ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ในศึกไทยลีก 2 ทีมหนองบัว พิชญ เอฟซี จ่าฝูงของลีกในขณะนั้นสามารถบุกไปเอาชนะทีมขอนแก่น เอฟซี 1-3 ประตู คว้าสามแต้มจนมี 69 คะแนน นำห่างทีมอันดับสามถึง 15 คะแนน ขณะที่ยังเหลือเกมแข่งขันในลีกอีก 3 นัดก็จบฤดูกาล ทำให้พวกเขาสร้างประวัติศาสตร์เลื่อนชั้นสู่ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของสโมสร ท่ามกลางความดีใจและความสุขเปี่ยมล้นในหมู่แฟนบอล นักเตะ สตาฟโค้ช เจ้าหน้าที่ และผู้บริหาร
อีกคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จครั้งนั้นอย่างภาคภูมิใจคงจะได้แก่ “มาดามจอย” กฤษยา ภู่มงคลสุริยา นั่นเอง จากจุดเริ่มต้นที่เธอเข้ามาทำงานกับทีมตั้งแต่ยังอยู่ในลีกภูมิภาค ในฐานะรองประธานสโมสรหญิง นำพาทีมต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ จน “ทีมพญาไก่ชน” เลื่อนชั้นสู่ไทยลีก 2 เมื่อปี 2560 ก่อนโบยบินสู่ไทยลีก 1 ได้ในวันนี้
“มันเป็นมวลความสุขนะ สำหรับทีมงานที่เป็นผู้บริหาร สตาฟโค้ช ที่ร่วมเดินทางกับเรามา 6-7 ปี เพราะเราวางแผนตั้งแต่แรกให้มาถึงจุดนี้ แล้วมาถึงได้ แต่กับแฟนบอล เขาไม่ได้รอคอยแค่ 5 หรือ 6 ปี เขารอมาเป็นสิบกว่าปี มันยิ่งใหญ่สำหรับจังหวัดเล็กๆ… ตอนนี้ใครมาจังหวัดหนองบัวฯ ถ้าถามว่าของดีบ้านคุณคืออะไร เขาบอกได้เลย…ฟุตบอล”
คุณจอยเผยความรู้สึกในวันที่ประสบความสำเร็จ ก่อนเล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมทำงานกับทีมหนองบัว พิชญ เอฟซี ว่า เดิมครอบครัวของเธอทำธุรกิจเป็นเจ้าของสถาบันการศึกษาในเครือพิชญ บัณฑิต กระทั่งในราวปี 2558 มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งมาชักชวนพ่อของเธอ (สุเทพ ภู่มงคลสุริยา) ให้ไปช่วยทำทีมฟุตบอลหนองบัวลำภู เอฟซี ซึ่งขณะนั้นยังเล่นอยู่ในลีกภูมิภาคหรือดิวิชัน 2
“พอรับทราบว่าเราจะต้องดูแลทีมฟุตบอล จอยก็ศึกษาว่าธุรกิจฟุตบอลต้องทำยังไง แต่พอไปดูทีมก็หนักใจมาก เพราะตอนนั้นทีมยังอยู่ท้ายตารางของลีกภูมิภาค แฟนบอลที่เข้าไปชมเกมในสนามไม่ถึงร้อยคน รายได้มาจากค่าเก็บบัตรเข้าชมใบละประมาณ 50 บาท แล้วก็ยอดขายเสื้อในหนึ่งฤดูกาลไม่รู้จะถึง 500 ตัวมั้ย เราก็กลับมาบอกคุณพ่อว่าไม่ทำหรอก เป้าหมายของการทำธุรกิจคือกำไร แต่เรามองไปข้างหน้าแล้วมันไม่มีกำไรเลย แล้วจะไปต่อยอดความสำเร็จตรงไหน คุณพ่อก็ตอบกลับมาว่า ถ้าทำเพื่อผลกำไรก็ไม่ต้องทำ แต่นี่คือทำเพื่อตอบแทนสังคม”
“เราเลยต้องกลับมาคิดใหม่แล้วว่า เมื่อเป้าหมายไม่ใช่ธุรกิจเพื่อหวังผลกำไร แต่ทำเพื่อสังคม พอตัดเรื่องนี้ออกไป เริ่มทำงานก็สนุกแล้ว เราไม่ได้มองเรื่องกำไรขาดทุนแล้ว แต่มองว่าการแข่งขันฟุตบอลมีอะไร แล้วจะเติบโตไปข้างหน้าถึงจุดหมายได้ยังไง ซึ่งก็ทำให้สนุกที่จะเรียนรู้”
เธออธิบายว่าแนวทางการทำทีมฟุตบอลเพื่อตอบแทนสังคมก็คือการสร้างโอกาสในอาชีพสำหรับเยาวชนในจังหวัดและในภาคอีสานนั่นเอง
“เฉพาะนักเรียนในเครือพิชญ บัณฑิต ก็มีเป็นหมื่นคนแล้ว ในจำนวนนี้ต้องมีคนที่มีแววด้านฟุตบอล อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่เขาขาดโอกาสเพราะเขาอยู่ในภูมิภาค ไม่รู้ว่าจะไปเริ่มต้นกับใคร แล้วยังมีเด็กคนอื่นๆ ในจังหวัดหนองบัวลำภูเอง หรือจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสานด้วย นี่คือจุดเริ่มต้นที่เราจะต้องทำทีมเพื่อให้คนได้ประโยชน์อันดับแรกๆ คือเด็กและเยาวชน แล้วจะทำยังไงเพื่อให้เยาวชนได้เติบโต เราก็ต้องมีทีมฟุตบอลที่อยู่ในลีกสูงสุดเพื่อเป็นเวทีให้เด็กๆ ได้ขึ้นไปโลดแล่น”
“ในปีแรกที่เราประกาศคัดตัวเข้าอะคาเดมี เด็กที่มาคัดน้อยมาก เด็กอาจยังไม่มีความเชื่อในสโมสรว่าจะพาเขาไปถึงเป้าหมายได้ยังไง จนเราเริ่มทำทีม (ชุดใหญ่) ได้สองสามปี ผลงานในลีกดีขึ้นเรื่อยๆ เขาคงเห็นความตั้งใจของทีม จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ทันที่เราจะเปิดคัด ตลอดทั้งปีจะมีเด็กๆ อินบ๊อกซ์เข้ามาถามในเพจของสโมสรว่าเมื่อไหร่อะคาเดมีจะเปิดคัดตัว แล้วจำนวนก็เพิ่มขึ้น เปิดคัดรอบหนึ่งมีเด็กสมัครเข้ามาประมาณ 5,000 คน”
สโมสรหนองบัว พิชญ เอฟซี ใช้เวลาค่อยๆ สะสมความแข็งแกร่ง ด้วยการพัฒนาทั้งอะคาเดมีบ่มเพาะนักฟุตบอลเยาวชน ควบคู่กับพัฒนาทีมชุดใหญ่ มีการดึงตัวสตาฟโค้ชมือดีและนักเตะฝีเท้าเยี่ยมมาเสริมทัพ รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างหลัก เช่น สร้างสนามใหม่และมีสนามซ้อมที่ได้มาตรฐาน จนกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของ “พญาไก่ชน” ที่ได้เลื่อนชั้นสู่ไทยลีกไม่ได้เป็นเพราะโชคช่วย แต่มาจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และที่สำคัญคือความมือแรงร่วมใจของนักเตะและทีมงานทุกคนที่ต่อสู้ฝ่าฟันกันมาอย่างไม่ย่อท้อ
“สิ่งที่ทำให้ทีมเราประสบความสำเร็จ เพราะว่าเรามีความมุ่งมั่นในเป้าหมาย เป้าหมายเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง ก็คือการเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุด ซึ่งอาจไม่ประสบความสำเร็จในปีแรก ในแต่ละฤดูกาลเราพบปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกปัญหาเราต้องเรียนรู้และแก้ไข แล้วเรายังมุ่งมั่นที่จะต้องเดินต่อ เราจะไม่ถอยหลัง ทุกฤดูกาลเราต้องดีขึ้น ถ้าเราพลาด ก็ต้องพยายามเข้าใกล้เป้าหมายให้ได้มากที่สุด จนสุดท้ายเราก็ทำได้”
“เราผ่านมาตั้งแต่ลีกรากหญ้า…จนถึงลีกสูงสุด เมื่อจอยมานั่งนึกย้อนกลับไป ทุกลีกมีความยากที่ต่างกัน แล้วทุกลีกก็มีเสน่ห์ของแต่ละลีกที่แตกต่างกัน ซึ่งในฤดูกาลนี้ความยากของไทยลีกคือบอลเขี้ยว เกมมีความละเอียด ถ้ามีความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อาจโดนพิพากษาเสียประตูได้ทันที ทำให้มีความสนุกในแต่ละเกม เราไปเจอทีมใหญ่ๆ ที่เขามีประสบการณ์สูง มันเหมือนการเปิดโลกทัศน์ แล้วเราได้เก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์ โดยเป้าหมายปีนี้ชัดเจนว่าเราต้องอยู่รอดในไทยลีกให้ได้ ถ้าเรารอด ปีหน้าเราจะแข็งแรงขึ้น นี่คือสิ่งที่เราดีใจที่ได้มาเจอ”
ความสำเร็จของหนองบัว พิชญ เอฟซี ย่อมสร้างความภาคภูมิใจให้กับทีมงานทุกคน ขณะที่ในด้านประสบการณ์ส่วนตัว “มาดามจอย” มองว่าการเข้ามาทำทีมฟุตบอล ทำให้เธอได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง
“ความยากของฟุตบอลคือ มันมีความยืดหยุ่นสูงในการบริหารจัดการ เทียบกับการบริหารงานด้านอื่น ถ้าเราตั้งเป้าหมายและมีแผนงานที่ดีก็จะมีข้อผิดพลาดน้อย แต่ในเกมฟุตบอล โค้ชอาจจัดตัวผู้เล่นไว้ดีแล้ว อยู่ดีๆ นักเตะอาจบาดเจ็บ แล้วไม่ได้ใช้งานทั้งฤดูกาล เราจะปรับแผนยังไง มันต้องใช้ไหวพริบ การปรับตัว และการทำงานที่ค่อนข้างรวดเร็ว เพื่อที่จะไปแก้ปัญหาในจุดนั้นค่ะ”
“บางทีคนจะชอบวิจารณ์ว่า เจ้าของทีมชอบไปนั่งในซุ้มม้านั่ง จะไปนั่งทำไม จอยไม่รู้ว่าคนอื่นเค้านั่งเพราะอะไร แต่ตอนที่ทีมเราอยู่ลีกรากหญ้า หรือแม้อยู่ T2 การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ดีที่สุด คือไปนั่งใน bench เพราะเราไม่ต้องไปถามใคร เรานั่งแล้วเราสังเกต เขาทำอะไร เราไม่ได้ไปจับผิดใคร หรือเราไม่ได้ไปกดดันน้อง (นักฟุตบอล) เราแค่ไปเรียนรู้ว่าฟุตบอลน่ะเขาทำอะไร เราจะรู้จักเกม รู้จักวิธีการเล่น รู้จักอะไรหลายๆ อย่าง ที่แฟนบอลอาจจะไม่ทราบ หรือว่าผู้หญิงอาจจะไม่ทราบ เราต้องไปเรียนรู้แบบเร่งรัด คือไปนั่งอยู่กับเกมนั้นๆ ทำให้รู้วิธีการทำงานของเขา แล้วก็อย่างอื่นนอกสนาม เราก็พยายามถาม พูดคุย เรียนรู้ เปิดกว้าง ถ้าเราสนุกที่จะเรียนรู้ อะไรๆ มันก็ไม่เหนื่อย มันก็อยากจะทำ อยากจะศึกษา…”
รองประธานสโมสรหนองบัว พิชญ เอฟซี ย้ำว่าเป้าหมายสำคัญของทีมในฤดูกาลนี้คือต้องอยู่รอดใน “นรกไทยลีก” ให้ได้ ขณะเดียวกันหนองบัว พิชญ เอฟซี ยังคงยึดมั่นในแนวทางที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรก คือสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนท้องถิ่นได้เดินตามความฝันไปสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
“เป้าหมายเรื่องการพัฒนาเยาวชนของเราเริ่มเห็นภาพตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว เริ่มมีนักเตะของเราติดทีมชาติชุดเยาวชน บางคนได้ไปฝึกกับทีมเลสเตอร์ ซิตี้ และน้องๆ อีกหลายคนจากอะคาเดมีที่มีสโมสรอื่นๆ ทั้งใน T2 และ T3 ยืมตัวไปเล่น เราก็ภูมิใจในตัวเด็กๆ ที่เห็นพวกเขาได้โลดแล่นในฟุตบอลอาชีพ”
“เรายังมีเป้าหมายในเรื่องของชุมชน เรื่องของสังคม ทีมเราอาจไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของทั้งจังหวัดดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา แต่อย่างน้อยในวันแข่งขัน เราอยากให้พ่อค้าแม่ค้าเจ้าเล็กๆ หลายๆ เจ้าได้เข้ามาขายของ ให้คนเหล่านี้มีรายได้” คุณจอยกล่าว “แล้วถ้าเกิดมีโรงเรียนหรือเด็กๆ เยาวชนต้องการมาดูฟุตบอล ให้ติดต่อทำหนังสือเข้ามา เราให้ดูฟรี พยายามดึงเด็กเข้ามามีส่วนร่วมกับกีฬา ดีกว่าให้พวกเขาไปทำกิจกรรมมั่วสุมอื่นๆ”
แน่นอนว่าเบื้องหลังความสำเร็จของทีมฟุตบอล โดยเฉพาะสโมสรฟุตบอลประจำจังหวัด องค์ประกอบสำคัญคือการสนับสนุนจากแฟนบอลท้องถิ่น ในโอกาสนี้ “มาดามจอย” อยากกล่าวคำขอบคุณต่อแฟนบอลที่ติดตามให้กำลังใจกันมาตลอด
“อยากจะขอบคุณแฟนบอลนะคะ พูดทุกครั้งจะรู้สึกตื้นตัน เพราะว่าเราเดินทางมาจากจุดที่ไม่มีอะไรเลย จอยมองไม่เห็นภาพตอนนั้นเลยว่า ทำฟุตบอลทำไม อย่างที่เล่าให้ฟังค่ะ แล้วใครจะมาดู มีกองเชียร์ไม่ถึงร้อยคน มันจะเติบโตได้ไง ตอนนั้นเราไม่เห็นภาพ แต่พอมาถึงตอนนี้ สโมสรจะเดินต่อไปไม่ได้เลย หรือจะทำงานไม่ได้ ถ้าไม่มีแฟนบอลในจังหวัด…”
พร้อมทั้งบทสรุปที่ว่า “คิดว่าคิดถูกนะคะ ที่ตัดสินใจรับงานทำทีมฟุตบอล คุณพ่อก็คิดถูก ในแง่ของการได้เรียนรู้ และทำสิ่งเล็กๆ นี้ให้มันเติบโตและยิ่งใหญ่ สำหรับจอย มันคือความยิ่งใหญ่ในใจ ไม่ใช่ของเราอย่างเดียว แต่ในใจของแฟนบอลหลายๆ คน ทำให้ความฝันที่มันเกินฝันของคนในจังหวัดเล็กๆ ที่บางทีคนอื่นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจังหวัดหนองบัวลำภูอยู่ตรงไหน ก็ทำให้คนรู้จักกันทั้งประเทศ ทำให้คนรู้สึกภาคภูมิใจในจังหวัด นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่า มันเป็นความภาคภูมิใจของเรา แล้วมันเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน เราเป็นส่วนเล็กๆ ในการทำงาน ให้ฟุตบอลในจังหวัดได้เติบโต”
ติดตามซีรีย์ “มาดามฟุตบอลไทย” ได้ทาง Play Now Thailand
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม