Link Copied!

ผ่านปี 64 แบดมินตันโลก เมื่อดาวรุ่งเจิดจรัสแสง

วงการแบดมินตันโลกในรอบปี 2564 ที่ผ่านไป มีความเปลื่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากมาย อันเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเรื่องของการแข่งขันในระบบ Bubble (ระบบปิดมีเฉพาะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง) การแข่งขันหลายรายการถูกเลื่อนหรือไม่ก็ถูกยกเลิก มหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โตเกียวเกมส์ที่ไม่เปิดให้ผู้ชมเข้าสนามเป็นครั้งแรก เหล่านี้เป็นต้น

อย่างไรก็ดีในแวดวงกีฬาแบดมินตันก็ยังมีหลายทัวร์นาเมนต์สำคัญที่สามารถทำการแข่งขันได้ ไม่ว่าจะเป็น BWF World Tour Finals ทั้งที่ประเทศไทย (ถูกเลื่อนมาจากปี 2020) และอินโดนีเซีย 2021 การแข่งขันแบดมินตันประเภททีมผสมชิงแชมป์โลก “สุธีรมานคัพ” การแข่งขันแบดมินตันประเภททีมชิงแชมป์โลก “โธมัสคัพ-อูเบอร์คัพ” และรายการปิดท้ายปี 2564 อย่างแบดมินตันชิงแชมป์โลก TotalEnergies BWF World Championships 2021 ประเทศสเปน

แม้บางรายการอาจถูกค่อนขอดว่า นักกีฬาจากประเทศผู้นำกีฬาแบดมินตันอย่างจีน เกาหลีใต้ หรืออินโดนีเซีย ปฏิเสธเข้าร่วมการแข่งขัน อันมีสาเหตุเพื่อความปลอดภัยของตัวนักกีฬาจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม แต่เมื่อมองในมุมด้านบวกแล้วจะพบว่าก็เป็นการเปิดโอกาสให้ชาติเล็กๆ ในวงการแบด สามารถส่งนักกีฬาที่มืออันดับโลกรองลงมา รวมถึงนักกีฬาดาวรุ่งหน้าใหม่ๆ (โดยเฉพาะนักกีฬาจากประเทศในแถบยุโรป) มีเวทีใหญ่ขึ้นให้เขาเหล่านั้นได้มีโอกาส มีส่วนร่วมเข้าแข่งขัน สามารถสร้างแรงบันดาลใจ แรงผลักดัน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้หลายๆ ชาติ สนใจมาเล่นกีฬาแบดมินตัน สร้างความนิยมในกีฬาชนิดนี้ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของสหพันธ์แบดมินตันโลก (BWF) อีกด้วย

ในปี 2564 เราจึงได้เห็นผลงานของนักกีฬาดาวรุ่ง หรือนักกีฬาจากประเทศที่ไม่เป็นที่รู้จักในวงการแบดมินตัน ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม สร้างความประหลาดใจอย่างมาก อาทิ เควิน กอร์ดอน จากประเทศกัวเตมาลา นักกีฬาจากดินแดนลาตินอเมริกาคนแรกที่สามารถเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ประเภทชายเดี่ยวในโอลิมปิก 2020 โตเกียวเกมส์ ที่สามารถปราบมือวางอันดับจากฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้มาได้ เป็นต้น

แต่สำหรับตัวผมแล้ว ปี 2564 ผมขอชื่นชมและให้เครดิตกับนักกีฬาดาวรุ่ง 4 คนจาก 3 ประเภท ที่ทำผลงานได้อย่างสุดยอด สม่ำเสมอ และพร้อมจะเป็นคู่ต่อสู้กับมหาอำนาจในวงการแบดในปีต่อๆ ไปได้อย่างสูสี โดยทั้งสี่คนได้แก่ ทาคุโระ โฮกิ / ยูโกะ โคบายาชิ ในประเภทชายคู่จากญี่ปุ่น อัน เซ-ยอง สาวน้อยจากเกาหลีใต้ในประเภทหญิงเดี่ยว และแชมป์โลกชายเดี่ยวคนล่าสุด โล๊ะ เคียนยิว จากสิงคโปร์

ทาคุโระ โฮกิ / ยูโกะ โคบายาชิ

หากจะบอกว่าทั้งคู่เป็นคู่ดาวรุ่งอาจจะไม่ใช่สักทีเดียว เพราะโฮกิกับโคบายาชิจับคู่กันและคว้าแชมป์ในระดับ International Challenge รายการ USA International มาตั้งแต่ปี 2014 แถมยังเคยเป็นรองแชมป์โลกประเภทชายคู่ปี 2019 แต่เนื่องจากอดีตชายคู่มือหนึ่งของญี่ปุ่นอย่าง คามูระ / โซโนดะ ประกาศเลิกเล่นไป ทำให้รัศมีความสามารถที่ถูกบดบังมานานกลับมาฉายแสงอีกครั้ง และยิ่งกว่านั้นทั้งโฮกิกับโคบายาชิกลับมาสร้างประวัติศาสตร์ให้ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการเป็นแชมป์โลกแบดมินตัน ประเภทชายคู่ คู่แรกของญี่ปุ่น และแชมป์เวิลด์ทัวร์ 3 รายการใหญ่ในปีนี้อย่างเดนมาร์กโอเพ่น, อินโดนีเซีย มาสเตอร์ และบีดับบลิวเอฟ เวิลด์ทัวร์ไฟนอล ด้วยฟอร์มการเล่นที่เน้นรับเหนียวเป็นหลัก

ขณะที่เกมรุก แม้ทั้งคู่ไม่ใช่คู่ประเภทสายบุก ทุบคู่ต่อสู้ ตบหนัก ถอยหลังไม่เป็น แต่ใช้การสอดประสาน เข้าใจบทบาทการเล่นของตัวเอง สามารถประสานงานกันได้อย่างลงตัว เล่นด้วยความเข้าใจมานาน อีกทั้งคู่ของ ฮิโรยูกิ เอนโดะ กับ ยูตะ วาตะนาเบะ เป็นเอนโดะที่เลิกเล่น และวาตะนาเบะต้องสนใจประเภทคู่ผสมมากกว่า ทำให้คู่ของโฮกิกับโคบายาชิจึงต้องก้าวขึ้นมาเป็นชายคู่มือหนึ่งของทีมญี่ปุ่นไปโดยปริยาย

จึงสามารถกล่าวได้ว่า ปี 2564 เป็นปีทองของโฮกิและโคบายาชิที่กลับมาเล่นอย่างยอดเยี่ยม สามารถกลับมาแจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัวอย่างแท้จริง เชื่อเหลือเกินว่าในปี 2565 นี้ ทั้งคู่มีโอกาสที่จะสร้างความสำเร็จและเกียรติประวัติคว้าแชมป์ต่างๆ ได้อีกหลายรายการแน่นอน

อัน เซ-ยอง

หลายๆ คนคงได้รู้จักและเห็นผลงานของสาวน้อยมหัศจรรย์ อัน เซ-ยอง มาบ้างแล้วจากการร่วมทีมเกาหลีใต้ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้ อัน เซ-ยอง ก้าวขึ้นมาเป็นมือหนึ่งทีมหญิงเกาหลีใต้เต็มตัว ทั้งจากฟอร์มการเล่นที่โดดเด่น และจากการที่ ซัง จีฮุน มือหนึ่งทีมหญิงประกาศเลิกเล่นไป จึงทำให้เธอต้องแบกความหวังของทีม และก็ไม่ทำให้ทีมแบดเกาหลีใต้ผิดหวัง สามารถคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันแบดมินตันประเภททีมผสมชิงแชมป์โลก “สุธีรมานคัพ” การแข่งขันแบดมินตันประเภททีมชิงแชมป์โลก “โธมัสคัพ-อูเบอร์คัพ” ทั้งสองรายการ

ขณะที่ผลงานส่วนตัวของเธอก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน สามารถคว้าแชมป์เดนมาร์กโอเพ่น, อินโดนีเซีย โอเพ่น และบีดับบลิวเอฟ เวิลด์ทัวร์ไฟนอล แม้ว่าในศึกชิงแชมป์โลก อัน เซ-ยอง ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ โดยเธอตกรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยการพ่ายแพ้ อากาเนะ ยามากูชิ 1-2 เกม ก่อนที่อากาเนะจะไปคว้าแชมป์โลกสมัยแรกได้

ด้วยสไตล์การเล่นที่เนิบๆ ไม่หวือหวา เล่นแจกลูกไปทั่วสนาม อดทนต่อการเล่น Long Rally เล่นไม่สวยงามจนอาจทำให้หลายคนไม่ค่อยชอบดู อัน เซ-ยอง เล่น แต่ด้วยลูกโอเวอร์เฮดครอสคอร์ท เอาลูกลงเร็วและแม่นยำ เป็นลูกซิกเนเจอร์ของเธอ ทำให้แฟนแบดมินตันติดตามและคาดเดาว่าเธอจะใช้ไม้เด็ดนี้กับคู่ต่อสู้เวลาไหนบ้าง ซึ่งก็น่าสนใจไปอีกแบบ ทดแทนสไตล์การเล่นที่น่าเบื่อแต่แน่นอนของเธอได้เหมือนกัน จึงน่าลุ้นว่าในปีนี้ อัน เซ-ยอง จะยังรักษาฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมอย่างต่อเนื่องได้นานแค่ไหน เพราะสำหรับผมแล้ว เธอคือดาวรุ่งจรัสแสงที่พร้อมท้าชิงกับทุกคน อยู่ที่โชคและวาสนาจะนำพาเธอได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

โล๊ะ เคียนยิว

สำหรับผมแล้ว โล๊ะ เคียนยิว แห่งสิงคโปร์คนนี้ คือสุดยอดของดาวรุ่งที่พร้อมจรัสแสงในวงการแบดมินตันโลกอย่างแท้จริง ด้วยผลงานการคว้าแชมป์โลกแบดมินตัน ประเภทชายเดี่ยวล่าสุด การันตีความเก่งของเขาอย่างดี ผลงานการปราบแชมป์เก่าอย่าง วิคเตอร์ อเซลเซน ในรอบแรก และมือวางอันดับคนอื่นอย่าง แอนเดรส แอนทอนเซน ในรอบรองชนะเลิศ ตามด้วย คิดัมบี ศรีคานท์ ในรอบชิงชนะเลิศ แบบที่ไม่เสียเกม ด้วยฟอร์มการเล่นที่รวดเร็ว บุกเข้าทำเด็ดขาด ลูกตบที่แรงและหนักหน่วง เหล่านี้คือจุดเด่นทำให้ โล๊ะ เคียนยิว (จีนกลางอ่านว่า โหล เจี้ยนโย่ว) สามารถสร้างความสำเร็จที่สุดในอาชีพได้

แต่นี่ไม่ใช่ความสำเร็จแรกที่ โล๊ะ เคียนยิว ได้รับมา หากยังจำกันได้ การแข่งขันแบดมินตันรายการไทยแลนด์มาสเตอร์ ปี 2019 เป็นเขาที่มาคว้าแชมป์ครั้งแรกในชีวิตด้วยการปราบตำนานแบดมินตันอย่าง “หลิน ตัน” ในรอบชิง 2-0 เกม และมาคว้าแชมป์ไฮโลว์โอเพ่น 2021 ด้วยการปราบ ลี ซี เจี๋ย จากมาเลเซีย ในรอบชิง 2-1 เกม แม้ในเกมสุดท้ายคู่ต่อสู้ยอมแพ้จากอาการบาดเจ็บ แต่นั่นไม่ใช่เพราะเขาเล่นไม่ดี ทุกๆ รายการที่ โล๊ะ เคียนยิว ลงแข่งขัน เขาโชว์ศักยภาพตัวเองและฟอร์มการเล่นที่สุดยอดโดยตลอด โดยเฉพาะอินโดนีเซียโอเพ่น รายการสุดท้ายก่อนศึกชิงแชมป์โลกที่เขาพ่ายต่อ วิคเตอร์ อเซลเซน 1-2 เกม คว้าแค่รองแชมป์ เพียงเพราะวันนั้นโชคและวาสนายังไม่เข้าข้างเขามากกว่านั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อเหลือเกินว่าในปีนี้ โล๊ะ เคียนยิว จะไม่หยุดความสำเร็จไว้เพียงแค่นี้แน่นอน แบดมินตันชายเดี่ยวจะมีสีสันมากยิ่งขึ้นเมื่อมีม้าศึกตัวใหม่อย่างเขา มาต่อกรมืออันดับโลกอย่าง เคนโตะ โมโมตะ, วิคเตอร์ อเซลเซน, ฉือยู่ฉี หรือแม้แต่ดาวรุ่งของไทยอย่าง “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักกีฬาพัฒนาฝีมือยอดเยี่ยมบีดับบลิวเอฟคนล่าสุด การันตีความสนุกในปี 2565 นี้ได้แน่นอนครับ

ติดตามกันดูนะครับว่า สิ่งที่ผมให้ทัศนะไว้นั้นจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด

คงยังไม่สายที่จะกล่าว “สวัสดีปีใหม่ 2565” แด่แฟนแบดมินตันทุกๆ ท่านครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares