Link Copied!

10 ปี มหากาพย์!!!
ศรีสะเกษ เอฟซี VS อีสาน ยูไนเต็ด
มรดกหนี้ 32 ล้าน…ใครต้องชดใช้??

👉 ปี 2012 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารงานของ วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฯ ประกาศว่า สโมสรศรีสะเกษ เอฟซี ได้เปลี่ยนชื่อเป็น อีสาน ยูไนเต็ด พร้อมย้ายสนามเหย้าจากศรีสะเกษ ไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนที่ อีสาน ยูไนเต็ด จะคว้าอันดับ 5 ของตาราง ไทยลีก ฤดูกาล 2012 และนี่คือการเริ่มต้นของมหากาพย์แย่งสิทธิ์

👉 จากนั้นในปี 2013 ข้อพิพาทเรื่องสิทธิ์การทำทีมเริ่มปะทุขึ้น พร้อมกับการประท้วงอย่างหนักของแฟนบอล ขณะที่สโมสรศรีสะเกษ เอฟซี ได้เรียกร้องสิทธิ์ทำทีมคืนจาก อีสาน ยูไนเต็ด ก่อนที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในยุคนั้น จะประกาศคืนสิทธิ์ให้ ศรีสะเกษ เอฟซี กลับมาลุยศึกไทยลีกอีกครั้ง

👉 แต่ฝั่งผู้บริหาร อีสาน ยูไนเต็ด ไม่ยอมและได้ยื่นฟ้องต่อ ศาลปกครองอุบลราชธานี ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำสั่งคุ้มครอง ทำให้ ศรีสะเกษ เอฟซี ต้องยุติการแข่งขันทันที ทั้งที่เพิ่งลงสนามไปได้เพียง 3 นัด ทำให้ฤดูกาลนั้นฟุตบอลไทยลีก จึงเหลือทีมแข่งขันเพียง 17 ทีมเท่านั้น

👉 ปี 2014 ศรีสะเกษ เอฟซี ได้สิทธิ์ลงเล่นในลีกสูงสุดอีกครั้ง จนถึงในช่วงปลายปี 2016 ศาลปกครองอุบลราชธานี มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติ หรือคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี (สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ) ทำให้สิทธิการทำทีมกลับไปอยู่กับ อีสาน ยูไนเต็ด แต่ก็ยังมีการยื่นเรื่องถึงศาลปกครองสูงสุด ทำให้คดีนี้ยืดเยื้อออกไป

👉 ในระหว่างนั้น ศรีสะเกษ เอฟซี ที่ยังคงเล่นในลีกสูงสุด แต่ก็เริ่มผลงานไม่ดีอย่างต่อเนื่อง จนตกชั้นลงไปเล่นในไทยลีก 2 ฤดูกาล 2018 และร่วงหล่นลงไปอยู่ในไทยลีก 3 ฤดูกาล 2020/2021

👉 จนกระทั่งวันที่ 27 ก.ค.2565 ศาลปกครองสูงสุดอุบลราชธานี พิพากษาให้ สมาคมฟุตบอลฯ คืนสิทธิ์ ทีมฟุตบอลศรีสะเกษ เอฟซี ให้แก่ อีสาน ยูไนเต็ด และชดใช้ค่าเสียหายให้ อีสาน ยูไนเต็ด เป็นจำนวนเงิน 18.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 รวมประมาณ 32 ล้านบาท

👉 จากคำพิพากษาดังกล่าว นับเป็นการสิ้นสุดคดีการแย่งสิทธิ์ระหว่าง ศรีสะเกษ เอฟซี กับ อีสาน ยูไนเต็ด ที่ยาวนาน 10 ปี

👉 แต่สิ่งที่ตามมา และสะเทือนวงการฟุตบอลไทย ในยุคที่เพิ่งโดนวิกฤต โควิด-19 เล่นงานจนขาดสภาพคล่องจากความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่เหล่าบรรดาสปอนเซอร์ต่างก็ต้องรัดเข็มขัดตัดงบสนับสนุน

👉 สมาคมฯ ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ไม่ได้มีงบประมาณจัดสรรประจำปี รายได้ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาค่าสิทธิประโยชน์จากการจัดกิจกรรมฟุตบอล ของทั้งทีมชาติ และลีก ซึ่งต้องดำเนินงานให้เกิดการแข่งขันและเกิดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสิทธิ์ จึงจะสามารถรับการสนับสนุนตามสัญญา ไม่ได้มีงบประมาณสำรองไว้เหมือนกับหน่วยงานของรัฐ

👉 ปัจจุบัน ลำพังเงินรายได้ที่มีแค่ใช้หมุนเวียนเพื่อจัดการแข่งขันทีมชาติทุกชุด การเก็บตัว ค่าบริหารจัดการฟุตบอลลีก เงินสนับสนุนสโมสร ค่าผู้ตัดสิน ค่าเดินทาง ค่าผลิตสัญญาณถ่ายทอดสด ฯลฯ ก็แทบจะชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว

💰💰💰 มรดกหนี้สิน 32 ล้านบาท จึงถือเป็นหนี้สิ้นที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว

👉 ล่าสุด มีการยืนยันมาแล้วว่า ผู้บริหาร อีสาน ยูไนเต็ด ได้ยื่นศาลให้มีการอายัดบัญชีการเงินของ ส.บอลฯ โดยได้มีการยื่นเรื่องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอายัดสิทธิเรียกร้อง ดังนี้ 1.บัญชีเงินฝากธนาคาร 2.บัญชี และ หุ้น เงินปันผล ของ ส.บอล ด้วย

👉 นั่นเท่ากับว่า รายได้ต่าง ๆ ที่จะเข้ามาในบัญชีของสมาคมฯ เช่น ค่าสิทธิประโยชน์ ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอด เงินสนับสนุนสิ่งปลูกสร้างขั้นพื้นฐาน จากฟีฟ่า เอเอฟซี ฯลฯ จะถูกอายัด เพื่อนำไปใช้หนี้ ไม่สามารถใช้เงินในการดำเนินกิจกรรมฟุตบอลได้อีกต่อไป

👉 เหตุการณ์นี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การบริหารงานของ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ต้องก้มหน้ารับกรรม หาเงินมาชดใช้หนี้ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ และเป็นอีกหนึ่งระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ผู้บริหารยุคเก่าทิ้งไว้

👉 ความเสียหายครั้งนี้ จึงต้องไปย้อนดูว่า จะสามารถดำเนินคดีกับผู้ที่ได้ออกคำสั่ง จนทำให้ สมาคมฯ และ สมาชิก เสียหาย ได้หรือไม่???

👉 นอกจากนั้น การคืนสิทธิ์ให้ อีสาน ยูไนเต็ด กลับมาสู่ลีกอาชีพอีกครั้ง ก็เป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าจะไปเริ่มที่ลีกไหนกันแน่!!!

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares