Link Copied!

ทำไมถึงไม่มีฟุตบอลชายจาก “สหราชอาณาจักร”ในโอลิมปิก

ในฐานะที่ “สหราชอาณาจักร” เป็นดินแดนที่ทำให้ฟุตบอลเป็นที่รู้จัก เป็นชาติบุกเบิกกีฬาเตะลูกหนัง แถมเป็นบ้านเกิดของ เฟอร์กัส ซูเทอร์ นักฟุตบอลอาชีพคนแรกในประวัติศาสตร์ แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมชาติที่สถาปนาตัวเองว่าเป็นบ้านเกิดของฟุตบอล ถึงไม่มีทีมฟุตบอลชายลงแข่งในกีฬาโอลิมปิก 

อย่างที่เรารู้กันว่าสหราชอาณาจักรนั้นประกอบไปด้วย อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ครั้งสุดท้ายที่ฟุตบอลชายภายใต้ธงยูเนียนแจ็ค ผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายในกีฬาโอลิมปิกเกิดขึ้นในปี 2012 ซึ่งตอนนั้นกรุงลอนดอนเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ และทีมฟุตบอลชายได้ผ่านเข้ารอบแบบอัตโนมัติ ผู้เล่นในทีม 18 คน ประกอบไปด้วยผู้เล่นจาก2 ชาติ คือ อังกฤษ และเวลส์ ซึ่งพวกเขาไปได้ไกลสุดแค่รอบ 8 ทีมสุดท้ายก่อนจะตกรอบด้วยฝีเท้าของเกาหลีใต้ในการดวลลูกจุดโทษ

ขณะที่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลยูโร อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือต่างส่งทีมเข้าแข่งขันในนามประเทศตัวเอง แต่ในกีฬาโอลิมปิกนั้นทั้งสี่ชาติต้องส่งทีมเข้าแข่งร่วมกันในนามสหราชอาณาจักร

การที่ทีมฟุตบอลชายจาก Great Britain หรือ GB ลงเล่นในโอลิมปิก 2012 ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 52 ปี หลังจากที่ลงแข่งโอลิมปิกครั้งสุดท้ายในปี 1960 ถึงจะไม่ได้เหรียญทองแต่ก็เกิดคำถามถึงความเป็นไปได้ในการส่งทีมลงแข่งขันรายการนี้ในอนาคต แต่นั่นก็ไม่เกิดขึ้นในโอลิมปิกที่ ริโอ เดอจาเนโร ในปี 2016 และโตเกียว 2020 ไม่ใช่แค่ไม่ผ่านรอบคัดเลือก แต่ไม่ได้ส่งทีมเข้ารอบคัดเลือกด้วยซ้ำ 

3 ปีหลังจากโอลิมปิกที่ลอนดอน ทีมฟุตบอลของอังกฤษในชุดอายุต่ำกว่า 21 ปี ซึ่งตอนนั้นมี แกเร็ธ เซาท์เกต เป็นผู้จัดการทีม ส่งข้อเสนอไปยังสมาคมฟุตบอลอังกฤษเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการส่งทีมเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาผู้เล่น เซาท์เกตมองว่าการปฏิเสธโอกาสจะทำให้นักฟุตบอลพลาดประสบการณ์อันมีค่า สมาคมฟุตบอลอังกฤษจัดการประชุมกับสมาคมฟุตบอลจากทั้งสกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ แต่ผลการประชุมไม่ดีนัก ด้วยความที่แต่ละชาติก็ไม่ค่อยจะลงรอยกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การรวมทีม GB ขึ้นอีกครั้งเลยแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทีมฟุตบอลชายของสหราชอาณาจักรเคยลงแข่งโอลิมปิกทั้งหมด 10 ครั้ง คว้าเหรียญทองมาครองได้ 3 สมัย เซอร์แมตต์ บัสบี เคยคุมทีมลงแข่งด้วยในปี 1948 แต่ทำได้เพียงอันดับที่ 4 ครั้งสุดท้ายที่ทีมฟุตบอลชายของสหราชอาณาจักรได้เหรียญทองโอลิมปิกเกิดขึ้นในปี 1912 กว่า 109 ปีมาแล้ว 

ฟุตบอลถูกบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรก ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 2 ปี 1900 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ในตอนนั้นมีทีมลงแข่งขันแค่ 3 ชาติ ซึ่งแต่ละชาติก็ส่งทีมสโมสรลงแข่งขัน ซึ่งอังกฤษส่งทีมอัพตันพาร์ค (ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเวสต์แฮม) เป็นตัวแทน โดยอัพตันพาร์คเอาชนะฝรั่งเศสไปได้ 0-4 ประตู ได้เป็นที่หนึ่ง แต่ด้วยความที่เป็นกีฬาสาธิต เลยไม่มีการมอบเหรียญทองให้ จนคณะกรรมการโอลิมปิกสากลมาปรับให้เหรียญทองกับสหราชอาณาจักรในภายหลัง

หลังจากไม่ได้ไปแข่งโอลิมปิกที่เซนต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1904 ทีมฟุตบอลชายของสหราชอาณาจักรเข้าแข่งโอลิมปิกอีกครั้งในปี 1908 บนแผ่นดินบ้านเกิด และคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ เช่นกันกับโอลิมปิก 1912 ที่สวีเดน ซึ่งทีม GB ป้องกันเหรียญทองไว้ได้ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงในปี 1918 โอลิมปิกกลับมาแข่งขันอีกครั้งในปี 1920 ที่เบลเยียม ซึ่งทีมฟุตบอลชาย GB ตกรอบแรก นำมาสู่การปะทะกันระหว่างสมาคมฟุตบอลอังกฤษ และฟีฟ่า โดยทางเอฟเอของอังกฤษต้องการให้ฟุตบอลในโอลิมปิกเป็นผู้เล่นสมัครเล่น แต่ทางฟีฟ่าอยากให้มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติเป็นเวทีโชว์ความสามารถของนักฟุตบอลระดับโลก

ความไม่ลงรอยกันเลยทำให้สมาคมฟุตบอลอังกฤษออกจากฟีฟ่า เพื่อประท้วงและแสดงความไม่พอใจ สหราชอาณาจักรเลยไม่ส่งทีมฟุตบอลชายเข้าแข่งขันในโอลิมปิกปี 1924 และ 1928 ในขณะที่โอลิมปิก 1932 ที่ลอสแอนเจลิส ไม่มีฟุตบอลบรรจุในการแข่งขัน ทีมฟุตบอลชายของสหราชอาณาจักรกลับมาลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกอีกครั้งในปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โอลิมปิกครั้งอื้อฉาว เวทีสร้างภาพของนาซี แต่ก็ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย หลังจากนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เข้ามาขัดจังหวะ 

เมื่อสงครามจบลง สหราชอาณาจักรก็ส่งทีมเข้าร่วมโอลิมปิกเรื่อยมาทุกครั้ง โดยใช้ผู้เล่นสมัครเล่น นับตั้งแต่ปี 1948 ถึง 1972 แต่ไม่ผ่านรอบคัดเลือกในปี 1964, 1968 และ 1972 ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนนักบอลสมัครเล่น การเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของวงการฟุตบอลอาชีพ ตัวเลือกของผู้เล่นน้อยลงเรื่อยๆ สู้ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือเพิ่งเริ่มขยายฟุตบอลลีกอาชีพไม่ได้ หลังจากโอลิมปิกปี 1972 ก็ไม่ส่งทีมฟุตบอลภายใต้ชื่อ GB เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกอีกเลยจนในปี 2012 

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 1974 เมื่อสมาคมฟุตบอลอังกฤษหยุดการแบ่งนักฟุตบอลเป็นผู้เล่นอาชีพและผู้เล่นสมัครเล่น ผู้เล่นทุกคนถูกลงทะเบียนในฐานะนักฟุตบอล ไม่ว่าจะเล่นแบบได้ค่าจ้างหรือไม่ก็ตาม นั่นทำให้ทีมฟุตบอลสมัครเล่นของอังกฤษ ซึ่งเป็นทีมที่ใช้ในการลงแข่งโอลิมปิก ยุติลงไปด้วย และสมาคมฟุตบอลอังกฤษยุติบทบาทในการส่งทีมเข้าร่วมโอลิมปิก ในปี 1992 กีฬาโอลิมปิกมีการกำหนดให้ทีมฟุตบอลผู้เล่นอายุต่ำกว่า 23 ปี และมีผู้เล่นอายุเกินได้ 3 คน สำหรับชาติในยุโรป ยูฟ่ากำหนดให้ใช้รายการ UEFA European Under-21 Championship เป็นเวทีคัดเลือกทีมไปโอลิมปิก ซึ่งทั้ง 4 ชาติจากสหราชอาณาจักรเข้าร่วมการแข่งขันมาตลอด

โดยในปี 1992 และ 1996 ทีมฟุตบอลชายสกอตแลนด์ผ่านการคัดเลือกไปเล่นโอลิมปิก พรรคการเมืองชาตินิยมในสกอตแลนด์มีการเสนอว่า ในโอลิมปิกปี 1996 สกอตแลนด์สมควรเป็นตัวแทนทีมฟุตบอลไปแข่งขัน แต่สมาคมฟุตบอลของสกอตแลนด์ ออกมาต่อต้านความคิดดังกล่าว เพราะถ้าไปแข่งต้องอยู่ภายใต้ชื่อ Great Britain ซึ่งจะส่งผลกับภาพลักษณ์ของทีมชาติ

ในสายตาของโอลิมปิก อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ นั้นเป็นชาติเดียวกันคือ สหราชอาณาจักร แต่ในมุมมองของฟีฟ่ากลับเป็น 4 ประเทศ ซึ่งสมาคมฟุตบอลทั้ง 4 ชาติเป็นสมาชิกของฟีฟ่ามาตั้งแต่ปี 1946 สำหรับทั้ง 4 ชาตินั้น ทีมฟุตบอลเป็นเหมือนตัวแทนสำคัญในการแสดงออกของแต่ละประเทศ จริงที่ว่าอังกฤษเป็นชาติที่ดำรงอำนาจทางการเมืองเหนือชาติอื่นๆ ในสหราชอาณาจักรทั้งในทางประวัติศาสตร์และในทางฟุตบอล จนเมื่อเร็วๆ นี้ทั้งสกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ เริ่มมีอำนาจในการบริหารประเทศด้วยตัวเอง การรวมทีมฟุตบอลชาย GB เลยกลายเป็นเรื่องท้าทาย การเรียกร้องความเป็นเอกราชมีมากขึ้น จนหลายฝ่ายเชื่อว่าถ้าหากมีการบังคับให้มีการรวมทีมฟุตบอลทั้ง 4 เข้าด้วยกันอาจจะนำไปสู่การแยกตัวของชาติต่างๆ ในเครือจักรภพเลยทีเดียว

ประธานฟีฟ่าอย่าง จันนี อินฟันตีโน เคยออกโรงยืนยันว่า การเข้าร่วมฟุตบอลโอลิมปิกภายใต้ชื่อ สหราชอาณาจักร จะไม่ทำให้ฟีฟ่ายกเลิกสิทธิ์ของทั้ง 4 ชาติในฐานะสมาชิกของฟีฟ่า ในเมื่อนั่นไม่ใช่ปัญหา แล้วทำไมการรวมทีม GB ยากเย็นนัก เริ่มจากผลประโยน์ของแต่ละชาติ แน่นอนว่ามีประโยชน์ของสหราชอาณาจักรซึ่งทุกชาติมีส่วนร่วม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าตรงกับประโยชน์ที่แต่ละชาติต้องการ แล้วอะไรคือเกณฑ์การตัดสินว่า นักฟุตบอลคนนี้ดีกว่าผู้เล่นจากอีกชาติ ใครจะมาเป็นผู้จัดการทีม จะเลือกทีมโดยมีอคติหรือเปล่า ครั้นจะส่งผู้เล่นจากอังกฤษไปแข่งชาติเดียว ก็จะมีการครหาว่านั่นไม่ใช่ GB พอจะส่งตัวแทนจากชาติอื่นไปชาติเดียวก็จะเสียภาพลักษณ์อีก นอกจากนี้การไม่ยอมกันของแต่ละสมาคมฟุตบอล ยังไม่นับเรื่องที่สโมสรต่างๆ ในพรีเมียร์ลีกจะต้องหงุดหงิดใจเมื่อต้องเสียผู้เล่นไปลงแข่งในมหกรรมกีฬาเพื่อมวลมนุษยชาติ

อาจจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง เมื่อสมาคมฟุตบอลทั้ง 4 เห็นพ้องต้องกันในเรื่องของทีมฟุตบอลหญิง เลยมีตัวแทนทีมหญิงจากสหราชอาณาจักรลงแข่งในโอลิมปิกที่โตเกียว ส่วนทีมชายนั้น หนทางยังอีกยาวไกล แต่ฝันยังไม่สลาย …แล้วใครว่ากีฬากับการเมืองแยกออกจากกันได้ 

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares