อังกฤษพลาดการคว้าแชมป์รายการใหญ่ที่สุดในรอบ 55 ปี เพราะความผิดพลาดอันใหญ่หลวงในนัดชิงชนะเลิศ ยูโร 2020 หาก โอเล กุนนาร์ โซลชา หวังพาทีม แมนฯ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ฤดูกาลนี้ ต้องดูเป็นบทเรียน
ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 การแข่งขัน 2 นัดแรกของทีมท็อปโฟร์คือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี, ลิเวอร์พูล และแมนฯ ยูไนเต็ด ถือว่าทำผลงานได้ค่อนข้างดีสมความคาดหมาย ส่อแววว่าการเบียดลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาลใหม่จะเข้มข้นเร้าใจกว่า 2 ฤดูกาลหลังสุด ซึ่งลิเวอร์พูลกับแมนฯ ซิตี้ ลอยลำคว้าแชมป์ตั้งแต่ก่อนปิดฤดูกาลหลายนัด กลายเป็นลุ้นแค่ทีมใดบ้างจะคว้าโควตาไปเล่นในถ้วยยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีกเท่านั้น ต่างจากฤดูกาลนี้ซึ่งค่อนข้างชี้ชัดยากว่าทีมใดจะคว้าแชมป์ไปครอง และน่าจะเบียดลุ้นกันจนถึงนัดสุดท้าย
ผลงาน 2 นัดแรกคงยังบอกอะไรไม่ได้มาก เพราะดูจะมีเชลซีเพียงทีมเดียวที่ลงตัวกว่าเพื่อน ส่วนอีก 3 ทีมที่เหลือยังไม่ได้ส่งทีมที่ดีที่สุดลงเล่น เนื่องจากปัญหาอาการบาดเจ็บบ้าง นักเตะที่ซื้อเข้ามาใหม่ยังอยู่ในช่วงปรับตัวบ้าง กว่าจะเริ่มพอมองออกว่าทีมใดฉายแววว่าดีพอจะคว้าแชมป์คงต้องรอให้ผ่านไปสัก 2 เดือนก่อน ยกเว้นแต่ว่าทีมแชมป์เก่า แมนฯ ซิตี้ เกิดคว้าตัว แฮร์รี เคน ศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษของทีมท็อตแนม ฮอตสเปอร์ มาเสริมแดนหน้าได้จริงๆ ก็คงต้องยกให้ทีมแชมป์เก่าเป็นเต็งหนึ่งที่มีโอกาสคว้าแชมป์มากที่สุดในทันที
เมื่อดูจากขุมกำลังนักเตะของทั้ง 4 ทีมท็อปโฟร์ ณ ปัจจุบัน ถือว่าค่อนข้างมีดี แข็งแกร่งพอๆ กัน แต่หากดูจากตำแหน่งผู้จัดการทีมซึ่งเป็นมันสมองของทีม ต้องยอมรับว่าแมนฯ ยูไนเต็ด ค่อนข้างเป็นรองผู้จัดการทีมอีก 3 ทีมที่เหลือมาก เมื่อวัดจากความสำเร็จระดับสุดยอดในการคุมทีมใหญ่ๆ เนื่องจากแมนฯ ยูไนเต็ดเป็นทีมใหญ่ทีมแรกที่ โอเล กุนนาร์ โซลชา อดีตศูนย์หน้าทีมชาตินอร์เวย์และอดีต “ซูเปอร์ซับ” ของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด มีโอกาสเข้ามาคุมทีม ประสบการณ์การคุมทีมในระดับสุดยอดของเขาจึงเป็นรองคู่แข่งทั้ง 3 ทีมที่เหลือ
ความจริงผลงานการคุมทีมของโซลชาในฤดูกาลที่ผ่านมาถือว่าดีพอสมควร คือจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 2 และผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศยูโรปา ลีก ทำให้ฝ่ายบริหารของทีมตัดสินใจขยายสัญญาให้โซลชาเพิ่มอีก 3 ปีจนถึงปี 2024 เพื่อตอบแทนที่เขาเป็นผู้จัดการทีมที่พาทีมทำผลงานดีที่สุด นับตั้งแต่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อำลาทีมหลังจบฤดูกาล 2012/13 แต่ในสายตาของเกจิลูกหนังหลายคน ฤดูกาลที่ผ่านมาโซลชาเองก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ต้องจบฤดูกาลมือเปล่า จากแทคติกการเล่นแบบแปลกๆ ในบางนัด ซึ่งแทนที่จะทำให้ทีมเล่นดีขึ้น กลับแย่ลงกว่าเดิม
มีทฤษฎีหนึ่งที่มักถูกหยิบยกมาใช้บ่อยๆ คือ “อะไรที่ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเปลี่ยน” ซึ่งที่ผ่านมาดูเหมือนโซลชาไม่ค่อยซึมซับแนวคิดนี้เท่าไรนัก มักเปลี่ยนทีมลงเล่นเสมอ เพื่อหมุนเวียนผู้เล่นให้มีสภาพร่างกายสดชื่นพร้อมลงแข่งทุกรายการ แต่ผลที่ได้มักไม่เป็นไปตามคาด จนเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งทำผลงานได้ดีในศึกฟุตบอลถ้วยไปไม่ถึงฝั่งฝันเสียที และเป็นเหตุให้ทีมทำแต้มหล่นในศึกพรีเมียร์ลีกไปหลายต่อหลายนัด ซึ่ง 2-3 ฤดูกาลที่ผ่านมาอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะศักยภาพของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ดีพอจะลุ้นแชมป์อยู่แล้ว แต่ฤดูกาลนี้ความคาดหวังของบรรดาเรดอาร์มีสูงลิบลิ่ว หากทำคะแนนหล่นโดยไม่จำเป็น จะส่งผลถึงการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกทันที
ตัวอย่างล่าสุดที่โซลชาดูแล้วควรนำมาเป็นบทเรียนสอนตนเองได้เป็นอย่างดีคือ การตัดสินใจของ แกเร็ธ เซาท์เกต ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล ยูโร 2020 ซึ่งกลายเป็นความผิดพลาดอย่างร้ายแรง ส่งผลให้อังกฤษพลาดโอกาสคว้าแชมป์รายการใหญ่ครั้งแรกในรอบ 55 ปี ทั้งๆ ที่มีโอกาสใกล้เคียงที่สุดแล้ว ไม่นับความได้เปรียบที่ได้ลงแข่งกับทีมอิตาลีในสนามเวมบลีย์ของตนเองอีกด้วย จริงอยู่การผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลยูโร 2020 เป็นเรื่องน่าพอใจ แต่หากใครก็ตามที่คิดจะพาทีมคว้าแชมป์หรือยืนเป็นหนึ่ง ไม่ควรทำแบบที่เซาท์เกตทำอย่างเด็ดขาด
ความพ่ายแพ้ครั้งนั้น หลายคนมัวแต่โฟกัสไปที่การจัดนักเตะดาวรุ่งอย่าง บูกาโย ซากา เป็นคนยิงจุดโทษเป็นคนสุดท้ายใน 5 คนแรก และใส่ชื่อ มาร์คัส แรชฟอร์ด กับ เจดอน ซานโช เป็นคนยิงจุดโทษ ทั้งที่เพิ่งลงสนามในนาทีสุดท้ายของช่วงต่อเวลาพิเศษ จึงมองข้ามประเด็นสำคัญไปอย่างหนึ่งว่า ทันทีที่รายชื่อ 11 ผู้เล่นตัวจริงของทั้งสองทีมเปิดเผยออกมา โรแบร์โต มันชินี โค้ชทีมอิตาลีทราบทันทีว่าเซาท์เกตหวาดหวั่นในเกมรุกอันรวดเร็วของลูกทีมตนเอง จึงจัดเซ็นเตอร์ฮาล์ฟลงเล่นถึง 3 คน โดยมีวิงแบ็ก 2 ฝั่ง ซึ่งเป็นระบบที่เซาท์เกตใช้ในนัดชนะเยอรมนีในรอบ 16 ทีม ไม่ใช่แผงหลัง 4 ตัวที่ใช้นัดชนะเดนมาร์กในรอบรองชนะเลิศ
ความจริงระบบเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัวไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โค้ชหลายคนพาทีมประสบความสำเร็จด้วยการเล่นแบบนี้มาแล้วมากมายหลายทีม ที่ชัดเจนที่สุดในฤดูกาลที่ผ่านมาคือทีมเชลซี แชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาลที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ โทมัส ทูเคิล ผู้จัดการทีมเชลซีสามารถพาทีมกลับสู่เส้นทางความสำเร็จอีกครั้งได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เป็นเพราะเลือกใช้ระบบการเล่นที่เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เล่นในทีม จนสามารถพลิกสถานการณ์จากที่แทบไม่มีความหวังที่จะลุ้นโควตายูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก กลับมาคว้าอันดับที่ 4 และที่สำคัญยังเอาชนะแมนฯ ซิตี้ แชมป์พรีเมียร์ลีกได้ในนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ฤดูกาลที่ผ่านมาอีกด้วย
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างการเลือกใช้เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัวของทูเคิลกับเซาท์เกตต่างกันตรงที่ทูเคิลรู้ดีว่าจุดอ่อนของทีมเชลซี คือคู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัว และใช้แบ็กซ้าย-ขวาที่เปิดเกมรุกดียืนเป็นวิงแบ็ก ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี จึงเลือกใช้ระบบนี้เป็นหลัก แต่ยังเปิดเกมรุกเต็มตัว ขณะที่เซาท์เกตเลือกใช้เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัว เฉพาะเวลาเจอกับทีมคู่แข่งที่ชื่อชั้นเหนือกว่า หรือพูดง่ายๆ ว่าใช้เฉพาะนัดที่รู้สึกเกรงบารมีทีมคู่แข่ง ทั้งๆ ที่แผงกองหลังแบ็กโฟร์ทีมอังกฤษชุดยูโร 2020 จัดว่าเป็นชุดที่แข็งแกร่งที่สุดชุดหนึ่งของทีมอังกฤษ และในศึกยูโร 2020 ยังไม่เสียประตูจากลูกโอเพ่นเพลย์เลย
การเลือกเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัวส่งผลต่อความมั่นใจของ ดีแคลน ไรซ์ และ คาลวิน ฟิลลิปส์ 2 มิดฟิลด์ไดนาโมพลังหนุ่ม ซึ่งทำหน้าที่เก็บกวาดบอลในแดนกลางได้อย่างยอดเยี่ยมมาตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ว่า พวกเขากำลังเผชิญกับแผงกองกลางที่เหนือกว่า จึงต้องมีเซ็นเตอร์ฮาล์ฟมายืนซ้อนด้านหลังเพิ่มอีกคน ปัจจัยด้านจิตวิทยานักเตะทีมอิตาลีจึงเหนือกว่าตั้งแต่ก่อนลงสนาม แม้จะเป็นทีมเยือนก็ตาม แน่นอนเซาท์เกตกังวลแบ็กทั้งสองฝั่งของทีมอิตาลีที่เสริมเกมรุกได้เป็นอย่างดี แต่การเลือกระบบเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัว โดยถอด บูกาโย ซากา ออกจากตำแหน่งตัวจริง ยิ่งทำให้แบ็กซ้ายของทีมอิตาลีดันขึ้นมาเสริมเกมบุกง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องพะวงกับเกมรับมากนัก
ความจริงทุกนัดก่อนหน้านี้ ตั้งแต่รอบแรกยันรอบรองชนะเลิศ เซาท์เกตวางแผนการเล่นได้เป็นอย่างดี จนกรุยทางเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สมความตั้งใจ ส่วนทีมอิตาลีแม้จะไม่แพ้ทีมใดเลยติดต่อกันก่อนศึกยูโรมาเกือบ 30 นัด แต่พวกเขาไม่ใช่ทีมเต็งแชมป์ในช่วงก่อนทัวร์นาเมนต์ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนทีม จากชุดที่พลาดโควตาลงแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2018 และชื่อชั้นนักเตะทีมอิตาลีชุดนี้ถือว่าเป็นรองทีมอิตาลีในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามาก เรียกว่าแทบไม่มีซูเปอร์สตาร์ที่โดดเด่นระดับโลกแม้แต่คนเดียว
แต่ฟุตบอลก็เหมือนกับกีฬาทุกชนิดที่ผลแพ้-ชนะไม่ได้ตัดสินกันที่ความสามารถของผู้เล่นในทีมเพียงอย่างเดียว มันสมองในการวางแผนการเล่นของโค้ชก็มีความสำคัญ ทีมอิตาลีภายใต้การคุมทีมของมันชินี ไม่ใช่ทีมที่ลงเล่นโดยเน้นเกมรับที่เหนียวแน่น ตามสไตล์ปลอดภัยไว้ก่อน เหมือนทีมอิตาลียุคโบราณ เหตุเพราะมันชินีรู้ดีว่าจุดเด่นของทีมคือมีผู้เล่นในเกมรุกที่ลื่นไหลรวดเร็วหลายคน ขณะที่คู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟของอิตาลีอายุมากแล้วทั้งคู่ หากวางแผนการเล่นแบบเน้นการตั้งรับ อาจมีปัญหาเรื่องการยืนระยะ และพลาดเสียประตูในช่วงท้ายเกมได้
เมื่อเซาท์เกตจัดทีมแบบนี้จึงเข้าทางมันชินีโดยแท้ แม้ ลุค ชอว์ แบ็กซ้ายทีมอังกฤษยิงประตูให้ทีมอังกฤษขึ้นนำก่อนตั้งแต่ไม่ถึง 2 นาที แทนที่จะอังกฤษจะเดินหน้าแล้วฆ่ามัน กลับเน้นการเล่นแบบอนุรักษ์นิยมคือถอยไปตั้งรับลึก ไม่เน้นการเปิดเกมรุกเพื่อทำประตูย้ำชัยชนะ แต่เน้นบีบพื้นที่ให้อิตาลีเล่นยาก เมื่อเวลาผ่านไปความมั่นใจของนักเตะอิตาลียิ่งเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ทีมอังกฤษเล่นเหมือนรอเวลาถูกตีเสมอ สุดท้ายก็เสียประตูจนได้ แทนที่เซาท์เกตจะปลุกพลังฮึดของลูกทีมด้วยการกลับมาเน้นการทำประตูเพื่อเอาชนะให้ได้เด็ดขาดในเวลาปกติ กลับเล่นแบบปลอดภัยไว้ก่อน จนสุดท้ายต้องดวลจุดโทษตัดสินแชมป์ในที่สุด
หากเซาท์เกตไม่เน้นการเล่นที่ระมัดระวังเกินไปจนดูน่าเบื่อ หวังเพียงรักษาประตูนำ 1-0 ไว้ให้ได้จนครบ 90 นาที รูปเกมของทีมอังกฤษในนัดชิงชนะเลิศจะดีกว่านี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อดูจากการที่ เลโอนาร์โด สปินาซโซลา แบ็กซ้ายที่ทำผลงานได้ดีที่สุดของทีมอิตาลี ได้รับบาดเจ็บ พลาดลงเล่นในรอบชิงชนะเลิศ แต่เซาท์เกตกลับกลัวเกมรุกของทีมอิตาลีมากเกินไป ทั้งๆ ที่สเปนทำให้เห็นมาแล้วว่า อิตาลีชุดนี้มีเกมรุกวูบวาบน่ากลัวจริง แต่ไม่ใช่สุดยอดทีมที่เหนือชั้น ยังมีจุดอ่อนให้เล่นงานได้ หากอังกฤษส่งซากาลงเล่นตั้งแต่แรก และเปลี่ยนตัว แจ็ค กรีลิช รวมทั้งแรชฟอร์ดกับซานโชลงสนามเร็วขึ้น ผลการแข่งขันอาจไม่จบลงอย่างน่าเศร้าแบบนี้
อิตาลีชุดนี้คู่ควรกับตำแหน่งแชมป์ยูโร 2020 จริง เพราะเน้นเกมรุกเพื่อคว้าชัยชนะเป็นหลัก แต่ไม่ใช่สุดยอดทีมที่แข็งแกร่งขนาดทีมอังกฤษที่ได้เล่นในบ้านจะเอาชนะไม่ได้ หากอังกฤษเล่นตามเกมปกติเหมือนทุกนัดก่อนหน้านี้ และบางทีผลแพ้ชนะอาจไม่ต้องตัดสินกันถึงขั้นดวลจุดโทษ หากเซาท์เกตเปลี่ยนตัวผู้เล่นที่ยังสดลงไปบดคู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟสูงวัยของอิตาลี หรือกล้าได้กล้าเสียในการเปลี่ยนตัวเร็วกว่านี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่แฟนบอลที่เป็นกลางเอาใจช่วยให้ทีมอิตาลีคว้าแชมป์มากกว่า เพราะขนาดแฟนบอลอังกฤษเองส่วนหนึ่งยังสมน้ำหน้ากับความพ่ายแพ้ของทีมอังกฤษ เพราะความระมัดระวังจนเกิดเหตุของเซาท์เกต !
ความผิดพลาดตรงนี้คือบทเรียนอันใหญ่หลวงที่โซลชาควรดูไว้เป็นบทเรียน เนื่องจากหลายนัดทั้งในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก และพรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่ผ่านมา ที่ทีมแมนฯ ยูไนเต็ดลงเล่นในระบบเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัว มี ลุค ชอว์ ยืนเป็นเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ ร่วมกับ แฮร์รี แม็กไกวร์ และ วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ และเกือบทุกครั้งจะเป็นการพบกับทีมใหญ่ที่ชื่อชั้นดูเหนือกว่าในช่วงหลังๆ เป็นเพราะโซลชารู้ดีว่าคู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟไว้วางใจไม่ได้ จึงเลือกจัดทีมแบบนั้น ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกับที่ทูเคิลเลือกใช้ระบบเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัวนับตั้งแต่เข้ามาคุมทีมเชลซี
ถามว่าการใช้ระบบเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ 3 ตัวมีข้อเสียอย่างไร คำตอบคือทุกระบบการเล่นมีข้อดีข้อเสียเหมือนกันหมด แต่โซลชามักเลือกใช้ระบบการเล่นแบบนี้เวลาเจอกับยอดทีมที่ยังเล่นในระบบเดิม ทีมคู่แข่งที่เล่นในระบบถนัดอยู่แล้ว จึงสามารถเล่นงานช่องว่างระหว่างวิงแบ็กกับเซ็นเตอร์ฮาล์ฟของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดได้บ่อยๆ กลายเป็นจุดอ่อนที่นำไปสู่การเสียประตู อีกทั้งยังเสียผู้เล่นในแดนกลางหรือแดนหน้าไปหนึ่งตำแหน่ง ตรงนี้โซลชาควรดูบทเรียนจากเซาท์เกตไว้ให้ดี โดยเฉพาะเวลานี้เมื่อได้ ราฟาเอล วาราน มายืนคู่กับแม็กไกวร์ คู่เซ็นเตอร์ฮาล์ฟของทีมแมนฯ ยูไนเต็ด น่าจะเป็นคู่ที่ไว้วางใจได้มากที่สุดในรอบหลายปี
พูดถึงข้อเสียของเซาท์เกตที่ส่งผลให้ทีมอังกฤษพลาดโอกาสคว้าแชมป์ยูโรสมัยแรกไปแล้ว สิ่งดีๆ ที่โซลชาสามารถเรียนรู้จากเซาท์เกตได้คือ การส่งนักเตะลงสนามโดยวัดจากฟอร์มการเล่นหรือผลงานปัจจุบัน ไม่ใช่วัดจากผลงานที่ผ่านมาหรือชื่อเสียงในอดีต เพราะการหมุนเวียนผู้เล่นมากเกินไปจากความลังเล นอกจากจะทำให้ผู้เล่นขาดความมั่นใจแล้ว ยังส่งผลเสียต่อทีมเวิร์กอีกด้วย ผู้เล่นอย่าง จอร์แดน พิกฟอร์ด, ดีแคลน ไรซ์, คาลวิน ฟิลลิปส์ และ บูกาโย ซากา อาจถูกแฟนบอลส่วนหนึ่งมองว่าชั้นยังไม่ถึงลงเป็นตัวจริง แต่เซาท์เกตกลับยึดทั้ง 4 คนเป็นแกนหลัก และปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนคือกำลังสำคัญที่ทำให้ทีมอังกฤษผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศยูโร 2020
ฤดูกาลนี้หากดูจากรายชื่อขุมกำลังผู้เล่น แม้แมนฯ ซิตี้จะยังไม่ได้ตัว แฮร์รี เคน แต่พวกเขายังเป็นทีมเต็งแชมป์ในระดับเดียวกับทีมเชลซี ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด กับทีมลิเวอร์พูล ตามหน้าเสื่อแล้ว ชั่วโมงนี้ยังเป็นรองเล็กน้อย แต่ทุกทีมมีดีพอจะคว้าแชมป์ฤดูกาลนี้ หากเล่นได้ด้วยฟอร์มที่ดีที่สุดของทุกทีม ดังนั้นตัวแปรสำคัญคือการเก็บคะแนนจากทีมกลุ่มนำด้วยกัน และคะแนนจากทีมในกลุ่มลุ้นพื้นที่ยูโรปา ลีก หากทีมใดเก็บคะแนนได้มากที่สุด โอกาสคว้าแชมป์อยู่ไม่ไกล เนื่องจากขุมกำลังของทั้ง 4 ทีมนี้ ค่อนข้างเหนือกว่าทีมอื่นๆ ที่เหลือ
สิ่งที่โซลชาต้องรีบจัดการคือหา 11 ตัวจริงที่ลงตัวที่สุดให้ได้โดยเร็วที่สุด ผู้รักษาประตูกับแผงหลังไม่น่าห่วง ชั่วโมงนี้ ดาบิด เด เคอา, แอรอน วาน-บิสซากา, ลุค ชอว์, แฮร์รี แม็กไกวร์ และ ราฟาเอล วาราน คือชุดที่ดีที่สุด ปัญหาอยู่ที่แดนกลาง เพราะ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ กับเฟรดเล่นด้วยกันได้ดีก็จริง แต่การมีกองกลางที่เน้นเกมรับถึง 2 ตัวอยู่ในทีม หมายถึงผู้เล่นในเกมรุกจะหายไปหนึ่งคน ทำให้ไม่สามารถเลือก มาร์คัส แรชฟอร์ด, เจดอน ซานโช, เมสัน กรีนวูด, อ็องโตนี มาร์กซิยาล หรือ เอดินสัน คาวานี ลงเล่นพร้อมกัน 3 คนได้ จึงต้องตัดใจเลือกใครสักคนระหว่างแม็คโทมิเนย์กับเฟรด
ที่สำคัญโซลชาจะต้องไม่ทำผิดพลาดในแบบที่เซาท์เกตทำในนัดชิงยูโรคือเกรงบารมีทีมคู่แข่ง โดยเฉพาะหากไปเยือนทีมในกลุ่มหัวตารางด้วยกัน เพราะปรัชญาที่ว่า การเปิดเกมรุกต่อเนื่องคือเกมรับที่ดีที่สุด มีส่วนจริงไม่น้อย ตราบใดที่บอลยังอยู่ในการครอบครอง ทีมคู่แข่งก็ไม่สามารถทำอะไรได้ อีกทั้งยังได้ใจกองเชียร์ การวางแผนการเล่นแบบปลอดภัยไว้ก่อน จึงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับโซลชาหากคิดจะพาทีมลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีก บางครั้งเกมที่สูสีมีดีพอๆ กัน แพ้ชนะกันด้วยสภาพจิตใจ หากแสดงให้ทีมคู่แข่งเห็นว่ากล้าๆ กลัวๆ คู่แข่งจะยิ่งได้ใจ กลายเป็นทีมตนเองรอเวลาแพ้
การขับเคี่ยวลุ้นแชมป์ฤดูกาลนี้มีแนวโน้มสูสีกว่าหลายฤดูกาลที่ผ่านมา คะแนนแต่ละแต้มในแต่ละนัดสำคัญมาก แฟนบอลเรดอาร์มีคงยอมรับได้ยาก หากโซลชาทำแต้มหลุดมือเพราะเน้นการเล่นแบบปลอดภัยไว้ก่อนมากเกินความจำเป็น หากโซลชาไม่เรียนรู้อะไรเลย โอกาสที่ยิ่งแข่งไปคะแนนจะยิ่งตามหลังทีมคู่แข่งจนหมดโอกาสไล่ทันมีสูงมาก และสิ่งที่แตกต่างระหว่างโซลชากับเซาท์เกตคือ แม้อังกฤษจะพลาดแชมป์ยูโรเพราะความผิดพลาดครั้งใหญ่เพียงนัดเดียว แต่การได้เข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ถือว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมสมความคาดหมาย เซาท์เกตจึงได้รับโอกาสให้แก้มือต่อในศึกฟุตบอลโลกปี 2022
แต่หากฤดูกาลนี้โซลชาจบฤดูกาลมือเปล่าหรือไม่ได้ลุ้นแชมป์พรีเมียร์ลีกจนถึงนัดสุดท้าย เวลาของเขากับทีมแมนฯ ยูไนเต็ด อาจสิ้นสุดลงเพียงแค่นี้!