Link Copied!
Coach Carter

Coach Carter (2005) – โค้ชกีฬามาพร้อมไลฟ์โค้ช

โค้ชคาร์เตอร์เข้ามาปรับปรุงทีมบาสเกตบอลของโรงเรียนที่ผลงานตกต่ำ ที่ย่ำแย่ไม่น้อยหน้ากันคืออนาคตของเด็กๆ ในชุมชน โค้ชกีฬาจำต้องเป็นไลฟ์โค้ชไปพร้อมๆ กัน คอยช่วยสอนแนะเด็กวัยหัวเลี้ยวหัวต่อให้ปรับปรุงชีวิตตัวเอง มองหนทางข้างหน้าให้ชัด ซึ่งหลักการชีวิตนั้นแทบไม่ต่างจากหลักการของกีฬาเลย

1.

บรรดาผู้ปกครองและคนในชุมชนรวมตัวกันกดดัน เค็น คาร์เตอร์ โค้ชคนล่าสุดประจำทีมบาสเก็ตบอล “ออยเลอร์ส” ของโรงเรียนมัธยมริชมอนด์ ให้เปิดโรงยิมสำหรับซ้อมและแข่งขันบาสเกตบอลตามปกติ หรือถ้าคณะกรรมการฯ สามารถปลดเขาออกจากตำแหน่งได้ยิ่งดี

ทั้งๆ ที่ทีมกำลังทำผลงานแจ่มแจ๋ว ชนะรวดมา 16 นัด ยังไม่แพ้ใครเลย ทว่าโค้ชคาร์เตอร์กลับตัดสินใจปิดโรงยิม สั่งงดซ้อม และเลยเถิดไปถึงยกเลิกการแข่งขันนัดสำคัญจนโดนปรับแพ้อีกด้วย ก็เพราะเด็กๆ นักกีฬาไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับเขาตอนเปิดเทอม

สัญญาที่ตกลงกันไว้คือ นักบาสฯ ทุกคนจะเข้าเรียนสม่ำเสมอ นั่งแถวหน้าของห้อง และต้องได้เกรดเฉลี่ย 2.3 ขึ้นไป พวกเขาต้องมาซ้อมตรงเวลา พูดจาให้เกียรติตัวเองและผู้อื่น ทำงานบริการชุมชนขั้นต่ำเดือนละ 10 ชั่วโมง รวมทั้งใส่แจ็กเกตผูกเนคไทในวันแข่งขันด้วย

มีเด็กบางคนเห็นว่าสัญญาของโค้ชสุดโต่งเกิน จึงขอลาออกจากทีม ทว่าเนื่องจากทางที่พวกเขาเลือกเองดูเหมือนจะเป็นทางตัน และในอนาคตอันใกล้เขาจะไม่เหลืออะไรทั้งสิ้น สุดท้ายก็ต้องยอมซมซานกลับมาขอคืนทีม เพื่อนๆ ยินดีต้อนรับ แต่ต้องโดนโค้ชทำโทษชุดใหญ่เสียก่อน

2.

เค็น คาร์เตอร์ (ซามูเอล แอล. แจ็กสัน) ศิษย์เก่าของโรงเรียนริชมอนด์แห่งนี้ เคยคว้ารางวัลนักกีฬาบาสเกตบอลสมัครเล่นดีเด่น 2 ปีซ้อน ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายอุปกรณ์กีฬาเล็กๆ ในชุมชน เพิ่งรับตำแหน่งโค้ชคนใหม่มาหมาดๆ เขาตั้งคำถามสำคัญแก่ลูกทีมว่า “พวกเธอไม่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ เหรอ”

หลายปีที่ผ่านมาเด็กโรงเรียนริชมอนด์เรียนจบเพียง 50% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง พวกที่จบแล้วเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ยิ่งน้อยลงไปอีก เหลือแค่ 6% เท่านั้น พูดง่ายๆ คือในแต่ละห้องจะมีนักเรียนคนเดียวที่ได้เรียนต่อ ส่วนอีกหลายๆ คนถ้าไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ก็ไปใช้ชีวิตในเรือนจำแทน

ในเขตปกครองละแวกนี้บรรดาชายแอฟริกันอเมริกันที่ถูกจับกุมอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปีถึง 33% เทียบได้ว่า 80% ของเด็กๆ วัยรุ่นมีโอกาสเข้าซังเตมากกว่าเข้ามหาวิทยาลัยเสียอีก นับว่าเป็นอัตราน่าใจหายทีเดียว แต่ผู้ใหญ่หลายคนกลับมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว

ฤดูกาลที่แล้วทีมออยเลอร์สชนะแค่ 4 และแพ้ถึง 22 นัด ไม่ต้องไปฝันถึงระดับเขตหรือระดับรัฐเลย แค่ชนะให้ได้มากกว่าแพ้เสียก่อนค่อยคิดต่อ และหากปฏิบัติตามวินัยง่ายๆ ที่สัญญากันไว้ไม่ได้ ก็อย่าริจะเป็นนักกีฬาเลยดีกว่า

Channing Tatum, Samuel L.Jaackson, Texas Battle, Rob Brown, Robert Richard, Antwon Tanner and Nana Gbewonyo in the film: “Coach Carter” directed by Thomas Carter. USA – 2005

โค้ชคาร์เตอร์จัดตารางฝึกซ้อมอันหนักหน่วง เพื่อเสริมสมรรถนะร่างกายให้ฟิตเต็มถัง พลังใจเต็มร้อย สร้างทีมเวิร์กชั้นเลิศ ทั้งยังเพิ่มเติมแทคติกที่ตั้งตามชื่อสาวๆ อีกหลายชุด เด็กๆ ก็มีอิดออด บ่นเรื่อยเปื่อยบ้าง ทว่าผลงานในสนามที่ชนะติดต่อกันทำให้ลูกทีมเชื่อฟังมากขึ้น

แต่ชีวิตวัยรุ่นอย่างไรเสียก็ต้องมีนอกลู่นอกทางเป็นครั้งคราวบ้าง

3.

หลังคณะกรรมการการศึกษาชุมชนลงมติให้ยกเลิกการปิดโรงยิม ราวกับผู้ใหญ่ตัดสินใจชี้ชัดแล้วว่าเด็กๆ “ชนะเกมบาสเกตบอล” นั้นสำคัญกว่า “เรียนจบและศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย” อนาคตสดใสถูกพรากไปง่ายๆ แบบนี้ โค้ชคาร์เตอร์รับไม่ได้จริงๆ เขาจึงขอลาออก

แม้ปลดตรวน เปิดประตูโรงยิมแล้วก็จริง แต่ไม่มีใครบังคับให้นักกีฬาลงซ้อมได้ ทีมบาสเกตบอลย้ายตัวเองจากห้องสมุดมารวมตัวตั้งโต๊ะติวเพิ่มกันเองในโรงยิม ตั้งใจจะสอบให้ผ่านเกณฑ์ที่เคยสัญญาเอาไว้ เพื่อ“เรียนจบและศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย”

“เธอหวาดกลัวสิ่งใดที่สุด” โค้ชคาร์เตอร์ถาม ทิโม ครูซ เอาไว้หลายต่อหลายหน เขาไม่เคยได้คำตอบเสียที กระทั่งหลังญาติถูกยิงเสียชีวิต เขาได้ปฏิบัติตามคำสอนแนะของโค้ช ซึ่งเหมือนกับชุบชีวิตใหม่ให้เขา เมื่อโค้ชคาร์เตอร์เดินเข้ามาเก็บของ ทิโมลุกขึ้นตอบว่า

ที่เราหวาดกลัวที่สุดนั้น มิใช่ว่าเราไร้พลัง

ที่เราหวาดกลัวที่สุดนั้น กลับเป็นพลังที่ล้นเกินมาตรวัดต่างหาก

มันคือแสงสว่าง หาใช่ความมืดมนที่ข่มขวัญเราอยู่ไม่

ยามเราขดตัวเล็กจ้อย มันไม่ได้ช่วยค้ำจุนโลกใบนี้

ไม่มีปัญญาใดๆ เกิดขึ้น ไม่มีใครรอบข้างอบอุ่นใจ

เราต้องส่องประกายแสงออกมาแบบที่เด็กน้อยทั้งหลายทำ

แสงสว่างไม่ได้อยู่แค่ในใครบางคน มันอยู่ในตัวทุกผู้คน

ยามที่เราปล่อยแสงวาบออกมา เสมือนยินยอมให้คนรอบข้างเปล่งแสงเจิดจ้าเช่นกัน

ยามที่เราปลดปล่อยตัวตนจากความกลัว ภาพปรากฏนั้นจะปลดเปลื้องคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

(Our deepest fear is not that we are inadequate.

Our deepest fear is that we are powerful beyond measure.

It is our light, not our darkness, that most frightens us.

Your playing small does not serve the world.

There is nothing enlightened about shrinking so that other people won’t feel insecure around you.

We are all meant to shine as children do.

It’s not just in some of us; it is in everyone.

And as we let our own lights shine, we unconsciously give other people permission to do the same.

As we are liberated from our own fear, our presence automatically liberates others.)

* ข้อความดั้งเดิมมาจากหนังสือ A Return to Love: Reflections on the Principles of “A Course in Miracles” ของ แมรีแอนน์ วิลเลียมสัน

4.

แถมยังมีประโยคสวยงามอื่นๆ ที่สามารถเอาไปใช้เป็นหลักคิดในชีวิตจริงได้อีก เช่น

โค้ชคาร์เตอร์สอนลูกชายว่า “ส่วนหนึ่งของการเติบโตคือการตัดสินใจด้วยตัวเอง และยอมรับผลของมันที่จะเกิดตามมา”

โค้ชคาร์เตอร์สอนแนะนักกีฬาว่า “หากชนะในเกมบาสเกตบอลได้ ก็จะชนะเกมชีวิตด้วย”

หรือที่ครูสองคนปะทะความคิดกัน

ครูใหญ่: เราต่างรู้ดีว่าบาสเกตบอลฤดูนี้จะเป็นจุดสูงสุดของชีวิตเด็กๆ พวกนี้แล้ว

โค้ชคาร์เตอร์: ผมว่าความคิดนี้นี่แหละคือตัวปัญหา คุณว่าไม่ใช่เหรอ

รวมทั้งที่เพื่อนเตือนสติกันและกัน

เจสัน ไลล์ : โค้ชบอกว่าเราเป็นทีมเดียวกัน คนหนึ่งลำบาก เราก็ลำบากทั้งหมด คนหนึ่งสำเร็จ เราก็สำเร็จทั้งหมด

หรือประโยคเสริมกำลังใจจากโค้ชท้ายเรื่อง “ฉันเข้ามาฝึกนักบาสเกตบอล และแล้วพวกเธอกลายร่างมาเป็นนักเรียน ฉันเข้ามาสอนเด็กชาย พวกเธอเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ ฉันภูมิใจในตัวพวกเธอจริงๆ” ทำเอาคนดูหัวใจชุ่มชื่นกันทั่ว ขอยอมรับว่านี่ไม่ใช่แค่หนังกีฬาธรรมดาเลย

5.

หนังยาวถึง 2 ชั่วโมง 16 นาที ทว่าไม่มีช่วงเบื่อสักนิดเดียว เรื่องราวอันเข้มข้นทั้งในสนามซ้อมและสนามแข่ง จริงจังทั้งเรื่องชีวิตส่วนตัวและชีวิตส่วนรวม ฉากกีฬาสนุกสนานตื่นเต้น บทสนทนาคมคาย ชวนหัว ยั่วยิ้มแกมเสียดสีสังคมอยู่ในที เรียกว่าได้ทั้งสาระและบันเทิงเต็มรูปแบบ

ผู้กำกับ โทมัส คาร์เตอร์ เล่าเรื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใช้สมาชิกทีมบาสเกตบอล ผู้ปกครอง และผู้คนในชุมชนเล็กๆ จำลองวิกฤติการศึกษาของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 90 เอาไว้ นำหลักการของโค้ชคาร์เตอร์มานำเสนอไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับฝ่าวิกฤติการณ์ไปด้วยกัน

จูเนียร์ แบทเทิล (นานา จีเบวอนโย) ที่พี่ชายถูกยิงเสียชีวิต เขาเรียนไม่เอาไหน เมื่อตั้งใจจริงก็ได้ทุนนักกีฬาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยซานโฮเซ

เจสัน ไลล์ (แชนนิง เททัม) ที่พ่อติดคุก อยากผลักดันตัวเองให้ไม่เป็นเหมือนพ่อ เขาเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยซานดิเอโกจนจบปริญญาตรี

ทิโม ครูซ (ริค กอนซาเลซ) เคยมั่วสุมกับญาติที่ค้ายาเสพติด ต่อมาได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮัมโบลต์สเตท ซึ่งที่นั่นเขาได้เล่นตำแหน่งฟอร์เวิร์ดของทีม

แจรอน “เวิร์ม” วิลลิส (แอนทวอน แทนเนอร์) ล่องลอยไปวันๆ ได้ทุนเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยซานฟานซิสโกสเตท ได้เล่นตำแหน่งการ์ดตลอด 4 ปี

เคนยอน สโตน (ร็อบ บราวน์) ปวดหัวกับเรื่องแฟนสาวตั้งครรภ์ จนคิดจะลาเรียน ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแซคราเมนโตสเตท และได้รับปริญญาตรีด้านสื่อสารมวลชน

คนสุดท้าย เดเมียน คาร์เตอร์ (โรเบิร์ต ริ’ชาร์ด) ลูกชายโค้ชที่ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเอกชนเซนต์ฟรานซิส มาอยู่โรงเรียนรัฐบาลอย่างริชมอนด์ สุดท้ายทำลายสถิติคะแนนเรียนยอดเยี่ยมของโรงเรียนริชมอนด์ที่พ่อเคยทำเอาไว้ และได้ทุนเรียนต่อที่โรงเรียนการทหารเวสต์พอยต์

6.

หากผู้อ่านประสบปัญหาเดียวกันนี้อยู่ ก็สามารถนำหลักการจากหนังไปลองใช้คลี่คลายดูได้ เชื่อว่าจะลุล่วงด้วยดี …หนังเรื่องนี้สร้างจากเหตุการณ์จริง

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares