Link Copied!

ก้าวย่างที่สร้างประวัติศาสตร์ของ จูลี มอสส์ นักไตรกีฬาหญิง

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1982 ตอนนั้นการแข่งขัน “ไตรกีฬา” ซึ่งประกอบด้วยกีฬา 3 ชนิด ได้แก่ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเฉพาะในคนกลุ่มเล็กๆ วีรกรรมอันน่ายกย่องของนักไตรกีฬาหญิงคนหนึ่งได้สร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลก อีกทั้งยังมีส่วนสนับสนุนให้ผู้คนรู้จักกับกีฬาคนเหล็กมากขึ้น

1

ก้าวย่างของ จูลี มอสส์ (Julie Moss) นักไตรกีฬาหญิงชาวอเมริกันไม่ใช่การวิ่งเข้าสู่เส้นชัยเป็นอันดับหนึ่ง หากแต่คือการล้มแล้วลุกขึ้นยืนใหม่  

แม้จะไม่ได้รับการจารึกว่าเป็นยอดมนุษย์ผู้พิชิตระยะทางยาวไกลมากกว่า 200 กิโลเมตรได้เร็วกว่าใคร

แต่สิ่งที่โลกต้องจดจำคือการที่เธอกัดฟันพาตัวเองเข้าสู่เส้นชัย แม้ร่างกายจะอยู่ในสภาพล้มทั้งยืน

2

ย้อนเวลากลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี ค.ศ. 1904 ได้บรรจุการแข่งขันที่เรียกว่า “triathlon” หรือ “ไตรกีฬา” ประกอบด้วย กระโดดไกล ทุ่มน้ำหนัก และวิ่งระยะสั้น การแข่งขันไตรกีฬาในยุคแรกๆ นั้นยังมีการเปลี่ยนชนิดกีฬามาเป็นวิ่ง ขี่จักรยาน และพายเรือแคนนู

กว่าจะเข้าสู่ยุคของไตรกีฬาสมัยใหม่ที่เรียงลำดับการแข่งขันก่อนจะเข้าสู่เส้นชัยด้วยว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง ก็ต้องรอถึงวันที่ 25 กันยายน 1974 ที่มีการจัดแข่งขันไตรกีฬาขึ้น ณ อ่าวมิสชั่น รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงนั้นเองหนังสือพิมพ์ the San Diego Track Club ได้พาดหัวข่าวด้วยข้อความว่า “Run, Cycle, Swim Triathlon set for 25th” อันถือเป็นการนำคำว่า “Triathlon” มาใช้ในการแข่งขันไตรกีฬายุคสมัยใหม่เป็นครั้งแรก

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน จอห์น คอลลินส์ (John Collins) นายทหารเรือชาวอเมริกันซึ่งชอบเล่นกีฬาและหลงรักการใช้ชีวิตกลางแจ้งเป็นชีวิตจิตใจ คิดว่าคงเป็นเรื่องวิเศษหากสามารถนำกีฬากลางแจ้งที่เขารักทั้งสามชนิดมาจัดการแข่งขันด้วยระยะทางไกลเป็นพิเศษ ในปี ค.ศ. 1978 คอลลินส์จึงริเริ่มจัดการแข่งขันไตรกีฬาขึ้นที่หมู่เกาะฮาวาย ตั้งชื่อการแข่งขันว่า “Iron Man Triathlon” หรือ “คนเหล็กไตรกีฬา”

ลำดับการแข่งขันไตรกีฬาระยะไอรอนแมนแบ่งออกเป็นว่ายน้ำระยะทาง 2.4 ไมล์ (ประมาณ 3.8 กิโลเมตร) ขี่จักรยาน 112 ไมล์ (ประมาณ 180 กิโลเมตร) และวิ่ง 26.2 ไมล์ (ประมาณ 42.195 กิโลเมตร เทียบเท่าระยะมาราธอน) การแข่งขันครั้งแรกมีผู้เข้าร่วม 15 คน เข้าถึงเส้นชัย 12 คน โดยนักกีฬาได้รับรางวัลคือเบียร์

ปีต่อมาผู้ร่วมแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็นร้อยกว่าคน แม้จะมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น แต่โดยรวมแล้วก็ยังจำกัดอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงของคนกลุ่มเล็กๆ

3

กระทั่งปี ค.ศ. 1982 ก้าวย่างอันสำคัญของการแข่งขันไตรกีฬาได้ถูกจารึกด้วยจิตวิญญาณของสุภาพสตรีคนหนึ่งที่จับพลัดจับผลูมาเข้าร่วมการแข่งขัน เธอมีชื่อว่า จูลี มอสส์ (Julie Moss) นักศึกษาชาวอเมริกันวัย 24 ปี

มอสส์เข้าร่วมการแข่งขันไตรกีฬาระยะไอรอนแมนที่หมู่เกาะฮาวายเพื่อเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์เรื่องสรีรวิทยาเกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เธอต้องทำส่งอาจารย์

แม้จะเข้าร่วมเพื่อเก็บข้อมูลทางการศึกษา แต่เมื่อก้าวลงสู่สนามแล้วมอสส์กลับทำผลงานได้ดีอย่างเหลือเชื่อ ในช่วงวิ่งซึ่งเป็นช่วงที่สามก่อนเข้าสู่เส้นชัยเธอขึ้นนำเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างคู่แข่งหลายช่วงตัวกระทั่งเข้าสู่ช่วง 2 ไมล์สุดท้าย การคว้าชัยชนะเหมือนจะง่าย เป็นหนังม้วนเดียวจบ แต่แล้วก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน…

4

โค้งสุดท้ายของการแข่งขัน ใกล้ถึงช่วงที่นักไตรกีฬาจะวิ่งเข้าสู่เส้นชัย ท้องฟ้าเปลี่ยนผ่านจากช่วงกลางวันเป็นกลางคืน รอบด้านมืดสนิท ทันใดนั้นเองร่างของมอสส์ได้ทรุดฮวบลงกับพื้น สาเหตุหนึ่งเกิดจากภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ทำให้เธอไม่สามารถยืนทรงตัวและออกวิ่งได้ตามปรกติเหมือนช่วงที่ผ่านมา

ตามปรกติแล้วเมื่อถึงช่วงที่นักไตรกีฬาใกล้เข้าสู่เส้นชัย จะมีกองเชียร์ยืนเรียงรายสองข้างทางเพื่อให้กำลังใจและร่วมแสดงความยินดีกับนักกีฬา การแข่งขันครั้งนี้ก็เช่นกัน มีกองเชียร์จำนวนมากเฝ้ารอชมผลการแข่งขันชนิดเกาะติดริมสนาม

แต่แล้วการล้มลงของผู้นำที่คาดว่าจะคว้าแชมป์ก็ได้สร้างความตกตะลึงให้ทุกคน สิ่งที่สายตาทุกคู่มองเห็นคือภาพของมอสส์ล้ม ลุก และคลุกคลาน ถึงแม้จะพยายามลุกขึ้นยืนด้วยตัวเอง ออกเดินกระย่องกระแย่ง ออกวิ่งอย่างโซซัดโซเซ แต่แล้วก็ล้มลงบนพื้นอีกครั้ง เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงโค้งสุดท้าย

เวลาผ่านไปจนกระทั่ง แคทลีน แมคคาร์ทนีย์ (Kathleen Mccartney) นักไตรกีฬาหญิงจอมพลังที่วิ่งไล่ตามมาห่างๆ ตามมาทันและปาดหน้ามอสส์เข้าสู่เส้นชัย

หลายคนคิดว่ามอสส์อาจตัดสินใจออกจากการแข่งขัน อาการที่เกิดขึ้นยังทำให้เจ้าหน้าที่พยาบาลต้องเฝ้าดูเธออย่างใกล้ชิด บางครั้งก็เข้าไปช่วยประคอง แต่เธอไม่ยอมจำนน พยายามทำทุกวิถีทาง ทั้งเดิน วิ่ง และคลานบนถนน จนเข้าสู่เส้นชัย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องและปรบมือดังกึงก้องจากกองเชียร์

ภาพแห่งความเพียรพยายาม อาศัยความเข้มแข็งของจิตใจนำหน้าอุปสรรคทางกาย นอกจะปรากฏต่อสายตากองเชียร์ที่หมู่เกาะฮาวายแล้วยังได้รับการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ผ่านไปยังผู้ชมทั่วโลก 

บทสรุปของการแข่งขันถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าตามรายการข่าวกีฬา ทำให้การแข่งขันไตรกีฬาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกีฬาคนอึดถูกจุดกระแสให้ได้รับความสนใจเพิ่มมาขึ้นอีกหลายเท่าตัวในการแข่งขันปีต่อๆ มา

ทั้งหมดคือเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ และทำให้การแข่งขันไตรกีฬากลายเป็นกีฬายอดนิยมของชาวอเมริกันและคนทั่วโลก

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares