Link Copied!

การเมืองแทรกแซง? ‘ประวิตร’ ให้ ‘สมยศ’ ลาออก

“ประวิตร” ของขึ้นกลางที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคไทย ให้ “สมยศ” ลาออกจากตำแหน่ง “นายกบอล” เพราะไม่ได้เหรียญทองซีเกมส์และทำชาติเสียชื่อจากเหตุตะลุมบอนนัดชิงฯ ขณะที่กระแสโซเชียลหวั่นสมาคมฯโดนฟีฟ่าแบน เพราะการเมืองแทรกแซง

วันนี้ (30 มิ.ย.) คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย มีการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญ ประจำปี 2565 ที่ห้องประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ถนนศรีอยุธยา โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เป็นประธาน

รายงานระบุว่า ที่ประชุมได้มีการสรุปผลงานของทีมนักกีฬาไทย ในซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชา ที่มีทั้งประสบความสำเร็จเกินเป้าหมาย, ตรงตามเป้าหมาย และต่ำกว่าเป้าหมาย 

ซึ่ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ ได้ยกตัวอย่างสมาคมกีฬาที่มีผลงานล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง คือ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดยเฉพาะ ฟุตบอลชาย ที่ไม่ได้เหรียญทอง แล้วยังสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้กับประเทศไทย เนื่องจากนักกีฬาและโค้ชได้ก่อเหตุตะลุมบอลกับ อินโดนีเซีย

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า “เคยพูดว่าซีเกมส์ครั้งนี้ ถ้าฟุตบอลชายไม่ได้เหรียญทอง ก็ให้นายกสมาคมฟุตบอลฯ (พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง) ลาออก เลยอยากจะถามกลับไปว่าแล้วจะลาออกหรือไม่ ไม่ต้องมาพูดถึงเรื่องปัญหาการเงินเลย เราทำผิดพลาดเอง เราต้องมีสปิริต ครั้งนี้เสียชื่อประเทศชาติมาก เรื่องการควบคุมอารมณ์ ไม่ได้เพิ่งเกิด มีมาตลอด มันใช้ไม่ได้”

“ผมไม่อยากให้ประเทศชาติเสียชื่อเสียงเพราะสมาคมกีฬาเพียงสมาคมเดียว สมาคมอื่นๆ ก็เสียไปด้วย เพราะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ฉะนั้นนายกสมาคมฟุตบอลต้องลาออกครับ โค้ชด้วย ลงไปต่อยกับเข้าได้ยังไง เสียหายหมด เพราะทีวีถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เขาเห็นกันหมด มันเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็ก คนไทย 70 ล้านคน อายชาติอื่นมาก” 

อย่างไรก็ตาม ประโยคดังกล่าว ทำให้มีกระแสว่า จะเข้าข่ายการแทรกแซงทางการเมือง เสี่ยงต่อการที่วงการฟุตบอลไทยโดนลงโทษจาก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า หรือไม่

โดยที่ผ่านมา เคยมี สมาคมฟุตบอล ประเทศที่โดนลงโทษแบนมาแล้ว เช่น อินโดนีเซีย เนื่องจากทำผิดกฎฟีฟ่า มาตรา 13 และ 17 ที่ระบุว่า สมาคมฟุตบอลของประเทศใดๆ จะต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยการเมือง ทำให้ฟุตบอลทีมชาติอินโดนีเซีย ไม่ได้ร่วมแข่งขันนานาชาติไปช่วงหนึ่ง

รวมทั้ง ทีมชาติปากีสถาน ที่โดนจากการแข่งขันเกมระดับนานาชาติที่ฟีฟ่ารับรอง หลังจากพบว่าองค์กรลูกหนังถูกแทรกแซงจากบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง และทำให้ประมุขลูกหนังปากีสถาน ซึ่งตอนนั้นเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของเอเอฟซี ต้องถูกระงับการทำหน้าที่เอาไว้ชั่วคราวด้วย

ส่วน พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย ในเรื่องการปลด คณกรรมการ หรือกรรมการสมาคมฯ ให้อำนาจ กกท.ไว้ เขียนในมาตรา 86 กรณีที่กระทำการหรืองดเว้นปฏิบัติหน้าที่ จนทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของสมาคมกีฬา หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในประการที่น่าจะนำความเสื่อมเสียมาสู่กีฬาของชาติ ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม นายทะเบียน(กกท.)มีอำนาจออกคำสั่งให้ปฏิบัติการเป็นขั้นตอนต่างๆ จนถึงให้พ้นจากตำแหน่ง

Total
0
Shares