Link Copied!
จตุรงค์

เกม “จตุรงค์” ต้นกำเนิดหมากรุกสากล

รู้หรือไม่ว่าเกมหมากรุกสากลในปัจจุบันที่มีผู้เล่นสองคนนั้น เชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากเกม “จตุรงค์” ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นที่อินเดียตอนเหนือ เมื่อราว 1,200 ปีก่อน และมีผู้เล่นสี่คน เดินหมากที่จำลองการทำสงครามในสมรภูมิ

            กระดานหมากรุก โดยปกติทั่วไปจะต้องเป็นพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านกว้างจะเท่ากับด้านยาวเสมอ มีเกมหมากรุกอีกบางชนิด ที่กระดานอาจจะไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เช่น หมากรุกจีน หรือหมากรุกดัดแปลง ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเล่นแตกต่างจากกระดานปกติ เพื่อความสนุกแปลกใหม่ หลีกหนีความซ้ำซากจำเจ บางทีเราอาจจะเคยเห็นกระดานหมากรุกที่เป็นรูปดาวหกแฉก หรือรูปกางเขนเหล็ก หรือแม้กระทั่งตัวหมากที่มีหน้าตาแปลกๆ มีทิศทางการเดินที่แตกต่างจากเกมหมากรุกสากลปกติ รวมๆ เหล่านี้ เรียกว่า Chess Variants

            ย้อนกลับมาที่กระดานหมากรุกสากลที่เราเห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป มีเรื่องที่น่าสนใจมากมายหลายประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่จัตุรัสเรียบง่ายนี้ ทำไมมันจึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทั้งที่แนวคิดของเกมนี้คือภาพจำลองการรบในสงคราม ซึ่งมีพื้นที่ที่ใช้ทำการต่อสู้กันหลากหลาย ไม่ควรจะเป็นพื้นที่สมมาตร ดูเป็นสังเวียนที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดสร้างขึ้น หมากรุกจีนนั้นให้ความสมจริงมากกว่าในแง่มุมของการจำลองภาพการรบ มีแม่น้ำสายใหญ่กั้นขวางระหว่างกองทัพของทั้งสองฝ่าย มีกระโจมหรือพระราชวังของผู้นำทัพที่มีองครักษ์รายล้อม หน่วยรบหรือตัวหมากบางตัวไม่สามารถเดินข้ามแม่น้ำได้ บ้างก็ว่านี่คือภาพจำลองการรบระหว่าง เซียงอวี ฌ้อปาอ๋อง กับ หลิวปัง พระเจ้าฮั่นโกโจ ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่นนั่นเอง

            มีแนวคิดอ้างว่า พื้นที่จัตุรัสของกระดานหมากรุกน่าจะเลียนแบบสังเวียนการต่อสู้ของมวยปล้ำในยุคโบราณ ซึ่งกลายมาเป็นภาพเวทีสนามมวยที่พวกเราเห็นคุ้นตาในวันนี้ แต่ก็มีหลักฐานการศึกษามาหักล้างว่า สังเวียนการต่อสู้ของมวยปล้ำ แรกทีเดียวเป็นพื้นที่วงกลม หรือพื้นที่รูปไข่ โดยยังมีหลักฐานที่สืบทอดมาอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน นั่นก็คือเวทีของมวยปล้ำซูโม่ในประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

            พื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านเท่านี้ อาจจะถูกออกแบบให้มีความเหมาะสมกับเกมการแข่งขันที่มีผู้เล่นแข่งกันสองคนก็เป็นได้ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า แรกเริ่มเดิมทีเกมหมากรุกเกิดขึ้นในอินเดีย และเล่นกันสี่คน

            ในวงประวัติศาสตร์ของเกมหมากรุก ยอมรับกันว่า “จตุรงค์” คือต้นกำเนิดของเกมหมากรุกสากลในปัจจุบัน มันถูกคิดค้นขึ้นในตอนเหนือของประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ 1,200 กว่าปีมาแล้ว และหลังจากนั้นก็ถูกนำไปเผยแพร่ในดินแดนที่เป็นประเทศตุรกีในปัจจุบัน เรื่อยไปถึงทวีปยุโรปตอนล่าง มีบางสายก็เผยแพร่ย้อนกลับมาทางทวีปเอเชีย ทั้งเอเชียตะวันออกไกล และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

            เกม “จตุรงค์” เมื่อ 1,200 ปีที่แล้ว แตกต่างจาก “หมากรุกสากล” ในปัจจุบันนี้อย่างมาก แต่สิ่งที่น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยก็คือ กระดาน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีช่องตาภายในพื้นที่นี้เป็นลักษณะแปดส่วนคูณแปดส่วน หรือ 64 ช่องตานั่นเอง แต่ไม่มีลายสลับสีเข้มและสีจางแบบที่เราเห็นบนกระดานหมากรุกสากลในทุกวันนี้

            เกม “จตุรงค์” โดยนิยาม หมายถึง “สี่กองทัพ” ซึ่งแต่ละกองทัพจะถูกควบคุมหรืออำนวยการรบโดยผู้เล่นหนึ่งคน แต่ละกองทัพมีกำลังพลหรือพลรบเท่าๆ กัน นั่นคือ พระราชาหนึ่ง ช้างศึกหนึ่ง ม้าศึกหนึ่ง รถศึกหนึ่ง และทหารเลวอีกสี่ รวมทั้งหมดแปดหน่วยรบในหนึ่งกองทัพ

            ทั้งสี่กองทัพนั้นแตกต่างจากกันด้วยสีของตัวหมาก สีแดง สีเขียว สีเหลือง และสีดำ หรืออาจจะเป็นสีอื่นๆ ตามวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ

            หนึ่งกองทัพ หนึ่งผู้เล่น สี่กองทัพ สี่ผู้เล่น แล้วเกมจะดำเนินไปอย่างไร ฟังดูน่าสนุกขึ้นไปอีก เมื่อเกมกำหนดให้ผู้เล่นสีแดงและสีเขียวเป็นพันธมิตรกัน ส่วนคู่ต่อสู้ก็คือผู้เล่นตัวหมากสีเหลืองและสีดำ ซึ่งก็จับมือแท็กทีมกันเช่นเดียวกับฝ่ายหมากแดงและหมากเขียว

            วิธีการเล่นนั้นยิ่งยุ่งยาก เริ่มต้นการวางตั้งตัวก็ดูไม่ธรรมดา เริ่มด้วยกองทัพสีแดง วางเรียงตัวหมากชั้นนายจากมุมกระดานบนด้านซ้ายมือสุด รายละเอียดนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าไล่เรียงลำดับกันอย่างไร แต่ตัวหมากพระราชาจะถูกวางไว้ ณ ตำแหน่งบนสุดหรือด้านนอกสุด และตามด้วยตัวหมากตัวอื่นๆ ไล่จากบนลงล่างชิดขอบกระดานทั้งสี่ตัว จากนั้นถัดไปทางขวามือแถวที่สองก็เป็นที่ตั้งของหมากเบี้ย หรือทหารราบทั้งสี่ตัว ดังนั้นกองทัพสีแดงนี้จะเดินทัพมุ่งหน้าจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก หรือจากด้านซ้ายไปด้านขวาของกระดาน ถัดไปเป็นกองทัพสีเหลือง ซึ่งเป็นอริหรือคู่ต่อสู้กัน จะวางเรียงตัวหมากในทำนองเดียวกัน แต่จะวางแถวกองทัพชิดขอบกระดานมุมขวาบน หันหน้ากองทัพลงมาทางด้านล่างของกระดาน หรือเดินทัพจากทิศเหนือลงใต้ และแน่นอนว่า ตัวหมากพระราชาของกองทัพสีเหลือง ก็จะวางอยู่ที่ปีกด้านนอกสุดของกองทัพเช่นเดียวกัน

            ตอนนี้เราก็พอจะเดากันออกแล้วว่า กองทัพที่เหลืออีกสองสี สองกองทัพ จะต้องจัดตั้งและวางเรียงตัวหมากกันอย่างไร

            กองทัพสีเขียวซึ่งอยู่มุมด้านล่างขวา จะเดินทัพจากทิศตะวันออก เคลื่อนกำลังเข้าโจมตีด้านข้างของกองทัพสีดำ ที่ตั้งอยู่มุมด้านล่างซ้ายของกระดาน และกองทัพสีดำก็จะทำเช่นเดียวกันนี้กับกองทัพหมากสีแดง ไล่วนกันไปเป็นลักษณะงูกินหาง

            ถ้าคิดว่านี่คือความยุ่งยากของการเริ่มต้นเกมแล้ว ลองมาดูวิธีการเดินหมาก ซึ่งจะเป็นอะไรที่ยุ่งยากกว่า

            เมื่อเริ่มต้นเดินหมาก ผู้เล่นต้องใช้อุปกรณ์อย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นแท่งไม้ทรงกระบอกเป็นเหลี่ยมๆ ห้าด้าน บางตำราก็ว่ามีหก ขนาดประมาณแท่งดินสอหรือด้ามปากกา ความยาวประมาณหนึ่งถึงสองนิ้ว แต่ละด้านมีสัญลักษณ์ อาจจะเป็นตัวอักษรอินเดียโบราณกำกับไว้ ให้ทอดหรือโยนแท่งไม้นี้ลงบนพื้น เมื่อแท่งไม้หยุดนิ่ง เหลี่ยมด้านบนแสดงสัญลักษณ์ตรงกับตัวหมากอะไร ก็ให้ผู้เล่นเดินหมากตัวนั้น คล้ายกับการทอดหรือทอยลูกเต๋าในยุคปัจจุบันนี้ ถ้าทอดหรือทอยแท่งไม้แล้วไม่สามารถเดินตัวหมากได้ ก็ให้ข้ามตาเดินนั้นไปยังผู้เล่นลำดับถัดไป

            นี่คือภาพรวมพอสังเขปของเกมจตุรงค์ ต้นกำเนิดของเกมหมากรุกสากลในทุกวันนี้ เป้าหมายของเกมตอนเริ่มแรกไม่เป็นที่แน่ชัด เกมจะจบลงด้วยการรุกจนหรือไม่ หรือมีเป้าหมายของเกมเป็นอย่างอื่น ต่อเมื่อเกมจตุรงค์มีการพัฒนาและถูกนำไปเผยแพร่ในแถบโลกอาหรับ การรุกจนจึงกลายเป็นกติกากำหนดถึงจุดสิ้นสุดของเกมโดยสมบูรณ์

            ผู้เล่นอาจจะรู้สึกสนุกในการควบคุมกองทัพทั้งกองทัพด้วยผู้บัญชาการรบเพียงคนเดียว ไม่แน่ชัดนักว่ากองทัพทั้งสี่ถูกยุบรวมเป็นสองกองทัพในช่วงเวลาใด แต่แน่นอนว่าในหนึ่งกองทัพจะมีสองผู้บัญชาการรบไม่ได้ เกมจึงปรับให้หนึ่งพระราชาลดตำแหน่งลงมาเป็นที่ปรึกษาทางการทหาร บทบาทและพลังอำนาจก็ลดลง จนเมื่อเกมหมากรุกได้เผยแพร่เข้าสู่ยุโรป ที่ปรึกษาทางการรบจึงกลายเป็นหมากควีนที่ทรงพลานุภาพ มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าตัวหมากใดในกระดาน

            คำว่า เช็กเมท (checkmate) ซึ่งหมายถึงการรุกจนนั้น สันนิษฐานกันว่า คำว่า เช็ก (check) คงจะมาจากคำว่า ชาห์ (shah) อันหมายถึง คำเรียกถึงตำแหน่งกษัตริย์ในโลกมุสลิม ส่วนคำว่า เมท (mate) คงจะมาจากคำว่า หมาด (mudh) แปลว่า ไม่สามารถช่วยเหลือได้ บางตำราก็ว่า คำว่า หมาด หมายถึงตาย (แต่ในเกมหมากรุก พระราชาไม่เคยถูกปลงพระชนม์ มีแต่ถูกล้อมจับเป็นเท่านั้น)

            คำว่า “รุกจน” นี้แปลมาจากคำว่า เช็กเมท ใช้พูดถึงจุดสิ้นสุดของเกมหมากรุกไทย มีหลายคนสับสนกับคำว่า “รุกฆาต” และเข้าใจว่า รุกฆาต คือเช็กเมท แท้ที่จริงแล้ว คำว่า “รุกฆาต” ในเกมหมากรุกไทย ใช้เรียกและอธิบายถึงจังหวะการเดินหมากที่ฝ่ายหนึ่งโจมตีหมากขุนของอีกฝ่าย และในจังหวะเดียวกันนี้ ตัวหมากที่โจมตีขุน ก็ขู่ทำท่าจะกินตัวหมากตัวอื่นที่เป็นฝ่ายเดียวกันกับขุนด้วยพร้อมๆ กัน เมื่อขุนที่ถูกโจมตีเดินหลบพ้น หรือหาวิธีการรับมือจากการถูกโจมตีได้แล้ว ตัวหมากที่โจมตีก็จะกินตัวหมากอีกตัวที่ถูกโจมตีพร้อมกัน พูดอย่างง่ายๆ ว่า ฝ่ายหนีขุนนั้นจะต้องเสียตัวหมากตัวหนึ่งสังเวยให้กับการหนีรอดของขุน (ตามกติกาหมากรุกทั้งไทยและสากล ผู้เล่นจะปล่อยให้หมากคิงหรือขุนถูกกินไม่ได้) เว้นแต่ว่าผู้เล่นฝ่ายที่โจมตีนั้น อาจจะเลือกไม่กินตัวหมากนั้นก็ได้ เพราะกติกาไม่ได้บังคับ นี่คือความหมายของคำว่า “รุกฆาต” ซึ่งในหมากรุกสากลจะเรียกจังหวะการเดินแบบนี้ว่า ฟอร์ค (fork), พิน (pin), สกิวเออร์ (skewer) หรือ ดับเบิล แอทแทค (double attack) หรือ ดิสคัฟเวอร์ เช็ก (discover check)

            ในโลกของละคร ภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งซีรีส์ มีมากมายหลายเรื่องราวที่มีฉากซีนเกี่ยวข้องกับเกมหมากรุก และการแปลซับไตเติล หรือการพากย์เป็นภาษาไทย ผู้แปลบทมักจะแปลคำว่า เช็กเมท (checkmate) เป็นคำว่ารุกฆาต แทนที่จะใช้คำว่ารุกจน เท่าที่ผู้เขียนเคยได้พูดคุยสอบถามกับนักแปลบท ได้ข้อคิดเห็นว่า นักแปลบทส่วนใหญ่ทราบถึงคำแปลที่แท้จริงของคำว่า เช็กเมท แต่ก็ยังตัดสินใจเลือกใช้คำว่ารุกฆาตแทนคำว่ารุกจน เป็นเพราะเสียงของคำว่ารุกฆาตนั้น ฟังดูเด็ดขาด หนักแน่น และจริงจังกว่า ให้ความรู้สึกว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ซึ่งคำว่ารุกจนนั้นให้น้ำหนักเบากว่ามาก เป็นรสนิยมความชอบที่อาจจะไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดมากนัก

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares