รู้หรือไม่? กัมพูชา เกือบจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาของภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาแล้วถึง 2 ครั้ง
ด้วยทางสหพันธ์กีฬาเซียพเกมส์ หรือ แหลมทอง ในตอนนั้น ได้วางคิวให้ กัมพูชา เป็นเจ้าภาพในครั้งที่ 3 ปี 1963 ต่อจาก ไทย ปี 1959 และ พม่า ปี 1961
แต่เมื่อถึงกำหนด ปรากฏว่า กัมพูชา ไม่จัดการแข่งขัน เนื่องจากช่วงนั้นได้ตัดสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย และมองว่าไทยเป็นผู้ริเริ่มเซียพเกมส์ เลยต่อต้านการจัดเกมส์นี้ นั่นทำให้กีฬาแหลมทองครั้งที่ 3 ต้องเลื่อนไปจัดที่มาเลเซียแทน ในปี 1965
หลังจากนั้น ยังได้มีการเสนอให้ กัมพูชา เป็นเจ้าภาพเซียพเกมส์ ครั้งที่ 4 ในปี 1967 แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป กัมพูชา ก็ได้ประกาศไม่จัดการแข่งขัน ด้วยเรื่องบาดหมางกับไทย จึงทำให้ ไทย รับจัดการแข่งขันแทน และแน่นอนที่สุดคือ กัมพูชา ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วม
จากวันนั้น ด้วยสถานการณ์ภายในของกัมพูชาเอง จึงทำให้ กัมพูชา ขอผ่านการรับเป็นเจ้าภาพกีฬาเซียพเกมส์ จนถึงซีเกมส์เรื่อยมา
กระทั่งเมื่อปี 2015 รัฐบาลกัมพูชา ได้ประกาศความพร้อมที่จะรับเป็นเจ้าภาพจัดซีเกมส์ครั้งแรก และยื่นต่อสหพันธ์มนตรีซีเกมส์ถึงความประสงค์ ซึ่งก็ได้รับการอนุมัติทันที เพราะทุก ๆ ชาติที่วนกันเป็นเจ้าภาพ รอการเสนอตัวของ กัมพูชา มาตลอด
ในที่สุด กัมพูชา จึงได้จัดมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งแรก อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม ปี 2023
ทั้งนี้ ตั้งแต่ได้ทราบว่าจะต้องรับหน้าที่จัดกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 รัฐบาลกัมพูชา ก็เดินหน้าจัดเต็มมาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการก่อสร้างสนามกีฬาหลักแห่งใหม่ ในชื่อ มรดก เตโช เนชั่นแนล สเตเดียม ขึ้นมารองรับ ด้วยงบประมาณสูงถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6.5 พันล้านบาท
สนามแห่งนี้สร้างในรูปแบบ สปอร์ต คอมเพล็กซ์ บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญ ไปทางทิศเหนือประมาณ 18 กิโลเมตร
เมน สเตเดียม ออกแบบให้คล้ายกับเรือใบเพื่อเป็นการรำลึกถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง กัมพูชา กับ จีน ที่ในสมัยโบราณ ชาวจีนเดินทางไปยังกัมพูชาโดยการเดินเรือ
จุดเด่นอยู่ที่หัวเรือทั้ง 2 ข้างที่สูง 99 เมตร และถูกล้อมรอบด้วยคูน้ำตามรูปแบบเมืองเขมรโบราณ พร้อมประดับประดาด้วยลวดลายดอกลำดวน ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติ
ซึ่งในส่วนของ เมน สเตเดียม จุแฟนกีฬาได้ถึง 75,000 คน รองรับการแข่งขัน กรีฑา, ฟุตบอลรวมถึงจัดพิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน
ขณะเดียวกัน ก็มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมกัมพูชาผ่านสัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน ด้านบนสุดเป็นนครวัด มรดกโลกที่กัมพูชาภูมิใจ โดยเลือกใช้สีทองที่สื่อถึงความมั่งคั่ง สุขภาพดี และความสุข
รองลงมาด้านซ้ายเป็น รูปห่วงสีทอง 11 ห่วง หมายถึง 11 ประเทศในสมาชิกอาเซียน ส่วนด้านขวามีสัญลักษณ์ของอาเซียน สื่อถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ถัดลงมาเป็นนาคทั้ง 4 ซึ่งนาคในความหมายของกัมพูชา ถือเป็นสิ่งที่คอยปกป้องคุ้มครอง และสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศกัมพูชา มีทั้งหมด 4 สี เขียว แดง น้ำเงิน และเหลือง เป็นตัวแทนความหลากหลายของประเทศในอาเซียน
ไม่เพียงแค่นั้น หางนาคทั้ง 4 ตน ยังเกี่ยวรัดกันไว้ เพื่อสื่อความหมายแทนความสามัคคีของแต่ละประเทศในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้
อีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญคือ มาสคอต ในซีเกมส์ครั้งนี้เป็น กระต่ายสวมชุดโบกาตอร์ เพศผู้ชื่อ Borey (โบเร่) มีความหมายถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเพศเมียชื่อ Romdoul (รอมดุล) เป็นชื่อดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชา หรือ ดอกลำดวน นั่นเอง
ด้านการแข่งขัน กัมพูชา จัดให้มีชิงชัยถึง 36 ชนิดกีฬา รวม 584 เหรียญทอง เรียกได้ว่ามากที่สุดกว่าครั้งไหน ๆ
โดยเจ้าภาพ กัมพูชา ที่ตั้งเป้าครองจ้าวเหรียญทอง ได้ส่งนักกีฬาร่วมชิงชัยมากสุด 896 คน รองลงมา ฟิลิปปินส์ 860 คน และ ไทย 846 คน
สำหรับพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ จะมีขึ้นในค่ำวันนี้ (5 พ.ค.) เริ่มเวลา 19.00 น. ที่สนามกีฬามรดกเตโช โดยงานนี้ สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธาน
โดยในพิธีเปิดครั้งนี้ เจ้าภาพ จะให้ พรม สำนัง อดีตเเชมป์มวยไทย เป็นผู้ถือธงชาตินำทัพนักกีฬา ส่วนของประเทศไทยจะให้ “โอม” ชนาธิป จักรวาล นักบาสเกตบอล 3×3 เป็นผู้ถือธงนำทัพไทยเข้าสู่สนามพิธีเปิด
ในส่วนไฮไลต์สำคัญในพิธีเปิด จนถึงเวลานี้ เจ้าภาพ ก็ยังอุบเงียบไม่ยอมเปิดเผย แถมยังไม่อนุญาตให้บันทึกภาพหรือเข้าชมในการซ้อมใหญ่ที่ผ่านมาอีกด้วย ทว่าทาง กัมพูชา ยืนยันว่า พิธีเปิดการแข่งขันจะยิ่งใหญ่อลังการตามมาตรฐานของโอลิมปิกเกมส์อย่างแน่นอน
ซึ่งก็ต้องมารอดูกันว่า พิธีเปิดหนนี้จะยอดเยี่ยมแค่ไหน? เราจะได้เห็นกัมพูชาโชว์ศักยภาพให้ชาวอาเซียนได้เห็นกันกับการจัดกีฬาซีเกมส์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์
ผลจะออกมาเป็นอย่างไร? แฟนกีฬาชาวไทยเตรียมติดตามรับชม…