ทองมงคล ให้ได้ประสบการณ์เกมนานาชาติ และเรียนรู้การอยู่กับนักเตะรุ่นพี่ ซึ่งในรอบคัดเลือกนี้ยังไม่เรียกสตาร์ดังต่างแดนอย่าง “มิรันด้า” สุชาวดี นิลธำรงค์ และ “ทิฟฟานี” ดารุณี สอนเผ่า กลับมา เพราะมองว่าคู่ต่อสู้ยังไม่น่าห่วงนัก

ส่วน 23 รายชื่อที่ประกาศออกมาในการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2022 รอบสุดท้าย ประกอบไปด้วย ผู้รักษาประตู : วราภรณ์ บุญสิงห์ (บีจี-บัณฑิตเอเชีย), ดารุณี สอนเผ่า (KEFLAVIK FC), โชติมณี ทองมงคล (ชลบุรี)

กองหลัง : พรพิรุณ พิลาวัน (บีจี-บัณฑิตเอเชีย), กาญจนาพร แสนคุณ (บีจี-บัณฑิตเอเชีย), สุนิสา สร้างไธสง (บีจี-บัณฑิตเอเชีย), อมรรัตน์ อุดไชย (บีจี-บัณฑิตเอเชีย), วารุณี เพ็ชรวิเศษ (กรุงเทพมหานคร), จารุวรรณ ไชยรักษ์ (ชลบุรี), พิสมัย สอนไสย์ (ไทจง บลูเวล), อุไรพร ยงกุล (บีจี-บัณฑิตเอเชีย)

กองกลาง : พิกุล เขื่อนเพ็ชร (บีจี-บัณฑิตเอเชีย), นิภาวรรณ ปัญโญสุข (ชลบุรี), ศิลาวรรณ อินต๊ะมี (ชลบุรี), อรพินท์ แหวนเงิน (บีจี-บัณฑิตเอเชีย), ณัฐวดี ปร่ำนาค (กรุงเทพมหานคร), อิรวดี มาครีส (เอ็มเอช นครศรี เอฟซี), ชัชวัลย์ รอดทอง (กรุงเทพมหานคร), วิลัยพร บุตรด้วง (ทหารอากาศ)

กองหน้า : เสาวลักษ์ เพ็งงาม (ชลบุรี), ธนีกานต์ แดงดา (กรุงเทพมหานคร), กัญญาณัฐ เชษฐบุตร (บีจี-บัณฑิตเอเชีย), สุชาวดี นิลธำรงค์ (Kristianstads DFF)

#ทะลุรอบสุดท้ายเอเชีย 17 สมัย

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยสร้างโอกาสในการผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายของทวีปเอเชียได้ถึง 17 ครั้ง มากที่สุดเท่ากับญี่ปุ่น ซึ่งผลงานแข้งสาวไทยเคยคว้าแชมป์เอเชียมาแล้วในปี 1983 เมื่อครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยนัดชิงชนะเลิศเอาชนะอินเดียไปได้ถึง 3-0 นอกจากนั้นยังเดินหน้าคว้ารองแชมป์อีก 3 สมัย ในปี 1975, 1977, 1981 และอันดับ 3 อีก 1 สมัย ในปี 1986

ที่สำคัญในการชิงแชมป์เอเชียรอบสุดท้าย 8 ครั้งหลังสุด ทีมสาวไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 2 ครั้งล่าสุดในปี 2014 ที่เวียดนาม “ทัพชบาแก้ว” คว้าอันดับที่ 5 มาครอง จนสร้างประวัติศาสตร์ไปชิงแชมป์โลกเป็นครั้งแรก ในปี 2015 ที่แคนาดา จากนั้นในปี 2018 ที่จอร์แดน คว้าอันดับ 4 ได้ตั๋วไปเล่นฟุตบอลโลกเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ณ ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2019

#เกาหลีเหนือถอน-เพิ่มโอกาสชบาแก้ว

สถานการณ์ โควิด-19 ทำให้เกาหลีเหนือ ทีมเบอร์ 1 เอเชีย และอันดับ 10 ของโลก ตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันระดับนานาชาติแทบทุกรายการ รวมถึงฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2022 รายการคัดเลือกตัวแทนทวีปเอเชีย 5+2 ทีม (5 ทีมได้สิทธิ์อัตโนมัติ ไม่รวมออสเตรเลีย + โควตาเพลย์ออฟ 2 ทีม) ไปแข่งขันในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 ที่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม – 20 สิงหาคม 2566

การถอนตัวครั้งนี้ทำให้โอกาสที่ “ชบาแก้ว” จะได้ไปฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกันมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะถ้าหากพิจารณาจากแรงกิ้งฟีฟ่าล่าสุด ทีมที่ผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายในอันดับสูงกว่า (ไม่นับออสเตรเลีย-อันดับ 11) จะเหลือเพียง 4 ทีมคือ ญี่ปุ่น (13), เกาหลีใต้ (18), จีน (19), เวียดนาม (32) ตามมาด้วยไทยรั้งอันดับ 38

ส่วนอันดับรองลงมา ได้แก่ ไต้หวัน (39), เมียนมา (47), อินเดีย (55), ฟิลิปปินส์ (64), อิหร่าน (70) และ อินโดนีเซีย (94) ดังนั้น การถอนตัวของเกาหลีเหนือจึงเท่ากับเพิ่มโอกาสให้ทีมชาติไทยโดยตรง

#เงื่อนไขสู่ฟุตบอลโลกสมัยที่3

การไล่ล่าตั๋วฟุตบอลโลก ครั้งที่ 3 ของทัพ “ชบาแก้ว” ในศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2022 รอบสุดท้าย ที่อินเดีย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม A : อินเดีย (เจ้าภาพ), จีน, ไต้หวัน, อิหร่าน / กลุ่ม B : ออสเตรเลีย, ไทย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย / กลุ่ม C : ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เวียดนาม, เมียนมา

ในรอบแบ่งกลุ่มจะแข่งขันแบบพบกันหมด เพื่อหาทีมอันดับ 1 และทีมอันดับ 2 เข้ารอบ รวม 6 ทีม ซึ่งหากมีคะแนนเท่ากันจะนับผลเฮดทูเฮด ส่วนอีก 2 ทีม คือ ทีมอันดับ 3 ที่มีคะแนนดีที่สุด จะใช้การนับประตูได้เสีย รวมทั้งหมด 8 ทีม โดยรอบก่อนรองชนะเลิศถือว่าพีกสุด เพราะทีมที่ได้ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศจะการันตีคว้าตั๋วไปฟุตบอลโลก 2023 ทันที ส่วนทีมแพ้ยังต้องลุ้นต่อในการเล่นเพลย์ออฟ ดังนี้

กรณีที่ 1 : หากออสเตรเลียไม่ผ่านเข้ารอบก่อนรอบรองชนะเลิศ 4 ทีมที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ จะผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลกโดยอัตโนมัติ ส่วน 4 ทีมผู้แพ้ในรอบก่อนรองชนะเลิศ (Quarter finals) จะเข้าสู่รอบแก้ตัว ดังนี้

(M1): QF แพ้ 1 vs QF แพ้ 2

(M2): QF แพ้ 3 vs QF แพ้ 4

ทีมที่ชนะใน (M1) และ (M2) จะมาพบกันเพื่อหาผู้ชนะไปฟุตบอลโลกปี 2023 เป็นทีมที่ 5 ส่วนผู้แพ้รอบนี้จะไปเล่นรอบเพลย์ออฟอินเตอร์คอนเฟเดอเรชัน กับอีก 9 ประเทศทั่วโลก เพื่อชิงตั๋ว 3 ใบสุดท้ายสู่ฟุตบอลโลก 2023 ในขณะที่ทีมที่แพ้ใน (M1) และ (M2) จะมาพบกันเพื่อหาผู้ชนะอีก 1 ทีมไปเล่นเพลย์ออฟอินเตอร์คอนเฟเดอเรชัน

กรณีที่ 2 : หากออสเตรเลียเข้ารอบรองชนะเลิศ 3 ทีมที่เหลือที่เข้ารอบรองชนะเลิศจะผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 2023 ส่วน 4 ผู้แพ้ในรอบก่อนรองชนะเลิศจะต้องเล่นเพลย์ออฟ ดังนี้

(คู่ที่ 1): ผู้แพ้ QF1 vs ผู้แพ้ QF3

(คู่ที่ 2): ผู้แพ้ QF2 vs ผู้แพ้ QF4

ผู้ชนะทั้ง 2 คู่จะได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ในขณะที่ผู้แพ้ทั้ง 2 ทีมจะได้ไปเล่นรอบเพลย์ออฟอินเตอร์คอนเฟเดอเรชัน

กรณีที่ 3 : หากออสเตรเลียแพ้ในรอบก่อนรองชนะเลิศ 4 ทีมที่เข้ารอบรองชนะเลิศจะได้ไปฟุตบอลโลก 2023 ส่วนอีก 3 ทีมที่เหลือ ที่แพ้ในรอบก่อนรองชนะเลิศ (ไม่รวมออสเตรเลีย) จะเล่นแบบ 3 ทีมพบกันหมด ทีมที่มีคะแนนมากที่สุดจะได้ไปเล่นฟุตบอลโลกปี 2023 ในขณะที่ 2 ทีมที่เหลือ ต้องไปเล่นรอบเพลย์ออฟอินเตอร์คอนเฟเดอเรชัน

#ตั๋วฟุตบอลโลกไม่ไกลเกินเอื้อม

สำหรับโปรแกรมรอบแบ่งกลุ่มของ ฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย มีดังนี้

วันที่ 21 มกราคม 2565 เวลา 19.00 น. (ตามเวลาไทย) ไทย พบ ฟิลิปปินส์ ณ สนาม ดีวาย พาทิล

วันที่ 24 มกราคม 2565 เวลา 19.00 น. (ตามเวลาไทย) ไทย พบ อินโดนีเซีย ณ สนาม ดีวาย พาทิล

วันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 21.00 น. (ตามเวลาไทย) ไทย พบ ออสเตรเลีย ณ สนาม มุมไบ อารีนา

โดยในกลุ่มบี “ชบาแก้ว” น่าจะผ่าน 2 ชาติย่านอาเซียนอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียไปได้ไม่ยาก ก่อนจะแย่งแชมป์กลุ่มกับเจ้าภาพ ออสเตรเลีย นัดสุดท้าย ซึ่งดูจากเส้นทางแล้ว แชมป์กลุ่มบีค่อนข้างหนักเมื่อจะไปเจออันดับรองแชมป์กลุ่มซี ที่มีทั้งญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เวียดนาม ขวางทางอยู่ ขณะที่รองแชมป์กลุ่มบีเจองานง่ายกว่า เมื่อจะพบรองแชมป์กลุ่มเอ ที่มีอินเดีย, ไต้หวัน, อิหร่าน ช่วงชิงกัน และแรงกิ้งเป็นรองไทยทั้งสิ้น

เมื่อส่องกล้องมองเส้นทาง “ชบาแก้ว” ดูจะถูกวางไว้อย่างเหมาะเจาะ และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ตั๋วฟุตบอลโลกสมัยที่ 3 อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม!!!

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares