“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ปรัชญา ซุน วู ยังใช้ได้ดีเสมอ แม้แต่กับการแข่งขันกีฬา บางทีหาก โอเล กุนนาร์ โซลชา เรียนรู้แนวทางของทีมคู่แข่งแล้วนำมาปรับปรุงทีม บางทีแมนฯ ยูไนเต็ด อาจมีโอกาสลุ้นแชมป์มากกว่านี้
ไม่รู้ว่าแฟนๆ ทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คิดอย่างไรกับการที่ทีมท็อตแนม ฮอตสเปอร์ คว้าตัว อันโตนิโอ คอนเต มาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่แทน นูโน เอสปิริโต ซานโต ภายในเวลาไม่กี่วัน หลังจากนูโนพาทีมแพ้คาบ้านต่อทีมแมนฯ ยูไนเต็ด 0-3 เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวหนาหูว่า ฝ่ายบริหารของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เตรียมดึงคอนเตมาคุมทีมแทน โอเล กุนนาร์ โซลชา ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์ที่กดดันไม่แพ้นูโนหลังจากพาทีมแพ้ลิเวอร์พูลแบบหมดสภาพคาถิ่น 0-5 ในนัดก่อนหน้านั้น
ต้องยอมรับว่าชัยชนะที่มีต่อทีมสเปอร์สช่วยต่อลมหายใจให้กับโซลชาได้อีกเฮือกใหญ่ แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าชัยชนะนัดนี้ทำให้แฟนๆ ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ส่วนใหญ่ที่อยากให้โซลชาถูกปลดจากตำแหน่งจะรู้สึกดีใจหรือไม่ แต่คาดว่าเรดอาร์มีจำนวนไม่น้อยคงรู้สึกเสียดายที่ฝ่ายบริหารของทีมสเปอร์สชิงตัดหน้าคว้าตัวคอนเตไปคุมทีมก่อน เพราะหากพูดกันถึงชื่อชั้นจริงๆ แล้ว คอนเตมีทั้งประสบการณ์ในการคุมสโมสรใหญ่ๆ และความสำเร็จในฐานะโค้ชเหนือกว่าโซลชาอย่างเทียบกันไม่ติด
ไม่รู้เป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ ในนัดที่ แมนฯ ยูไนเต็ด บุกไปชนะสเปอร์ส โซลชาเลือกจัดทีมโดยใช้เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัวซึ่งเป็นระบบการเล่นที่คอนเตเลือกใช้เป็นประจำ แต่สำหรับโซลชาการเลือกใช้เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัว มักมีพื้นฐานมาจากการหวั่นเกรงเกมรุกของทีมคู่แข่ง จนไม่ไว้วางใจว่าคู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด จะเอาอยู่ อีกทั้งยังเป็นเพราะผลงานของแผงกองหลังแมนฯ ยูไนเต็ด ในนัดแพ้ลิเวอร์พูล ย่ำแย่จนเกินทน จนทำให้โซลชาตัดสินใจเลือกเล่นในระบบเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัว ทั้งที่ ราฟาเอล วาราน หายเจ็บกลับมาลงสนามนัดดังกล่าวได้แล้วก็ตาม
ผลงานของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด นัดบุกไปชนะสเปอร์ส ต่างจากนัดถูกทีมลิเวอร์พูลบุกมาถล่มคาโอลด์ แทรฟฟอร์ดมาก โดยเฉพาะความขยันในการเพรสซิ่งของนักเตะทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ที่มีมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าที่ผ่านมาโซลชาให้ความสำคัญกับการเพรสซิ่งมากเพียงไร เพราะหากเปรียบเทียบกับผู้จัดการทีมคู่แข่งระดับเดียวกันทั้ง 3 ทีมแล้ว ดูเหมือนที่ผ่านมาโซลชาจะให้ความสำคัญกับการเพรสซิ่งน้อยที่สุด หรือหากให้ความสำคัญก็หมายถึงนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่สามารถทำตามที่นายสั่งอย่างได้ผล
ขนาดคอลัมนิสต์บีบีซียังวิเคราะห์วิจารณ์กันไปถึงขนาดกล่าวโทษ คริสเตียโน โรนัลโด ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ฟอร์มตกลง เพราะไม่ขยันวิ่งบีบพื้นที่ทีมคู่แข่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับกองหน้าระดับตำนานทีมชาติโปรตุเกสผู้นี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเขาไม่ใช่ศูนย์หน้าในแบบฉบับ โรแบร์โต ฟีร์มิโน และอีกทั้งก่อนหน้าการเข้ามาของโรนัลโด บรรดากองหน้าของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเป็น อองโตนี มาร์กซิยาล, มาร์คัส แรชฟอร์ด หรือ เมสัน กรีนวูด ล้วนเป็นประเภทโฟกัสกับเกมรุกเป็นส่วนใหญ่ทุกคน มีเพียง เอดิสัน คาวานี คนเดียวกระมังที่ดูจะขยันไล่บอลมากกว่าเพื่อน
ทั้งหลายทั้งมวลถึงตอนนี้แฟนบอลเรดอาร์มีรวมทั้งบรรดาศิษย์เก่าหรืออดีตผู้เล่นของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เอง ยอมรับแล้วว่าเหตุผลหลักที่น่าจะทำให้ทีมปีศาจแดงไปไม่ถึงฝั่งฝันเสียที คือจุดอ่อนเรื่องผู้จัดการทีมได้แก่โซลชานี่เอง และหนทางเดียวที่พอจะทำให้แมนฯ ยูไนเต็ด พอจะมีโอกาสลุ้นแชมป์รายการใดรายการหนึ่ง คือการที่โซลชาเรียนรู้แนวทางของผู้จัดการทีมคู่แข่ง แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ให้มีประสิทธิภาพให้มากที่สุดและโดยเร็วที่สุด เพราะดูเหมือนแมนฯ ยูไนเต็ด ในยุคโซลชาจะทำได้ดีเพียงเรื่องเดียวคือการเล่นเคาน์เตอร์แอทแท็กเท่านั้น
นี่ไม่ได้ฉายหนังซ้ำ หรือกล่าวหาโซลชาลอยๆ ว่าไม่มีความสามารถเรื่องแทคติกหรือการวางแผนระบบการเล่น ไม่เชื่อลองคุ้นข้อมูลจากวิกิพีเดียดูก็ได้ว่า โซลชาเป็นผู้จัดการทีมระดับท็อปโฟร์พรีเมียร์ลีกเพียงคนเดียวที่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับแทคติกสไตล์การคุมทีม ขณะที่ เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมลิเวอร์พูล, เป๊ป กวาร์ดิโอลา ผู้จัดการทีมแมนฯ ซิตี้ และ โทมัส ทูเคิล ผู้จัดการทีมเชลซี ต่างมีข้อมูลสไตล์การคุมทีมและแทคติกส่วนตัวด้วยกันทุกคน
หรือแทคติกของโซลชาคือพลิ้วไหวไร้รูปแบบ หรือบอลไม่มีทรง? คำตอบขึ้นอยู่กับการแข่งขันแต่ละนัด ซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้ เมื่อปราศจากความแน่นอน ผลงานจึงไม่สม่ำเสมอ เมื่อปราศจากความสม่ำเสมอ โอกาสคว้าแชมป์คงไม่ต้องพูดถึง!
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผลการแข่งขันของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดไม่มีความสม่ำเสมอ เป็นเพราะแทคติกของโซลชาเองที่ชอบวางแผนการเล่นโดยดูจากทีมคู่แข่งที่จะต้องเจอในแต่ละนัด ไม่มีระบบการเล่นที่ตายตัว เน้นขึ้นบอลทางด้านกราบซ้าย โดยการดัน ลุค ชอว์ แบ็กซ้ายขึ้นไปเติมเกมรุก และการเคาน์เตอร์แอทแท็กโดยอาศัยความเร็วในการเลี้ยงบอลของผู้เล่นในแนวรุก แต่ไม่เน้นสวนเร็วโดยการผ่านบอลยาวหรือโยนยาว ปัญหาคือเวลาที่ทีมคู่แข่งตั้งบล็อกแนวหลังต่ำ เกมรุกของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด มักจะสะดุด และจำต้องฝืนยิงจากระยะไกลซึ่งหวังผลยากกว่าการฝ่ากองหลังเข้าไปหาจังหวะยิงประตูในระยะที่ใกล้ขึ้น
โซลชามักชอบพูดเสมอเวลาที่ทีมพ่ายแพ้ในฟุตบอลถ้วยรอบลึกๆ หรือนัดชิงชนะเลิศว่า ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เข้าใกล้การเป็นทีมที่มีโอกาสลุ้นแชมป์เต็มทีแล้ว แต่จนถึงนาทีนี้ดูแล้วมันสวนทางกับความเป็นจริงเหลือเกิน เนื่องจากโซลชายังลองผิดลองถูกตลอดเวลา ไม่มี 11 ตัวจริงที่ลงตัว เนื่องจากโซลชาไม่ได้เน้นระบบการเล่นมากเท่ากับความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่น ต่างจากคล็อปป์, ทูเคิล หรือกวาร์ดิโอลา ซึ่งเน้นระบบการเล่นมากกว่า ความเป็นทีมเวิร์กและความเข้าใจในแผนการเล่นของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด จึงเป็นรองทีมคู่แข่งมาก ในนัดแพ้ลิเวอร์พูลนั้นยิ่งเล่นนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ด ยิ่งสับสน กลายเป็นบอลคนละชั้นอย่างไม่น่าเชื่อ
คนที่โซลชาควรจะเรียนรู้แนวทางการสร้างทีมมากที่สุด คือ เจอร์เกน คล็อปป์ ยอดกุนซือชาวเยอรมันของทีมคู่ปรับตลอดกาล ลิเวอร์พูล นั่นเอง คล็อปป์ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญการเล่นแบบ “เกเกนเพรสซิ่ง” หรือเคาน์เตอร์เพรสซิ่งที่หาตัวจับยาก คือการบีบพื้นที่ผู้เล่นทีมคู่แข่งทันทีที่เสียบอล หรือบีบพื้นที่ตั้งแต่บริเวณกรอบเขตโทษทีมคู่แข่ง เพื่อโอกาสแย่งบอลมาไว้ในการครอบรองโดยเร็วที่สุด และใกล้ปากประตูทีมคู่แข่งมากที่สุด หากทีมคู่แข่งผิดพลาดจะถูกลงโทษทันที
ยอดโค้ชชาวเยอรมันผู้นี้เชื่อว่าระบบการเล่นแบบนี้ทำให้ความจำเป็นที่ต้องมีจอมทัพหรือเพลย์เมกเกอร์ในแดนกลางลดลง และอาจสร้างโอกาสทำประตูทีมคู่แข่งได้มากขึ้นเสียด้วยซ้ำ!
ย้อนกลับไปสมัยที่คล็อปป์เข้ามาคุมทีมลิเวอร์พูลเมื่อเดือนตุลาคมปี 2015 เขารู้ดีว่าสภาพทีมลิเวอร์พูลช่วงนั้นไม่แข็งแกร่งมากพอที่จะลุ้นแชมป์รายการใหญ่ๆ ประกอบกับลิเวอร์พูลไม่ใช่ทีมเงินถุงเงินถัง คล็อปป์จึงเริ่มต้นสร้างทีมใหม่ตามแนวทางของตนเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเน้นระบบการเล่นแบบเคาน์เตอร์เพรสซิ่งเป็นหลัก ทำให้ปัญหาเรื่องศักยภาพของผู้เล่นในทีมสู้ทีมคู่แข่งไม่ได้ ถูกชดเชยด้วยระบบการเล่นที่ยอดเยี่ยม หลังจากจบฤดูกาล 2015/2016 ด้วยอันดับที่ 8 ในฤดูกาลถัดมาผลงานของทีมเริ่มเข้ารูปเข้ารอย คว้าอันดับ 4 ในพรีเมียร์ลีก 2 ฤดูกาลติดต่อกัน ทั้งที่ไม่ได้ใช้เงินมากมายในการคุมทีม
คล็อปป์ให้โอกาสนักเตะจากยุค เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ที่เข้ากับแผนการเล่นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปเป คูตินโญ, โรแบร์โต ฟีร์มิโน, จอร์แดน เฮนเดอร์สัน, เจมส์ มิลเนอร์, เดยัน ลอฟเรน แล้วค่อยๆ ผ่องถ่ายนักเตะใหม่ในแผนการทำทีมของตนเข้ามา อาทิ ซาดิโอ มาเน, จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม, โม ซาลาห์, แอนดี โรเบิร์ตสัน, เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค, ฟาบินโญ, นาบี เกอิตา และ อลิสซง เบคเกอร์ ทุกคนที่ซื้อเขามาล้วนแล้วแต่กลายเป็นกำลังสำคัญของทีม จากช่วงแรกที่ต้องพึ่งพาการวิ่งเพรสซิ่งเป็นหลัก เพื่อชดเชยศักยภาพผู้เล่นที่เป็นรองทีมคู่แข่ง กลายเป็นการเพรสซิ่งแบบผสมผสานกับความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นได้อย่างลงตัว
ผลคือนักเตะลิเวอร์พูลไม่ต้องวิ่งกันมากเหมือนก่อน และยืนระยะได้ดีขึ้นตามไปด้วย คว้าทั้งแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก และแชมป์พรีเมียร์ลีกที่รอคอยมานานถึง 30 ปี!
ทุกทีมอาจเลียนแบบระบบการเล่นของลิเวอร์พูลได้ แต่ยากที่จะมีประสิทธิภาพเท่า เพราะคล็อปป์ไม่ได้เพรสซิ่งแบบตั้งหน้าวิ่งเข้าใส่อย่างเดียว เขาเชี่ยวชาญในการสอนสั่งลูกทีมว่าจังหวะไหนควรบีบผู้เล่นคู่แข่ง จังหวะไหนควรบีบพื้นที่ จังหวะไหนควรผ่อน ปล่อยให้คู่แข่งเล่น แล้วดักบอลยาวเอา ขณะที่เกมรุก 3 ประสานในแดนหน้าก็ทำผลงานได้ดี มีการสลับพื้นที่เข้าทำ จนยากที่กองหลังทีมคู่แข่งจะเอาอยู่ เนื่องจากการเล่นแบบไม่เห็นแก่ตัวของฟีร์มิโน ซึ่งเป็นทั้งฟอลส์ไนน์และกองหน้าตัวรับของทีมลิเวอร์พูล
ด้วยระบบที่ยอดเยี่ยมนี้เองจึงทำให้ลิเวอร์พูลเอาชนะบาร์เซโลนาในรอบรองชนะเลิศนัดที่ 2 ในปี 2019 ถึง 4-0 ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศด้วยประตูรวม 4-3 ก่อนเดินหน้าและคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก สำเร็จ ด้วยการชนะทีมสเปอร์สอย่างไม่ยาก 2-0 ในนัดชิงชนะเลิศ ลบคำครหาว่าเมื่อขาย ฟิลิปเป คูตินโญ แล้วลิเวอร์พูลไม่มีทางจะประสบความสำเร็จได้ และมันเป็นสิ่งที่ยืนยันคำพูดของคล็อปป์ได้ดีว่าในการเล่นแบบเคาน์เตอร์เพรสซิ่ง ถึงไม่มีเพลย์เมกเกอร์หรือจอมทัพก็ไม่ได้เสียหายอะไร
ระบบการเล่นที่ดีทดแทนเรื่องความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นในแดนกลางได้จริงๆ จุดอ่อนเดียวในระบบการเล่นของทีมลิเวอร์พูลอยู่ที่จังหวะถูกทีมคู่แข่งเคาน์เตอร์แอทแท็ก เนื่องจาก เทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ กับ แอนดี โรเบิร์ตสัน แบ็ก 2 ข้างดันขึ้นมาเสริมเกมรุกสูง จนถอยกลับไปตั้งรับไม่ทันเท่านั้น
หากเปรียบเทียบทีมลิเวอร์พูลชุดคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2019/2020 กับทีมยุคที่ครองความยิ่งใหญ่ในทศวรรษที่ 80 ซึ่งว่ากันว่าเป็นทีมที่ดีที่สุดเท่าที่ลิเวอร์พูลเคยมีมา ในยุคที่มี เคนนี ดัลกลิช, เอียน รัช, แกรม ซูเนสส์, อลัน แฮนเซน, มาร์ก ลอว์เรนสัน เป็นกำลังสำคัญ และเน้นการครองบอลนวดทีมคู่แข่ง แล้วเจาะหาช่องเข้าทำประตู ดูแล้วยังเป็นรองทีมของคล็อปป์ เนื่องจากเมื่อเน้นการครองบอลเข้าทำ หากถูกบีบด้วยเกมเพรสซิ่งของทีมในยุคของคล็อปป์ ทีมยุค 80 ไม่มีทางเล่นในเกมที่ถนัดของตนเองได้เลย
ที่ยกตัวอย่างแบบนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าระบบการเล่นที่ดีและมีประสิทธิภาพ สามารถชดเชยเรื่องความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นที่เป็นรองได้ แม้แต่เป็นการเจอกับทีมลิเวอร์พูลยุค 80 ชุดที่ว่ากันว่าเป็นทีมลิเวอร์พูลชุดดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็ตาม!
อีกเรื่องหนึ่งที่โซลชาควรเรียนรู้จากคล็อปป์ คือการซื้อตัวนักเตะที่มั่นใจจริงๆ ว่าจะเล่นได้เข้ากับระบบของทีม และพร้อมขายทุกคนที่คิดว่าตนเองสำคัญกว่าทีม คล็อปป์ใจเย็นพอที่จะรอเซ็นสัญญานักเตะเป้าหมายของตนจริงๆ และเมื่อร้องขอนักเตะคนใดจากบอร์ดบริหารของทีมในราคาที่สมเหตุผลแล้วจะต้องได้ ไม่มีกรณีไม่ได้นักเตะเกรดเอก็ขอเอานักเตะเกรดบีเข้ามาไว้ในทีมก่อน ซึ่งหากรวมราคานักเตะเกรดบีหลายคน อาจแพงกว่านักเตะเกรดเอคนเดียวเสียด้วยซ้ำ หลายครั้งเป็นการซื้อตัวที่น่าข้องใจว่าซื้อมาเพื่ออะไร เช่นกรณีของ ดอนนี ฟาน เดอ เบ็ค
ตอนแรกคาดกันว่าจะเอากองกลางดาวรุ่งจากทีมอาแจ็กซ์มาแทน ปอล ป็อกบา ที่มีข่าวอยากย้ายทีม แต่พอป็อกบาเจ็บหรือถูกถอดออกจากทีม ฟาน เดอ เบ็ค กลับไม่ค่อยได้รับโอกาสให้ลงสนาม รวมทั้งกรณีของ จาดอน ซานโช ปีกขวาทีมชาติอังกฤษที่โซลชาอยากได้นักอยากได้หนา ไปๆ มาๆ ก็ถูกจับลงเล่นทางกราบซ้าย ทั้งที่ไม่ใช่ตำแหน่งถนัด ซานโชจึงยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้เสียที กลายเป็นกองหน้าค่าตัวแพงที่ต้องรับบทตัวสำรอง ต่างจากคล็อปป์ที่ทำการบ้านอย่างดีและมองขาดว่า ซื้อใครเข้ามาแล้วจะเล่นให้กับทีมได้ดีหรือไม่
บอกตามตรงเลยว่าหลังจาก อันโตนิโอ คอนเต ตกปากรับคำคุมทีมท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สิ่งที่เขาสัญญาเอาไว้ ทำให้รู้สึกเสียดายแทนบรรดาแฟนๆ ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เพราะคอนเตกล่าวว่าปรัชญาการทำทีมของตนเองธรรมดามาก คือเล่นให้ดีและสนุกเร้าใจแฟนบอล มีผลงานคงเส้นคงวา ไม่ใช่ขึ้นๆ ลงๆ แฟนบอลสมควรได้เห็นทีมที่เปี่ยมด้วยสปิริตนักสู้ และตนเองจะทำทุกอย่างให้ได้ตามที่แฟนบอลสเปอร์สคาดหวังและสมควรได้รับ
ปรัชญาทำทีมแบบนี้ละครับที่แฟนๆ ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด อยากเห็น แต่โซลชายังไม่สามารถทำให้ความหวังของพวกเขากลายเป็นจริงได้เสียที
สิ่งที่คอนเตเคยกล่าวถึงการทำหน้าที่โค้ชก่อนหน้านี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และโซลชาควรเก็บไปทบทวนเพื่อพัฒนาตนเอง คอนเตบอกว่าการทำหน้าที่โค้ชหรือผู้จัดการทีมไม่ใช่แค่เชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแทคติก, การกระตุ้นลูกทีม, จิตวิทยาในการปกครอง, การบริหารสื่อ แต่ต้องเก่งทุกเรื่องและจะต้องพยายามทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา นับตั้งแต่คอนเตทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโค้ชทีมเซียนาเมื่อปี 2005 จนถึงปัจจุบัน สำหรับเขาแล้วมันคือการเรียนรู้ตลอดเวลา
คอนเตก็เหมือนกับคล็อปป์, กวาร์ดิโอลา, ทูเคิล ที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดในการฝึกซ้อมเป็นอย่างมาก และนำเอาประสบการณ์สมัยตนเองยังเป็นผู้เล่นมาใช้ประโยชน์ กำชับผู้เล่นทุกคนต้องเข้าใจระบบการเล่นทุกอย่างที่วางไว้ หากไม่เข้าใจตรงไหนต้องถามเลยว่าทำไมต้องเคลื่อนที่ไปในตำแหน่งนี้ หลังจากเพื่อนได้บอล หรือเวลาตั้งรับทำไมต้องทำแบบนั้นแบบนี้ เพื่อความมั่นใจว่าเวลาลงสนามลูกทีมจะได้เข้าใจว่าตนเองต้องการให้เล่นแบบใด ไม่ใช่ปล่อยให้นักเตะแอบนินทาลับหลังว่า แทบไม่มีการชี้แนะแผนการเล่นใดๆ เหมือนโซลชาเลย
ขณะที่มีข่าวว่าโซลชาปล่อยให้ ไมเคิล คาร์ริค กับ คีแรน แม็คเคนนา สตาฟโค้ชของตนเป็นคนอธิบายแผนการเล่นกับนักเตะเอง แล้วตัวเองไปนั่งดูจากข้างสนาม!
หากมันจริงดังว่าคงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดนัดแพ้ทีมลิเวอร์พูล นักเตะทีมแมนฯ ยูไนเต็ด จึงดูเล่นกันไม่เป็นทีม และยิ่งเล่นยิ่งลนลานเหมือนไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ทั้งในยามได้บอลหรือเสียบอล หากเจอกับทีมธรรมดาๆ อาจใช้ความสามารถเฉพาะตัวเอาตัวรอดไปได้ แต่การเจอกับยอดทีมอย่างลิเวอร์พูล เมื่อเล่นไม่มีทรงแบบนั้น หายนะรออยู่แน่นอน ความจริงหากเป็นทีมอื่นที่ชื่อชั้นผู้เล่นเป็นรอง แต่สามารถเล่นกันเป็นทีมได้ตามแทคติก และเปิดเกมเพรสซิ่งสูงสู้ลิเวอร์พูลแบบเต็มที่ คงไม่น่าแพ้ยับเยินถึง 0-5
สิ่งที่โซลชาควรเปลี่ยนแปลงตัวเองมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง คือต้องเรียกร้องในสิ่งที่ดีที่สุดจากลูกทีมเสมอ ให้เหมือนผู้จัดการทีมคู่แข่งระดับเดียวกัน อย่าพอใจแค่การพาทีมติด 4 อันดับแรกเพื่อคว้าโควตายูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก เพียงเท่านั้น น่าแปลกที่สมัยยังเล่นฟุตบอลโซลชาคือมืออาชีพคนหนึ่ง แต่เมื่อมาเอาดีด้านการเป็นโค้ชหรือผู้จัดการทีมกลับไม่มีความเด็ดขาด ไม่สามารถทำให้ลูกทีมมีระเบียบวินัยในการเล่นได้ในระดับเดียวกับทีมคู่แข่ง เมื่อลูกทีมเล่นผิดพลาดก็ปล่อยผ่านอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นปล่อยปละละเลย
ตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ชัดถึงความมุ่งมั่นและความฟิตของนักเตะแต่ละทีมได้คือ การวิ่งคลุมพื้นที่ในแต่ละนัด ซึ่งในบรรดาทีมระดับหัวแถวด้วยกัน แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นรองทั้งเชลซี, ลิเวอร์พูล และแมนฯ ซิตี้ ซึ่งหมายความถึงสำหรับทีมคู่แข่งแล้ว การเล่นกับแมนฯ ยูไนเต็ด ง่ายกว่าเวลาที่พบกับอีก 3 ทีมมาก!
ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว โซลชาประเดิมการคุมทีมแมนฯ ยูไนเต็ด แบบไร้ความกดดันและทำได้ดีจนได้เซ็นสัญญาคุมทีมอย่างถาวร แต่วันเวลาผ่านไปผลงานมันเป็นตัวบ่งบอกแล้วว่าโซลชายังได้เป็นผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เพียงเพราะได้รับการสนับสนุนจากตระกูลเกลเซอร์ จริงอยู่บรรดาเรดอาร์มียังคงนับถือโซลชาในฐานะอดีตนักเตะขวัญใจ แต่ในฐานะผู้จัดการทีมแล้วแฟนทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ส่วนใหญ่มองออกแล้วว่าโซลชาไม่มีทางพาทีมไปได้ไกลกว่าที่ผ่านมาอีกแล้ว ถึงตอนนี้สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นมากที่สุดคือความเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งผู้จัดการทีม
ในช่วงที่พรีเมียร์ลีกหลีกทางให้กับโปรแกรมแข่งขันระดับทีมชาติ หวังว่าการเดินทางกลับไปสงบจิตใจที่บ้านเกิดนอร์เวย์จะทำให้โซลชาทบทวนความผิดพลาดทั้งหลายแหล่ และเรียนรู้แนวทางของเพื่อนร่วมอาชีพมาปรับปรุงทีมโดยเร็วที่สุด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากลูกทีมและแฟนบอลกลับคืนมา เนื่องจากเวลาของโซลชาเหลือน้อยเต็มที ต่อให้ตระกูลเกลเซอร์อยากให้เขาคุมทีมต่อจนจบฤดูกาลมากเพียงไร แต่หากผลงานของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ยังไม่ดีขึ้นในเร็ววันนี้ ตระกูลเกลเซอร์จะทานเสียงเรียกร้องจากแฟนบอลไหวหรือไม่ และได้นานแค่ไหน
โดยเฉพาะเมื่อแฟนบอลส่วนหนึ่งเริ่มตั้งข้อสังเกตแล้วว่า สาเหตุที่คอนเตไม่ได้รับการทาบทามใดๆ จากแมนฯ ยูไนเต็ด เลย เป็นเพราะตระกูลเกลเซอร์กลัวจะคอนโทรลผู้จัดการทีมคนใหม่ไม่ได้ มากกว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องความสำเร็จในสนามแข่งขัน และการที่มีโซลชา อดีตขวัญใจแฟนบอลเป็นผู้จัดการทีม ทำให้แฟนบอลมีความอดทนต่อผลงานที่น่าผิดหวังของทีมสูงกว่าปกติ หรือพูดง่ายๆ ว่าพอใจที่จะให้โซลชาทำหน้าที่เป็นกันชนให้ตระกูลเกลเซอร์ต่อไป
แต่ช่วงเวลาที่เหลือน้อยนี้ หากโซลชายังไม่พัฒนาแทคติกการเล่นและทีมเวิร์กให้ลงตัว ไม่ปรับปรุงตัวเองให้มีความเด็ดขาดมากขึ้น ใช้ประโยชน์จากผู้เล่นที่ถนัดเกมรุกมากขึ้น หรือยังจัดทีมลงแข่งแบบกล้าๆ กลัวๆ ต่อไป ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่มีทางไปได้ไกลกว่านี้แน่นอน ที่น่าเสียดายคือเขาได้รับโอกาสจากตระกูลเกลเซอร์ให้ลองผิดลองถูกมา 3 ปีแล้ว แต่ทีมยังวนอยู่ที่เดิม หรืออาจถดถอยลงด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่สภาพผู้เล่นของทีมโดยรวมในปัจจุบัน ดูดีกว่าในช่วงที่โซลชาเข้ามาสานงานต่อจาก โฮเซ มูรินโญ เสียอีก หากสเปอร์สภายใต้การคุมทีมของคอนเตทำผลงานแซงหน้าแมนฯ ยูไนเต็ด ได้ในเร็วๆนี้ คงดูไม่จืดจริงๆ สภาพ!
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม