Link Copied!

หญิงสาว ฟุตบอล และอนาคตใน “อัฟกานิสถาน”

ในหนังเรื่อง Offside ผู้หญิงชาวอิหร่านหาทางเข้าไปดูฟุตบอลในสนาม ฝืนกฎหมายของประเทศที่ห้ามเพศแม่เข้าสนามกีฬา ใน Bend It Like Beckham สาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียแสวงหาทางเพื่อเล่นฟุตบอล แม้ว่าจะขัดคำสั่งของครอบครัว และใน She’s the man นักฟุตบอลหญิงฝีเท้าดีต้องปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อลงเล่นฟุตบอล เพราะทีมหญิงที่เธอเล่นถูกยุบ หนังทั้งสามเรื่องบอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงกับฟุตบอลที่เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงกับ “นักฟุตบอลหญิง” ใน “อัฟกานิสถาน” 

“อัฟกานิสถาน”​เป็นเหมือนดินแดนต้องคำสาป ที่นี่ผู้คนอยู่ร่วมกับสงครามมาตลอดตั้งแต่อดีตกาล สงครามกับอังกฤษ สงครามกับสหภาพโซเวียต การครองอำนาจของตาลีบัน การยึดครองโดยสหรัฐอเมริกา และล่าสุดตาลีบันกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ภาพความเจ็บปวดจากการปกครองของตาลีบันในครั้งแรกกลับมาหลอกหลอน จนเราเห็นชาวอัฟกันพากันวิ่งตามเครื่องบินที่กำลังจะเทกออฟ และบางคนพลัดตกจากเครื่องบิน โดยหนึ่งในคนที่ตกลงมาจากเครื่องบินจนเสียชีวิต คือ ซากิ อันวารี นักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติอัฟกานิสถาน วัยเพียง 19 ปี 

การปกครองครั้งแรกของตาลีบันในอัฟกานิสถานมีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสตรีอย่างรุนแรง ห้ามไม่ให้เด็กผู้หญิงเข้ารับการศึกษาใดๆ เลย ผู้หญิงห้ามออกจากบ้านคนเดียว ต้องมีญาติที่เป็นผู้ชายไปไหนมาไหนด้วยเสมอ ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงทำงาน คนที่ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง การกลับมามีอำนาจอีกครั้งของตาลีบัน สร้างความหวั่นใจให้กับผู้หญิงอัฟกัน ความฝันและความหวังของพวกเธอดูจะค่อยๆ ริบหรี่ลงเรื่อยๆ เช่นกันกับอนาคตของทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถาน 

หลังจากมีข่าวตาลีบันยึดอัฟกานิสถาน ฟีฟ่าออกจดหมายไปยังรัฐบาลของชาติต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้ความช่วยเหลือในการอพยพนักฟุตบอลหญิงชาวอัฟกันออกนอกประเทศ ถึงตอนนี้บรรดานักฟุตบอลหญิงหลายคนต่างพากันหลบซ่อนตัว เฮลีย์ คาร์เตอร์ อดีตทหารผ่านศึกชาวอเมริกันและผู้ช่วยโค้ชของทีมฟุตบอลหญิงอัฟกัน บอกว่าได้รับการติดต่อจากนักฟุตบอลหญิงหลายคนที่ซ่อนตัวอยู่ “ถ้าใครพบว่าพวกเธอคุยกับคนภายนอก ชีวิตของพวกเธอจะตกอยู่ในอันตรายมากกว่าเดิม” 

ขณะที่เราสามารถเตะฟุตบอลได้ตามที่ใจต้องการ แต่สำหรับผู้หญิงชาวอัฟกัน ฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่กีฬา ทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถานก่อตั้งขึ้นในปี 2007 ชาลิมา โคเฮสตานี อดีตกัปตันทีมฟุตบอลหญิงของอัฟกานิสถานบอกว่า “ฉันไม่รู้จักโลกภายนอก จนกระทั่งได้มาเล่นกีฬา และฉันรู้สึกถึงอิสรภาพได้เป็นครั้งแรก” ฟุตบอลสำหรับหญิงสาวชาวอัฟกันเป็นเหมือนการมีอำนาจ แต่ตอนนี้ฟุตบอลอาจจะทำให้พวกเธอถูกฆ่า

ก่อนการกลับมาของตาลีบัน ทีมฟุตบอลหญิงอัฟกานิสถานลงเล่นในสนามที่ครั้งหนึ่งเคยถูกตาลีบันใช้เป็นที่ประหารผู้หญิงต่อหน้าสาธารณชน สนามกีฬาที่เคยเต็มไปด้วยเสียงปืน เปลี่ยนมาเป็นเสียงเชียร์เพื่อความหวังและอนาคต จากที่ไม่เคยได้รับการศึกษา ผู้หญิงอัฟกันได้ลงเล่นฟุตบอล ชัยชนะที่ได้มาแต่ละครั้ง หยาดเหงื่อที่เสียไปแต่ละหยด ทุกๆ ประตู ทุกๆ ครั้งที่เตะลูกฟุตบอล เป็นอิสรภาพที่พวกเธอไม่เคยมี เป็นความหวัง ความฝัน และอนาคต 

ตอนนี้นักฟุตบอลหญิง นักเคลื่อนไหวสตรี นักกีฬาหญิง และบรรดาผู้ให้การศึกษา ต่างตกอยู่ท่ามกลางอันตราย “นักกีฬาไม่มีความหวัง” โคเฮสตานีเอ่ย “หลายคนติดต่อมาหาฉัน พวกเขาบอกว่า ได้โปรดพาเราออกไป พวกเรากลัว พวกเราไม่รู้ว่าจะทำยังไง และฉันรู้สึกไร้ทางช่วย เพราะฉันทำไม่ได้” ตอนนี้โคเฮสตานีอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่คุณพ่อและคุณแม่ของเธอยังอยู่ที่กรุงคาบูลโดยไม่มีทีท่าว่าจะออกมาจากอัฟกานิสถานได้

โคเฮสตานีบอกให้แม่ของเธอทำลายรูปภาพทั้งหมดที่เธอลงเล่นกีฬา รูปที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกา รูปที่เธอและพี่น้องรับรางวัล ทำลายความทรงจำทั้งหมด เพราะรู้ดีว่าถ้าสถานการณ์ร้ายแรงไปมากกว่านี้ ตาลีบันจะบุกค้นหาตามบ้าน แบบที่เคยทำมาแล้วในยุค 90 

ความกลัวกลับเข้าไปอยู่ในหัวใจของผู้หญิงอัฟกันทั้งประเทศ ไม่มีใครปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงที่มีบทบาทในสังคมตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา คาห์ลิดา โพพาล อดีตนักฟุตบอลหญิงชาวอัฟกัน และเป็นคนที่ก่อตั้งฟุตบอลลีกหญิงในประเทศเป็นครั้งแรกในปี 2007 บอกว่า “มันเป็นความหวังครั้งใหญ่ที่ได้เห็นผู้หญิงรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำในอัฟกานิสถานยุคใหม่”

โพพาลที่ตอนนี้ย้ายมาอยู่ในเดนมาร์กเพราะถูกขู่ฆ่าในการเป็นกระบอกเสียงให้สตรีในอัฟกานิสถาน บอกต่อว่า “ผู้หญิงเป็นเหยื่อคนแรกในเรื่องนี้ ครอบครัวไม่สามารถดูแลลูกสาวได้ ฉันได้พูดคุยกับผู้หญิงและคนที่เป็นแม่หลายคนในอัฟกานิสถาน พวกเขาพูดว่า ฉันหวังว่าฉันจะไม่มีลูกสาว เพราะมันยากที่จะดูแลความปลอดภัยให้ พวกเธอไม่ได้ทำอะไรผิด สิ่งที่พวกเธอทำคือการยืนหยัดขึ้น และพยายามที่จะต่อสู้เพื่ออิสรภาพ แต่ความสำเร็จเหล่านั้นเพิ่งจะจางหายไป” โพพาลบอกให้บรรดานักฟุตบอลหญิงทั้งในอดีตและปัจจุบันปิดโซเชียลมีเดียของตัวเอง ลบรูปภาพออกทั้งหมด และหาที่ซ่อนที่ปลอดภัย โดยที่ยังไม่ว่ารู้ชะตากรรมข้างหน้าของพวกเธอจะเป็นยังไงต่อไป

เรื่องราวของหญิงสาวกับฟุตบอลใน Offside, Bend It Like Beckham และ She’s the man ล้วนจบลงด้วยความสมหวังไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ตอนจบของนักฟุตบอลหญิงชาวอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบันอาจจะไม่มีทางออกแบบสุขสมเหมือนภาพยนตร์ ขณะที่เราใช้คำว่าอิสรภาพกันอย่างแพร่หลาย ผู้หญิงอัฟกันกลับไม่มีสิทธิ์ที่จะเอ่ยคำคำนั้น หญิงสาวชาวอัฟกันทั่วประเทศกำลังวิงวอนร้องขอความช่วยเหลือ พวกเธอกำลังหมดโอกาสที่จะตัดสินอนาคตของตัวเอง หมดโอกาสที่จะไปโรงเรียน และหมดโอกาสที่จะเตะฟุตบอล 

ในโลกที่มีความเท่าเทียมกันในชายและหญิง ในโอลิมปิกที่ผู้หญิงวิ่งแข่งเคียงบ่าเคียงไหล่แข่งกับผู้ชาย แล้วทำไมเรายังเห็นหญิงสาวต้องถูกลงโทษ บางทีต้องตายเพราะเตะฟุตบอล 

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกร

แหล่งอ้างอิง 

BBC

The Athletics

Total
0
Shares