Link Copied!

จะได้ดูไหม? ‘มาดามเดียร์’ ซัดกฎ กสทช. ทำวุ่นลิขสิทธิ์บอลโลก

“มาดามเดียร์” ซัด กฎ Must Carry กสทช. ทำวุ่นลิขสิทธิ์ชมบอลโลก 2022 เหมือน “ขว้างงูไม่พ้นคอ” ถามอีก 11 วัน คนไทยจะได้ดูบอลโลกไหม แนะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแทนการควักเงินภาษีประชาชน

นางสาววทันยา บุนนาค อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการถกเถียงถึงการนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 1,600 ล้านบาท ไปใช้สนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ว่า ปัญหาของเรื่องนี้ทั้งหมดเกิดขึ้นจากกฎ Must Carry หรือ Must Have ที่ กสทช.ออกเป็นกฎไว้หลังจากการประมูลทีวีดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายการถ่ายทอดสดเวทีสำคัญระดับชาติโดยไม่ถูกปิดกั้นจากเจ้าของผู้ประมูลลิขสิทธิ์ เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในสมัยฟุตบอลโลกปี 2014 

โดยกฎดังกล่าวของ กสทช. ฟังดูทีแรกเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร เป็นการออกกฎเพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบ หรือถูกเพิ่มภาระจากเจ้าของธุรกิจโดยไม่จำเป็น แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นว่ากฎ Must Carry ของ กสทช. เป็นการบิดเบือน แทรกแซงกลไกตลาดในการซื้อขายลิขสิทธิ์ เพราะเป็นที่รู้ดีกันอยู่แล้วว่ามูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการนั้นแปรผันตามฐานจำนวนผู้ชม ยิ่งมีคนดูมากเท่าไหร่ ค่าลิขสิทธิ์ก็ย่อมแพงขึ้นตาม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า รายการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ที่เป็นเวทีสำคัญ 4 ปีถึงจะวนกลับมาที สามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย จึงมีมูลค่าที่สูงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับรายการถ่ายทอดประเภทอื่นๆ  

“อันที่จริงในทางธุรกิจการลงทุนเงินจำนวนมหาศาลนั้นหากสามารถหารายได้จำนวนมาก คุ้มค่าต่อการลงทุนก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่ในกรณีของประเทศไทยที่มีกฎ Must Carry นั้นทำให้เจ้าของธุรกิจไม่อยากเข้าไปลงทุน พูดง่ายๆ ก็คือ ลงทุนไปก็ไม่คุ้มค่าเพราะลิขสิทธิ์การถ่ายทอดไม่สามารถนำไปหารายได้เพื่อทำกำไรเพราะไม่ได้สิทธิ์ Exclusive ในทางกลับกันเจ้าของธุรกิจรายอื่นๆ ก็ไม่รู้จะจ่ายเงินไปทำไม เพราะถ้ามีคนไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดมา เดี๋ยวก็ได้อานิสงค์จากกฎ Must Carry ในการถ่ายทอดอยู่ดี” 

นางสาววทันยา กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นแบบนี้แล้วช่องโทรทัศน์ หรือเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไหนจะอยากเข้าไปประมูลลิขสิทธิ์ เพราะเห็นชัดๆ ว่าไม่ได้ประโยชน์ แถมมีโอกาสขาดทุนชัดเจน คำถามคือแล้วทำไมเมื่อก่อนเราก็ดูรายการกีฬาสำคัญระดับโลกได้โดยไม่เคยมีปัญหาให้ต้องกวนใจแบบนี้ นั่นก็เพราะในอดีตช่องทีวี 3 5 7 9 หรือที่เรียกว่า “ทีวีพูล” ใช้วิธีร่วมลงขันกันซื้อลิขสิทธิ์ และนำรายการมาเฉลี่ยจัดสรรการถ่ายทอดกันตามสัดส่วนเงินที่ลงทุน ในส่วนของผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ เจ้าของรายการอื่นๆ หากอยากได้เนื้อหา ฟุตเทจวีดีโอ ก็ต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้กับทีวีพูล รวมถึงเจ้าของสินค้าที่อยากมีผลิตภัณฑ์ของตัวเองออกอากาศในระหว่างการถ่ายทอดเพราะสามารถเข้าถึงคนดูจำนวนมาก ก็ต้องจ่ายเงินค่าสปอนเซอร์ในการสนับสนุน ทั้งหมดนี้เป็นการหารายได้ของผู้ประมูลลิขสิทธิ์ที่สามารถปฏิบัติกันมายาวนานโดยไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งเกิดกฎ Must Carry ขึ้นมาอย่างทุกวันนี้

ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาให้ถูกต้องก็ต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุด้วยการทบทวนกฎ Must Carry ใหม่ ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการให้รัฐหาเงินมาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะจากการะดมทุนในบริษัทบิ๊กคอร์ปให้ช่วยอุดหนุน หรือจะจากงบรัฐ ที่ทำให้เกิดคำถามตามมาของคนที่ไม่ใช่แฟนบอลว่าแล้วทำไมต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาใช้กับเรื่องที่เขาไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่นด้วยการใช้กลไกธุรกิจ เพื่อไม่สร้างภาระให้รัฐ และประชาชนเหมือนเช่นในอดีตที่ก็เคยทำกันมาอยู่แล้ว และในทางกลับกัน หากเราเป็น FIFA หรือบริษัทเอเย่นที่เป็นตัวแทนนายหน้าขายลิขสิทธิ์บอลโลก เมื่อเจอกรณีแบบประเทศไทยที่รัฐกลัวเสียหน้า ยอมเปลืองตัวเป็นเจ้าภาพหาเงินมาอุดหนุนก็ต้องบอกได้คำเดียวว่า “หวานหมู” เพราะไม่ว่าค่าลิขสิทธิ์จะสูงลิ่วเพียงใด รัฐก็ต้องกัดฟันเอาเงินมาให้อยู่ดี และนั่นก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม ลิขสิทธิ์บอลโลก 2022 ของไทยจึงได้แพงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน หากยังแก้ไขปัญหาแบบนี้ก็คงไม่ต่างจาก “ขว้างงูไม่พ้นคอ” ด้วยการออกกฎ Must Carry ปกป้องประชาชน แต่สุดท้ายก็ต้องนำเงินประชาชนมาใช้อยู่ดี แถมยังกลายเป็นของหวานให้ต่างชาติรีดเงินเพิ่ม

Total
0
Shares