Link Copied!

ดนตรี (กับฟุตบอล) คือชีวิต

สีสันอย่างหนึ่งทุกครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ในช่วงหลังๆ คือเพลงประจำการแข่งขัน และเพลงเชียร์ที่คึกคักเร้าใจ ส่งพลังให้นักเตะมุ่งมั่นเพื่อคว้าชัยชนะ

ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปรอบสุดท้ายปี 2020 หรือ “ยูโร 2020” จะเปิดฉากการแข่งขันในวันที่ 11 มิถุนายนนี้ หลังจากต้องเลื่อนมานานถึง 1 ปี เพราะพิษจากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามหน้าเสื่อชั่วโมงนี้ ต้องยกให้ทีมแชมป์โลก ฝรั่งเศส เป็นทีมเต็งแชมป์ เพราะขุมกำลังยังคงแข็งแกร่งไม่แพ้ 3 ปีที่แล้ว ขณะที่ทีมที่มีโอกาสคว้าแชมป์ไม่น้อย น่าจะเป็นแชมป์เก่าโปรตุเกส, เบลเยียม และอังกฤษ ขณะที่เยอรมนี, สเปน และอิตาลี แม้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่คงประมาทไม่ได้เหมือนเดิม

สำหรับแฟนบอลบ้านเราส่วนใหญ่น่าจะเอาใจช่วยทีมอังกฤษ เพราะคุ้นเคยกับสโมสรในพรีเมียร์ลีกเป็นอย่างดี เรียกว่าส่วนหนึ่งรู้จักนักเตะทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือ ลิเวอร์พูล ดีกว่านักเตะทีมชาติไทยหลายเท่า อิทธิพลของฟุตบอลอังกฤษที่มีต่อคนไทยฝังรากลึกมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 70-80 แล้ว และด้วยความที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่เด็กไทยส่วนใหญ่เล่าเรียนกันมาตั้งแต่ตัวเล็กตัวน้อย นอกจากฟุตบอลแล้ว ดนตรีจากทางฝั่งอังกฤษก็มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นไทยไม่แพ้กัน อาจเร็วกว่าด้วยซ้ำ หากวัดจากความนิยมของวง “The Beatles” ในยุคทศวรรษที่ 60

ย้อนกลับไปในยุค 70 นั้นวัยรุ่นนักเรียน-นักศึกษาไทย ชอบห่อปกสมุดและหนังสือเรียน รูปภาพที่นิยมนำมาใช้ห่อภาพปกก่อนเคลือบพลาสติกใสกันมากที่สุด คือภาพบรรดานักร้องและวงดนตรีชื่อดังจากต่างแดน กับภาพนักฟุตบอลชื่อดัง และภาพถ่ายหมู่นักเตะสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ ใครไม่มีถือว่าเชยหรือตกยุค สะท้อนให้เห็นถึงกระแสความนิยมแห่งยุคสมัยในช่วงเวลานั้น แน่นอนว่าไอดอลของวัยรุ่นยุคนั้น รวมถึง เดอะบีทเทิลส์, โรลลิงสโตนส์, บีจีส์ และวงดนตรีชื่อดังทั้งจากฝั่งสหรัฐฯ และอังกฤษ รวมทั้ง จอร์จ เบสต์ กองหน้าทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เจ้าของฉายา “เทพบุตรเจ้าสำราญ”

ต้องยอมรับว่า เดอะ บีทเทิลส์ กับความสำเร็จทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทีมชาติอังกฤษ ในยุคทศวรรษที่ 60 ทำให้คนไทยซึมซับวัฒนธรรมอังกฤษเข้ามาในชีวิตมากขึ้น การที่ เดอะ บีทเทิลส์ และวงจากอังกฤษอีกมากมาย สามารถแจ้งเกิดบนชาร์ตอันดับเพลงบิลบอร์ดฝั่งสหรัฐฯ ได้ ในยุค 60 หรือที่เรียกกันว่า “British Invasion” ครั้งแรก ทำให้เพลงจากฝั่งอังกฤษได้รับการยอมรับจากคนฟังในบ้านเรามากขึ้น รวมทั้งแฟชั่นม็อด (Mod) ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของคนหนุ่มสาวในยุค 60 ด้วย

ช่วงเดียวกันนั้นเอง ทีมชาติอังกฤษคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรกมาครองได้ในปี 1966 ทำให้มีแฟนบอลชาวไทยจำนวนไม่น้อยประทับใจลีลาการเล่นของทีมนักเตะทีมชาติอังกฤษยุคนั้น จึงเริ่มติดตามเชียร์ฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษซึ่งเดิมใช้ชื่อลีกดิวิชัน 1 มากขึ้น อีก 2 ปีถัดมา เมื่อทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของ แมตต์ บัสบี สร้างประวัติศาสตร์เป็นสโมสรฟุตบอลอังกฤษแห่งแรกที่สามารถคว้าแชมป์ยูโรเปียน คัพ ถ้วยใบใหญ่ที่สุดของยุโรปมาครองสำเร็จ กระแสความนิยมฟุตบอลอังกฤษในบ้านเราจึงสูงขึ้นมาก

ยุค 60 สุดยอดวงดนตรีต้องมาจากลิเวอร์พูล (เดอะ บีทเทิลส์) ส่วนสุดยอดทีมฟุตบอลต้องยกให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งนอกจากจะมี บ็อบบี ชาร์ลตัน และ น็อบบี สไตล์ส สองนักเตะทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1966 อยู่ในทีมแล้ว ยังมี เดนิส ลอว์ ยอดดาวยิงระดับตำนานทีมชาติสกอตแลนด์ และ จอร์จ เบสต์ กองหน้าสุดหล่อทีมชาติไอร์แลนด์เหนือ ที่ว่ากันว่าเป็นนักเตะที่มีพรสวรรค์สูงสุดคนหนึ่งเท่าที่สหราชอาณาจักรเคยมีมา เป็นกำลังสำคัญ และจากการที่เบสต์หน้าตาดี ใช้ชีวิตที่หรูหราฟู่ฟ่าระดับซูเปอร์สตาร์ มีแฟนๆ มากมาย เขาจึงได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็น “สมาชิก เดอะ บีทเทิลส์ คนที่ 5”

มาถึงยุค 70 วงการดนตรีเข้าสู่ยุคดิสโก สโมสรที่ครองความยิ่งใหญ่ในอังกฤษยุคนี้ กลายเป็น ลีดส์ ยูไนเต็ด และลิเวอร์พูล โดยเฉพาะลิเวอร์พูลผูกขาดความสำเร็จต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงยุค 80 ซึ่งดิสโกถูกทดแทนด้วยดนตรีแบบ “นิวมิวสิก” หรือ “นิวเวฟ” พร้อมกับการถือกำเนิดของเครื่องดนตรีเสียงสังเคราะห์ “ซินธีไซเซอร์”

ยุคที่ลิเวอร์พูลภายใต้การคุมทีมของ บิล แชงค์ลีย์ และ บ็อบ เพสลีย์ เป็นสโมสรไร้เทียมทาน ทีมหงส์แดงมีนักเตะขวัญใจแฟนบอลไทยมากมายหลายคน อาทิ เควิน คีแกน, จอห์น โทแช็ค, เคนนี ดัลกลิช, เอียน รัช ฯลฯ เป็นช่วงที่วงการดนตรีเปลี่ยนผ่านจากดิสโกและแกลมร็อกในยุค 70 มาเป็นนิวมิวสิก ในยุคทศวรรษที่ 80 ซึ่งวงดนตรีแถวหน้าจากฝั่งอังกฤษ อาทิ ดูแรน ดูแรน, สปันเดา บัลเลต์ และ คัลเจอร์ คลับ ได้รับความนิยมจากทั่วโลก ไม่น้อยหน้าศิลปินเพลงพ็อพชื่อดังฝั่งสหรัฐฯ อย่าง ไมเคิล แจ็คสัน หรือมาดอนนาเลยทีเดียว

ในยุคที่ “คิงเคนนี” เคนนี ดัลกลิช ผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล ช่วงปลายยุค 80 ถึงต้นยุค 90 เป็นช่วงที่วงโอเอซิส แฟนบอลตัวฉกาจของทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ เบลอ, สไปซ์เกิร์ลส์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในชาร์ตอันดับเพลงบิลบอร์ดของสหรัฐฯ จนถูกเรียกว่า “Second British Invasion” แนวดนตรีโมเดิร์นร็อก หรือ อัลเทอร์เนทีฟร็อก กลายเป็นเครื่องหมายการค้าของยุค 90 ซึ่งทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผงาดขึ้นมาผูกขาดความสำเร็จ ในยุคที่ลีกสูงสุดของอังกฤษเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “พรีเมียร์ลีก” สื่อมวลชนอังกฤษมักเชิญนักดนตรีมาทำนายผลฟุตบอลพรีเมียร์ลีกทุกสัปดาห์ ฟุตบอลกับดนตรีจึงแทบแยกกันไม่ออกในชีวิตของคนอังกฤษ

ขณะที่ยุคก่อนช่วงทศวรรษที่ 90 เพลงเชียร์ฟุตบอลที่แฟนบอลบ้านเราส่วนใหญ่รู้จักคือเพลง You will never walk alone (https://www.youtube.com/watch?v=OV5_LQArLa0) ของ เจอร์รี แอนด์ เดอะ เพซเมกเกอร์ส ซึ่งกลายเป็นเพลงเชียร์สุดแสนคลาสสิกของทีมลิเวอร์พูล จากท่วงทำนองไพเราะและมีความหมายดี ความจริงแล้วสโมสรอื่นๆ ก็มีเพลงเชียร์ประจำเหมือนกัน แต่ไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายเหมือนเพลงที่แฟนบอลทีมลิเวอร์พูลจะร้องทุกครั้งที่ทีมรักลงแข่ง โดยเฉพาะหากเป็นนัดเหย้าในสนามแอนฟิลด์ด้วย ใครฟังก็อดรู้สึกขนลุกไปด้วยไม่ได้

แต่เชื่อเถอะครับว่าศิลปินที่แฟนบอลและชาวเมืองลิเวอร์พูลส่วนใหญ่เทิดทูนคือ 4 เต่าทอง หรือ เดอะ บีทเทิลส์ กับ บิลลี ฟิวรี นักร้องเด็กท้องถิ่นที่มีรูปปั้นท่าทางสุดเท่ อยู่บริเวณอัลเบิร์ตด็อค ซึ่งคนต่างถิ่นชอบคิดว่าเป็นรูปปั้นของ เอลวิส เพรสลีย์ นั่นเอง

เนื่องจากเพลง You will never walk alone เคยเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมทั่วไป ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อสโมสรลิเวอร์พูลโดยเฉพาะ เมื่อมีการโหวตเพลงฟุตบอลที่ดีที่สุดจึงไม่ค่อยติดอันดับ เฉกเช่นเดียวกับเพลง Blue Moon เพลงเชียร์ประจำสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพลงที่เคยได้รับความนิยมในหมู่แฟนเพลงทั่วไป ไม่ใช่เพลงที่แต่งเพื่อสโมสรโดยเฉพาะ ที่สำคัญเนื้อหาของเพลงยังมีความหมายไม่ดีเท่ากับเพลง You will never walk alone เพราะเป็นเพลงรักธรรมดาๆ เมื่อนำมาเป็นเพลงเชียร์ก็อาจกระชับจังหวะให้เร็วขึ้นบ้างเท่านั้น

ในยุค 90 นี่เองที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับเพลงที่เขียนมาเพื่อการแข่งขันฟุตบอลหรือทีมฟุตบอลมากขึ้น เนื่องจากมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครบทุกนัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ทำให้คนไทยคุ้นกับเพลง “To be Number One” (https://www.youtube.com/watch?v=7YF49RWif94) เพลงอย่างเป็นทางการของศึกฟุตบอลโลกปี 1990 ที่อิตาลีเป็นเจ้าภาพ ซึ่งร้องโดย จานนา นันนินี กับ เอโดอาร์โด เบนนาโต และเขียนโดย จอร์โจ โมโรเดอร์ พ่อมดซินธีไซเซอร์ ขณะอีก 4 ปีถัดมาในฟุตบอลโลก 1994 เพลง “We are the Champion” (https://www.youtube.com/watch?v=DcYfYSRS8Ls) ของวงควีน ถูกใช้บ่อยจนคุ้นหู แต่เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นมานานก่อนฟุตบอลโลกครั้งนี้ ไม่ใช่เพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่

ดังนั้นเพลงฟุตบอลโลกที่ดังสุดๆ ในบ้านเราจริงๆ น่าจะเป็น La Copa de la Vida (https://www.youtube.com/watch?v=8BkYKwHLXiU) ของ ริกกี มาร์ติน ในฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ฝรั่งเศส และเพลง Waka Waka (https://www.youtube.com/watch?v=pRpeEdMmmQ0) ของชากีรา ในฟุตบอลโลกปี 2010 ที่แอฟริกาใต้ ซึ่งทำให้เธอได้พบรักกับ เคราร์ด ปีเก กองหลังทีมชาติสเปนนั่นเอง เรียกว่าเป็นเพลงที่ทำให้ทั้งคู่โด่งดังไปทั่วโลก อย่างไรก็ตามเพลงฟุตบอลโลกทั้ง 2 เพลงนี้ไม่ใช่เพลงขวัญใจนักวิจารณ์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นเพลงที่ได้เงิน แต่ไม่ได้กล่อง เมื่อเปรียบเทียบกับเพลง 2 เพลงที่ติดอันดับเพลงเชียร์ฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมตลอดกาล

เพลงแรกคือ “Three Lions (Football’s Coming Home)” (https://www.youtube.com/watch?v=RJqimlFcJsM) ซึ่งได้ 2 นักแสดงตลกของอังกฤษคือ เดวิด แบดเดียล กับ แฟรงก์ สกินเนอร์ มาเขียนเนื้อและร้องนำ โดยมีวง เดอะ ไลต์นิง ซีดส์ แต่งเพลงให้ เป็นส่วนผสมเพลงฟุตบอลที่ลงตัวที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เพลงนี้จะเป็นหนึ่งใน 3 เพลงเท่านั้น ที่เคยขึ้นครองอันดับสูงสุด ยูเค ชาร์ต มากกว่าหนึ่งครั้ง มันเป็นเพลงประจำการแข่งขันฟุตบอลยูโร 1996 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ ในโอกาสครบรอบ 30 ปีที่อังกฤษคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกด้วย เนื้อหาของเพลงจึงเป็นการยกย่องผลงานนักเตะอังกฤษชุดแชมป์โลกสมัยแรกและสมัยเดียว

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดที่แฟนบอลอังกฤษรอคอยความสำเร็จการคว้าแชมป์รายการใหญ่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเป็นการกล่าวถึงกีฬาฟุตบอลได้กลับสู่อังกฤษบ้านเกิด (ตามหลักฐานที่อังกฤษอ้างอิงว่าเป็นต้นกำเนิดกีฬาฟุตบอล) นอกเหนือจากเนื้อร้องที่โดนใจ ร้องตามง่ายแล้ว วง เดอะ ไลต์นิง ซีดส์ ยังถ่ายทอดความเป็นบริทพ็อพออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ นับตั้งแต่ปี 1996 จนถึงปัจจุบัน เพลง Three Lions (Football’s Coming Home) จึงกลายเป็นเพลงเชียร์ประจำของทีมชาติอังกฤษไปโดยปริยาย

 อีกเพลงหนึ่งที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเพลงฟุตบอลที่มีระดับหรือยอดเยี่ยมที่สุดในสายตานักวิจารณ์เพลงคือ “World In Motion” (https://www.youtube.com/watch?v=Re4aDJL3heA )ของวงนิวออร์เดอร์ เพลงเชียร์ทีมชาติอังกฤษในศึกฟุตบอลโลกปี 1990 ที่อิตาลี อย่าแปลกใจหากคุณรู้สึกไม่คุ้นหู หรือไม่ชอบเพลงนี้เท่าที่ควร อย่างที่บอกไว้ว่าเป็นเพลงขวัญใจนักวิจารณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ย่อมมีมุมมองต่างจากคนปกติทั่วไป แค่ชื่อของวงก็เพียงพอที่จะทำให้นักวิจารณ์เทใจให้เพลงนี้แล้ว เพราะนิวออร์เดอร์เป็นวงดนตรีจากแมนเชสเตอร์ยุค 80 ที่มีอิทธิพลต่อวงรุ่นหลังๆ สมาชิกของวงทั้งหมดเป็นอดีตสมาชิกของวงจอย ดิวิชัน ซึ่งขาดเพียง เอียน เคอร์ติส นักร้องนำที่ฆ่าตัวตายไปก่อนเพียงคนเดียว

จอย ดิวิชัน หรือ นิวออร์เดอร์ และ เดอะ สมิธส์ ถือเป็นวงที่มีอิทธิพลต่อวงดนตรีในยุค 90 อย่าง เดอะ สโตน โรสเซส, โอเอซิส และอีกมากมายหลายวง การได้วงดนตรีชื่อชั้นระดับนี้มาทำเพลงฟุตบอลจึงสร้างความฮือฮาไม่น้อย แต่เสน่ห์สำคัญที่สุดของเพลงนี้คือการได้ จอห์น บาร์นส์ อดีตปีกทีมชาติอังกฤษของทีมลิเวอร์พูล มาร้องท่อนแร็ปให้ ซึ่งเจ้าตัวทำได้ดีเกินคาด แต่ที่ทำให้บาร์นส์เจ็บใจจนทุกวันนี้คือ ตอนนั้นบาร์นส์กับเพื่อนร่วมทีมชาติอังกฤษอีก 5 คนคือ พอล แกสคอยน์, ปีเตอร์ เบียร์ดสลีย์, เดส วอล์กเกอร์, สตีฟ แม็คมานามาน และ คริส วอดเดิล ที่มาร่วมร้องเพลงเลือกรับเงินค่าตัว 4,000 ปอนด์ไปแบ่งกัน แทนที่จะขอเลือกส่วนแบ่งลิขสิทธิ์การขายเพลง เพราะคิดว่าเพลงฟุตบอลก็คงขายไม่ได้หรอก

แต่ที่ไหนได้ เพลงนี้ครองอันดับหนึ่งในชาร์ตอันดับเพลงเกือบทุกประเทศในยุโรป ถ้าเลือกส่วนแบ่งจากยอดขายเพลงก็น่าจะรวยไปแล้ว ทำให้บาร์นส์กับเพื่อนๆ อดรู้สึกเสียดายไม่ได้!

 สำหรับฟุตบอลยูโร 2020 ที่เริ่มแข่งขันนัดเปิดสนามในวันนี้พอดี ก็มีเพลงอย่างเป็นทางการเช่นกันคือเพลง “We Are the People” (https://www.youtube.com/watch?v=kGT73GcwhCU) โดยมี มาร์ติน แกร์ริกซ์ ดีเจชื่อดัง และ โบโน กับ ดิเอดจ์ สองสมาชิกจากวง U2 เขียนเพลงนี้ร่วมกัน เนื้อหาเน้นมิตรภาพ การให้กำลังใจกันและกันในการต่อสู้ จะว่าไปมันฟังแล้วมันเหมือนกับฟังเพลงของวง U2 โดยมี มาร์ติน แกร์ริกซ์ มาช่วยมิกซ์สร้างสีสันให้มากกว่า และไม่แปลกอะไรที่มิวสิกวิดีโอเพลงนี้จะมี เจสัน แม็คเคเทียร์ อดีตปีกทีมชาติไอร์แลนด์ของทีมลิเวอร์พูลมาร่วมปรากฏตัวด้วย เพราะเขาเคยเป็นขวัญใจคนไอริช แม้แต่โบโนเอง ครั้งหนึ่งขณะเล่นคอนเสิร์ตวง U2 ยังเคยเอาธงชาติไอร์แลนด์มาคลุมตัวแล้วบอกให้ผู้ชมหลับตาจินตนาการว่า ตนเองเป็น เจสัน แม็คเคเทียร์ มาแล้ว!            

เนื่องจากฟุตบอลยูโรครั้งนี้มีกรุงลอนดอนเมืองหลวงของอังกฤษร่วมเป็นหนึ่งในเจ้าภาพด้วย และดูท่าว่ายกเว้นทีมแชมป์โลกฝรั่งเศสที่เป็นทีมเต็งหนึ่งแล้ว ทีมอังกฤษก็น่าจะมีโอกาสคว้าแชมป์มากพอๆ กับทีมอื่น เชื่อว่าเพลง “Three Lions (Football’s Coming Home)” จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะหากทีมชาติอังกฤษจับพลัดจับผลูหลุดเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศแล้วละก็ รับรองว่าสนุกแน่นอน เพราะนัดชิงชนะเลิศยูโร 2020 จะแข่งกันที่สนามเวมบลีย์ ในกรุงลอนดอนด้วย เรียกว่าแทบทุกตารางนิ้วคงได้ยินแต่เสียงร้อง “It’s coming home It’s coming home It’s coming Football’s coming home”

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares