ในวันที่มีการซื้อขายตัว อันเดรียส แฮร์โซก กันระหว่าง บาเยิร์น มิวนิค กับ แวร์เดอร์ เบรเมน เมื่อปี 1995
เป็นเวลาที่ทีมเสือใต้อยู่ในช่วงที่ขาดความสม่ำเสมอในผลงานการเล่น จนทำให้มีการปลดโค้ชทั้งระหว่างฤดูกาล และ ปลดหลังจบฤดูกาลในช่วงนั้นเป็นว่าเล่น
ระหว่างฤดูกาล 1990/91 - 1994/95 เสือใต้มี จุปป์ ไฮน์ยเกส, โซเรน เลอร์บี, เอริก ริบเบค, ฟรานซ์ เบคคันบาวเออร์, จิโอวานนี ทราปัตโตนี วนเวียนกันเข้ามาคุมทัพสโมสรที่ว่ากันว่า ตั้งความหวังว่าจะต้องประสบความสําเร็จในระดับที่ต้องแชมป์เอาไว้สูงมากไม่แพ้สโมสรใหญ่อย่าง เรอัล มาดริด หรือ บาร์เซโลนา
แต่มีเพียง ฟรานซ์ เบคคันบาวเออร์ ตำนานของชาติคนเดียวเท่านั้น ที่เข้ามาคุมทีมกลางทางจนช่วยทำให้ยอดทีมแห่งเยอรมนีได้ 1 แชมป์บุนเดสลีกาในรอบ 5 ฤดูกาลที่ว่า
::
จนถึงช่วงก่อนเปิดฤดูกาล 1995/96
บอร์ดบริหารของเสือใต้แต่งตั้งให้ อ็อตโต เรห์ฮาเกล ที่พา แวร์เดอร์ เบรเมน เป็นแชมป์บุนเดสลีกา 2 สมัย เมื่อฤดูกาล 1987/88 และ 1992/93
ซึ่งในตอนนั้น คิงอ็อตโต เป็นกุนซือที่มากฝีมือคนหนึ่งของวงการฟุตบอลเยอรมนี
พร้อมกับมีการทุ่มเงินซื้อนักเตะตามสไตล์ “เตะตัดขาคู่แข่ง” ด้วยการซื้อตัวดาวดังอย่าง ซิริอาโซ สฟอร์ซา มาจากทีมไกเซอร์สเลาเทิร์น, โธมัส สตรุนซ์ จากทีมสตุทการ์ท, อันเดรียส แฮร์โซก จอมทัพของ เรห์ฮาเกล จากเบรเมน และ เจอร์เกน คลินส์มันน์ มาจากสเปอร์ส
นี่คือหนึ่งในการทุ่มเงินที่มากที่สุดแห่งยุคนั้น และ นักเตะทุกคนคือเบอร์ต้นๆ ของวงการฟุตบอล
ในส่วนของ อันเดรียส แฮร์โซก คือนักเตะอันดับหนึ่งของออสเตรีย และ เป็นจอมทัพที่ทรงอิทธิพลในสนามของทีมนกนางนวล ด้วยสไตล์การเล่นที่สวยงาม คลาสสิก แต่มีประสิทธิภาพ จนได้รับฉายาจากสื่อว่า “โมสาร์ทลูกหนัง”
แต่ในการใช้ชีวิตทั้งใน และ นอกสนามของเขา ทั้งตอนเล่นที่ ราปิด เวียนนา และ แวร์เดอร์ เบรเมน เขาคือคนที่เก็บตัวมากๆ รวมทั้งทีมเก่าก็เป็นสโมสรที่เรียบง่ายสไตล์คนในครอบครัว
ส่วนที่ บาเยิร์น มิวนิค ซึ่งเป็นทีมชั้นนำของโลก มีบอร์ดบริหารที่เคร่งครัดเรื่องความสำเร็จที่ต่อเนื่องที่สนแค่ชนะ ชนะ และ ชนะ, มีผู้เล่นที่มีชื่อเสียงเกิน 11 ตัวจริง และ เต็มไปด้วยมวลคลื่นของความกดดันอันมหาศาลรออยู่
จนทำให้สิ่งที่แฟนบอลคาดหวัง กับ บอร์ดบริหารตั้งเป้าหมายที่เรียกกันว่า “แชมป์” กลายเป็นความกดดันในรูปแบบที่ แฮร์โซก ไม่เคยพบเคยเจอ
เสือใต้ประเดิม 7 นัดแรกด้วยการชนะรวด 100% แฮร์โซก ยิงได้ในนัดเปิดตัวทันที แต่ช่วงเวลาฮันนีมูนมันจบอยู่แค่เวลานั้น
เขาปรับตัวไม่ได้กับแผนการเล่นของที่นี่ แม้จะมีกุนซือคนเดิม และ รับมือกับความคาดหวังไม่ไหว จนทำให้การเล่นที่เคยเต็มไปด้วยจินตนาการหายไปจากการเล่นด้วยสไตล์จักรกลสังหารของเสือใต้
แม้ว่า เรห์ฮาเกล, คลินส์มันน์ และ โลธาร์ มัทเธอุส จะคอยให้ความช่วยเหลือมากแค่ไหน แต่ดูเหมือนว่า แฮร์โซก จะไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นผู้เล่นของสโมสรแห่งนี้
จนกระทั่งเข็มนาฬิกาหมุนมาถึงวันที่เขาเล่นไม่ได้อย่างใจที่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว อันเป็นวันที่ได้สร้างจุดแตกหักระหว่างเขากับสโมสร จนทำให้เขาได้รู้ว่าความสนุกสนานที่ตนเองคุ้นเคย ไม่สามารถหาได้จากยอดทีมแห่งนี้ที่สนใจแค่ถ้วยแชมป์เท่านั้น
วันที่ 13 เมษายน ในแมตช์ที่ 28 เสือใต้เดินทางไปแข่งกับ วีเอฟบี สตุทการ์ท ตอนนั้นสถานการณ์ของทีมไม่ค่อยดี เพราะมีคะแนนตามหลัง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ อยู่พอสมควร
ในขณะที่กำลังนำอยู่ 1-0 แต่การเล่นช้าที่เหมือนขาดความกระตือรือร้นของ แฮร์โซก ได้เป็นที่ขัดตาของ โอลิเวอร์ คาห์น นายทวารเลือดเดือดที่ขึ้นชื่อลือชามากๆ ในการเรื่องเอาเรื่องคน
จนทำให้ คาห์น ในวันที่ยังมีอายุที่ไล่เลี่ยกันกับ แฮร์โซก เดินเข้ามาใช้มือขยุ้มคอเสื้อของ แฮร์โซก แล้วผลักให้เขารีบออกไปเล่น พร้อมกับตะคอกใส่ว่า “อย่าทำตัวเป็นไอ้พวกขี้แพ้”
อันทำให้คนในสนามทุกคนตกตะลึง ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นทั้งสองทีม, สต๊าฟฟ์โค้ช และ แฟนบอลในสนาม
ในช่วงพักครึ่งเวลาแรก ผู้เล่นทุกคนกลับเข้าห้องพักเพื่อเตรียมตัวรอฟังการแก้เกมจากโค้ช โดยที่ไม่มีใครรู้ว่ากำลังจะเกิดเรื่องใหญ่ขึ้น
แฮร์โซก ปรี่เข้าไปหา คาห์น แล้วชี้หน้าเตือนว่า “ถ้าทำแบบนี้อีกครั้ง แกได้โดนตะบันหน้ากลับแน่ๆ”
คาห์นนิ่ง ไม่ตอบโต้ แต่เป็น อูลี เฮอเนส กับ คาร์ล-ไฮน์ซ รุมเมนิกเก ฝ่ายบริหารที่เข้ามาแทรกในเรื่องนี้ พร้อมกับสวน แฮร์โซก กลับไปว่า “นายนั่นแหล่ะที่สมควรถูกต่อยปาก และ ควรเก็บปากของนายไว้ให้ดี”
อ็อตโต เรห์ฮาเกล เข้ามาออกตัวแทนศิษย์รัก แต่กลับโดนเล่นงานจากผู้บริหารต่อหน้าลูกทีมเป็นรายถัดไป
(จากเหตุการณ์นี้ รวมถึงผลงานที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง คิงอ็อตโต ถูกไล่ออกในอีก 2 นัดถัดมาหลังทำทีมหมดลุ้นแชมป์ไปแล้ว)
::
แฮร์โซก กลายเป็นส่วนเกินของทีมในทันที ส่วน คิงอ็อตโต หมดความน่าเชื่อถือในสายตาลูกทีม
สองนายบ่าวจาก แวร์เดอร์ เบรเมน ไม่ใช่จิ๊กซอว์ที่ บาเยิร์น มิวนิค ต้องการ
แฮร์โซก ยังเล่าอีกว่าในห้องแต่งตัวมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน โดยมีกลุ่มของมัทเธอุส, กลุ่มของ โธมัส เฮลเมอร์ และ กลุ่มผู้เล่นต่างชาติซึ่งมี ฌอง ปีแอร์ ปาแปง รวมอยู่ด้วย ส่วน คลินส์มันน์ ค่อนข้างโดดเดี่ยวแม้ว่าจะเป็นสตาร์ดังของทีม
สำหรับ แฮร์โซก ก็ไม่ได้ถูกทิ้งขว้างจากทุกคน เพราะเขาได้ทั้งมัทเธอุส, คลินส์มันน์ ผลัดกันแวะเวียนเข้ามาให้กำลังใจ และ ให้คำแนะนำอยู่บ่อยครั้ง
สุดท้ายเมื่อจบฤดูกาล บาเยิร์น มิวนิค เข้าป้ายรองแชมป์บุนเดสลีกา แต่ได้แชมป์ยูฟา คัพ มาปลอบใจ ซึ่งในแมตช์ชิงชนะเลิศทั้ง 2 นัด ฟรานซ์ เบคคันบาวเออร์ ไม่ส่งเขาลงสนามเลยแม้แต่นาทีเดียว
แล้วตัวของ เบคคันบาวเออร์ ที่อยู่กับทีมทั้งในฐานะโค้ช และ ในฐานะปูชนียบุคคลของประเทศ ได้บอกกับทุกคนในทีมว่า “ถ้วยแชมป์ใบนี้มีไว้สำหรับผู้แพ้ ซึ่งพวกนายทุกคนจะได้ไปป้องกันแชมป์ในปีหน้า ขอแสดงความยินดีด้วย”
หลังจากนั้น แฮร์โซก ที่ตัดสินใจเอาไว้ตั้งแต่ช่วงมหาสงกรานต์แล้วว่าจะขอย้ายทีม ก็ได้แจ้งให้สโมสรได้ทราบ
คนแรกที่เข้ามาพูดคุย และ เป็นคนที่ใช้ความพยายามมากที่สุดในการยื้อเขาไม่ให้ย้ายทีมก็คือ โอลิเวอร์ คาห์น คนที่เอาเรื่องจนเขาเสียความมั่นใจ ด้วยคำพูดว่า
“ฤดูกาลแรกสำหรับที่นี่จะยากแบบนี้เสมอ แต่นายก็ผ่านมันมาได้นะ นายทำได้ไม่เลว เชื่อฉันนะแอนดี ฤดูกาลหน้าจะดีขึ้น”
แต่โชคร้ายที่ แฮร์โซก ตัดสินใจไปแล้ว เขาจึงพลาดช่วงเวลาดีๆ ในอีก 2-4 ฤดูกาลต่อมาอย่างที่ คาห์น พยายามบอกเอาไว้จริงๆ
::
จุดที่น่าสนใจในฤดูกาลดังกล่าวก็คือ ท่ามกลางฤดูกาลอันแสนวุ่นวายนั้น ได้เป็นฤดูกาลแรกๆ ที่ บาเยิร์น มิวนิค เต็มไปด้วยดาวดังที่ต่างที่มา และ หลายคนล้วนมีมวลมหาอีโกฝังอยู่ในตัวเอง
รวมทั้งยังคงมีบอร์ดบริหารที่เน้นในเรื่องความสำเร็จนำหน้า แล้วยังชอบทำตัวเป็นผู้มีบารมีที่อยู่เหนือสต๊าฟฟ์โค้ชทุกคน และ มักจะออกไปวิพากษ์วิจารณ์เรื่องภายในต่อหน้าสื่อมากขึ้น
สื่อมวลชนในยุคนั้นจึงตั้งฉายาให้สโมสรอันดับหนึ่งของประเทศเอาไว้ว่า “Hollywood FC” อันแปลเป็นคำนิยามถึง “ทีมอลวน คนอลเวง ของเหล่าดาราดัง”
สำหรับ แฮร์โซก ที่นี่คือจุดด่างในชีวิตของเขา แต่ก็ไม่ใช่มีแต่อะไรที่ไม่น่าจดจำเอาเสียเลย
เพราะที่นี่มีทั้งมุมมองดีๆ ที่เขาได้รับมาจาก มัทเธอุส, คลินส์มันน์, เฮลเมอร์ 3 แชมป์โลก 1990
มีตัวอย่างของความมุ่งมั่นที่จริงจังจาก คาห์น, การได้มุมมองในการเคลื่อนที่ของกองหน้าบัลลงดอร์อย่าง ปาแปง, การเล่นในยามที่ไม่มีบอลของ เมเม็ต โชล
รวมทั้งความเป็นมืออาชีพของบอร์ดบริหารทุกคนที่อาจจะดูวุ่นวาย แต่เพราะทุกคนต่างแค่ต้องการเป้าหมายที่สูงสุดเท่านั้น
ซึ่งเรื่องพวกนี้เขานำมาปรับใช้ในการทำงานเป็นโค้ช และ นำไปปรับใช้สำหรับดูแลลูกทีมในเวลาต่อๆ มา
สื่อมวลชน หรือ แฟนบอล ได้พยายามหาเหตุผลอื่นมารองรับความล้มเหลวของสุดยอดดาวเตะจากออสเตรียผู้นี้
ซึ่งก็มีการอ้างกันเล่นๆ ว่า คงเป็นเพราะวัฒนธรรมรับน้องใหม่ที่ แวร์เดอร์ เบรเมน ด้วยเหล้าจินโทนิก ที่นักเตะแกนนำของทีมจะมีการมอมเหล้านักเตะใหม่ แล้วให้ตอบคำถามทุกคำถามที่ตั้งขึ้นกันเอง
จนทำให้ แฮร์โซก ที่เคร่งศาสนา ผิดทั้งศีลข้อพูดจาเรื่อยเปื่อย และ ข้อที่ว่าอย่าร่ำสุราเยอะ คือเหตุผลของความแจ้งเกิดไม่ได้นั่นเอง
ซึ่งมันเกี่ยวกับทีมใหม่อีกทีมไหมละนั่น
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม