การให้การสนับสนุนในวงการกีฬามีด้วยกันหลายรูปแบบ และไม่มากก็น้อยจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับศักยภาพ โอกาสประสบความสำเร็จ มูลค่าของแบรนด์ ตลอดจนความนิยมในตัวนักกีฬาและทีมกีฬา เพราะนี่คือโอกาสในการสร้างรายได้มูลค่ามหาศาลของผู้สนับสนุน
ส่วนใหญ่แล้วการสนับสนุนมักจะมาเมื่อนักกีฬาประสบความสำเร็จ หรือได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชมกีฬาถึงจุดที่ผู้สนับสนุนสามารถใช้ประโยชน์จากตัวนักกีฬาในเชิงพาณิชย์ สร้างพื้นฐานความสัมพันธ์แบบ “เงินต่อเงิน” ระหว่างความสำเร็จในกีฬาและค่าตอบแทน
จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นความเหลื่อมล้ำในวงการกีฬาอาชีพ ลีกการแข่งขันที่ใหญ่และเป็นที่นิยมเช่นพรีเมียร์ลีก หรือบาสเกตบอลเอ็นบีเอ ซึ่งมีความสามารถในการสร้างรายได้มหาศาล จึงมีทุนทรัพย์ในการพัฒนานักกีฬาและทีมกีฬาที่ดีกว่า สร้างเกมการแข่งขันที่สนุกตื่นเต้นเป็นที่นิยมมากกว่า ก็ยิ่งสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ที่สูงขึ้น เกิดเป็นวงจรเชิงบวกต่อยอดได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนลีกหรือทัวร์นาเมนท์กีฬาที่ไม่ได้รับความนิยมนั้น ชะตากรรมก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม แถมบางครั้งกลายเป็นแหล่งปั้นนักกีฬาดาวรุ่งส่งต่อให้ลีกที่ใหญ่กว่า
สำหรับวงการกีฬาพารานั้น ไม่เพียงแต่จะอยู่ในกลุ่มทัวร์นาเมนท์ที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรแต่ยังอาจจะเป็นทัวร์นาเมนท์ที่คนมองข้ามคุณค่าและแรงบันดาลใจที่ได้จากการแข่งขันของนักกีฬาพารา มูลค่าเชิงพาณิชย์ของกีฬาพาราจึงมีน้อย ผู้ที่เข้ามาสนับสนุนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้น้ำหนักในการสนับสนุนงบประมาณมากนัก
ส่วนในมุมของการพัฒนานักกีฬาพารานั้น นอกเหนือจากที่จะต้องใช้เวลานานกว่านักกีฬาปกติ เพราะลักษณะทางร่างกายที่มีข้อจำกัดแล้ว การพัฒนาด้านจิตใจ ทั้งการสร้างให้เกิดศรัทธาและความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง ตลอดจนการให้กำลังใจระหว่างการฝึกฝน/การแข่งขัน ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้นักกีฬาท้อถอยหมดแรงสู้ไปเสียก่อน
และคงจะไม่เกินความจริงที่จะพูดว่า การสนับสนุนนักกีฬาพารานั้น ต้องใช้ทั้งแรงกาย แรงใจ และทรัพยากรอย่างมหาศาล ในการสร้างและพัฒนานักกีฬาพาราให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ…โดยที่การสนับสนุนทั้งหมดนั้น อาจจะไม่สามารถแปลงเป็นมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้เลย
หากท่านได้มีโอกาสพูดคุยกับนักกีฬาพาราทีมชาติไทยระดับตำนาน ไม่ว่าจะเป็น สายสุนีย์ จ๊ะนะ, ประวัติ วะโฮรัมย์ หรือ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม และได้รับฟังเส้นทางชีวิตนักกีฬาพาราของพวกเขา ท่านจะพบว่า การสนับสนุนที่พวกเขาได้รับนั้นเริ่มตั้งแต่ที่พวกเขาเริ่มเข้าสู่วงการ โดยที่ไม่มีทางจะทราบได้เลยว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในอนาคตหรือไม่
การสนับสนุนที่พวกเขาได้รับนั้นมีตั้งแต่การพัฒนาทักษะเทคนิคในการเล่น การพัฒนาอุปกรณ์ การพัฒนาสภาพจิตใจ การดูแลร่างกาย การให้การยกย่องและรางวัลเมื่อประสบความสำเร็จหรือมีความก้าวหน้าในการแข่งขัน ไปจนถึงการดูแลในช่วงที่ไม่มีการแข่งขัน เพราะกีฬาพาราหลายประเภทนั้นยังไม่ได้เป็นกีฬาอาชีพ ที่นักกีฬาจะมีรายได้ประจำ
การให้ในลักษณะนี้ เป็นมากกว่าการสนับสนุน เพราะเป็นการเดินเคียงข้างนักกีฬา…เป็นเสมือนเพื่อนร่วมทาง
หากจะมีใครวินิจฉัย DNA ของนักกีฬาพาราระดับโลกของไทย ก็คงได้ประจักษ์ว่านี่คือสายพันธุกรรมแห่งความมุ่งมั่น เปี่ยมไปด้วยความเชื่อและศรัทธาในความสามารถของตนเอง ไม่ยอมให้ข้อจำกัดในรูปแบบใดๆ มาขวางกั้นการไปถึงฝั่งฝัน พวกเขาเชื่อมั่นในกระบวนการและการสร้างความสำเร็จระยะยาว ไม่ปล่อยให้ความภูมิใจชั่วแล่น สร้างภาพมายาให้ก้าวผิดทาง
พวกเขารู้ดีว่า ความสำเร็จในกีฬาพาราเปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ใหญ่ ที่ต้องใช้เวลา ความใส่ใจ และวินัยในการทะนุบำรุงปัจจัยที่ช่วยให้ไม้ใหญ่งอกงาม แล้วรอคอยผลลัพธ์ที่เป็นทั้งความภูมิใจและแรงบันดาลใจให้ผู้คนที่จะคงอยู่ไปอีกนาน
เพื่อนร่วมทางของนักกีฬาพารา จำต้องมี DNA ในลักษณะเดียวกัน เป็นเพื่อนที่รู้ใจ ช่วยให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ และช่วยให้สังคมได้เห็นถึงคุณค่าของเหล่าวีรบุรุษในหลืบเงากลุ่มนี้ เพื่อที่สุดท้ายแล้ว เขาเหล่านี้จะเป็นคนที่สังคมยกย่องและมีชีวิตที่ดี
สำหรับเพื่อนร่วมทางของนักกีฬาพาราของไทยนั้น คือเพื่อนร่วมทางที่เดินเคียงข้างนักกีฬาพาราตั้งแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ครั้งที่ความล้มเหลวเป็นภาพชินตา ตั้งแต่คราวที่พาราเป็นกีฬาที่ผู้คนมองข้าม ตราบจนกระทั่งถึงวันที่ทัพนักกีฬาพาราไทยเริ่มประกาศศักดาในระดับโลก เป็นเจ้าของสถิติโลก คว้าเหรียญรางวัลอันทรงเกียรติ์ และยังคงเดินเคียงข้างสืบต่อไป เนื่องเพราะยังมีทัพนักกีฬาพาราที่เปี่ยมศักยภาพอยู่อีกหลายประเภท ที่โลกพึงรับรู้ความเก่งกาจของนักกีฬาพาราของไทย
วันนี้วงการกีฬาพาราไทยได้ขาดเพื่อนร่วมทางที่สำคัญที่สุดไปหนึ่งท่าน ผู้ที่พัฒนาวงการพาราไทยให้ได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทางเพจขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของคุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม