เหลืออีกหนึ่งวันเท่านั้น มหกรรมลูกหนังโลก “เวิลด์ คัพ 2022” ที่กาตาร์ จะอุบัติขึ้น วันนี้ Playnowthailand จะพาไปวิเคราะห์เจาะลึกอีก 4 ทีมใน “กลุ่มเอฟ” ว่า ทีมใดมีโอกาสเข้ารอบมากกว่ากัน?
เบลเยียม
“ปีศาจแดงแห่งยุโรป” เข้ามาเล่น ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายเป็นครั้งที่ 14 ซึ่งผลงานดีที่สุดของพวกเขาเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อนที่รัสเซีย หลังจากทะลุเข้าถึงรอบรองฯ และพ่ายต่อ ฝรั่งเศส 0-1 ก่อนจะไปอัด อังกฤษ 2-0 ในนัดชิงอันดับ 3 สำหรับเวิลด์คัพครั้งนี้ เบลเยียม คว้าตั๋วมาลุยกาตาร์ ด้วยการครองแชมป์กลุ่มบี โซนยุโรป ด้วยผลงาน ชนะ 6 เสมอ 2 ไม่แพ้ใคร ภายใต้การนำของ โรแบร์โต มาร์ติเนซ กุนซือชาวสเปน วัย 49 ปี ซึ่งคุมทีมมาตั้งแต่ 2016 และเคยพา เบลเยียม ขึ้นเบอร์ 1 “ฟีฟ่า แรงกิง” มานานนับปี ก่อนที่ล่าสุดจะหล่นมาอยู่อันดับ 2 เป็นรองเพียง บราซิล ทีมเดียวเท่านั้น ส่วนขุมกำลังชุดนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้เล่นจากชุดอันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2018 ไม่ว่าจะเป็น ธิโบต์ กูร์ตัวส์, แยน แฟร์ตองเกน, โทบี อัลเดอไวเรลด์, อักเซล วิตเซล, โตมาส์ มูนิเยร์, ยูริ ตีเลอมองส์, ยานนิค คาร์ราสโก, เอเดน-ธอร์ก็อง อาซาร์, มิชี่ บัตชัวยี่, โรเมลู ลูกากู และสุดยอดเพลย์เมกเกอร์ตัวท็อปของวงการ เควิน เดอ บรอยน์ ซึ่งดูจากชื่อชั้นแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับการคว้าตั๋วเข้ารอบ แต่จะไปได้ไกลแค่ไกล คงต้องลุ้นกัน
แคนาดา
ขุนพล “เมเปิลแดง” ผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายได้เป็นสมัยที่ 2 เท่านั้น หลังจากครั้งแรกต้องย้อนไปไกลถึงปี 1986 หรือเมื่อ 36 ปีที่แล้ว ซึ่งคราวนั้น แคนาดา จอดป้ายแค่รอบแบ่งกลุ่มด้วยผลงานแพ้รวดทั้ง 3 นัด และยิงประตูใครไม่ได้เลย ส่วนฟุตบอลโลกครั้งนี้ แคนาดา สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการคว้า “แชมป์” ของโซนคอนคาเคฟ เหนือสองทีมเต็งอย่าง เม็กซิโก และ สหรัฐฯ ที่จบเป็นอันดับ 2 และ 3 แสดงให้เห็นว่า ทัพนักเตะแคนาดาชุดนี้ไม่ธรรมดา ภายใต้การนำโดย จอ์หน เฮิร์ดแมน กุนซือชาวอังกฤษ วัย 47 ปี โดยมีขุมกำลังที่เล่นอยู่ในประเทศ บวกกับดาวเด่นที่ออกไปค้าแข้งในลีกยุโรป เช่น สเตฟาน ยูสตาเกียว (ปอร์โต), โจนาธาน เดวิด (ลีลล์), จูเนียร์ ฮอยเลตต์ (เรดดิง), ทาจอน บูคานาน (คลับ บรูช), อติบา ฮัทชินสัน มิดฟิลด์กัปตันทีมจอมเก๋าจาก เบซิคตัส และที่ฟอร์มกำลังโดดเด่นคือ อัลฟอนโซ เดวิส ดาวรุ่งวัย 21 ปีจากบาเยิร์น มิวนิค อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แคนาดา เป็นรองคู่แข่งทั้งในเรื่องของศักยภาพทีม และประสบการณ์ในเวทีฟุตบอลโลก จึงมีโอกาสสูงที่พวกเขาจะยุติเส้นทางไว้เพียงแค่รอบแรกเท่านั้น
โมร็อกโก
“สิงโตแอตลาส” ผ่านเวทีฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายมาแล้ว 5 ครั้งในปี 1970, 1986, 1994, 1998 และ 2018 โดยผลงานดีที่สุดคือการเข้ารอบสอง หรือ 16 ทีมสุดท้ายในปี 1986 ส่วนครั้งอื่น ๆ จอดป้ายที่รอบแรกเท่านั้น ส่วนเส้นทางสู่เวิลด์คัพสมัยที่ 6 โมร็อกโก เริ่มจากการคว้าแชมป์กลุ่มในรอบคัดเลือก รอบสอง โซนแอฟริกา โดยเป็นทีมเดียวที่ชนะ 6 นัดรวด ก่อนจะปราบ ดีอาร์ คองโก ด้วยสกอร์รวม 5-2 ในรอบรอบสาม กระชากตั๋วบินไปโชว์ฝีเท้าที่กาตาร์ได้สำเร็จ ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับกุนซือ วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช แต่เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สหพันธ์ฟุตบอลโมร็อกโก ตัดสินใจปลดเฮดโค้ชชาวบอสเนียรายนี้ และแต่งตั้ง วาลิด เรกรากี กุนซือวัย 46 ปี เข้ามาคุมแทน ขณะที่ขุมกำลังของโมร็อกโกถือว่าไม่ธรรมดา โดยมีผู้เล่นหลายคนที่ฝังตัวอยู่กับสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรป อาทิ โรแม็ง ซาอิสส์ (เบซิคตัส), นูสแซร์ มาซราอุย (บาเยิร์น มิวนิค), ซอฟยาน อัมราบัต (ฟิออเรนตินา), ยูสเซฟ เอ็น-เนซีรี (เซบียา), นาเยฟ อเกิร์ด (เวสต์แฮม) และ อาชราฟ ฮาคิมี่ (ปารีส แซงต์-แชร์กแมง) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลของโมร็อกโก คือการเปลี่ยนตัวกุนซือก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้นแค่ 3 เดือน ซึ่งไม่รู้ว่าเฮดโค้ชคนใหม่จะปรับจูนและวางแทคติกให้กับทีมได้ดีมากน้อยแค่ไหนในเงื่อนไขเวลาอันกระชั้นชิดเช่นนี้
โครเอเชีย
นี่คือ “รองแชมป์โลก” เมื่อ 4 ปีก่อนที่รัสเซีย หลังสวมบท “ม้ามืด” ทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้แบบหักปากกาเซียน ถึงแม้ว่าสุดท้ายจะอกหักพ่าย ฝรั่งเศส 2-4 แต่ถือเป็นผลงานดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขาในเวทีเวิลด์คัพ ส่วนฟุตบอลโลก 2022 หนนี้ ทัพนักเตะ “ตาหมากรุก” ผ่านรอบคัดเลือก โซนยุโรป เข้ามาในฐานะแชมป์กลุ่มเอช และเป็นการเข้ามาโชว์ฝีเท้ารอบสุดท้าย เป็นสมัยที่ 6 และยังคงใช้บริการแม่ทัพคนเดิมจากฟุตบอลโลก 2018 นั่นคือ ซลัตโก ดาลิช เฮดโค้ชวัย 55 ปี ที่รู้จักทีมทุกซอกทุกมุม โดยมีขุมกำลังอย่าง โดมากอย วิดา, อิวาน เปริซิช, มาริโอ โบรโซวิช, อันเดร ครามาริช, มาเตโอ โควาซิช, เดยัน ลอฟเรน และที่ขาดไม่ได้คือ ลูกา โมดริช จอมทัพประสบการณ์สูง ถึงแม้อายุจะปาเข้าไป 36 ปีแล้ว แต่เพลย์เมกเกอร์จาก เรอัล มาดริดรายนี้คุณภาพยังคงคับแก้ว ซึ่งถ้าพิจารณาตามเนื้อผ้าแล้ว โครเอเชีย น่าจะเบียดแย่งแชมป์กลุ่มกับ เบลเยียม อย่างสนุกแน่นอน
โปรแกรม ฟุตบอลโลก 2022 กลุ่มเอฟ
23 พ.ย. 65 โมร็อกโก – โครเอเชีย 17.00 น.
24 พ.ย. 65 เบลเยียม – แคนาดา 02.00 น.
27 พ.ย. 65 เบลเยียม – โมร็อกโก 20.00 น.
27 พ.ย. 65 โครเอเชีย – แคนาดา 23.00 น.
1 ธ.ค. 65 โครเอเชีย – เบลเยียม 22.00 น.
1 ธ.ค. 65 แคนาดา – โมร็อกโก 22.00 น.