ด้วยความมุมานะ อุตสาหะ และหลงใหลการวิ่ง สัญญา คานชัย ออกแบบการซ้อมวิ่งของตัวเองที่มีรูปแบบไม่เหมือนใคร เขาไม่ได้มีโค้ชส่วนตัวหรือยึดติดกับตำราวิ่งเล่มไหน เรียกว่าใช้หัวใจนำทางในการซ้อมวิ่งน่าจะถูกต้องกว่า
1
เลียบทางด่วนบางปะอิน เขตคันนายาว
ท้องฟ้ายังไม่ทันสาง
เงาตะคุ่มๆ บ่งบอกว่ามีบางสิ่งกำลังเคลื่อนไหว
ชายร่างเล็กกำลังออกวิ่งไปด้วยความมุมานะ
…
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นคนชอบเตะฟุตบอลกับเพื่อนฝูง เมื่อย้ายถิ่นฐานจากหนองคายมาอยู่เมืองกรุง ก็มีโอกาสเข้าสู่ชมรมวิ่งสนามศุภชลาศัย เริ่มลงแข่งวิ่งระยะไกล มีรางวัลติดไม้ติดมือเมื่ออายุได้ 30 ปี หลังจากนั้นชีวิตของชายผู้นี้ก็ไม่เคยห่างเหินจากการวิ่ง รวมทั้งไม่เคยละทิ้งชีวิตที่ผูกติดอยู่กับการฝึกซ้อม
2
ทุกๆ วันในหัวของ สัญญา คานชัย หรือ “ป้อม” จะนึกถึงการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมให้ร่างกายพร้อมสำหรับการลงแข่งขัน
ชีวิตที่ไม่ได้มีต้นทุนสูงนัก เป็นเด็กจากต่างจังหวัดที่ผ่านงานมาแล้วสารพัด ไม่ว่าลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยว ลูกมือร้านซ่อมจักรยาน ทีมงานตั้งศาลพระภูมิ และรับจ้างทั่วๆ ไป อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ สัญญา คานชัย หันมาเอาจริงเอาจังกับการวิ่ง อีกหนึ่งช่องทางที่เขามองเห็นว่าพอจะสามารถหาเงินได้จากการแข่งขัน
งานวิ่งบางรายการ นอกจาก “เหรียญ” รางวัลแล้วผู้จัดยังมี “เงิน” รางวัลให้กับผู้ชนะ
แม้อาจเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงนัก แต่ถ้าลงแข่งจริงจังสม่ำเสมอ คว้าชัยชนะหลายรายการในแต่ละเดือน ก็ถือเป็นช่องทางหารายได้สำหรับคนที่ชีวิตไม่ได้มีต้นทุนสูงมากมาย
ตราบใดที่หัวใจยังเต้นก็ต้องสู้ต่อไป
…
สำหรับสัญญาแล้วเส้นทางการวิ่งของเขาก็ไม่ได้แตกต่างจากนักวิ่งทั่วไป เขาเริ่มต้นจากวิ่งระยะสั้นๆ ไม่กี่กิโลเมตร แล้วเมื่อได้ลงแข่งขัน ได้พิชิตระยะทางผ่านเส้นชัยก็เกิดต้องมนต์สะกด อยากประสบความสำเร็จในระยะทางที่มากขึ้น จากมินิหรือควอเตอร์มาราธอน มุ่งสู่ฮาล์ฟมาราธอน และฟูลมาราธอนตามลำดับ หลังจากนั้นยังพัฒนาตัวเองไปจนถึงขั้นอัลตรามาราธอน
ต่อมาสัญญายังได้พบว่าในวงการวิ่งยังมีสิ่งที่เรียกว่า การวิ่งเทรล
การวิ่งเทรล หรือ เทรลรันนิ่ง (trail running) อาจนิยามว่าเป็นการวิ่งผจญภัยบนทางวิบาก ขณะที่การวิ่งตระกูลมาราธอนทั่วไปจะวิ่งกันบนถนน เรียกว่า วิ่งถนน เป็น โรดรันนิ่ง (road running) เส้นทางของนักวิ่งเทรลอาจเป็นทางดินในป่า ทางลูกรังบนถนนในต่างจังหวัด เส้นทางเล็กๆ ที่ตัดผ่านทุ่งหญ้า คันดินริมท้องนา หรือแม้กระทั่งสวนผักผลไม้
ภายใต้ระยะทางไม่จำกัด คือ อาจเทียบเท่า น้อยกว่า หรือมากกว่ามาราธอนก็ได้
ย้อนเวลากลับไป เมื่อไม่กี่ปีก่อนรายการวิ่งเทรลยังได้รับความสนใจเฉพาะในหมู่นักวิ่งกลุ่มเล็กๆ แต่ละปีมีเอเจนซี่จัดรายการวิ่งเทรลให้ลงแข่งแค่ 1-2 รายการ แต่ปัจจุบันเทรลรันนิ่งได้รับความนิยมล้นหลาม ก่อนที่โรคโควิด-19 จะระบาด มีมากนับสิบๆ รายการต่อปี
นอกจากจะลงแข่งวิ่งบนถนน เทรลรันนิ่งคืออีกสนามของ สัญญา คานชัย
3
ด้วยความมุมานะ อุตสาหะ และหลงใหลการวิ่ง สัญญาออกแบบการซ้อมวิ่งของตัวเองที่มีรูปแบบไม่เหมือนใคร
เขาไม่ได้มีโค้ชส่วนตัวหรือยึดติดกับตำราวิ่งเล่มไหนไม่ว่าหนังสือของไทยหรือต่างประเทศ ถึงแม้จะเคยอ่านเพิ่มความรู้ ติดอาวุธด้านการวิ่งตามที่พี่ๆ น้องๆ ในวงการแนะนำ
แต่สำหรับเขานั้น เรียกว่าใช้หัวใจนำทางในการซ้อมวิ่งน่าจะถูกต้องกว่า
“บางครั้งผมวิ่งบนทางเท้ารวดเดียวจากบ้านไปหัวลำโพง”
เส้นทางจากแฟลตเอื้ออาทรย่านรามอินทรา-คู้บอน ที่พักของสัญญาซึ่งอยู่ย่านชานเมืองไปถึงสถานีรถไฟกรุงเทพซึ่งอยู่ย่านใจกลางเมือง ตามกูเกิลแมป มีระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร เขาวิ่งเพื่อไปทำธุระ เสร็จแล้วก็วิ่งกลับ
สัญญาเล่าว่าตามปรกติแล้วในแต่ละวันจะซ้อมวิ่งระยะทางรวมกันไม่ต่ำกว่า 20-30 กิโลเมตร บางครั้งวิ่งติดต่อกัน 50 กิโลเมตรไปตามท้องถนน วิ่งไปบนทางเท้า
ทุกวันเขาจะตื่นตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง อาจแบ่งรอบวิ่งเป็นช่วงเช้า กลางวัน เย็น บางครั้งก็วิ่งเช้า 20 กิโลเมตร กลางวัน 20 กิโลเมตร เย็น 20 กิโลเมตร ตามความต้องการ
“ฝึกวิ่งเร็วบ้าง ช้าบ้าง สลับกัน แต่ส่วนใหญ่ผมจะเน้นระยะทางมากกว่าความเร็ว”
ถ้ามีธุระต้องเดินทางไปที่ไหนเขาจะนึกนึงการเดินทางด้วยการวิ่งก่อนเป็นอันดับแรก
แต่ถ้าไม่ได้ไปไหนก็ซ้อมวิ่งริมถนนเลียบทางด่วนบางปะอินซึ่งอยู่ใกล้กับที่พัก สัญญาชอบถนนสายนี้มากเพราะเป็นทางตรง โล่งยาว ยามเช้าไม่ค่อยมีรถราแล่นผ่าน ไม่ขวักไขว่พลุกพล่าน
ชายหนุ่มจากหนองคายอาศัยอยู่ที่นี่มานาน เขาเล่าว่าสมัยก่อนตอนที่ทางด่วนจากกรุงเทพฯ ไปบางปะอินเพิ่งสร้าง เขาเห็นถนนโล่งๆ ใหญ่ๆ ตัดใหม่ใกล้บ้านก็ดีใจ อดไม่ได้ที่จะเข้าไปซ้อมวิ่งในทางด่วน ไม่นานก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขี่มอเตอร์ไซค์ตามมาตักเตือน บอกว่าคุณจะขึ้นมาวิ่งบนทางด่วนไม่ได้
ทุกวันนี้แถวๆ แฟลตเอื้ออาทรที่สัญญาพักอาศัย ยังเป็นย่านชานเมืองที่พอมีพื้นที่ว่าง แม้จะมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และมีทางด่วนผุดขึ้นมา แต่ก็มีบ่อน้ำ ทุ่งนา รวมทั้งคูคลองหนองบึงที่เขามักจะเอาเบ็ดไปปักดักปลาทิ้งไว้ระหว่างซ้อมวิ่ง วิ่งเสร็จก็มาดูว่ามีปลาติดเบ็ดบ้างไหม ถ้าปลาช่อน ปลาหมอ ติดเบ็ดเขาจะดีใจ รีบนำกลับไปปรุงอาหาร แต่ถ้าวันไหนไม่ได้ปลา ก็จะเด็ดผักบุ้งหรือผักที่ขึ้นอยู่ริมทางมาแทน
4
ยิ่งใกล้ถึงวันลงสนามการซ้อมของสัญญายิ่งต้องอัปเกรด
การซ้อมวิ่งตามปรกติอาจเพียงพอที่จะทำให้ใครสักคนหนึ่งวิ่งถึงเส้นชัย แต่สำหรับ สัญญา คานชัย เขาต้องการคว้าชัยชนะในการแข่งขัน การเข้าสู่เส้นชัยเป็นลำดับต้นๆ จะทำให้เขาได้เงินรางวัล
ไฮไลต์ในการซ้อมของสัญญาคือการวิ่งลากยางรถยนต์ โดยผูกเชือกจากยางรถยนต์เข้ากับเอว สลับกับวิ่งใช้ไม้ดันยางรถยนต์ไปข้างหน้า เมื่อร่างกายเข้าที่เข้าทางก็วิ่งลากและดันยางรถยนต์ไปพร้อมๆ กัน
สัญญาฝึกซ้อมเช่นนี้เป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงที่ต้องเคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนักหน่วงเพื่อเตรียมลงสนามแข่งขัน
“ผมวิ่งลากยางรถยนต์ไปๆ กลับๆ วันละ 1-2 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังฝึกวิ่งขึ้นและลงทางยกระดับใกล้ๆ ห้างแถวบ้านตอนตีสี่ แล้วบางทีผมก็ฝึกวิ่งลากยางรถยนต์ขึ้นบันได”
สนามแข่งขันเทรลรันนิ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการวิ่งตามชายป่า รวมถึงภูเขาที่มีความลาดชัน บ่อยครั้งต้องออกแรงปีนบ่าย วิ่งกระโดดหรือก้าวข้ามก้อนหิน เมื่อหาภูเขาในกรุงเทพฯ เพื่อซ้อมวิ่งเทรลไม่ได้ สัญญาจึงอาศัยการวิ่งลากยางรถยนต์ขึ้นบันได
การเคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนักหน่วงเป็นทักษะเฉพาะตัวของนักวิ่งที่มีประสบการณ์โชกโชน ระหว่างซ้อมนักวิ่งจะต้องคอยตรวจเช็กสภาพความแข็งแรงของร่างกายตนเองอยู่ตลอดเวลา
5
วิ่งจริงจังมาร่วม 20 ปี สัญญา คานชัย คว้าถ้วยรางวัลมาแล้วนับไม่ถ้วน เรียกว่าแทบทุกรายการที่ลงแข่งขัน ชายคนนี้จะต้องได้รางวัลติดไม้ติดมือเสมอ
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ได้รับยกย่องว่ามีทักษะวิ่งเทรลเข้าขั้นอีลิท (elite) เบื้องหลังคือความจริงจังที่มีต่อการฝึกฝน
ความสำเร็จในการวิ่งคือภาพสะท้อนการซ้อมหนักที่ซ่อนอยู่ในตัวนักวิ่งแต่ละคน
เส้นทางนี้ของ สัญญา คานชัย มีโจทย์ง่ายๆ คือ ถ้าซ้อมน้อย เวลาที่ใช้ในการวิ่งเข้าสู่เส้นชัยจะมาก ถ้าซ้อมมาก เวลาที่ใช้วิ่งเข้าสู่เส้นชัยจะน้อย มันเป็นสิ่งที่เขาพิสูจน์มาแล้วด้วยตัวเองในทุกรายการแข่งขันที่ผ่านมา
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม