Link Copied!

เกิดอะไรขึ้นกับเกม “แดงเดือด”

หลายคนคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับเกม “แดงเดือด” ทำไมแฟนบอลปีศาจแดงถึงต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ด้วยการบุกเข้าไปในสนาม สาเหตุมาจากการเข้าร่วมยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีกแค่นั้นเหรอ เราจะไปหาคำตอบกัน 

บิล แชงคลีย์ ตำนานกุนซือของลิเวอร์พูลเคยบอกว่า “บางคนเชื่อว่า ฟุตบอลเป็นเรื่องของความเป็นและความตาย ผมผิดหวังมากๆ กับแนวคิดแบบนั้น ผมพูดได้เลยว่ามันสำคัญมากกว่านั้น” สำหรับแฟนบอลท้องถิ่นที่อังกฤษแล้ว ชีวิตของพวกเขาวนเวียนอยู่กับสโมสรฟุตบอล หายใจเข้าหายใจออกเป็นฟุตบอล สโมสรเป็นทั้งศรัทธา ความเชื่อ และสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ การประท้วงจนทำให้เกม “แดงเดือด” ต้องเลื่อนการแข่งขันเป็นเพราะความรักที่มีต่อสโมสรฟุตบอลของพวกเขาล้วนๆ

ก่อนจะมีพรีเมียร์ลีก ก่อนที่เงินมหาศาลจะเข้ามามีบทบาทกับฟุตบอล เจ้าของทีมส่วนใหญ่เป็นบรรดานักธุรกิจท้องถิ่น มีเงินมากพอที่จะลงทุนในสโมสรฟุตบอล เมื่อฟุตบอลพัฒนาเป็นธุรกิจ พรีเมียร์ลีกกลายเป็นลีกฟุตบอลเบอร์หนึ่งของโลก สโมสรใหญ่น้อยก็ดึงดูดบรรดานักลงทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ เงินกลายเป็นสิ่งที่ทำให้สโมสรประสบความสำเร็จ แจ็ค วอล์กเกอร์ ทำได้กับแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส ในปี 1994-95 แต่คนที่ทำให้ฟุตบอลเปลี่ยนไปจริงๆ คือ โรมัน อบราโมวิช ที่เข้าซื้อสโมสรเชลซีในปี 2003 หลังจากนั้นบรรดามหาเศรษฐีและกลุ่มทุนต่างๆ ก็ทยอยกันเข้ามาซื้อสโมสรใหญ่ๆ ในอังกฤษ 

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของสโมสรกับแฟนบอลเริ่มเปลี่ยนไป จากคนรวยท้องถิ่นมาเป็นเศรษฐีจากต่างแดน คำถามที่มีในหัวของแฟนบอลทุกคนก็คือ คนที่เข้ามาบริหารสโมสรมีความจริงใจแค่ไหนที่จะดูแลสโมสรที่พวกเขารัก ในบรรดาทีม Top 6 มีสเปอร์สทีมเดียวเท่านั้นที่พอจะพูดได้ว่ายังมีเจ้าของเป็นคนอังกฤษอยู่ นั่นคือ ENIC Group บริษัทลงทุนสัญชาติอังกฤษ ที่เหลือมีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติทั้งนั้น เชลซีเป็นเสี่ยหมี แมนเชสเตอร์ ซิตี้เป็นกลุ่มทุนจากอาบูดาบีในชื่อ ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป ที่เหลืออีกสามทีมเป็นเจ้าของสัญชาติอเมริกันทั้งหมด ทั้งโครเอนเก สปอร์ต แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ลิเวอร์พูลเป็นเฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเป็นตระกูลเกลเซอร์ 

ถ้าตามข่าวกันมาตลอดจะเห็นว่าแฟนบอลปีศาจแดงประท้วงต่อต้านตระกูลเกลเซอร์มาเป็นระยะ เพราะพวกเขามองว่าตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่ผ่านมา สโมสรกลับตกเป็นฝ่ายใช้หนี้แทนเจ้าของสโมสร มีการคาดการณ์กันว่าภายใต้การบริหารของตระกูลเกลเซอร์ ปีศาจแดงเสียเงินกว่า 1.5 พันล้านปอนด์ ด้านอีก 5 ทีมใน Top 6 มีข่าวระหองระแหงกันบ้างกับเจ้าของสโมสร ที่หนักสุดน่าจะเป็นอาร์เซนอล กับ สแตน โครเอนเก ที่ในสายตาของแฟนบอลปืนใหญ่ เศรษฐีชาวอเมริกันสนใจแค่ทำเงิน โดยไม่แคร์ว่าทีมจะมีโอกาสประสบความเร็จหรือไม่ ฟางเส้นสุดท้ายที่แฟนบอลตัดใจจากเจ้าของสโมสรคือ การเข้าร่วมยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก 

เราอาจจะไม่เห็นข่าวการประท้วงมากนักจากแฟนบอลเชลซีและแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพราะถ้าพูดกันตามตรง เจ้าของสโมสรทั้งสองทีมทำคุณมากกว่าโทษ ถ้าไม่มีพวกเขาทั้งสิงโตน้ำเงินครามและเรือใบสีฟ้าคงไม่มาถึงจุดนี้ การประกาศเข้าร่วมยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก แสดงชัดเจนว่าเจ้าของสโมสร Top 6 ไม่เข้าใจบริบทของสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ ไม่เข้าใจความรักของแฟนบอลที่มีต่อสโมสร โดยเอาคำว่า “ความสำเร็จ” มาเป็นเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ แฟนบอลมองว่าซูเปอร์ลีกจะทำให้ทีมที่รวยอยู่แล้วรวยขึ้น ทีมที่จนอยู่แล้วจนลง โครงสร้างของฟุตบอลลีกในประเทศจะได้รับผลกระทบ เพื่อให้ทีม Top 6 ทำอะไรก็ได้ตามความพอใจ 

การประท้วงของแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จนทำให้เกมแดงเดือดกับลิเวอร์พูลต้องเลื่อนออกไป เป็นสัญญาณบอกตระกูลเกลเซอร์ว่า การต่อต้านในครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ และจะไม่อ่อนข้อลงง่ายๆ เช่นกันกับแฟนบอลอาร์เซนอล ด้านลิเวอร์พูล กลุ่มแฟนคลับมีการรวมตัวกันส่งจดหมายถึงสโมสรและจะมีการนัดพบกับบรรดาผู้บริหารของสโมสรเร็วๆ นี้ นอกจากเรื่องกับแฟนบอลแล้ว การประกาศเข้าร่วมซูเปอร์ลีกกำลังเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของเจ้าของสโมสรทั้ง 6 เพราะสิ่งที่พวกเขาทำนั้นสะเทือนโครงสร้างฟุตบอลไปทั้งระบบ เริ่มมีการส่งสัญญาณจากรัฐบาลอังกฤษว่า อาจจะมีการนำกฎ 50+1 แบบเดียวกับบุนเดสลีกามาบังคับใช้กับสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นอีก 

แล้วอะไรคือกฎ 50+1 ที่ลีกเยอรมนีเอามาใช้ บางคนอาจคิดว่าบุนเดสลีกาเป็นลีกที่ไม่สนุก ไม่เร้าใจ แต่ถ้ามองลงไปถึงรากฐาน นี่คือลีกที่น่าจะมีความแข็งแกร่งที่สุด มีค่าเฉลี่ยผู้เข้าชมเกมมากที่สุดในโลก ตั๋วเข้าชมราคาถูก โดยมีกฎ 50+1 เป็นปัจจัยสำคัญ พูดง่ายๆ ก็คือ ตามกฎของสมาคมฟุตบอลเยอรมัน หรือ DFL สโมสรจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงเล่นในบุนเดสลีกา ถ้าหากมีกลุ่มนักลงทุนถือครองหุ้นเกิน 49 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้นักลงทุนคนใดคนหนึ่งเข้ายึดครองสโมสร และนำมาสู่การเห็นผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจมาก่อนความต้องการของแฟนบอล พูดง่ายๆ สมาชิกหรือแฟนบอลของสโมสรต้องเป็นฝ่ายเสียงข้างมากเสมอ เราจึงเห็นว่าราคาตั๋วเข้าชมบุนเดสลีกาถูกกว่าที่อื่นๆ สโมสรฟุตบอลมีหนี้สินน้อย และมีการคุมเพดานค่าเหนื่อยนักฟุตบอล

การประท้วงของแฟนบอลที่กำลังเกิดขึ้นในอังกฤษ จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการขับไล่เจ้าของทีมเท่านั้น แต่พวกเขากำลังทวงสโมสรที่ตนรักกลับคืนมา

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares