เข็มนาฬิกาเดินวน 1 กันยายน 2564 แฟนบอลไทยจะได้ชมฟุตบอลไทยกันอีกครั้ง ในศึก “แชมป์ชนแชมป์” ชื่อใหม่ “ไดกิ้น ไทยแลนด์ แชมเปียนส์ คัพ 2021” โหมโรงก่อนฟุตบอลลีกจะเปิดฉากเพียงแค่ 2 วัน แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เรามาทำความรู้จักกับฟุตบอลรายการนี้กันสักนิด
#แรกเริ่มจาก “ถ้วยพระราชทาน ก.”
นับตั้งแต่ปี 2459 ได้มีการจัดฟุตบอลแบบทัวร์นาเมนต์ จำนวน 2 ระดับ คือ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. หรือชื่อเดิม “ถ้วยใหญ่” ประหนึ่งคว้าแชมป์ประเทศไทย และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข. หรือ “ถ้วยน้อย” รองลงมา
หลังจากนั้นในปี 2539 ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อความเป็นมืออาชีพในรูปแบบสากล เมื่อเกิดฟุตบอลไทยลีก และฟุตบอลถ้วย เอฟเอ คัพ ขึ้นมาแทน นั่นจึงทำให้ถ้วยพระราชทานประเภท ก. ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นถ้วยรางวัลสำหรับศึก “แชมป์ชนแชมป์” ระหว่าง แชมป์ลีก กับ แชมป์เอฟเอ คัพ เทียบเท่ากับธรรมเนียมแบบฟุตบอลอังกฤษ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “แชริตี้ ชิลด์” หรือ “คอมมิวนิตี้ ชิลด์” ในปัจจุบัน
กระทั่งการเข้ามาของประมุขลูกหนังคนใหม่ “พล.ต.อ. ดร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ได้เปลี่ยนบทบาท ถ้วย ก. อีกครั้ง ด้วยการนำถ้วยเก่าแก่ใบนี้ไปมอบให้กับทีมแชมป์ไทยลีก ปี 2559 ก่อนจะถูกเก็บขึ้นหิ้งไว้เป็นตำนาน ส่วนในศึก “แชมป์ชนแชมป์” ได้ทำถ้วยขึ้นมาใหม่และตั้งชื่อใหม่ว่า “ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ” ในปีต่อมา
#สู่ยุคใหม่ “ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ”
ปี 2017 ศึก “ไทยแลนด์ แชมเปียนส์ คัพ” ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มกราคม ณ สังเวียนศุภชลาศัย ประเดิมระหว่างแชมป์ไทยลีก 2016 อย่างเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ดวลกับแชมป์ ช้าง เอฟเอ คัพ 2016 อย่างสุโขทัย เอฟซี
(หมายเหตุ : ฟุตบอลถ้วย ช้าง เอฟเอ คัพ 2016 ครองแชมป์ร่วมกัน 4 ทีม ประกอบด้วย สุโขทัย เอฟซี, ชลบุรี เอฟซี, ชัยนาท ฮอร์นบิล และราชบุรี มิตรผล เอฟซี ซึ่งสุโขทัย เอฟซี จับสลากได้สิทธิ์เป็นตัวแทนลงเล่นถ้วย เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก 2017 รอบเพลย์ออฟ)
ในวันนั้นทัพ “กิเลนผยอง” ภายใต้การคุมทีมของ “โค้ชแบน” ธชตวัน ศรีปาน ที่ชุมนุมแข้งทีมชาติอย่าง กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์, ธีรศิลป์ แดงดา, ชนาธิป สรงกระสินธ์, ธีราทร บุญมาทัน, สารัช อยู่เย็น และ ทริสตอง โด ไล่ถล่ม “ค้างคาวไฟ” ไปแบบยับเยินถึง 5-0 ผงาดคว้าแชมป์ไปครองเป็นทีมแรก
ปี 2018 สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ในฐานะเจ้าของถ้วย ช้าง เอฟเอ คัพ 2017 สลักชื่อเป็นแชมป์ “ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ” เป็นทีมที่สอง เมื่อวันที่ 19 มกราคม ณ สังเวียนเดิม ศุภชลาศัย หลังจากปราบบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เจ้าของโทรฟี่ไทยลีก 2017 ไปได้อย่างสนุกตื่นเต้นชนิดที่ต้องตัดสินถึงฎีกา
เกมวันนั้นขุนพล “ปราสาทสายฟ้า” ที่คุมทีมโดย โบซิดาร์ บันโดวิช ออกนำไปก่อนถึง 2-0 จาก เอ็ดการ์ ดา ซิลวา และ ดิโอโก หลุยส์ ซานโต แต่ทัพ “กว่างโซ้งมหาภัย” ของ อเล็กซานเดร กามา ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ไล่ตามตีเสมอสำเร็จจาก 2 ประตูของ ศิวกรณ์ เตียตระกูล และ วิคเตอร์ คาร์โดโซ ทำให้ต้องดวลจุดโทษตัดสิน ก่อนที่สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด จะเอาชนะไปด้วยสกอร์รวม 8-7
มาถึงครั้งที่ 3 ได้ใส่ชื่อนำหน้าตามสปอนเซอร์เป็น “ออมสิน ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ 2019” เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และย้ายสังเวียนไปเตะกันที่สนามกองทัพบก แต่คู่ชิงยังหน้าเดิม ก่อนที่บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เจ้าของแชมป์ไทยลีก 2018 จะล้างแค้นได้สำเร็จ
เกมวันนั้นขุนพล “กว่างโซ้งมหาภัย” ได้ประตูขึ้นนำอย่างรวดเร็วเพียงแค่นาทีที่ 2 จากลูกโหม่งของ บรินเนอร์ เอ็นริเก้ แต่ทัพ “ปราสาทสายฟ้า” เอาคืน 2 ประตูรวดในช่วงท้ายครึ่งแรกจากการเหมาคนเดียวของ ศุภชัย ใจเด็ด พลิกแซงนำ 2-1 ก่อนที่ครึ่งหลังจะมายิงฝังช่วงทดเจ็บจาก โมดิโบ ไมกา ให้บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ชนะไป 3-1 ผงาดคว้าแชมป์แบบไม่ซ้ำหน้าจาก 3 ครั้งที่จัดขึ้น
แต่ในที่สุดขุนพล “กว่างโซ้งมหาภัย” ที่เข้าชิงเป็นหนที่ 3 ติดต่อกัน ก็เป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 2 และเป็นครั้งสุดท้ายในชื่อสปอนเซอร์ “ออมสิน ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ 2020” เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สนามเอสซีจี สเตเดียม
ครั้งนี้สิงห์ เชียงรายมาในนามแชมป์ไทยลีก 2019 ดวลกับการท่าเรือ เอฟซี แชมป์ ช้าง เอฟเอ คัพ ก่อนที่ขุนพล “กว่างโซ้งมหาภัย” ของกุนซือใหม่ชาวซามูไร มาซามิ ทากิ จะใช้ระบบสยบซุปตาร์ เชือด “สิงห์เจ้าท่า” ของ “โค้ชโชค” โชคทวี พรหมรัตน์ ไปได้อย่างเด็ดขาด 2-0 จากลูกโหม่งของ อี ยอง-แร นาทีที่ 51 และ ชัยวัฒน์ บุราณ ปิดกล่องนาทีที่ 55
#ไดกิ้น ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ 2021
ปีนี้ศึก “แชมป์ชนแชมป์” ยุคใหม่เดินทางมาถึงครั้งที่ 5 พร้อมเปลี่ยนชื่อตามผู้สนับสนุนใหม่ “ไดกิ้น ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ 2021” แต่หนึ่งในคู่ชิงยังเป็นหน้าเก่าอย่างสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ที่กลับมาป้องกันแชมป์ในฐานะ “ราชาน็อกเอาต์” ช้าง เอฟเอ คัพ 2020 โดยมีผู้ท้าชิงหน้าใหม่อย่างบีจี ปทุม ยูไนเต็ด เจ้าของโทรฟี่ไทยลีกสมัยแรกในประวัติศาสตร์สโมสร
จริงๆ แล้วเกมนี้ถูกบุ๊กตั๋วไว้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องถูกเลื่อนมาเตะวันที่ 8 สิงหาคม ทว่าเชื้อร้ายก็ยังไม่ยอมลดราวาศอกจึงต้องเลื่อนอีกรอบเป็นวันที่ 1 กันยายนนี้ ขณะที่สังเวียนดวลแข้งเดิมทีจะไปใช้เขากระโดง สเตเดียม จ. บุรีรัมย์ เพราะถือว่าไม่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่ทั้งสองทีมหารือกัน ก่อนสรุปได้ว่าจะใช้สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ. เชียงใหม่ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มเช่นกัน และการกีฬาแห่งประเทศไทยเพิ่งรีโนเวทใหม่เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นการฉลองสนามใหม่ไปในตัว
ในส่วนความพร้อมของแชมป์เก่า สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ถือว่าเป็นสโมสรที่มีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวในตลาดนักเตะเงียบสุดก็ว่าได้ เพราะทั้งโควตาต่างชาติและแข้งไทยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยที่ย้ายเข้ามามีเพียง ณัฐวุธ เจริญบุตร มิดฟิลด์วัย 30 ปี จาก สุโขทัย เอฟซี รายเดียวเท่านั้น ส่วนดีลใหญ่ที่ย้ายออกไปคงหนีไม่พ้น ชัยวัฒน์ บุราณ ที่ถูกปล่อยให้ สมุทรปราการ ซิตี้ นอกจากนั้นก็มี ถิรายุ บรรหาร ที่ปล่อยให้ พีที ประจวบ ยืมตัว รวมไปถึง ธัชนนท์ นคราวงศ์ ที่ย้ายไปเมืองกาญจน์ ยูไนเต็ด
แต่การไม่เปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่ได้ด้อยค่า “กว่างโซ้งมหาภัย” เมื่อพวกเขายังคงเป็นหนึ่งในทีมที่แข็งแกร่งและลงตัว ไล่เรียงตั้งแต่กุนซือที่ยังคงใช้บริการ เอเมอร์สัน เปไรรา ดา ซิลวา หลังพาทีมพุ่งชนความสำเร็จเถลิงบัลลังก์แชมป์ ช้าง เอฟเอ คัพ 2020/21 พร้อมผลงานน่าประทับในศึก เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก 2021 รอบแบ่งกลุ่ม ที่ผ่านมา
ส่วนนักเตะแกนหลัก นอกจาก “เจ้าบอล” ชัยวัฒน์ บุราณ ที่หายไป ก็ยังอยู่กันพร้อมหน้าไม่ว่าจะเป็น พิธิวัต สุขจิตธรรมกุล, ชินภัทร ลีเอาะ, ศิวกรณ์ เตียตระกูล, ศนุกรานต์ ถิ่นจอม หรือ เอกนิษฐ์ ปัญญา รวมถึงโควตาต่างชาติก็ยังคงยึดชุดเดิมไม่เปลี่ยนแปลงทั้ง บรินเนอร์ เอ็นริเก้, เฟลิปเป้ อโมริม, บิลล์ โรซิมาร์ รวมถึง โช จี ฮุน ที่ยังคงได้ไปต่อ
เพราะฉะนั้นแล้วในเรื่องคุณภาพของ “กว่างโซ้งมหาภัย” ยังคงเหมือนเดิม ส่วนแทคติกก็ไม่ต้องปรับจูนอะไรมาก แถมความกดดันก็ไม่ได้ถาโถมเหมือนทีมอื่นๆ จึงไม่อาจประมาทได้ โดยเฉพาะบอลถ้วยที่พวกเขาถือเป็น “ราชันน็อกเอาต์” ตัวจริง
มาทางฝั่งผู้ท้าชิง “เดอะ แรบบิท” บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทัพของ ออเรลิโอ วิดมาร์ กุนซือวัย 54 ปี ชาวออสเตรเลีย-สโลวีเนีย ยังคงเป็นทีมที่น่าเกรงขามและถูกยกให้เป็นเต็งหนึ่งที่จะป้องกันแชมป์ไทยลีกอีกสมัย ด้วยขุมกำลังที่เต็มเปี่ยมไปด้วยนักเตะฝีเท้าเยี่ยมทั้งเทศและไทยไล่ตั้งแต่รับยันรุก
ในส่วนโควตาต่างชาติยังคงแน่นปึ้ก โดยเฉพาะเกมรับที่มีสองนักเตะร่างยักษ์อย่าง วิคเตอร์ คาร์โดโซ และ อันเดรส ตูเญซ เป็นกำแพง รวมไปถึงแนวรุกที่มี ดิโอโก หลุยส์ ซานโต ล่าตาข่ายคู่ต่อสู้ ส่วนขุมกำลังนักเตะไทยแม้จะเสีย ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ ไป แต่ก็ได้ของดีมีคุณภาพอย่าง จักพัน ไพรสุวรรณ, ชิตชนก ไชยเสนสุรินธร, ฉัตรมงคล ทองคีรี หรือ เออร์เนสโต ภูมิภา เข้ามาซัพพอร์ตแกนหลักอย่าง สารัช อยู่เย็น, สุมัญญา ปุริสาย, ธีรศิลป์ แดงดา และ ฉัตรชัย บุตรพรม
เกมโหมโรงไทยลีก “ไดกิ้น ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ คัพ 2021” ในวันที่ 1 กันยายนนี้ ที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เวลา 18.00 น. จึงเป็นแมตช์ที่น่าติดตามอย่างยิ่งว่า สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ที่เข้าชิงเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน จะป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ หรือจะเป็น บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ทีมที่ถูกยกให้เป็นเบอร์ 1 ของเมืองไทยในเวลานี้ จะกระชากแชมป์ไปครองเป็นสมัยแรก
ใครจะเป็น “ที่สุดแห่งแชมป์” เดี๋ยวรู้กัน!!!
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม