วันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมาสมาคมบาสเกตบอลประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศรายชื่อนักกีฬาชาย หญิง โค้ช ตลอดจนผู้บริหารทีมบาสเกตบอลทั้งในระดับอาชีพและมหาวิทยาลัย เพื่อยกย่องและประดับชื่อในหอเกียรติยศบาสเกตบอลไนสมิท (Naismith Basketball Hall of Fame) ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของคนในวงการบาสเกตบอล
และก็เป็นไปตามคาดที่ โคบี ไบรอันท์ ผู้ล่วงลับก่อนวัยอันควร จะได้รับการเสนอชื่อในปีนี้ร่วมกับ ทิม ดันแคน เซ็นเตอร์ผู้สร้างตำนานกับซานอันโตนิโอ สเปอร์ส และ เควิน การ์เน็ตต์ พาวเวอร์ฟอร์เวิร์ดของ มินนิโซตา ทิมเบอร์วูล์ฟส์ และ บอสตัน เซลติกส์ ในส่วนของนักบาสเกตบอลหญิงนั้นในปีนี้ ทามิกา แคชชิงส์ ผู้เล่นออลสตาร์ 10 สมัย และเจ้าของ 4 เหรียญทองโอลิมปิก ก็ถูกเสนอชื่อเข้าหอเกียรติยศเช่นกัน
สำหรับปีนี้สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากเรื่องที่ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้เล่นซึ่งเข้าสู่ลีกตั้งแต่จบมัธยมทั้งไบรอันท์และการ์เน็ตต์จะได้รับการเสนอชื่อเข้าหอเกียรติยศพร้อมกันแล้ว อีกสิ่งที่ทั้งน่าสนใจและชื่นชมคือนักบาสเกตบอลทั้ง 4 คนนี้ ล้วนแต่รับใช้ชาติและได้เหรียญโอลิมปิกกันทุกคน
หากท่านผู้อ่านติดตามเรื่องราวของไบรอันท์ก็จะทราบว่าเขายินดีรับใช้ชาติติดต่อกัน 2 ครั้งในโอลิมปิกปี 2008 และ 2012 ทั้งที่โค้ช ฟิล แจ็คสัน เตือนเขาเรื่องความเสี่ยงที่ระยะเวลาในการเล่นอาชีพจะสั้นลงก็ตาม เพราะการกรำศึกในลีกที่หินที่สุดในโลกแบบ NBA แล้วสู้ศึกต่อเนื่องในทัวร์นาเมนต์ที่รวมยอดฝีมือของทั้งโลกมาฟาดฟันกันแบบในโอลิมปิก มันจะหนักหนาเกินไปสำหรับร่างกาย แต่ไบรอันท์ก็ไม่เคยปฏิเสธการรับใช้ชาติ
แต่ถ้าเทียบกับ ทามิกา แคชชิงส์ แล้วนักบาสหญิงใจใหญ่คนนี้กลับเสี่ยงมากกว่าไบรอันท์ตั้งเท่าตัวเพราะลงเล่นโอลิมปิกถึง 4 ครั้ง
ส่วน เควิน การ์เน็ตต์ นั้นนำเหรียญทองจากทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์ทวีปอเมริกาในปี 1999 และโอลิมปิกปี 2000 กลับมาฝากแฟนบาสอเมริกัน
ในกรณีของดันแคน แม้โดยรากเหง้าแล้วจะเป็นชาวหมู่เกาะเวอร์จิน ไอส์แลนด์ แต่เมื่อได้รับโอกาสในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยและเข้าสู่ลีก NBA ก็ตัดสินใจเลือกเล่นให้ทีมชาติสหรัฐอเมริกา ลงเล่นทัวร์นาเมนต์นานาชาติตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย และลงเล่นต่อเนื่องเมื่อเข้าลีกแล้ว โดยเขาอยู่ในชุดแชมป์ทวีปอเมริกาในปี 1999 และ 2003 และอยู่ในชุดเหรียญทองแดงโอลิมปิกปี 2004
นักบาสเกตบอลทั้งสี่คนนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในอาชีพของตนเอง แต่ก็ไม่เคยหันหลังให้ทีมชาติเมื่อถูกร้องขอ
“อย่าถามว่าประเทศจะให้อะไรคุณ แต่จงถามว่าคุณจะทำอะไรให้ประเทศ”
การมีชื่อในหอเกียรติยศนั้น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Enshrined ที่น่าจะแปลเป็นไทยในทำนองว่า “จารึกไว้ในแผ่นดิน” เหตุผลที่คำนี้ถูกเลือกใช้ก็ด้วยความเชื่อที่ว่า ผู้คนคือแผ่นดิน
🏀🏀🏀
ในปี 2004 ปีเดียวกับที่ ทิม ดันแคน ลงแข่งโอลิมปิกแล้วได้เพียงเหรียญทองแดง จนเป็นเหตุให้โคบีและ เลบรอน เจมส์ ต้องร่วมกันสร้างทีมชาติชุดเอาคืนเหรียญทอง หรือ Redeem (Gold Medal) นั้น ประเทศไทยมีภาพยนตร์แห่งสยามประเทศเรื่องหนึ่งเข้าฉาย ภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ โหมโรง
ภาพยนตร์ภายใต้การกำกับการแสดงของคุณอิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ เข้าฉายวันแรกในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ออกตัวได้ไม่ใคร่ดีนัก แต่เมื่อกระแสชื่นชมปากต่อปากกระจายออกไป ภาพยนตร์ก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม
แม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจจะเป็นหนังที่ทำรายได้เพียงในระดับกว่า 50 ล้านบาท น้อยกว่าหนังตลกพิมพ์นิยมที่รายได้เป็นหลักร้อยล้าน แต่ก็ได้รับความชื่นชมและรางวัลมากมายจากหลายสถาบัน ที่สำคัญกว่านั้น ในเชิงผลกระทบต่อสังคม ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยโยนกีตาร์ไฟฟ้าทิ้งแล้วหันมาโซโลระนาดแทน
หนังเล่าเรื่องเกี่ยวกับประวัติของหลวงประดิษฐไพเราะ หรือ นายศร ศิลปบรรเลง หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ครูศร” ครูดนตรีไทยผู้มีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ที่มีชีวิตในช่วงสงครามโลก
ช่วงที่ประเทศเปิดรับวัฒนธรรมจากสากล
ช่วงที่ประเทศเริ่มรณรงค์เรื่องความเป็นอารยะ
ช่วงที่ประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ช่วงที่ประเทศมีข้อขัดแย้งทางความคิดมากมาย
ช่วงที่ประเทศถูกรุกรานในรูปแบบต่างๆ
และช่วงที่ประเทศหมิ่นเหม่ต่อการเสียเอกราช
ในประดาฉากดีๆ จำนวนมากที่ปรากฏในหนังนั้น มีอยู่ 2 ฉากที่ทรงพลังและอยู่ในความทรงจำของผมอย่างแจ่มชัด
ฉากแรก…คือฉากที่คุณประสิทธิ์ลูกชายของครูศรเอาเปียโนเข้ามาตั้งในบ้าน สร้างความฉงนสนเท่ห์ใจให้กับพ่อครูเป็นอย่างยิ่ง ครูศรบอกให้ลูกชายลองเล่นให้ฟัง แม้ว่าตอนแรกจะบ่ายเบี่ยงเพราะเกรงว่าเปียโนยังไม่ได้ตั้งสายเทียบเสียงเลย แต่ลูกชายก็ยอมนั่งลงบรรเลงเพลง My Blue Heaven ให้ครูศรได้ฟัง
ท่านครูยืนฟังสักครู่แล้วบอกให้หยุด ก่อนที่จะเดินไปที่ระนาด แล้วบอกให้ลูกชายเล่นเพลงเดิมอีกครั้ง
แต่ครานี้ท่านครูเล่นระนาดเพลงลาวดวงเดือนล้อไปด้วย กลายเป็นบทเพลงฟิวชั่นแสนไพเราะที่นำเอาของโบราณ (ดนตรีไทย) ในความคิดคำนึงของคนหนุ่มของสมัยนั้น ผสมผสานกับความเป็นอารยะสากล (เปียโน) อย่างลงตัว และสื่อสารกับคนดูอย่างชัดเจนว่า ต่างกันแค่ไหนก็อยู่ร่วมกันได้ และอยู่ร่วมกันได้ดีเสียด้วย
อีกฉากหนึ่ง…คือฉากที่พันโทวีระ ซึ่งแสดงโดยคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง นั่งลงถกทรรศนะเรื่องการพัฒนาประเทศอย่างเข้มข้นกับท่านครู
ฝั่งท่านผู้พันซึ่งเป็นตัวแทนของการมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ เชื่อมั่นในวิถีทางเชื่อท่านผู้นำเพื่อนำประเทศให้พ้นภัย ผู้มุ่งมั่นในการรณรงค์เลิกสิ่งล้าสมัยเช่นดนตรีไทย จนถึงกับตรากฎหมายจำกัดการเล่นดนตรีไทย สร้างความเดือดร้อนให้คนดนตรีและนาฏศิลป์ไทยเป็นอย่างมาก พยายามจะโน้มน้าวท่านครูให้เคารพเชื่อฟังรัฐบาล เพราะหากท่านครูผู้เป็นที่เคารพนับถือในแวดวงดนตรีไทยคล้อยตามแล้ว การจะให้คนดนตรีไทยที่เหลือปฏิบัติตามก็ย่อมไม่ยาก
แต่ท่านผู้พันก็ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะท่านครูไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง…
ไม่ใช่เพราะท่านคิดว่าดนตรีไทยไม่ล้าสมัย
ไม่ใช่เพราะท่านคิดว่าดนตรีไทยเป็นสิ่งที่ท่านรัก
ไม่ใช่เพราะท่านกลัวความเดือดร้อนที่จะเกิดกับคนดนตรีไทย
ไม่ใช่เพราะท่านต้องการต่อต้านทางความคิด
และก็ไม่ใช่เพราะว่าท่านไม่เห็นด้วยกับครรลองการพัฒนาประเทศ
แต่เป็นเพราะว่า
ท่านเชื่อว่าดนตรีและวัฒนธรรมเป็นรากของประเทศ
ท่านเชื่อว่าของโบราณเป็นพื้นฐานของสิ่งสมัยใหม่
ท่านเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องล้มล้างของเดิมเสียทั้งหมดเพื่อสร้างของใหม่
ท่านไม่เชื่อว่าประเทศจะพัฒนาไปได้หากครรลองการพัฒนาลืมรากฐานของตนเอง
ท่านสงสัยว่าคนจะเติบโตเติบใหญ่ไปได้อย่างไรหากลืมรากของตนเอง
เพราะประเทศไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน
⚽️⚽️⚽️
ชัยชนะของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ สร้างรอยยิ้มให้คนไทยจำนวนไม่น้อย ทั้งๆ ที่หลายคนไม่ใช่แฟนบอลทีมนี้ แต่เป็นความยินดีที่คนเก่งคนไทยไปสร้างความสุขอย่างล้นเหลือให้คนในเมืองเล็กๆ ในอังกฤษได้
หากท่านได้มีโอกาสฟังผู้บรรยายภาษาอังกฤษแสดงความชื่นชมประธานสโมสรชาวไทย ท่านจะทราบว่ามีคำสำคัญที่ผู้บรรยายเน้นเกี่ยวกับความสำเร็จของผู้บริหารชาวไทย
อย่างแรกคือ รากฐาน ซึ่งหมายรวมถึงทั้งการวางรากฐานทักษะนักฟุตบอล โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในอะคาเดมีของสโมสร และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการให้ความสำคัญกับความรู้สึกของท้องถิ่นและผู้คนในเมือง เพราะประวัติศาสตร์นั้นบ่งชัดว่ากีฬาเกิดจากคนในท้องถิ่นเพื่อคนในพื้นถิ่นนั้น
อย่างที่สองคือ สร้างให้คนที่เกี่ยวข้องกับสโมสรให้ความสำคัญและมุ่งเน้นเป้าหมายเดียวกัน (Alignment) เพราะเมื่อมุ่งมั่นเรื่องเดียวกัน คิดไปในทางเดียวกัน พลังอันเกิดจากโฟกัสก็เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
สุดท้ายคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือคำว่า Trust ภาพที่เห็นจากการถ่ายทอดสดบ่งบอกความจริงโดยไม่ต้องบรรยายในความเชื่อใจของทีมและกองเชียร์ที่มีต่อคุณวิชัย ความสนิทชิดเชื้อของประธานสโมสร นักเตะ และสตาฟโค้ช
แม้ความสำเร็จจะเกิดที่อังกฤษ แต่เรื่องราวของผู้บริหารบริษัทคิงส์พาวเวอร์ และสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ มีข้อคิดดีๆ ให้กับคนไทยเช่นกันนะครับ
👤👤👤
เราขาดอะไรไปหรือครับ ไม่ว่าจะเป็นรากฐานประเทศ ความคิดในทิศทางเดียวกัน หรือความไว้เนื้อเชื่อใจ จึงมีกระแสอยากย้ายประเทศเกิดขึ้น เรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศก็ควรฉุกคิดเหมือนกันนะครับ เพราะเสียงของคนรุ่นหลังก็เป็นเสียงของประชาชน
แต่สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่าทุกคนหรือไม่ก็ส่วนใหญ่จะช่วยกันนำพาประเทศผ่านไปได้อย่างแน่นอนครับ เพราะประเทศเราก็ผ่านข้อขัดแย้งทั้งภายในและภายนอกมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสมัยท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ หรือในปัจจุบัน
ประเทศเรามีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์อยู่อย่างหนึ่งนะครับ คือเราคงความเป็นเอกราชไม่ต้องเป็นอาณานิคมของใคร ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็น่าจะเป็นเพราะผู้คนของเราต้องมีความรักในประเทศเป็นอย่างมากมาตลอดนะครับ
ผมเคยมีโอกาสดีครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้รับฟังความเห็นของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งล่วงลับไปแล้ว หากท่านมีชีวิตอยู่ในวันนี้ ท่านก็จะมีอายุ 100 ปีพอดีเลยครับ ท่านพูดเกี่ยวกับความเก่งกาจอย่างหาตัวจับได้ยากของคนไทยไว้น่าฟังทีเดียว
ท่านกล่าวไว้ว่า คนไทยเรามีความสามารถที่น่าชื่นชมอยู่อย่างหนึ่ง และความสามารถที่น่าประหลาดใจอีกหนึ่งอย่าง
ที่น่าชื่นชมคือ “ไม่ว่าประเทศชาติจะมีวิกฤติแบบไหน อย่างไร คนไทยเราก็จะร่วมมือกันผ่านมันไปได้”
ส่วนความสามารถที่น่าประหลาดใจก็คือ “เวลาที่ไม่มีภัยจากภายนอก คนไทยเรามีความสามารถในการสร้างวิกฤติให้ประเทศตัวเองได้เช่นกัน”
ครั้งนั้นผมเรียนถามท่านกลับไปว่า แล้วไอ้ความสามารถอันหลังนี่มีประโยชน์อะไรครับ
ท่านตอบมาว่า “ก็เพื่อให้เราได้งัดเอาความสามารถอันแรกมาใช้ไงคุณ!!!”
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม