สำหรับผู้บริโภค การที่แบรนด์ต่างๆ ทำการต่อสู้กันทั้งในด้านการผลิต ประชาสัมพันธ์ และ พัฒนาคุณภาพสินค้า เป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนชื่นชอบ
นั่นก็เพราะว่าพวกเขาจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดมาใช้งาน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เงินของคุณ ความสุขของคุณ คือผลประกอบการของเรา
หากแวดวงสินค้าใดไร้การแข่งขัน นั่นก็เท่ากับว่าเกิดการผูกขาด จนนำมาซึ่งความใส่ใจต่อผู้บริโภคที่น้อยลง อันทำให้ความคุ้มค่าของเม็ดเงินที่ผู้ซื้อจ่ายออกไปคุ้มค่าน้อยกว่าตลาดเสรีที่มีการแข่งขันสูง
ประเทศพัฒนาแล้วจึงมุ่งกำจัดการผูกขาด เพราะเห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค จึงออกกฎต่างๆ มากมายเพื่อพยุงให้ตลาดเกิดการแข่งขันให้มากที่สุด
ส่วนจะมากขึ้นเท่าใด นั่นก็ขึ้นอยู่กับบรรดาผู้ผลิตต่างๆ จะสามารถพัฒนาตนเองได้
แต่ก็ต้องยอมรับว่าในบางธุรกิจ การผูกขาดโดยธรรมชาติจะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถห้ามมิให้เกิดขึ้นได้
กรณีของ Camavinga Glasses ที่ดูผิวเผินคือกระแสไวรัลธรรมดา อันเนื่องมาจากที่ คามาวิงกา มิดฟิลด์พรสวรรค์สูงของ เรอัล มาดริด ยื่นแว่นกันแดดยี่ห้อไนกีไปให้เพื่อนร่วมทีมใส่ แล้วพากันโพสต์ลงอินสตาแกรมส่วนตัว
จนกระทั่ง เรอัล มาดริด ทราบเรื่อง สโมสรจึงบังคับให้นักเตะทุกคนลบรูปนั้นออกไป เพราะสโมสรเป็นพันธมิตรทางการค้าในส่วนของชุดแข่งกับ อาดิดาส คู่แข่งตลอดกาลของไนกี
เสื้อแข่ง กางเกงแข่ง และ ถุงเท้าแข่ง นักเตะทุกคนล้วนสวมใส่ของ อาดิดาส ส่วนรองเท้าแข่งเป็นไปตามที่แต่ละคนไปเซ็นสัญญากันไว้
แต่แว่นกันแดดนั้นใครที่ไม่เกี่ยวข้องก็ต้องถอยไป ซึ่ง คามาวิงกา มิได้ลบรูปของเขาออกไปจากโพสต์ นั่นก็เพราะว่าคงเซ็นสัญญากับแบรนด์ขีดเดียวเอาไว้
ในตลาดแว่นกันแดดกีฬา แม้สองค่ายนี้จะไม่ใช่เจ้าตลาด รวมทั้งกีฬาฟุตบอลนั้น แว่นกันแดดเป็นได้แค่เครื่องประดับ มิใช่อุปกรณ์ประกอบการแข่งเหมือนกีฬาประเภทอื่นๆ แต่ในแง่ของการแข่งขันนั้นยอดขายแว่นเพียงอันเดียวก็ยอมกันมิได้อยู่แล้ว
รวมไปถึงยอดการเติบโตอันซบเซาของตลาดนี้นับตั้งแต่โควิดระบาด ทำให้ยอดขายใน 2 ปีล่าสุดยังคงไม่ฟู่ฟ่าเหมือนในอดีต แต่ภายใน 4 ปีนี้ คาดการณ์กันว่าจะเติบโตขึ้นจากเดิมราวปีละ 15.5%
คามาวิงกา จึงถูกตั้งเครื่องหมายคำถามว่า แค่นึกสนุก หรือ ตั้งใจหลอกใช้เพื่อนๆ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวกันแน่