เมื่อครั้งที่กรุงโตเกียวได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 เมื่อ 8 ปีที่แล้ว เปรียบเสมือนชัยชนะของชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ แต่เมื่อถึงตอนนี้ ชาวญี่ปุ่นตั้งคำถามว่าโอลิมปิกครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อใคร และญี่ปุ่นได้อะไรจากการทุ่มงบมหาศาลในการเป็นเจ้าภาพ
ต้องยอมรับว่าโอลิมปิก 2020 เป็นโอลิมปิกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ที่สุดครั้งหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์โอลิมปิกสมัยใหม่ นับจากเริ่มมีการแข่งขันครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ประเทศกรีซในปี 1896 หรือตั้งแต่เมื่อ 125 ปีที่แล้ว เพราะ “โตเกียวเกมส์” เป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก จนทำให้ต้องเลื่อนการแข่งขันจากกำหนดเดิมถึง 1 ปี แม้จนกระทั่งช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนพิธีเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ก็ยังมีคนส่วนหนึ่งเชื่อว่าโอลิมปิก 2020 อาจต้องยกเลิกการแข่งขัน แม้ IOC ยืนกรานแบบหัวเด็ดตีนขาดว่าจะไม่มีการเลื่อนหรือยกเลิกโอลิมปิกครั้งนี้อย่างแน่นอน
หากถามใจนายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในชั่วโมงนี้ คงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะจากแต่ก่อนที่เขาแสดงท่าทีชัดเจนมาตลอดว่า สนับสนุนให้โอลิมปิก 2020 มีขึ้นตามกำหนดเดิมในช่วงระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-8 ส.ค.นี้ แต่หลังจากมีเสียงคัดค้านจากบุคลากรทางการแพทย์และชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จนทำให้คะแนนนิยมในตัวของเขาตกต่ำลงมาเหลือเพียงประมาณ 35% นายซูงะก็เริ่มสงวนท่าทีมากขึ้น และยอมรับตามตรงว่า อำนาจในการตัดสินใจยกเลิกการแข่งขันเป็นของ IOC ไม่ใช่อำนาจของเจ้าภาพเพียงลำพังแต่อย่างใด ไม่มีทางออกอื่นใด เพราะการเลื่อนการแข่งขันอีกครั้งเป็นไปไม่ได้แล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2013 ที่กรุงโตเกียวได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 ชาวญี่ปุ่นทั่วทั้งประเทศต่างยินดีกับชัยชนะที่มีเหนือคู่แข่งที่ร่วมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ เมืองอิสตันบูลแห่งตุรกี และกรุงมาดริด เมืองหลวงประเทศสเปน เนื่องจากก่อนหน้านั้นประเทศญี่ปุ่นเพิ่งจะผ่านพ้นโศกนาฏกรรมจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ได้เพียง 2 ปี ซึ่งนอกจากจะทำให้ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตประมาณ 2 หมื่นคนแล้ว เหตุเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะได้รับความเสียหาย จนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ยังเปรียบเสมือนฝันร้ายในสายตาผู้คนทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลญี่ปุ่นจึงทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างเพื่อได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 ให้จงได้ หลังจากเคยพ่ายแพ้ต่อกรุงลอนดอน และนครรีโอเดจาเนโร ในการเสนอตัวโอลิมปิก 2 ครั้งก่อนหน้านั้น หวังให้โลกรับรู้ว่า ประเทศญี่ปุ่นฟื้นตัวจากเหตุสารกัมมันตรังสีรั่วไหลแล้ว ที่สำคัญรัฐบาลญี่ปุ่นคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโอลิมปิก 2020 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะที่ชะลอตัวมากในช่วง 2 ทศวรรษหลังสุดให้กลับมาสดใเหมือนเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเคยทำได้มาแล้ว สมัยที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1964 ซึ่งครั้งนั้นเปรียบเสมือนการเปิดประเทศให้ชาวโลกได้รู้จักประเทศญี่ปุ่น และทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจวบจนถึงปัจจุบัน
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าความจริงแล้วญี่ปุ่นเคยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมาก่อนปี 1964 แล้ว เพียงแต่ครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ นั่นคือ โอลิมปิกปี 1940 ที่ยกเลิกเพราะไปตรงกับช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจักรวรรดิญี่ปุ่นกำลังเรืองอำนาจ และพยายามแผ่อิทธิพลครอบครองทวีปเอเชีย ย้อนกลับไปยุคนั้นกีฬาโอลิมปิกยังไม่ได้รับการกล่าวขานถึงว่าเป็นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติดังปัจจุบัน ซึ่งประเทศที่ลงแข่งขันส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในโลกตะวันตกมากกว่า เนื่องจากค่าใช้จ่ายการเดินทางไปแข่งขันในยุคนั้นยังค่อนข้างสูง แต่ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในชาติแรกๆ จากทวีปเอเชียที่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันโอลิมปิกอย่างจริงจัง
ว่ากันว่าเหตุผลสำคัญที่สุดที่ประเทศใดประเทศหนึ่งอยากเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกคือความต้องการประกาศศักดาในความเป็นชาติมหาอำนาจของตนเอง ชัดเจนที่สุดคือเมื่อครั้งที่กรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมนีเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1936 โดยเฉพาะหลังจากท่านผู้นำ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จากพรรคนาซี สถาปนาอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ขึ้น โอลิมปิกก็กลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อถึงความยิ่งใหญ่ของเยอรมนี ฮิตเลอร์ทำทุกอย่างเพื่อแสดงให้โลกรับรู้ว่าเยอรมนีคือมหาอำนาจตัวจริงของยุโรป และแน่นอนโอลิมปิกปี 1936 คือสิ่งที่ยืนยันว่ากีฬากับการเมืองหาได้แยกขาดจากกันอย่างแท้จริงไม่
ยุคนั้นญี่ปุ่นที่พัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและกำลังทหารอย่างก้าวกระโดด หลังยุคจักรพรรดิเมจิ ก็หวังที่จะใช้การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกแสดงให้โลกรับรู้ถึงการเป็นมหาอำนาจแห่งเอเชีย เนื่องจากยุคนั้นญี่ปุ่นยังดูห่างไกลจากสายตาโลกตะวันตกมาก การเดินทางก็หาใช่เป็นเรื่องง่าย รัฐบาลญี่ปุ่นจึงยอมทุ่มงบเชิญคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC เดินทางเยือนญี่ปุ่นเพื่อดูด้วยสายตาตนเองเลยว่า ดินแดนอาทิตย์อุทัยเหมาะสมสำหรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมากเพียงไร เรียกว่าใช้ยุทธการอาหารดีดนตรีไพเราะกล่อมผู้มีอำนาจใน IOC จนเคลิ้ม พร้อมยาหอมเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ญี่ปุ่นรับผิดชอบเองหมด เท่านั้นไม่พอยังส่งคนไปล็อบบี้ท่านผู้นำ เบนิโต มุสโสลินี ของอิตาลีให้ถอนตัวจากการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1940 เพื่อความมั่นใจด้วย
อุตส่าห์ดิ้นรนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพแทบตาย สุดท้ายญี่ปุ่นกลับจำต้องถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1940 ซึ่งหากไม่ถอนก็คงถูกชาติสมาชิกอื่นๆ เรียกร้องให้ IOC ถอดญี่ปุ่นจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอยู่ดี เนื่องจากความโหดร้ายที่กองทัพญี่ปุ่นปฏิบัติต่อชาวจีนในการบุกยึดเมืองหนานจิงหรือนานกิงในปี 1937 ประกอบกับกองทัพญี่ปุ่นไม่พึงพอใจแค่การได้หน้าในฐานะเจ้าภาพโอลิมปิกอีกต่อไปแล้ว กระแสชาตินิยมที่พุ่งถึงขีดสุด ทำให้กองทัพญี่ปุ่นอยากยึดประเทศในทวีปเอเชียมาเป็นอาณานิคมของตนทั้งหมด ถึงขนาดอนุญาตให้สร้างสนามกีฬาโดยใช้แค่ไม้กับปูนเท่านั้น เพราะโลหะต่างๆ จะเอาไปทำอาวุธยุทโธปกรณ์ แล้วจะไม่ให้ถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพได้อย่างไร
สุดท้ายญี่ปุ่นก็ตัดสินใจพลาดครั้งสำคัญ ด้วยการโดดเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มตัว ก่อนจำใจต้องยอมแพ้ต่อกองทัพสหรัฐฯ หลังจากถูกทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมะและนางาซากิ ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นกว่า 2 แสนคนเสียชีวิต อีกกว่า 1 แสนคนได้รับบาดเจ็บและป่วยจากสารกัมมันตภาพรังสี ต้องใช้ชีวิตอยู่กับฝันร้ายครั้งนั้นไปอีกนาน ไม่รวมถึงความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ตกต่ำถึงขีดสุด กว่าประเทศญี่ปุ่นจะผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากยุคนั้นมาได้ มันคือบทเรียนราคาแสนแพง เมื่อเริ่มตั้งหลักได้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงหวังเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้ง เพื่อลบล้างภาพลักษณ์ผู้ร้ายสมัยสงครามโลก และยืนยันว่าปัจจุบันญี่ปุ่นฟื้นตัวจากหายนะ และกลายเป็นประเทศที่รักสันติภาพแล้ว
แต่ญี่ปุ่นต้องรอจนปี 1964 ถึงจะได้เป็นเจ้าภาพสมใจ เนื่องจากโอลิมปิกปี 1960 กรุงโรม ของอิตาลี หนึ่งในประเทศผู้แพ้สงครามได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพก่อน เป้าหมายในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งนั้น ไม่ใช่เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เจริญกว่าทุกประเทศในเอเชีย และก้าวหน้าไม่แพ้โลกตะวันตกเหมือนเมื่อครั้งเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1940 แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้จะประสบความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ภายในเวลาไม่ถึง 20 ปี ญี่ปุ่นกลับมาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจที่มั่นคง และกลายเป็นญี่ปุ่นยุคใหม่ที่เน้นสันติภาพแล้ว แม้จะยังมีความเป็นชาตินิยม แต่ก็ใช้ในด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้ใช้ความเป็นชาตินิยมด้วยความทะเยอทะยาน หวังเป็นชาติมหาอำนาจทางการเมืองทัดเทียมมหาอำนาจซีกโลกตะวันตกอีกต่อไป
ครั้งนั้นหลายคนเปรียบเทียบการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1964 ของกรุงโตเกียวเมืองหลวงของญี่ปุ่นว่าเปรียบเสมือน “นกฟีนิกซ์ที่ฟื้นจากกองเถ้าธุลีกลับมาโผบินสู่ท้องฟ้าอีกครั้ง” ยุคนั้นญี่ปุ่นพัฒนาความเจริญอย่างรวดเร็ว เริ่มเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็นเป็นครั้งแรก หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Always: Sunset on Third Street คงมองภาพออกว่าชีวิตชาวญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกมันหนักหนาสาหัสเพียงไร แต่เพียง 10 กว่าปี ญี่ปุ่นเริ่มฉายแววการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชาติใหม่ของโลก ชาวญี่ปุ่นเริ่มกลับมาภาคภูมิใจในชาติของตนอีกครั้ง ที่สำคัญโอลิมปิกครั้งนั้นยังเปรียบเสมือนการเปิดประเทศให้ชาวโลกรู้จักประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น
โอลิมปิก 1964 ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีผู้ชมซื้อบัตรเข้าชมมากกว่า 2 ล้านใบ และด้วยการเป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านดาวเทียมไปทั่วโลก ผู้คนมากมายจึงได้เห็นบรรยากาศที่สุดแสนคึกคักในทุกสนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของทัพนักกีฬาเจ้าภาพถือว่าน่าพอใจมาก คว้าเหรียญทองได้ถึง 16 เหรียญ หนึ่งในนั้นคือการคว้าแชมป์วอลเลย์บอลหญิง ด้วยการเอาชนะทีมรัสเซียไปได้ถึง 3 เซตรวด เรียกว่าญี่ปุ่นได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก มีส่วนสำคัญต่อการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับญี่ปุ่นมากมายเหลือคณานับ
ในยุค 2 ทศวรรษหลังสุดที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มประสบภาวะถดถอย จนถูกจีนแซงขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแทน มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่นักการเมืองอย่างนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งสมัยนั้นยังเป็นเพียงเด็กนักเรียนในสมัยโอลิมปิกปี 1964 จึงผลักดันทุกทางเพื่อหวังให้กรุงโตเกียวได้กลับมาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้ง เพราะภาพแห่งความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1964 ยังคงตราตรึงในความทรงจำของเขา และลึกๆ นายอาเบะเองก็หวังว่าโอลิมปิก 2020 จะทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ถดถอยมากในช่วง 2 ทศวรรษหลังสุดกลับมาคึกคักอีกครั้ง แม้รู้ดีว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นจะได้จากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 มันเทียบกับช่วงเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1964 ไม่ได้เลยก็ตาม
ทุกประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนอกจากจะแฝงปัจจัยเรื่องการเมืองหรือเรื่องหน้าตาของประเทศแล้ว หลักๆ คือต่างคาดหวังว่าการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตกว่าเดิม เนื่องจากจะต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะถนนหนทางและระบบการขนส่ง การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นจากการเตรียมเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก รวมถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามา แต่เนื่องจากมันเป็นงานที่ใหญ่มาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เจ้าภาพโอลิมปิกครั้งหลังๆ ใช้งบประมาณบานปลายกันทุกครั้ง โอลิมปิก 2020 ก็เช่นกัน ตอนแรกว่าจะใช้งบประมาณ 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตอนนี้ใช้จ่ายไปแล้วอย่างน้อย 15,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นี่เป็นการประเมินหลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้นายชินโสะ อาเบะ จำต้องตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันถึง 1 ปีเต็ม แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสนามแข่งขันก็ต้องเพิ่มขึ้นอีกมาก ว่ากันว่าบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีในญี่ปุ่นเองประเมินว่าโอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ญี่ปุ่นอาจใช้งบประมาณทั้งหมดถึง 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือพูดง่ายๆ ว่ามากกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ตอนแรกถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ต่อให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างแดนเข้ามา และเปิดให้มีผู้ชมในสนามแข่งขันได้ ก็ไม่มีทางคืนทุนแน่นอน
อย่าไปเชื่อเรื่องโอลิมปิกที่พอเพียงหรือยั่งยืนตามที่ IOC พร่ำบอกเลย เพราะความจริงแล้วการที่ประเทศเจ้าภาพทุ่มเทเงินทอง เพื่อให้กีฬาโอลิมปิกยิ่งใหญ่ตระการตาที่สุด เป็นเรื่องที่ IOC ชอบอยู่แล้ว การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมันมีเรื่องหน้าตามาเกี่ยวข้องด้วย เจ้าภาพทุกครั้งต้องพยายามจัดการแข่งขันให้เหนือกว่าเจ้าภาพครั้งที่ผ่านมา แม้จะหมายถึงงบประมาณมหาศาลที่บานปลายกว่าที่ตั้งไว้ในตอนแรกมากก็ตาม บทเรียนสำหรับความหน้าใหญ่ใจโตของประเทศเจ้าภาพโอลิมปิก เห็นจะไม่มีครั้งไหนเกินโอลิมปิกปี 1976 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เพราะครั้งนั้นงบบานปลายกว่าเดิมถึง 7 เท่า และมอนทรีออลใช้เวลานานถึง 30 ปีกว่าจะปลดหนี้จากโอลิมปิกครั้งนั้นหมด!
อันที่จริงสำหรับโอลิมปิกฤดูร้อนแล้ว ดูเหมือนจะมีโอลิมปิกปี 1984 ที่นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐฯ และโอลิมปิกปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้เท่านั้นที่ดูจะมีกำไรหลัก 250-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ก็เพราะลอสแอนเจลิสเห็นประสบการณ์จากมอนทรีออลมาแล้วว่า ต้องไม่เน้นการก่อสร้างสนามหลักใหม่ๆ เพิ่ม จึงใช้สนามแข่งขันที่มีอยู่เดิม งบประมาณที่ใช้จึงถือว่าค่อนข้างต่ำ ส่วนโอลิมปิกที่กรุงโซลถอดแบบมาจากโอลิมปิกปี 1964 ที่กรุงโตเกียว อาศัยช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตสูง เปิดประเทศสู่สายตานานาชาติ กำลังซื้อของคนในประเทศเอง ดันให้โอลิมปิกครั้งนี้มีกำไร เช่นเดียวกับโอลิมปิกปี 2008 ที่กรุงปักกิ่งที่แรงซื้อจากคนในประเทศทำให้มีกำไร แม้จะใช้งบประมาณถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงที่สุดเท่าที่โอลิมปิกฤดูร้อนเคยมีมา
นอกจากมอนทรีออลแล้ว โอลิมปิกปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ประเทศกรีซ ต้นกำเนิดกีฬาโอลิมปิกก็ทิ้งบาดแผลไว้ไม่น้อย รัฐบาลกรีซถึงขั้นอยู่ในภาวะวิกฤตทางการคลัง เพราะหนี้สาธารณะที่เกิดจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งนี้นี่เอง ส่วนโอลิมปิกครั้งล่าสุดคือโอลิมปิกปี 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เป็นตัวอย่างว่าอะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะในช่วงที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เศรษฐกิจของบราซิลถือว่ามาแรง แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปีก็เริ่มชะลอตัวลง และประสบปัญหาเหมือนชาติอื่นๆ ในทวีปเดียวกัน
แต่เมื่อเป็นหน้าตาของประเทศ บราซิลทุ่มทุนมหาศาลถึง 13,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเตรียมความพร้อมทุกด้านให้อยู่ในมาตรฐานของ IOC ผลลัพธ์ของโอลิมปิกครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปอเมริกาใต้ คือขาดทุน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังแข่งเสร็จสนามแข่งขันกลายเป็นสนามร้าง ค่าดูแลรักษาปีหนึ่งมากมายมหาศาล หมู่บ้านนักกีฬาที่หวังว่าจะกลายเป็นคอนโดสุดหรูหลังจบโอลิมปิก จนถึงขณะนี้ส่วนใหญ่ยังแทบไม่มีใครจับจอง เมื่อต้นทุนการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกสูงขนาดนี้ ช่วงหลังๆ ประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจึงน้อยลงเรื่อยๆ จากสูงสุด 11 ประเทศในโอลิมปิกปี 2004 ลดลงมาเหลือ 5 ประเทศในโอลิมปิก 2020 ก่อนจะเหลือเพียง 2 ประเทศในโอลิมปิกปี 2024 IOC จึงให้กรุงปารีสเป็นเจ้าภาพ และให้ลอสแอนเจลิสเป็นเจ้าภาพปี 2028 พร้อมกันเลย ส่วนโอลิมปิก ปี 2032 ชนะแบบเอกฉันท์ เพราะมีเสนอตัวเพียงเมืองเดียวคือบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย!
ความจริงแล้วแม้จะไม่มีสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ตอนแรกใช่ว่าชาวโตเกียวจะเห็นดีเห็นงามกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกไปเสียทั้งหมด มีจำนวนไม่น้อยมองว่าโอลิมปิกเป็นแค่เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล เพราะคนยากไร้ทั่วไปไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย มิหนำซ้ำโอลิมปิกหลายครั้ง คนยากไร้ในชุมชนเมืองก็มักถูกไล่ที่เพื่อสร้างสนามหรือเพื่อสร้างถนนหนทางรองรับโอลิมปิก ส่วนชนชั้นกลางเองก็คิดหนักเช่นกันว่า มีความจำเป็นอะไรที่เงินภาษีของพวกตนจะถูกเอามาละลายแม่น้ำเล่น เพียงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่า “ญี่ปุ่นกลับมาแล้ว” เพราะคนญี่ปุ่นเจนเนอเรชันนี้ไม่ได้คิดอะไรเหมือนคนรุ่นราวคราวเดียวกับนายอาเบะอีกต่อไป
ยิ่งเมื่อมีโรคระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นมาอีก หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า จนถึงนาทีนี้โอลิมปิก 2020 มีขึ้นเพื่อใคร ในเมื่อชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ถึงขนาดสปอนเซอร์เองก็ยังไม่กล้าออกตัว เพราะกลัวคนไม่พอใจ นายกรัฐมนตรีซูงะเองก็ไม่กล้าเปิดหน้าสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพมาก เพราะกลัวคะแนนนิยมจะยิ่งตก แม้ยังหวังลึกๆ ว่า หากโอลิมปิกผ่านไปด้วยดี ไม่มีการแพร่ระบาดใหญ่ คะแนนนิยมของตนจะกลับมาดีขึ้นก็ตาม ไม่เพียงแต่นายซูงะที่คะแนนนิยมตก ว่ากันว่าโอลิมปิก 2020 ยังทำให้ภาพลักษณ์ของ IOC เสียหายที่สุด เนื่องจากชาวโลกมองว่า IOC ดื้อรั้นจะให้โอลิมปิกมีขึ้นให้ได้ เพียงเพราะผลประโยชน์จากการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันโอลิมปิก จนมองข้ามความปลอดภัยในชีวิตของชาวญี่ปุ่น
เมื่อไม่มีเสียงเชียร์จากแฟนๆ เจ้าถิ่น อีกทั้งทัพนักกีฬาและสื่อมวลชนจากต่างแดนจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด โอลิมปิก 2020 จึงขาดเสน่ห์และสีสันไปมาก สิ่งดีเพียงประการเดียวเห็นจะเป็นการใช้เทคโนโลยีในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน ซึ่งว่ากันว่าน่าจะเป็นโอลิมปิกที่ไฮเทคที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยคงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมกรุงโตเกียวจะต้องเดินหน้าจัดโอลิมปิกครั้งนี้ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ต้องการมันอีกต่อไป จนทำให้รู้สึกเหมือนกับถูก IOC มัดมือชก โดยผลตอบแทนที่ได้รับไม่ต่างอะไรกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
และที่สำคัญการอ้างว่า โอลิมปิกจะทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศนั้น เมื่อดูจากตัวเลขสถิตินักท่องเที่ยวจากต่างแดน 38 ล้านคนในปี 2018 หากไม่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ต่อให้ไม่มีโอลิมปิก 2020 เป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนก็น่าจะทำได้ไม่ยาก และใช้งบประมาณน้อยกว่าการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอย่างแน่นอน
โดย เชน ชอนตะวัน
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม