ไทยลีก เป็นลีกเดียวในอาเซียนที่มีการนำเทคโนโลยี VAR หรือ Video Assistant Review มาใช้ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อช่วยลดความผิดพลาดของการตัดสินโดยผู้ตัดสิน และลดปัญหาข้อพิพาทต่าง ๆ ให้น้อยลง
แต่ยิ่งเวลาผ่านไป VAR ดูเหมือนจะไม่ตอบโจทย์ และยังคงสร้างปัญหาในการตัดสินของเกมฟุตบอลเหมือนเดิม
ยกตัวอย่างในสัปดาห์ล่าสุดของ รีโว่ ไทยลีก มีปัญหาถึงสองจังหวะที่ค้านสายตาแฟนบอลมาก ๆ
ทั้งในเกมระหว่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด กับ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี ซึ่งมีจังหวะที่ทีมเยือนสวาทแคทได้ฟรีคิก วสันต์ ฮมแสน เปิดบอลเข้าไปในเขตโทษ ก่อนที่ คริสแลง เอ็นริเก จะขึ้นโหม่งบอลเข้าประตูไป อย่างไรก็ตาม ผู้ตัดสินในสนาม วรินทร สัสดี ได้รับสัญญาณจากห้องควบคุม VAR และใช้เวลาฟังอยู่ราว 3 นาที ก่อนจะเปลี่ยนคำตัดสินไม่ให้ประตูตีเสมอกับทีมเยือน โดยมองว่า คริสแลง เอ็นริเก อยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า ก่อนจะถอยมาโหม่งส่งบอลเข้าประตู
รวมถึงในเกมระหว่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กับ ชลบุรี เอฟซี ซึ่งมีจังหวะที่ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ยิงจังหวะแรกไปติดเซฟ ชนินทร์ แซ่เอียะ กระดอนมาเข้าทาง ศุภชัย ใจเด็ด ซ้ำจ่อ ๆ ไม่เหลือ ก่อนจะมีธงยกขึ้นมาว่าล้ำหน้า แต่ผู้ตัดสินในสนาม ศิวกร ภูอุดม ได้รับสัญญาณจากห้องควบคุม VAR แล้วเคลียร์ให้เป็นประตูขึ้นนำของ บุรีรัมย์ ไปแบบที่แฟนบอลงงกันเป็นแถว
โดยเนื้อแท้แล้ว เทคโนโลยี VAR มีประโยชน์อย่างมาก สามารถดูภาพย้อนหลังเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาได้ แต่ก็เหมือนทุกเทคโนโลยีบนโลก ถ้าคนใช้ไม่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีก็ไม่มีประโยชน์อะไร แถมมีแต่จะนำไปสู่ความผิดพลาดยิ่งกว่าเดิม
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกฟุตบอล เพราะสุดท้ายเทคโนโลยี VAR ก็ต้องใช้ผู้ตัดสินเป็นคนควบคุม แต่ก็ยังมีผู้ตัดสินอีกมากที่ไม่แม่นกฎและตัดสินผิดพลาด สุดท้ายแล้วผู้ตัดสินเหล่านั้นก็ไม่ได้ใช้ VAR ให้เป็นประโยชน์
ยกตัวอย่าง กรรมการ VAR สองคน ถ้ามองต่างกันในกรณีเดียวกัน ก็สามารถพลิกคำตัดสินให้ไม่เหมือนกันได้ง่าย ๆ และกลายเป็นปัญหาดราม่าวุ่นวายตามมาไม่รู้จบ
ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ตามมาคือ ไม่ให้กรรมการในสนามได้ดูจอเพื่อตัดสินใจว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต้องตัดสินใจอย่างไร แต่ให้ฟังคำตัดสินจากทาง VAR และเชื่อคำตัดสินไปตามนั้น
จากทั้งสองกรณีใน รีโว่ ไทยลีก เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ให้ผู้ตัดสินดูจอ VAR ที่อยู่ข้างสนาม แต่ให้รอฟังการตัดสินใจของกรรมการ VAR เพียงอย่างเดียว
ในขณะเดียวกัน กรรมการในห้องควบคุม VAR ทั้งสองกรณี ก็ทำงานได้ไม่เคลียร์ เนื่องจากไม่มีการแสดงภาพตีเส้นจากห้อง VAR เพื่อให้เห็นชัด ๆ ว่า ล้ำ หรือ ไม่ล้ำ ในการถ่ายทอดสด
แม้ว่า คณะกรรมการผู้ตัดสิน สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะออกมาชี้แจงว่า สาเหตุที่ภาพตีเส้นไม่สามารถแพร่ภาพออกมาทางการถ่ายทอดสดได้ เนื่องจากมุมที่ได้จากกล้องถ่ายทอดสดมีมุมมองไม่ชัดเจน แตกต่างจากมุมภาพจากห้อง VAR
จึงสรุปได้ว่า ทั้งสองกรณี ไม่มีทีมใดโกง มีแต่ทีมงานผู้ตัดสินที่ผิดพลาด จนทำให้อีกฝ่ายโดนข้อครหานั่นเอง