Link Copied!

เมื่อผมเป็นอาร์บิเตอร์ ตอน พาตัวเล็กไปแข่งหมากรุก 2

หมากรุกสากลไม่ใช่เกมประลองปัญญาของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กๆ ก็สามารถเข้าร่วมการแข่งขันรายการหมากรุกระดับมาตรฐานได้ ซึ่งโดยทั่วไปแบ่งออกเป็นรุ่นไม่เกิน 18 ปี, ไม่เกิน 16 ปี, ไม่เกิน 14 ปี, 12 ปี, 10 ปี, และ 8 ปี เพียงแต่ยังมีกฎเกณฑ์รายละเอียดบางประการที่นักกีฬารุ่นเล็กมากๆ จะต้องมีหรือสามารถทำได้

เคยมีคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองของนักหมากรุกรุ่นจิ๋วเข้ามาพูดคุยเชิงปรึกษาว่า ถ้าจะให้ลูกลองเข้าร่วมการแข่งขันรายการหมากรุกระดับมาตรฐาน ควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี เพราะการเป็นมือใหม่หัดขับแบบใหม่เอี่ยมถอดด้ามในสนามแข่งขันหมากรุกนั้น ขนาดผู้ใหญ่บางคนยังมีอาการตื่นสนาม หวาดวิตกไปหมด กลัวว่าจะไปทำอะไรผิดพลาดจนกระทบกับผลการแข่งขัน เด็กเล็กนั้นก็อาจจะมีทั้งที่ตื่นเต้นและรู้สึกเฉยๆ แต่ว่าเกมการแข่งขันหมากรุกนั้นมีกฎระเบียบ กติกา รายละเอียดที่เรียกว่ายุ่บยั่บหยุมหยิมมากมายจนอาจจะดูเกินการรับมือของเด็กเล็กไปมากทีเดียว

ตัวผู้เขียนในฐานะที่พอจะมีประสบการณ์ในการควบคุมและตัดสินการแข่งขันหมากรุกสากลรุ่นเด็กเล็กมาบ้าง จะลองเอาข้อมูลความรู้ความคิดเห็นมาแบ่งปันกันดูสำหรับผู้ปกครอง พี่เลี้ยง และกองเชียร์ เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับเจ้าตัวเล็กที่จะได้เพิ่มโอกาสทำผลการแข่งขันในสนามแข่งให้ออกมาเป็นที่น่าพอใจ และเจ้าตัวเองก็จะมีความรู้สึกที่ดี มีความสุขกับสภาพบรรยากาศการแข่งขันที่ดูตึงเครียด เย็นชา และเงียบงัน

เด็กเล็กแค่ไหนถึงจะเข้าร่วมทำการแข่งขันรายการหมากรุกสากลระดับมาตรฐานได้ คำถามนี้ขึ้นอยู่กับตัวนักกีฬาเองเป็นหลัก ถ้าเด็กมีความสามารถและมีคุณสมบัติเพียงพอตามกฎเกณฑ์ที่ทางผู้จัดการแข่งขันได้กำหนดเอาไว้ อายุของนักกีฬาเป็นส่วนที่สำคัญ แต่ไม่ใช่เงื่อนไข โดยทั่วๆ ไปเท่าที่สังเกตในรายการแข่งขันในรุ่นระดับเยาวชนหรือเอจกรุ๊ป (Age group) ผู้จัดการแข่งขันจะกำหนดเพดานขั้นสูงของระดับอายุนักกีฬาไว้เป็นเกณฑ์ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบแบบแผนปฏิบัติของสหพันธ์หมากรุกสากลนานาชาติ คือ รุ่นอายุ (นักกีฬา) ไม่เกิน 18 ปี, ไม่เกิน 16 ปี, ไม่เกิน 14 ปี, 12 ปี, 10 ปี, และ 8 ปีตามลำดับ

สมมุติว่าถ้านักกีฬาของเรามีอายุไม่เกิน 10 ขวบ ก็สามารถสมัครลงแข่งขันได้ตั้งแต่รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี ไปจนถึงรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี หรือสมัครในรุ่นทั่วไปหรือรุ่นโอเพ่นก็สามารถทำได้ ถ้าผู้จัดการแข่งขันไม่ได้กำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำเอาไว้ (ผมในฐานะเป็นอาร์บิเตอร์มาสี่ห้าปีก็ยังไม่เคยเห็นนะครับ)

แต่ส่วนใหญ่นักกีฬามักสมัครตามรุ่นอายุของตัวเองมากกว่า เพราะคาดหวังว่าจะทำผลงานได้ดี จนอาจจะติดลำดับหรือเกณฑ์ที่จะได้รับรางวัลสำหรับรุ่นตนเอง การข้ามรุ่นก็มีอยู่บ้าง แต่มักจะเป็นระหว่างรุ่นที่ใกล้เคียงกัน เช่น นักกีฬารุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี แต่ขอสมัครในรุ่นระดับอายุไม่เกิน 16 ปี ซึ่งอาจเป็นเพราะนักกีฬาหรือโค้ชมีความคิดเห็นว่า นักกีฬามีศักยภาพเพียงพอที่จะยกระดับตัวเองขึ้นไปประลองฝีมือหรือเปรียบเทียบความสามารถกับรุ่นอายุมากกว่า นักกีฬาเหล่านี้มักจะเป็นพวกที่จริงจังกับเกมหมากรุก มุ่งหวังพัฒนาศักยภาพและระดับฝีมือมากกว่าที่จะหวังในเรื่องของรางวัล หรือความพอใจที่จะเปรียบเทียบฝีมือความสามารถในหมู่นักหมากรุกรุ่นอายุระดับเดียวกัน

ดังนั้นจากเงื่อนไขกฎเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นสรุปว่า ไม่ว่านักกีฬาของเราจะอายุ 8 ขวบหรือ 5 ขวบย่อมสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้หมด เพียงแต่ยังมีกฎเกณฑ์รายละเอียดอีกบางข้อบางประการที่นักกีฬารุ่นเล็กมากๆ จะต้องมีหรือสามารถทำได้ ซึ่งเราจะมาไล่เรียงลำดับดูไปตามชนิดหรือประเภทของการแข่งขัน

ในรายการแข่งขันหมากรุกสากลบนกระดานจริง หรือโอเวอร์เดอะบอร์ด (Over the Board: OTB) ซึ่งอาจจะเหมารวมการแข่งขันที่จัดบนระบบออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ตด้วย จะจัดแยกประเภทการแข่งขันตามระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้เล่นหนึ่งคนใช้เวลานี้ทั้งหมดสำหรับเดินหมากหนึ่งเกม แน่นอนว่าระยะเวลาที่กำหนดให้นี้ต้องถูกทบเพิ่มเป็นสองเท่าเพราะรวมเวลาของคู่แข่งขันเข้าไปด้วย

การจัดแบ่งตามเวลาอย่างง่ายๆ และชัดเจนที่สุด เกมการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ เกมมาตรฐาน เกมเร็ว และเกมสายฟ้าแลบก็คือเกมเร็วมาก ซึ่งทั้ง 3 ประเภทนี้มีลักษณะแตกต่างกันไป และเมื่อเราใช้ระยะเวลามาเป็นตัวกำหนดและควบคุมการแข่งขัน จึงต้องมาทำความรู้จักกับอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่ใช้ประกอบทุกครั้งในเกมการแข่งขันแบบมาตรฐาน นั่นคือ นาฬิกาจับเวลาหรือนาฬิกาหมากรุก

จริงๆ แล้วนาฬิกานี้ใช้ในการแข่งขันเกมหมากกระดานอีกหลากหลายประเภท เช่น โกะหรือหมากล้อม หมากฮอส หมากรุกไทย หรือแม้กระทั่งครอสเวิร์ดและเอ-แม็ท ลักษณะของตัวนาฬิกาไม่เหมือนกับนาฬิกาจับเวลาที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาประเภทอื่นๆ ซึ่งจะเริ่มจากค่าเวลาที่เป็นศูนย์ แล้วเพิ่มค่ามากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกดปุ่มจับเวลา เพื่อดูว่านักกีฬาใช้เวลาไปเท่าไร เช่น การวิ่งแข่ง ว่ายน้ำ หรือดูว่าเกมการแข่งขันผ่านช่วงเวลาไปเท่าไร หรือใกล้จะครบกำหนดช่วงเวลาการแข่งขันแล้วหรือยัง เช่น เกมฟุตบอล โปโลน้ำ การชกมวย

สำหรับนาฬิกาหมากรุกนั้นแตกต่างมาก เหมือนเราเอานาฬิกาจับเวลาแบบปกติสองเรือนนำมาใส่ไว้ในกล่องเดียวกัน แล้วตั้งเวลาที่จะกำหนดไว้ให้นักกีฬาได้ใช้ในหนึ่งเกมการแข่งขันนั้นเท่าๆ กันทั้งสองเรือน เมื่อนักกีฬาฝ่ายหนึ่งเดินตัวหมากบนกระดาน แล้วกดปุ่มนาฬิกาฝั่งตัวเอง กลไกพิเศษบางอย่างจะทำให้เวลาของคู่แข่งขันลดลง จนกว่าคู่แข่งขันจะคิดและเดินตัวหมากเสร็จเรียบร้อย แล้วกดนาฬิกาของฝั่งตัวเอง เวลาที่กำลังลดลงจะหยุด แล้วเปลี่ยนมาเป็นเวลาของฝ่ายแรกลดลงแทน เป็นเช่นนี้สลับกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผลการแข่งขัน หรือเวลาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดลงหรือตกถึงศูนย์ก่อน หรือหมดเวลานั่นเอง ถือว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

เรามาเริ่มจากเกมแข่งขันประเภทเกมสายฟ้าแลบ เป็นเกมการแข่งขันที่ใช้เวลาน้อยมาก เวลาสำหรับผู้เล่นหนึ่งคนจะกำหนดไว้แค่ไม่เกิน 9 นาที 59 วินาที ถ้าเกินจากนี้ หรือ 10 นาทีขึ้นไป จะจัดเป็นการแข่งขันประเภทเกมเร็ว ต้องบอกเพิ่มเติมไว้ตรงนี้อีกว่า มีกติกาพิเศษอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของการจับเวลาในเกมหมากรุกสากล นั่นคือ เรื่องของการทดเวลา ซึ่งใช้อยู่ในเกมการแข่งขันทุกประเภท จะทดมากทดน้อยก็แล้วแต่การกำหนดของผู้จัดการแข่งขัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด หรือเป็นไปตามประเพณีนิยมที่ยอมรับกันในหมู่นักหมากรุกหรือวงการการแข่งขัน

การทดเวลาคืออะไร ทำไมต้องทดเวลา ถามว่าถ้าในเกมการแข่งขันจะไม่มีการทดเวลาได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าได้ มีเกมการแข่งขันบางประเภทบางรายการที่ผู้จัดอาจจะกำหนดไม่ให้มีการทดเวลาก็ได้ เวลาที่ถูกทดเพิ่มขึ้นมาคล้ายๆ กับเป็นเวลาสำรองเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น ในเกมการแข่งขันแบบมาตรฐานซึ่งเป็นเกมที่กำหนดเวลาให้ผู้เล่นหนึ่งคนไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หรือ 60 นาทีขึ้นไป การทดเวลาก็ช่วยให้ผู้เล่นหรือผู้แข่งขันมีเวลาสำหรับการจดบันทึกการเดินหมากลงบนใบสกอร์ชีท เพราะกติกากำหนดว่าผู้แข่งขันจะต้องจดบันทึกการเดินหมากทั้งของตัวเอง และของคู่ต่อสู้ทุกตาเดินในเกมการแข่งขันประเภทเกมมาตรฐาน

ส่วนในเกมเร็วมากอย่างเกมสายฟ้าแลบนี้ การทดเวลาก็คงช่วยรักษาเวลาให้ผู้แข่งขันได้ใช้ความคิดได้อย่างเต็มที่และมากที่สุด เพราะการเอื้อมมือไปจับตัวหมากเดินจนถึงจังหวะวาดมือไปกดนาฬิกาจับเวลาก็ใช้เวลาอยู่หลายวินาที การทดเวลาจะรักษาประโยชน์ตรงนี้ไว้ให้ผู้แข่งขันมากที่สุด

ทดเวลาเท่าไรและมีวิธีการทดอย่างไร ส่วนมากมักจะกำหนดไว้ตามมาตรฐานการแข่งขันที่เคยได้นิยมปฏิบัติต่อๆ กันมาจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เช่น ในรายการแข่งขันประเภทเกมเร็ว ผู้จัดการแข่งขันกำหนดเวลาไว้สำหรับผู้เล่น 15 นาที และทดเวลาเพิ่ม 10 วินาทีต่อทุกๆ หนึ่งตาเดิน อย่างนี้ผู้แข่งขันจะเรียกกันอย่างง่ายๆ ว่า “เกม 15/10”

เรามาลงลึกในรายละเอียดเพิ่มเติมอีกสักหน่อย เกมการแข่งขันประเภทเกมเร็ว ผู้เล่นผู้แข่งขันจะมีเวลาอยู่ระหว่าง 10 นาทีถึง 59 นาที 59 วินาที (ถ้ามีเวลาถึง 60 นาทีเต็มขึ้นไป จะกลายเป็นเกมแข่งขันประเภทมาตรฐาน) 15 นาทีนี้อยู่ในเกณฑ์เป็นประเภทเกมเร็วอย่างแน่นอน แต่ 10 วินาทีที่เป็นเวลาทดนั้น เป็นส่วนที่จะต้องนำมาคิดบวกรวมเอาไว้ด้วย โดยเอา 10 วินาทีคูณกับตัวเลข 40 (สี่สิบ)

ตัวเลข 40 มาจากไหน สหพันธ์หมากรุกสากลนานาชาติอธิบายว่า นี่คือค่าเฉลี่ยของจำนวนตาเดินที่เกิดขึ้นในเกมหมากรุกโดยทั่วๆ ไป เมื่อเอา 10 วินาทีคูณเข้ากับค่าเฉลี่ยจำนวนตาเดินในเกมหนึ่งเกม ก็จะเป็น 400 วินาที หรือ6 นาที 40 วินาที เอาตัวเลขนี้ไปบวกรวมกับ 15 นาทีที่เป็นเวลาฐานของผู้แข่งขันเดิม ผลออกมาเป็น 21 นาที 40 วินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์และระเบียบกติกาที่จัดว่าเป็นเกมการแข่งประเภทเกมเร็วนั่นเอง วิธีการคิดและการคำนวณเวลาเพื่อระบุและแบ่งแยกประเภทของเกมการแข่งขันมีลักษณะอย่างนี้

ย้อนกลับมาที่เกมสายฟ้าแลบหรือเกมเร็วมาก ซึ่งนักหมากรุกมักจะเรียกว่า บลิทซ์เกม (Blitz) ซึ่งถ้าผู้จัดการแข่งขันได้ประกาศกติกาเรื่องของเวลาเอาไว้ว่า เวลาสำหรับผู้แข่งขันคือ 5 นาทีและบวกเพิ่ม 3 วินาทีต่อทุกๆ หนึ่งตาเดิน หรือ 5/3 เรามาลองคำนวณดูว่าเกมการแข่งขันนี้จะเป็นประเภทเกมสายฟ้าแลบจริงหรือไม่ วิธีคิดคือ เรามี 5 นาทีเป็นเวลาฐาน เอาไปบวกกับ 3 วินาทีคูณเข้ากับค่าเฉลี่ย 40 ตาเดิน ได้เท่ากับ 120 วินาทีหรือ 2 นาทีเต็ม เมื่อบวกเข้ากับเวลาฐาน 5 นาที รวมกันเป็น 7 นาที ซึ่งจัดได้ว่าเป็นประเภทเกมสายฟ้าแลบ เพราะเวลารวมทั้งหมดของเกมยังไม่ถึง 10 นาที

เวลาที่ถูกทดเพิ่มขึ้นมาในแต่ละหนึ่งตาเดินทำได้อย่างไร ก็เนื่องมากจากว่าในยุคปัจจุบันนี้ อุปกรณ์นาฬิกาจับเวลาของเกมหมากรุก ถูกปรับปรุงพัฒนาเป็นระบบดิจิทัล ทำงานด้วยไฟฟ้าและไมโครชิพที่ทันสมัย ทุกครั้งที่ผู้แข่งขันกดแป้นนาฬิกาของฝั่งตนเอง นาฬิกาจะทำการบวกเพิ่มเวลาที่กำหนดไว้อย่างอัตโนมัติ เช่น ขณะที่ผู้แข่งขันในรายการประเภทเกมเร็ว 15/10 (15 นาทีทดเพิ่ม 10 วินาทีทุกๆ ตาเดิน) กดแป้นนาฬิกาที่กำลังแสดงตัวเลขบนหน้าจอว่า 11 นาที 51 วินาที เมื่อกดแป้นนาฬิกาแล้ว ตัวเลขบนหน้าจอจะเปลี่ยนเป็น 12 นาทีกับอีก 1 วินาที และแน่นอนว่าหยุดเดินด้วย เพราะจะเป็นทีเดินของคู่ต่อสู้ เวลาของคู่ต่อสู้จะลดลงแทน

ขอกระซิบเตือนให้กับผู้แข่งขันมือใหม่หัดขับครับว่า ทำความเข้าใจกับกฎกติกาเรื่องของการทดเวลาให้ดี ในฐานะอาร์บิเตอร์ ผู้แข่งขันบางคนมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยกมือเรียกกรรมการและฟ้องว่านาฬิกาจับเวลาเสีย กดแล้วเวลามันไม่ลด แถมยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาร์บิเตอร์ต้องคอยอธิบายถึงกลไกและกติกาของการทดเวลาให้ทราบ ยิ่งเกมมาตรฐานซึ่งบวกเพิ่มเวลาให้เยอะมาก เช่น อาจจะทดเพิ่มให้ถึง 30 วินาทีต่อหนึ่งตาเดิน ซึ่งในช่วงตอนเริ่มต้นของเกมที่เรียกว่าช่วงเปิดหมาก ผู้เล่นผู้แข่งขันอาจจะจับเดินตัวหมากด้วยความรวดเร็วเพราะความชำนาญ คุ้นเคยหรือมีการเตรียมการเปิดหมากมาล่วงหน้า การเดินหมากและกดนาฬิกาอย่างรวดเร็วติดต่อกันห้าหกตาเดิน เวลาบนหน้าจอ อาจเพิ่มขึ้นได้ 2-3 นาที

การทดเวลามีข้อดีและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เล่นหลายประการ หนึ่งข้อที่สำคัญคือ ตัดการพยายามจะเอาชนะเวลาของผู้เล่นฝ่ายหนึ่งที่พลังหรือค่าตัวหมากที่เหลืออยู่บนกระดานไม่มากพอที่จะสร้างรูปรุกจนหรือเช็กเมทคิงฝ่ายตรงข้ามได้ แต่พยายามยื้อเดินเกมต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้เวลาของคู่ต่อสู้หมดลง การทดเวลาจะทำให้เวลาของฝ่ายที่เป็นรองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเรื่องการรอให้หมดเวลาแทบจะเป็นไปไม่ได้

ลองดูตัวอย่างเหตุการณ์นี้ หมากขาวเป็นฝ่ายหนีจากการไล่ล่าของหมากฝ่ายดำ หมากขาวมีแต่หมากคิงตัวเดียว ในขณะที่หมากดำมีคิงและมีคู่อัศวินหรือหมากม้าสองตัว ลักษณะเช่นนี้เกมมักจะลงเอยด้วยผลเสมอกันโดยที่ฝ่ายหนีจะต้องเดินคิงทุกตาอย่างดี ไม่มีการสมยอมที่จะเดินหนีไปช่องตาที่จะนำไปสู่การทำให้คิงตัวเองถูกเช็กเมทหรือเรียกว่า เฮลป์เมท (Help mate) ถึงแม้เวลาของหมากขาวจะเหลือไม่ถึง 1 นาที แต่ด้วยระบบทดเวลาเพิ่ม บวกกับการเดินคิงหลบหนีอย่างที่ไม่ยากเย็นอะไรนัก เวลาของฝ่ายหนีจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนฝ่ายไล่หมดหวังที่จะรอให้เวลาหมด และเกมจะจบลงด้วยผลเสมอ เมื่อฝ่ายหนีเดินหมากได้ครบ 50 ตาเดิน ตามกติกาเงื่อนไขขอเสมอ

ถึงตรงนี้ผู้เขียนก็ยังไม่ได้นำผู้อ่านเข้าประเด็นเรื่องการเลือกประเภทเกมการแข่งขันหมากรุกให้เหมาะสมกับเด็กเล็กหรือนักกีฬารุ่นจิ๋วเลยครับ เพราะต้องปูพื้นเรื่องกติกาและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องหลายข้อหลายประการ คงจะต้องมาว่ากันในตอนหน้าในชุดเรื่องเล่า “เมื่อผมเป็นอาร์บิเตอร์” ตอนต่อไปครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares