ฟุตบอลยูโร 2020/21 กำลังจะเริ่มแข่งต้นเดือนหน้านี้แล้ว มาดูกันว่าทัวร์นาเมนต์นี้ในอดีตมีอะไรน่าสนใจบ้าง
ผมได้เริ่มติดตามข่าวฟุตบอลทั้งทางหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และทางทีวีมาตั้งแต่กลางยุค 70’s เลยขอพาย้อนไปตั้งแต่ยูโรปี 1976 หรือยุค “ปาเนนกา” เป็นต้นไป
ยูโร 1976 การแข่งขันรอบแรกเป็นการเล่นแบบเหย้า-เยือน มีทั้งหมด 8 กลุ่ม เอาที่หนึ่งของแต่ละกลุ่มมาเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศซึ่งเล่นแบบเหย้า-เยือนเช่นกัน รอบสุดท้ายจัดขึ้นที่ประเทศยูโกสลาเวีย มีทีมที่ผ่านการคัดเลือก 4 ทีม คือ เชคโกสโลวาเกียที่ชนะโซเวียตมา, ยูโกสลาเวียที่ชนะเวลส์, เนเธอร์แลนด์ที่ชนะเบลเยียม และเยอรมนีตะวันตกที่ชนะสเปนมาในรอบก่อนรองชนะเลิศ
ทั้ง 4 ทีมมาแข่งรอบรองชนะเลิศ มีทีมชาติเยอรมนีตะวันตกเป็นเต็งหนึ่ง เพราะเพิ่งได้แชมป์โลกมาเมื่อ 2 ปีก่อนหน้า แต่ก็ขาดตัวหลักที่หันหลังให้ทีมชาติไปหลายคน เช่น เกิร์ด มุลเลอร์, พอล ไบรท์เนอร์, โวล์ฟกัง โอเวอร์รัธ, กุนเทอร์ เน็ตเซอร์ และ เจอร์เกน กราโบสกี
รอบรองชนะเลิศนี้เป็นทีมเชคโกสโลวาเกียที่เอาชนะทีมเนเธอร์แลนด์ในการต่อเวลา ได้เข้าชิงกับทีมเยอรมนีตะวันตกที่ชนะทีมยูโกสลาเวียในการต่อเวลาเช่นกัน พอเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศทั้งสองทีมต้องดวลกันจนถึงจุดโทษ เพราะเสมอกันในเวลาปกติและช่วงต่อเวลา 2 ประตูต่อ 2 การยิงจุดโทษครั้งนี้เองที่ อันโตนิน ปาเนนกา สร้างตำนานการยิงจุดโทษลูกสุดท้ายโดยชิฟท์เบาๆ ข้ามตัวนายทวารอินทรีเหล็ก เซ็ปป์ ไมเออร์ เข้าประตูไป จนเป็นที่มาของลูกยิง “ปาเนนกา” ทำให้เชคโกสโลวาเกียคว้าแชมป์ไปในที่สุด
… … …
ยูโร 1980 จัดที่กรุงโรม การแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติของยุโรปครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีทีมเข้าร่วมรอบสุดท้าย 8 ทีม โดยแชมป์ของแต่ละกลุ่ม 7 กลุ่มในรอบคัดเลือกได้เข้ามาเล่น พร้อมกับเจ้าบ้านอย่างอิตาลี และเป็นครั้งแรกที่ทีมชาติกรีซได้เข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์นี้ ทีมเยอรมนีตะวันตกเพิ่งตกรอบสองฟุตบอลโลกปี 1978 มา ทำให้มีการเปลี่ยนผู้จัดการทีมจาก เฮลมุท โชน เป็น จุ๊ปป์ แดร์วัล มีผู้เล่นหน้าใหม่มาเสริมทีมคับคั่ง เริ่มจากผู้รักษาประตูอย่าง โทนี ชูมัคเกอร์, ฮันส์-ปีเตอร์ บรีเกล, คู่พี่น้อง เบิร์นกับ คาร์ลไฮน์ซ ฟอร์สเตอร์, “ขบถลูกหนัง” เบิร์น ชูสเตอร์, เคลาส์ อัลลอฟฟ์ และศูนย์หน้าร่างยักษ์อย่าง ฮอร์สต์ ฮรูเบช โดยมี คาร์ล-ไฮน์ซ รุมเมนิกเก, มานเฟรด คัลท์ซ, เบอร์นาด ดีทซ์ เป็นตัวหลักมาจากทีมบอลโลกปี 1978 และมี เฟลิกซ์ มากัธ และ โลธาร์ มัทเธอุส เป็นดาวรุ่งในทีม เยอรมนีตะวันตกปราบคู่ปรับเก่า ทั้งทีมเชคโกสโลวาเกียแชมป์เก่า และทีมเนเธอร์แลนด์ รองแชมป์โลกครั้งล่าสุด จนได้ที่ 1 ของกลุ่ม เข้าชิงชนะเลิศกับทีมชาติเบลเยียมที่มี ฌอง-มารี พัฟฟ์ ผู้รักษาประตูขวัญใจผู้เขียน และเป็นทีมอินทรีเหล็กที่คว้าแชมป์ด้วยการชนะทีมปีศาจแดงแห่งยุโรปไป
… … …
ปี 1984 เป็นปีที่เจ้าภาพอย่างฝรั่งเศสเพิ่งผิดหวังจากการได้ที่ 4 รายการฟุตบอลโลกปี 1982 ฝรั่งเศสประกอบไปด้วยกองกลางระดับโลกอย่าง มิเชล พลาตินี, ฌอง ติกานา, หลุยส์ เฟอร์นานเดซ และ อแลง จิเรส ไม่มีใครหยุดความร้อนแรงของฝรั่งเศสได้ ทีมตราไก่ชนะ 3 นัดรวดในรอบแบ่งกลุ่มเหนือทีมเดนมาร์ก, เบลเยียม และยูโกสลาเวีย ทั้งยังเอาชนะทีมโปรตุเกสในรอบรองชนะเลิศ ก่อนที่จะเข้าไปปราบทีมสเปน เถลิงแชมป์ในบ้านแบบม้วนเดียวจบได้อย่างยิ่งใหญ่ เป็นรางวัลปลอบใจงดงามหลังจากไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลโลก 2 ปีที่แล้ว
… … …
มาถึงปี 1988 ที่เป็นปีทองของสามทหารเสือทีมเนเธอร์แลนด์อย่าง แฟรงก์ ไรจ์การ์ด, รุด กุลลิต และ มาร์โก ฟาน บาสเทน สองคนหลังคือไอ้หัวงูเก็งกองกับเพชฌฆาตพรายกระซิบเล่นด้วยกันให้ทีมเอซี มิลานในอิตาลี พาทีมปีศาจแดงดำได้แชมป์กัลโช เซเรียอาในฤดูกาล 1987/88 และมาสำแดงฝีมือในบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปร่วมกับเพื่อนร่วมทีมอย่าง โรนัลด์ คูมัน, แยน วูเตอร์ส, อาร์โนลด์ มูห์เรน แม้ว่าในรอบแบ่งกลุ่มจะพลาดท่าให้ทีมโซเวียตรัสเซียที่มีผู้รักษาประตูมือต้นๆ ของโลกอย่าง ไรนาต ดาซาเยฟ แต่ก็ปราบทีมอังกฤษที่ประกอบไปด้วย โทนี อดัมส์, เคนนี แซมสัน, ไบรอัน ร็อบสัน, เกล็น ฮอดเดิล, จอห์น บาร์นส์, ปีเตอร์ เบียร์ดสลี และ แกรี ลินิเกอร์ รวมถึงเอาชนะทีมสาธารณรัฐไอร์แลนด์ที่มีนักเตะเก่งๆ อย่าง เควิน มอแรน, คริส ฮิวจ์ตัน, พอล แม็คกรัท, รอนนี วีแลน, แฟรงก์ สเตเปิลตัน และ จอห์น อัลดริดจ์ ทำให้เข้ารอบรองชนะเลิศไปเจอทีมเยอรมนีตะวันตกเจ้าภาพ ทีมกังหันสีส้มสามารถเขี่ยทีมอินทรีเหล็กตกรอบจากฝีเท้าของคูมันและฟาน บาสเทน แม้ว่าจะเสียจุดโทษไปก่อนจากการดีดดิ้นล้มในเขตโทษของ เจอร์เกน คลินส์มันน์
พอมาถึงในนัดชิงชนะเลิศ รุด กุลลิต โหม่งเบิกร่องประตูแรกให้เนเธอร์แลนด์ก่อนที่ มาร์โก ฟาน บาสเทน จะยิงลูกใบไม้ร่วงมุมแคบจากลูกโยนของ อาร์โนลด์ มูห์เรน ทำให้ทีมกังหันสีส้มได้แชมป์แรกและเป็นแชมป์ระดับประเทศครั้งเดียวของทีมเนเธอร์แลนด์ ประตูนี้ถือเป็นหนึ่งในประตูที่สวยงามที่สุดของการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป
… … …
4 ปีต่อมา เป็นปีที่ทีมเดนมาร์กได้ส้มหล่นจากที่ทีมยูโกสลาเวียถูกแบนจากสงครามกลางเมือง ทำให้เดนมาร์กที่ไม่ผ่านรอบคัดเลือกได้กลับเข้ามาเล่นแทนในฐานะรองแชมป์กลุ่ม และสร้างเทพนิยายเดนส์ คว้าแชมป์ยูโร 1992 แม้จะมีเวลาเตรียมทีมแค่ 11 วัน แต่ทีมโคนมก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครลืมลง
ยูโรครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตกรวมประเทศกันเป็นทีมชาติเยอรมนี ไม่ได้แยกกันส่งทีมเหมือนที่ผ่านมา และถือเป็นการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งสุดท้ายที่ทีมที่ชนะในแต่ละนัดจะได้คะแนน 2 แต้ม และเป็นครั้งสุดท้ายที่ผู้รักษาประตูสามารถใช้มือจับลูกบอลที่เพื่อนร่วมทีมส่งคืนมาให้ได้ ซึ่งเดนมาร์กใช้กฎนี้ถ่วงเวลาได้มากในนัดที่ทีมยิงประตูนำไปก่อนโดยเฉพาะนัดชิงชนะเลิศ นอกจากนี้ยังเป็นการแข่งขันที่มีทีมชาติ Commonwealth of Independent States (CIS) เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะแตกออกเป็นประเทศย่อยอันประกอบด้วย อาร์เมเนีย, อาเซอร์ไบจาน, เบลารุส, จอร์เจีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, มอลโดวา, รัสเซีย, ทาจิกิจสถาน, เติร์กเมนิสถาน, ยูเครน และอุซเบกิสถาน
ในรอบแบ่งกลุ่มเดนมาร์กร่วมกลุ่มกับทีมอย่างอังกฤษ, เจ้าภาพสวีเดนและฝรั่งเศสสามารถเอาตัวรอดเข้ารอบได้เป็นที่ 2 ของกลุ่มโดยเสมออังกฤษ แพ้สวีเดน และชนะฝรั่งเศส ตามเจ้าภาพเข้ารอบรองชนะเลิศไปพบกับทีมชาติเนเธอร์แลนด์แชมป์จากอีกกลุ่มหนึ่ง และเอาชนะทีมกังหันสีส้มไปได้ด้วยการยิงจุดโทษหลังจากเสมอกัน 2:2 โดย ปีเตอร์ ชไมเคิล สามารถป้องกันลูกจุดโทษของ มาร์โก ฟาน บาสเทน ได้ ทำให้ทีมของเขาเข้าไปพบทีมแชมป์โลกอย่างเยอรมนี และแล้วเดนมาร์กก็สร้างเทพนิยายด้วยการชนะทีมอินทรีเหล็กไปได้ 2:0
แม้ว่าปีนั้นยังไม่มีการแจกรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์ แต่คนที่ได้ดูการแข่งขันคงจะยกให้ ปีเตอร์ ชไมเคิล เป็นนักเตะยอดเยี่ยมประจำใจไปแบบเป็นเอกฉันท์เหนือกว่า ไบรอัน เลาดรู๊ป กองกลางของทีมโคนมที่น่าจะตามมาเป็นอันดับสอง ทั้งสองคนได้รับเลือกให้อยู่ในทีมยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์พร้อมกับ โจเซลิน อังโกลมา, โลรองต์ บลองก์ ของฝรั่งเศส อันเดรียส เบรห์เม, เจอร์เกน โคลเลอร์, สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก, โทมัส เฮสเลอร์ ของเยอรมนี รุด กุลลิต, เดนนิส เบิร์กแคมป์ และ มาร์โก ฟาน บาสเทน จากเนเธอร์แลนด์
… … …
การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งที่ 10 จัดขึ้นที่ประเทศอังกฤษในปี 1996 ซึ่งอังกฤษหมายมั่นปั้นมือว่าจะคว้าแชมป์ในดินแดนตัวเองให้ได้ หลังจากพลาดท่าตกรอบคัดเลือกในฟุตบอลโลก 2 ปีก่อนหน้า เจ้าภาพจึงเปลี่ยนผู้จัดการทีมจาก เกรแฮม เทย์เลอร์ เป็น เทอร์รี เวนาเบิลส์
ยูโรครั้งนี้เพิ่มทีมเข้าร่วมรอบสุดท้ายเป็น 16 ทีม เป็นครั้งแรก และทีมชนะในแต่ละนัดจะได้ 3 แต้ม นอกจากนี้ยังเริ่มใช้กฎ Golden Goal เป็นครั้งแรกเช่นกัน โดยทีมที่ยิงประตูได้ในช่วงต่อเวลาพิเศษได้ก่อนจะชนะในทันที ไม่ต้องแข่งต่อจนครบเวลา
ในรอบแบ่งกลุ่มแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีมโดยมีทีม อังกฤษ (เจ้าภาพ), เดนมาร์ก (แชมป์เก่า), เยอรมนี และสเปนเป็นทีมวางในแต่ละกลุ่ม ทีมที่เหลือจะถูกจับฉลากไปอยู่ในแต่ละกลุ่ม ทีมที่ได้ที่ 1 และที่ 2 ของแต่ละกลุ่มจะเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศ ไปแข่งแบบแพ้คัดออกต่อไป ทีมอังกฤษสามารถผ่านรอบแบ่งกลุ่มโดยเป็นแชมป์กลุ่ม จากการเสมอสวิตเซอร์แลนด์ ชนะเนเธอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ ไปพบกับทีมชาติสเปน และเป็นทีมสิงโตคำรามที่เอาชนะทีมกระทิงดุไปได้ด้วยการยิงจุดโทษหลังเสมอกัน 0:0 แต่ดันไปพลาดท่ายิงจุดโทษแพ้ทีมอินทรีเหล็กในรอบรองชนะเลิศ โดย 5 คนแรกดวลกันไม่พลาดทั้งสองทีม จนต้องยิงกันแบบซัดเดนเดธ สุดท้ายเป็น แกเร็ท เซาท์เกต ที่ยิงพลาด ทำให้ทีมเจ้าภาพอดเข้าไปชิงชนะเลิศ (หลังจากจบทัวร์นาเมนต์ เกล็น ฮอดเดิล ก็เข้ามาแทน เทอรี เวนาเบิล ในตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติอังกฤษ)
ในรอบชิงชนะเลิศเป็นการเจอกันของคู่ชิงในปี 1976 ทีมชาติเยอรมนีพบกับทีมชาติสาธารณรัฐเช็ก (แยกตัวจากเชคโกสโลวาเกียเมื่อปี 1992) ซึ่งนัดที่พบกันมาในรอบแบ่งกลุ่มแล้วครั้งหนึ่งนั้น ทีมเยอรมนีเป็นฝ่ายคว้าชัยมาได้ 2:0 แต่พอมาถึงนัดชิงชนะเลิศทีมชาติสาธารณรัฐเช็ก ที่มียอดนักเตะอย่าง พาเวล เนดเวด, คาเรล โพบอร์สกี, แพทริค แบเกอร์ ก็สู้กับเยอรมนีได้อย่างสูสี โดยยิงนำไปก่อนจากแบเกอร์ กว่าเยอรมนีจะตามตีเสมอจาก โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ ก็ต้องรอไปถึงนาทีที่ 73 หมดเวลาทำอะไรกันเพิ่มไม่ได้ ต้องต่อเวลาพิเศษออกไป และกลายเป็น โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์ ที่มายิงประตู Golden Goal ในนาทีที่ 95 ทีมอินทรีเหล็กคว้าแชมป์ไปครองในที่สุด
… … …
เบลเยียมกับเนเธอร์แลนด์ร่วมกันจัดการแข่งขันยูโร 2000 เป็นครั้งแรกที่มีเจ้าภาพสองประเทศ จึงทำให้รอบคัดเลือกมีประเทศที่ถูกคัดเข้าเล่นรอบสุดท้ายเพียง 14 ทีมเพื่อรวมกับเจ้าภาพอีก 2 เป็น 16 ทีม ทีมแชมป์โลกหมาดๆ อย่างฝรั่งเศสซึ่งเป็นตัวเต็งที่จะครองแชมป์ทัวร์นาเมนต์นี้ยังมีขุนพลจากฟุตบอลโลกอยู่ครบ ทั้ง ฟาเบียง บาร์เตซ, ลิลิยง ตูราม, มาเซล เดซายี, โลรองต์ บลองก์, บิเซนเต ลิซาราซู, ปาทริค วิเอรา, ดิดิเยร์ เดส์ชองส์, โรแบร์ ปิแรส, เธียรี อองรี, ดาวิด เทรเซเกต์ และ ซีเนอดีน ซีดาน
ไม่มีอะไรเกินความคาดหมายสำหรับทีมเมืองน้ำหอม แม้ว่าจะพลาดท่าแพ้ทีมเนเธอร์แลนด์ในรอบแรกแต่ก็ยังเข้ารอบในฐานะรองแชมป์กลุ่ม แล้วก็ใช้ประโยชน์ของกฎ Golden Goal ชนะทั้งโปรตุเกสในรอบรองชนะเลิศ และชนะอิตาลีในรอบชิงชนะเลิศด้วย แต่ที่น่าประหลาดใจคือทีมชาติเยอรมนี ที่ตกรอบแรกแบบไม่ชนะใครเลย ได้แค่เสมอโรมาเนีย แพ้แก่อังกฤษและโปรตุเกส จนทำให้ เอริช ริบเบ็ค กระเด็นออกจากตำแหน่ง ถือเป็นกุนซือทีมชาติเยอรมนีที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุด
… … …
มาถึงเทพนิยายกรีซกันบ้าง ในปี 2004 ทีมชาติกรีซได้กลับมาเล่นรอบสุดท้ายของฟุตบอลรายการนี้ในรอบ 24 ปี ถูกสื่อฯ และคนในวงการวางให้เป็นทีมอันดับรองสุดท้าย อัตราต่อรองว่าจะชนะรายการนี้อยู่ที่ 150-1 โดยมีทีมลัตเวียรั้งอันดับสุดท้าย
รอบแรกกรีซอยู่ในกลุ่มเดียวกับเจ้าภาพโปรตุเกส, สเปน และรัสเซีย ในนัดเปิดสนามกรีซก็สร้างความประหลาดใจให้ผู้ชมด้วยการเอาชนะเจ้าภาพไป 2 ประตูต่อ 1 และตามด้วยการเสมอสเปน กับแพ้รัสเซีย กรีซได้อันดับ 2 ของกลุ่มผ่านเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศไปพบกับทีมฝรั่งเศส และสามารถเอาชนะได้
ต่อมาในรอบรองชนะเลิศ กรีซเอาชนะทีมสาธารณรัฐเช็กที่มี พาเวล เนดเวด, คาเรล โพบอร์สกี, โทมัส โรซิคกี, มิลาน บารอส, วลาดิเมียร์ ชมิเซอร์ และ แยน โคลเลอร์ เป็นผู้เล่นหลักในทีม แล้วผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ไปพบกับทีมเจ้าภาพโปรตุเกสที่เคยเจอกันมาครั้งหนึ่งในรอบแรก และในที่สุดทีมกรีซก็สร้างตำนานฉบับใหม่สามารถปราบทีมฝอยทองภายใต้การนำทีมของ หลุยส์ ฟิโก, คริสเตียโน โรนัลโด, ริคาโด คาวัลโญ, นูโน โกเมซ และ รุย คอสตา ไปได้ 1 ประตูต่อ 0
… … …
ทีมออสเตรียและทีมสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าภาพร่วมของการแข่งขันยูโร 2008 ตกรอบแรกไปทั้งสองทีม แม้ว่าจะได้เป็นทีมวางในการจับสลากแบ่งกลุ่ม พร้อมๆ กับรองแชมป์ฟุตบอลโลก 2006 อย่างทีมฝรั่งเศสที่ตกรอบแรกแบบไม่ชนะใครเลย
การแข่งขันฟุตบอลยุโรปครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงกฎอีกครั้ง เนื่องจากฟีฟ่าได้ยกเลิกกฎ Golden Goal หลังจากทัวร์นาเมนต์ยูโร 2004 สิ้นสุดลง และหวนกลับมาใช้กฎเดิมคือถ้าเสมอกันในเวลาแข่งขันปกติ 90 นาที ให้ต่อเวลาพิเศษ 30 นาที
รอบก่อนรองชนะเลิศที่ทีมเนเธอร์แลนด์พบกับทีมรัสเซียเสมอกันในเวลาปกติ 1:1 แต่รัสเซียมาทำสองประตูในช่วงต่อเวลาพิเศษทำให้ชนะไป 3:1 ในขณะที่ทีมสเปนที่มีนักเตะชั้นนำอย่างผู้รักษาประตู อิเคร์ คาซิยาส, เซร์คิโอ รามอส, คาร์ลอส ปูโยล, อันเดรียส อิเนียสตา, ชาบี เอร์นานเดซ, ดาบิด ซิลบา, เฟอร์นันโด ตอร์เรส, เชสก์ ฟาเบรกาส และ ชาบี อลอนโซ สามารถนำทีมคว้าแชมป์ยุโรปไปได้ด้วยการเอาชนะทีมอินทรีเหล็กในนัดชิงชนะเลิศ ก่อนที่ทีมกระทิงดุทีมนี้จะได้แชมป์โลกในอีก 2 ปีถัดมา
… … …
ในปี 2012 ทีมชาติสเปนเป็นทีมแรกที่สามารถป้องกันแชมป์ยุโรป โดยเป็นแชมป์ติดต่อกันสองครั้งซ้อน และถือเป็นทีมที่คว้าแชมป์ระดับประเทศรายการใหญ่ติดต่อกัน 3 แชมป์ คือยูโร 2008 ต่อด้วยฟุตบอลโลก 2010 และยูโร 2012 นี้ ทีมสเปนเป็นตัวเต็งมาตั้งแต่แรก และก็ไม่ได้ทำให้กองเชียร์ผิดหวังเลย สามารถโชว์ฟอร์มเข้าไปคว้าแชมป์ได้อีกครั้งแม้ว่าในรอบรองชนะเลิศจะต้องลงแรงถึงดวลลูกจุดโทษกับทีมโปรตุเกส แต่ในรอบชิงชนะเลิศก็ถล่มทีมอิตาลีไปขาดลอยถึง 4 ประตูต่อ 0
… … …
การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งล่าสุดจัดแข่งขันที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 2016 เป็นปีที่ฝรั่งเศสหมายมั่นปั้นมือจะคว้าแชมป์ในประเทศให้ได้ ครั้งนี้ได้เพิ่มทีมเข้าแข่งขันในรอบสุดท้ายเป็น 24 ทีม โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม โดยทีมอันดับ 1 กับ 2 และทีมที่ได้อันดับ 3 ที่ดีที่สุดอีก 4 ทีมจะเข้าไปเล่นรอบ 16 ทีมต่อไป การเพิ่มจำนวนเป็น 24 ทีมนี้ทำให้มีหลายชาติเพิ่งได้เข้ารอบสุดท้ายบอลยุโรปเป็นครั้งแรก เช่น ไอซ์แลนด์, ไอร์แลนด์เหนือ, เวลส์, แอลเบเนีย และสโลวาเกีย ส่วนเยอรมนีหลังจากคว้าแชมป์โลกมาในปี 2014 พวกเขาก็กลับมาเป็นทีมเต็งในการแข่งขันยูโรอีกครั้ง ในขณะที่ทีมสเปนที่ตกรอบแรกบอลโลกครั้งล่าสุดยังได้เป็นทีมวางพร้อมกับอังกฤษ, โปรตุเกส, เบลเยียม และเจ้าภาพฝรั่งเศส
ในรอบแรกทีมชาติเวลส์ที่มี แกเร็ธ เบล และ อารอน แรมซีย์ ทำผลงานดีมากด้วยการเข้าเป็นที่ 1 ของกลุ่ม เหนือกว่าทีมสิงโตคำรามเสียอีก ทีมสโลวาเกียก็ตามเข้ารอบด้วยอันดับ 3 ที่ทำคะแนนดีที่สุด ทีมไอซ์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือที่เพิ่งเข้าแข่งครั้งแรกก็ผ่านเข้ารอบเช่นกัน ขณะที่ทีมโปรตุเกสเข้ารอบอย่างทุลักทุเลด้วยการเสมอทั้ง 3 นัดกับฮังการี, ไอซ์แลนด์ และออสเตรีย ทีมชาติเวลส์ทำผลงานได้เหนือความคาดหมาย สามารถเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศโดยพลาดท่าพ่ายแก่ทีมฝอยทอง เลยอดเข้าไปสร้างเทพนิยายมังกรแดง ทีมโปรตุเกสชุดนี้นำทัพโดย คริสเตียโน โรนัลโด สามารถผ่านทีมโครเอเชียในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ปราบโปแลนด์ที่นำทีมโดย โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ด้วยการยิงลูกจุดโทษ ก่อนเขี่ยทีมชาติเวลส์ตกรอบรองชนะเลิศอีกหนึ่ง ได้เข้าไปชิงแชมป์กับเจ้าภาพฝรั่งเศส
นัดชิงชนะเลิศ คริสเตียโน โรนัลโด กัปตันทีมชาติโปรตุเกสตั้งใจมากๆ หวังจะพาทีมฝอยทองคว้าแชมป์ระดับประเทศถ้วยแรกให้ได้เสียที แต่เกิดบาดเจ็บนาทีที่ 25 จนไม่สามารถเล่นต่อได้ จำต้องเปลี่ยนตัวออกทั้งน้ำตา โดย ริคาร์โด ควอเรสมา ลงเล่นแทน แต่กระนั้นโรนัลโดก็ไม่ยอมกลับเข้าไปในห้องแต่งตัว วิ่งกะเผลกให้กำลังใจ และคอยกระตุ้นเพื่อนร่วมทีมอยู่ข้างสนาม จนสุดท้ายเอแดร์กองหน้าตัวสำรองสามารถยิงประตูชัยให้โปรตุเกสได้ในช่วงต่อเวลาพิเศษ พาทีมฝอยทองคว้าแชมป์ยุโรปไปครองได้สมใจอยาก
… … …
สำหรับยูโรปีนี้ภาวะโรคระบาดยังคาราคาซังอยู่ รอดูว่าจะเกิดสถานการณ์พลิกผัน จนเกิดเทพนิยายอะไรอีกไหม และจะมีดาวดวงใหม่จุติหรือไม่ คงต้องลุ้นกันต่อไป ตอนนี้คุณผู้อ่านมีทีมเชียร์ในใจแล้วหรือยัง มีแล้วก็บอกกันบ้างนะครับ
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม