เชื่อว่าแฟนบอลไทยคงเคยได้ยินข่าวอภิมหาโปรเจ็กต์ยักษ์ ชาติในอาเซียนรวมทั้งไทยจะร่วมกันยื่นเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ “ฟุตบอลโลก 2034” ที่ตามมาด้วยคำถามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “คุ้มหรือไม่?” “เพ้อฝันเกินไปหรือเปล่า?” ก่อนจะค่อยๆ เงียบหายจนนึกว่าถอดใจล้มเลิกกันไปแล้ว เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของบรรดาชาติในอาเซียนที่มีความพยายามจะนำทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพมาสู่แฟนบอลในภูมิภาคนี้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2011 ไซนุดดีน นูรุดดิน อดีตประธานสมาคมฟุตบอลสิงคโปร์ เคยจุดประเด็นในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่จะผลักดันให้ชาติในอาเซียนร่วมกันเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก จากนั้นในปี 2013 นอร์ดีน และ ดาโต๊ะ มูฮัมเหม็ด ไฟซอล ฮัสซัน ประธานโอลิมปิกพิเศษของมาเลเซีย ได้นำไอเดียนี้มาปัดฝุ่นอีกครั้ง ก่อนที่มาเลเซียจะถอนตัวไป หลังจากสำรวจและวิจัยแล้วผลออกมาไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามปีเดียวกันนั้นเอง ในการประชุมคณะกรรมการสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน ครั้งที่ 12 ได้มีการประกาศให้สมาคมกีฬาฟุตบอลอินโดนีเซียและสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เป็นตัวแทนของภูมิภาค ในการยื่นข้อเสนอขอเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกร่วมกันในปี 2034
ซึ่งในครั้งนั้นอินโดนีเซียได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ขณะที่ฝั่งไทยโครงการดังกล่าวมีอันต้องถูกพับไป โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาในขณะนั้น ออกมาให้สัมภาษณ์ไปในแนวทางที่ไม่เห็นด้วย และกล่าวว่าควรจะพัฒนาทีมชาติมากกว่าให้ความสนใจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ
จนกระทั่งกลางปี 2019 ในช่วงหนึ่งของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พูดถึงความร่วมมือกันอีกครั้งในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ “ฟุตบอลโลก 2034” ถึงแม้จะไม่ใช่ทุกประเทศในอาเซียน แต่บรรดาชาติสมาชิกก็ถือเป็น “วาระแห่งภูมิภาค” ที่จะร่วมมือกันเพื่อทำให้เกิดขึ้น
นี่จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
จากข้อมูลของ FAThailand เมื่อรัฐบาลของแต่ละประเทศให้การสนับสนุน สิ่งที่จะดำเนินในขั้นตอนต่อไปก็คือ แจ้งความจำนงต่อสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) เนื่องจากการขอจัด “ฟุตบอลโลก” เป็นไปในฐานะตัวแทนของทวีป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากเอเอฟซีและเพื่อนร่วมทวีปด้วยกัน
.
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการส่งเอกสารให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) พิจารณา ซึ่งหนึ่งในเอกสารที่สำคัญคือ จดหมายการันตีและปฏิญญาจากภาครัฐ เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนการยื่นขอเป็นเจ้าภาพ เช่นเดียวกับเอกสารยินยอมในการเป็นเจ้าภาพจากรัฐบาล, เอกสารยินยอมจากเมืองที่จะใช้จัดการแข่งขัน, เอกสารยินยอมให้ใช้สนาม, เอกสารยินยอมให้ใช้สนามซ้อม, ถ้อยแถลงทางกฎหมาย, ความเห็นทางกฎหมาย, ข้อตกลงด้านสิทธิ์การขายตั๋ว, ข้อตกลงด้านสิทธิ์ในที่พัก
นอกจากนี้ยังต้องส่งเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ในการขอเป็นเจ้าภาพ รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและแรงงาน เช่นเดียวกับข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับประเทศ, เมืองที่จัด, แผนที่ของเมืองที่จะใช้จัด, ข้อมูลด้านกีฬา, สนามแข่ง, สนามซ้อม, สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์, ด้านการรักษาความปลอดภัย, โรงแรม, การเดินทางระหว่างเมือง, การเดินทางภายในเมือง, สภาพการเงินโดยรวม, การพัฒนา และกฎหมายโดยรวม
นี่จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ (ขอย้ำอีกครั้ง)
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยได้มีหนังสือคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการเสนอตัวร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี ค.ศ. 2034 ขึ้น หลังจากได้ไฟเขียวจากคณะรัฐมนตรี โดยมีปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธาน
แน่นอนว่ามีความคิดเห็นแตกต่างและตั้งคำถามมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “คุ้มหรือไม่?”
ถ้าจะบอก “ข้อดี” แน่นอนว่าการเป็นเจ้าภาพจะได้กำไรในเรื่องภาพลักษณ์ การโปรโมท ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเจริญเติบโตให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ส่วนรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการวางแผนการตลาดอย่างชาญฉลาดและมืออาชีพ
ส่วน “ข้อเสีย” อย่างแรกคือ ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการเตรียมความพร้อมทุกๆ ด้าน
เอาเฉพาะแค่เรื่อง “สนามแข่งขัน” ต้องผ่านมาตรฐานตามที่ “ฟีฟ่า” กำหนดไว้ 3 ข้อคือ 1. สนามความจุ 80,000 ที่นั่ง 1 สนาม สำหรับพิธีเปิดและรอบชิงชนะเลิศ, 2. สนามความจุ 60,000 ที่นั่ง 2 สนาม สำหรับรอบรองชนะเลิศ และ 3. สนามความจุ 40,000 ที่นั่ง 10 สนาม สำหรับรอบอื่นๆ ที่สำคัญ ทุกสนามจะต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ดี มีการคมนาคมที่สะดวกจนทำให้ฟีฟ่ามั่นใจได้ว่าประเทศนี้เหมาะสมจะเป็นเจ้าภาพ
ย้อนกลับมามองดูบ้านเรา ตอนนี้สนามแข่งขันที่จุแฟนบอลได้มากที่สุดคือ ราชมังคลากีฬาสถาน ประมาณ 51,000 กว่าที่นั่ง นี่ยังไม่พูดถึงมาตรการความปลอดภัย และเรื่องของระบบขนส่งคมนาคม นั่นหมายความว่า เราจะต้องลงทุนสร้างสนามใหม่ หรือต่อเติมที่มีอยู่ให้ได้ตามมาตรฐานฟีฟ่า รวมไปถึงการพัฒนาและปรับปรุงเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
จากข้อมูลของ Commerzbank ธนาคารยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมัน ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในช่วงที่ผ่านมา ให้ความเห็นว่า การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกอาจจะไม่ได้ส่งผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศมากอย่างที่เข้าใจกัน
บทเรียนที่แสนเจ็บปวดของบราซิลในการเป็นเจ้าภาพ “ฟุตบอลโลก 2014” ยังถูกจารึกในประวัติศาสตร์ เมื่อเศรษฐกิจในปีที่จัดการแข่งขันแทบจะไม่ขยายตัว แถมทวีความเกลียดชังของประชาชนในประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณเกินตัวของรัฐบาล ทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะเปราะบาง
หรือฟุตบอลโลกครั้งล่าสุดในปี 2018 ประเทศรัสเซีย มีตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) ทั้งที่พวกเขาสร้างสนามแข่งขันเพิ่มเพียงเล็กน้อย และก็ปรับปรุงสนามที่เหลือให้ดูทันสมัยขึ้น จริงอยู่ “ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง” แต่ก็เป็นการเสี่ยงที่พอจะมองเห็นอนาคตล่วงหน้าแล้วว่า “คุ้มหรือไม่?” สำหรับฝันของประเทศไทยในการร่วมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเวอร์ชั่นอาเซียน แม้จะมีหลายคนมองว่า หากยอมแพ้แต่ต้น ไม่ลงมือทำกันดูสักตั้ง ก็คงเป็นแค่ “เรื่องเพ้อฝัน” ไปตลอดกาล
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม