Link Copied!

ชีวิต (บางด้าน) ที่ทาบทับกันของมูราคามิและคามิน

ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นอาศัยการวิ่งเป็นพลังงานลูกใหญ่ในการเขียนหนังสือ ใน “What I Talk About When I Talk About Running” เขาบอกว่า สิ่งที่เรียนรู้เกือบทั้งหมดในการเขียนนิยาย เขาได้เรียนรู้จากการวิ่งเป็นประจำทุกวัน ขณะที่ คามิน คมนีย์ นักเขียนชาวไทยลาออกจากงานประจำเพื่อสานฝันงานเขียน จนมี “เย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์” คู่มือสุดคลาสสิกเกี่ยวกับการวิ่งเป็นงานเขียนเล่มแรก

1

ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1978 ขณะนั่งดูเบสบอลอยู่ที่สนามจิงงุ กรุงโตเกียว แรงบันดาลใจในงานเขียนนิยาย (Hear the Wind Sing – สดับลมขับขาน) ของ ฮารุกิ มูราคามิ บังเกิดขึ้น ณ เวลานั้นนักเขียนชาวญี่ปุ่นยังเป็นเจ้าของกิจการบาร์แจ๊ส

ก่อนที่จะมีชื่อเสียงโด่งดัง โลกรู้จักเขาในฐานะนักเขียนนามอุโฆษ หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของประเทศอังกฤษยกย่องให้เป็น “หนึ่งในนักเขียนนิยายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังคงมีชีวิตอยู่” โดยมีผลงานได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ มากมาย มูราคามิกับภรรยาเคยร่วมกันเปิดร้านขายกาแฟในเวลากลางวัน และปรับเป็นบาร์แจ๊สยามกลางคืน ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น กระทั่งเกิดแรงบันดาลใจลูกหนึ่งอย่างไม่ทันรู้ตัว

มูราคามิบรรยายไว้ในหนังสือ “What I Talk About When I Talk About Running”- เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง (สำนวนแปล นพดล เวชสวัสดิ์ สำนักพิมพ์กำมะหยี่) ถึงความคิดเขียนนิยายที่ไหลวาบเข้ามาในหัวว่า

“ผมระบุเวลาจำเพาะเจาะจงได้ ในตอนที่ผมอยากเขียนนิยาย เวลาราวบ่ายโมงครึ่ง วันที่ 1 เมษายน 1978 ผมอยู่ที่สนามจิงงุ ผมอยู่ตามลำพัง ปลายสนามเขตเอาต์ฟิลด์ ดื่มเบียร์ดูการแข่งขันเบสบอล สนามจิงงุอยู่ไม่ไกลจากอพาร์ตเมนต์ที่ผมพักอยู่”

นักเขียนชื่อก้องยังจำได้ดีว่าวันนั้นเป็นวันฟ้าใสในฤดูใบไม้ผลิ มีสายลมอุ่นพัดโบก ในพื้นที่เขตเอาต์ฟิลด์ไม่มีม้ายาวให้นั่ง มีเพียงเนินหญ้า และตัวเขานอนเอนหลังบนเนินจิบเบียร์เย็นระหว่างดูเบสบอล เงยหน้าจากการแข่งขันขึ้นมองฟ้าเป็นครั้งคราว

การแข่งขันเบสบอลดำเนินไปในสนาม ขณะที่ผู้เล่นคนหนึ่งวิ่งผ่านเบสหนึ่ง มุ่งหน้าไปยังเบสสอง ชั่ววินาทีนั้นเองที่บางความคิดวาบเข้ามาในหัว

“เออนะ, ข้าพเจ้าน่าจะลองเขียนนิยาย”

2

คามิน คมนีย์ เชื่อว่าคนเราทุกคนล้วนเกิดมาเป็นนักเดินทาง และบนโลกกว้างก็มีเส้นทางมากมายให้เลือกเดิน

นักเขียนนามกระเดื่องจากเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าของผลงานเขียนสุดคลาสสิกสำหรับคนรักการวิ่ง “เย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์” พิมพ์ครั้งแรกโดยแพรวสำนักพิมพ์ ครั้งที่สองและสามโดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ คิดเช่นนั้นมาตั้งแต่ยังทำงานเป็นข้าราชการประจำด้านกฎหมาย

ก่อนที่ผู้คนจะรู้จักเขาในฐานะนักเขียนเจ้ารางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด 2 สมัย และรางวัลเกียรติยศอื่นๆ อีกมากมายด้านการเขียน อาทิ รางวัลชนะเลิศวรรณกรรมแว่นแก้ว รางวัลหนังสือดีเด่นของ สพฐ. คามินเคยได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิตทางกฎหมายในต่างประเทศ กลับมาทำงานเป็นพนักงานประจำในในส่วนราชการและทำงานหน่วยงานอิสระหลายแห่ง

แม้ลึกๆ แล้วเขาอยากเดินบนเส้นทางนักเขียนอันเป็นความฝัน แต่ก็ไม่เคยลงมือทำให้เป็นจริง กระทั่งถึงวันหนึ่งจึงตัดสินใจละทิ้งงานประจำ “ทุบหม้อข้าว” ตัวเองเพื่อมุ่งทำตามความฝัน คามินหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ทำสิ่งที่อยากทำคือการเขียนหนังสือ

แต่หลังออกจากงานถึง 1 ปีแล้วช่องว่างนั้นก็ยังเต็มไปด้วยความว่างเปล่า 

คามินเล่าไว้ในหนังสือ “เย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์” ว่า

“ปีหนึ่งผ่านไป เส้นทางนักเขียนแทบจะไม่ได้เริ่มต้น เรื่องของเรื่องเพราะผมมัวหลงไปอีกเส้นทางหนึ่ง มันเป็นเส้นทางที่ไม่มีใครอยากเดิน”

เหตุผลที่ไม่มีใครเดิน เพราะทุกคนบนเส้นทางนี้มัวแต่วิ่ง วิ่ง วิ่ง

คามินยังจำได้ดีว่าในแต่ละวัน เขาจะวิ่งทั้งรอบเช้าและรอบเย็น อาบเหงื่อต่างน้ำ หัวถึงหมอนก็หลับเป็นตายเพื่อเวียนกลับมาวิ่งอีกในวันรุ่งขึ้น ถ้าถึงช่วงที่จะต้องลงสนามตามรายการวิ่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ช่วงเย็นวันเสาร์-เขาจะผ่อนเพลาการใช้แรงจนเหลือศูนย์ สงบนิ่งเพื่อเตรียมระเบิดพลังให้มากเป็นเท่าทวีคูณ-ช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่มีการแข่งขัน เขาทำเช่นนี้ประจำ

หนึ่งปีผ่านไป แม้สถิติเรื่องรายได้จะตกต่ำหลังบอกลาจากงานประจำ แต่เขากล้าพูดว่ามันเป็นปีแห่งผลิตผล

สิ่งตอบแทนที่ไม่ใช่เม็ดเงิน หากแต่เป็นจินตนาการ

เขาเล่าว่าท่วงทำนองต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง “น่าจะเป็นเหตุผลที่ผมนึกอยากเขียนเล่าเรื่องราวและการเรียนรู้ในหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา”

บันทึกไว้ในตอนวอร์มอัพ ของหนังสือเย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์

3

ราว 4 ปีต่อมา คือ ฤดูใบไม้ร่วงปี 1982 ขณะอายุ 33 ปี ฮารูกิ มูราคามิเริ่มวิ่งอย่างจริงจังพร้อมๆ กับเริ่มต้นอาชีพนักเขียนอย่างเต็มตัว การวิ่งของมูราคามิเกิดจากฐานคิดที่ว่า นักเขียนต้องนั่งทำงานบนโต๊ะติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ถ้าไม่รู้จักออกกำลังกายจะเสียสุขภาพ อาจปวดหลัง หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น กิจวัตรประจำวันของเขาจึงเป็นการตื่นแต่เช้าตรู่ออกไปวิ่งนอกบ้าน

มูราคามิเคยกล่าวถึงการวิ่งกับอาชีพนักเขียนว่า คุณลักษณะที่มีความสำคัญที่สุดของนักเขียนอาจเป็นจินตนาการ ความฉลาด หรือความสนใจ แต่การที่จะคงคุณลักษณะเหล่านี้ให้สูงไว้ตลอดเวลา คุณต้องไม่ละเลยที่จะรักษาร่างกายตนเองให้แข็งแกร่ง หากไม่มีร่างกายที่แข็งแกร่ง คุณก็ไม่มีทางที่จะจัดการสิ่งที่ยุ่งยากหรือสิ่งที่จำเป็นมากๆ ได้สำเร็จ

แม้อาจฟังเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่เขาเขียนไว้ใน เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง ว่า “สิ่งที่ผมเรียนรู้เกือบทั้งหมดในการเขียนนิยาย ผมเรียนรู้จากการวิ่งเป็นประจำทุกวัน”

ในตอนเคล็ดลับของการเป็นนักเขียนนักวิ่ง ของหนังสือเล่มเดียวกัน เขาอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเขียนกับการวิ่งว่า “นักเขียนที่มีพรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิดจะเขียนนิยายได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำเรื่องใด เหมือนตาน้ำที่หลั่งไหลผุดพุ่งเป็นน้ำพุ ถ้อยคำพรั่งพรูต่อเนื่องไม่ขาดสาย แทบไม่ต้องออกแรง นิยายก็เสร็จทั้งเล่มแล้ว…โชคร้ายที่ผมไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มนั้น ผมมองหา ไม่เห็นตาน้ำอยู่ใกล้ตัว ผมต้องคว้าสิ่วคว้าค้อน สกัดชั้นหิน ขุดหลุมให้ลึกก่อนจะพบสายแร่ความคิดสร้างสรรค์ในการเขียนนิยาย ผมต้องเคี่ยวตนเองอย่างหนักทางกายภาพ ใช้เวลายาวนาน”

           

ไกลห่างประมาณ 4,600 กิโลเมตร จากดินแดนอาทิตย์อุทัย บนแผ่นดินที่ได้ชื่อว่ารอยยิ้มไม่เคยจางหาย

ด้วยความอึดอัดผสมกับความงุ่นง่านที่ความฝันอยากเป็นนักเขียนถูกดองมาเนิ่นนาน คามินตัดสินใจลงแข่งวิ่งมาราธอน เบื้องหลังการวิ่งของใครๆ อาจมีเหตุผลร้อยแปด กระทั่งบางคนอาจวิ่งโดยไม่มีเหตุผลใดๆ สำหรับคามินแล้วอาจเป็นได้ว่าไม่ได้เป็นนักเขียน ขอเป็นนักวิ่งก่อนก็ยังดี

และเขาวิ่งมาราธอนสำเร็จแม้จะไม่เคยวิ่งระยะไกลมาก่อน

แม้หลังวิ่งเสร็จจะเป็นไข้ 1 คืน ลุกนั่งไม่สะดวก 2 สัปดาห์ ต้องถอดเล็บสองข้างรวมกันถึง 5 เล็บจากอาการช้ำเลือดช้ำหนอง แต่การบาดเจ็บทั้งหมดกลับแลกมาด้วยจิตวิญญาณหนึ่ง ซึ่งบางคนแล้วทั้งชีวิตก็ไม่เคยได้รับ คามินเชื่อว่ามาราธอนแรกเป็นประสบการณ์ล้ำค่า เป็นบทเรียนที่จะนำพาชีวิตเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีขึ้น

“ถ้าฉันวิ่งมาราธอนได้ อะไรๆ ฉันก็ต้องทำได้…นี่กลายเป็นจิตวิญญาณสากลของผู้ผ่านมาราธอนแรก” เขาบันทึกไว้ในหนังสือ

ในที่สุดเรื่องราวของการฝึกซ้อม ลงแข่งขัน ถูกกลั่นเป็นหนังสือ เย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์ คู่มือสุดคลาสสิกของผู้ฝักใฝ่การวิ่งในเวลาต่อมา และเป็นงานเขียนเล่มแรกของ คามิน คมนีย์

หมายเหตุ

เย็นวันเสาร์-เช้าวันอาทิตย์ พิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2547

What I Talk About When I Talk About Running พิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ. 2007

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares