523 หลา หรือราวๆ 478 เมตร เป็นระยะทางจากหน้าปากประตูในสนามเวมบลีย์ ที่ “ราฮีม สเตอร์ลิง” ยิงประตูชัยในนัดที่อังกฤษเอาชนะโครเอเชีย ไปยัง “เบรนท์” ย่านที่ตัวรุกของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เติบโตขึ้นมาในวัยเยาว์ ที่ซึ่งความฝันของเขาเริ่มก่อตัว มีเวมบลีย์เป็นเหมือนสวนหลังบ้าน วันนี้เด็กชายจากเบรนท์กำลังเป็นฮีโร่ของชาติ
“ตอนเด็ก ผมเคยเดินไปรอบๆ สนามเวมบลีย์หรือไม่ก็ปั่นจักรยาน หวังว่าสักวันหนึ่งผมจะได้ใส่เสื้อเบอร์ 10 ในสนามแห่งนั้น ได้อยู่ในบ้านเกิด และหวังว่าจะเป็นราชันแห่งเวมบลีย์ได้ในวันหนึ่ง” ความฝันนั้นถูกถ่ายทอดลงบนแขนซ้ายของสเตอร์ลิง เป็นภาพรอยสักรูปเด็กผู้ชายใส่เสื้อเบอร์ 10 มองไปยังสนามเวมบลีย์ ผลงาน 3 ประตูในฟุตบอลยูโร 2020 และมีโอกาสพาสิงโตคำรามคว้าแชมป์ยุโรป ตอบคำถามที่หลายฝ่ายสงสัยว่าทำไม แกเร็ธ เซาท์เกต ถึงเลือกดาวเตะวัย 26 ปีลงสนามแทนตัวรุกคนอื่นๆ ที่ผลงานระดับมาสเตอร์พีซในทีม
ราฮีม สเตอร์ลิง มีฤดูกาลที่ไม่น่าประทับใจเท่าไรนักในสีเสื้อของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ประกอบกับความผิดหวังในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปี้ยนส ลีก ข่าวลือเรื่องที่ เป๊ป กวาร์ดิโอลา จะจับเอาสเตอร์ลิงเป็นตัวแถมมอบให้สเปอร์สเพื่อดึงตัว แฮร์รี เคน มาร่วมทีมเรือใบสีฟ้า ยังไม่นับรวมเรื่องราวที่เขาถูกเหยียดสีผิวไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามหลังชื่อเขา เมื่อถูก แกเร็ธ เซาท์เกต ส่งลงสนาม แต่เจ้าตัวก็ตอบแทนความไว้วางใจของนายใหญ่ด้วยการทำผลงานที่ยอดเยี่ยม
คำถามก็คือว่า สื่อและความคิดที่แฟนบอลมีต่อ ราฮีม สเตอร์ลิง นั้นยุติธรรมพอแล้วหรือเปล่า เขาเป็นนักฟุตบอลที่ถูกโห่มากที่สุดในการลงเล่นระดับสโมสร โดยเฉพาะจากแฟนลิเวอร์พูล ทีมที่เขาโบกมือลาเพราะคิดว่าไม่มีทางประสบความสำเร็จ หรือบทสัมภาษณ์หลายครั้งของเขาทำให้แฟนบอลฝ่ายตรงข้ามไม่พอใจ อาจจะเพราะความหยิ่งยโสในคำพูด จนแฟนทีมอื่นหงุดหงิดที่เห็นสเตอร์ลิงลงสนาม
แต่เราต้องไม่ลืมว่า นี่คือนักฟุตบอลที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับสื่อในกระแสหลัก และเรียกร้องกับสังคมในเรื่องของการเหยียดสีผิว หลังจากที่เจ้าตัวถูกแฟนบอลเชลซีเหยียดสีผิวในเกมพรีเมียร์ลีกเมื่อปี 2018 สเตอร์ลิงบอกว่า หนังสือพิมพ์เป็นแหล่งเติมเชื้อเรื่องการเหยียดผิว เพราะสิ่งที่พวกเขาเขียนถึงนักฟุตบอลผิวสี สเตอร์ลิงก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ในวงการฟุตบอลเกี่ยวกับชีวิตของนักฟุตบอลผิวสี ที่บางครั้งถูกปฏิบัติด้วยความไม่เป็นธรรม การต่อสู้ของสเตอร์ลิงทำให้เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น MBE จากควีนอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเชื้อชาติในวงการกีฬา แต่เด็กชายจากเบรนท์คนนี้กลับได้รับความเคารพน้อยมาก ได้รับเสียงชมจากสื่อน้อยไปอีก เมื่อเทียบกับ มาร์คัส แรชฟอร์ด ทั้งๆ ที่ต่างทำเพื่อสังคม เพื่อความเชื่อของตัวเองไม่แตกต่างกัน
จะว่าไปแล้วชีวิตของ ราฮีม สเตอร์ลิง ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ครอบครัวของสเตอร์ลิงย้ายจากจาเมกามาอยู่ที่สโตนบริดจ์ ในเบรนท์ ประเทศอังกฤษตอนที่เขาอายุได้ 5 ขวบ เขาอยู่กับแม่และพี่สาว โดยไม่เคยรู้จักตัวตนของพ่ออย่างแท้จริง เพราะพ่อของเขาถูกยิงเสียชีวิตที่จาเมกาตอนที่สเตอร์ลิงอายุได้ 2 ขวบ นั่นเป็นที่มาของรอยสักรูปปืนเอ็ม16 ที่ขาข้างขวาของเขา เพราะเจ้าตัวสัญญาว่าจะไม่มีวันแตะต้องปืน และเป็นขาข้างที่เขายิงประตู
ชีวิตนักฟุตบอลของสเตอร์ลิงเริ่มต้นที่อัลฟาแอนด์โอเมกา ของ ไคลฟ์ เอลลิงตัน ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนเด็กที่เติบโตขึ้นโดยที่ไม่มีผู้ชายเป็นต้นแบบในชีวิต องค์กรท้องถิ่นแนะนำสเตอร์ลิงให้เอลลิงตัน ตอนอายุได้ 8 ขวบ ตอนนั้นเจ้าตัวมีปัญหาด้านพฤติกรรม จนถูกให้ออกจากโรงเรียนและต้องไปเรียนโรงเรียนพิเศษได้ 3 ปีแล้ว “กับราฮีม เป็นเรื่องการควบคุมอารมณ์ เขาไม่รู้ว่าจะเป็นผู้แพ้ได้ยังไง” เอลลิงตันเอ่ย
ผลงานของสเตอร์ลิงที่อัลฟาแอนด์โอเมกาโดดเด่นจนได้รับสัญญาจากควีนส์พาร์ค เรนเจอร์ส ตอนอายุ 10 ขวบ แรกเริ่มเดิมทีเจ้าตัวอยากจะเข้าอะคาเดมีของอาร์เซนอล แต่แม่ของเขาคิดว่าลูกชายจะได้ประโยชน์มากกว่ากับสภาพแวดล้อมของ QPR ที่ซึ่งเขาน่าจะได้เวลาจากโค้ชมากกว่า แม้ว่าสถานที่ซ้อมจะไกลจากบ้านมากก็ตาม
“ที่ QPR พวกเขาไม่ให้ผมขาดซ้อมเลย แต่มันยากสำหรับครอบครัวผม เพราะว่าแม่ไม่ยอมปล่อยให้ผมไปฝึกคนเดียว และเธอต้องทำงานตลอดเวลา ดังนั้นพี่สาวต้องพาผมไปถึงฮีทโธรว์” หนึ่งในบทความที่สเตอร์ลิงเขียนให้ The Players’ Tribune “มันต้องนั่งรถเมล์ 3 ต่อ สาย 18 ไป 182 และ 140 เราออกจากบ้านตอนบ่ายสาม และกลับมาถึงบ้านราวๆ ห้าทุ่ม ทำแบบนี้ทุกวัน พี่สาวผมจะนั่งอยู่ที่ร้านกาแฟ และรอจนผมซ้อมบอลเสร็จ คิดเอาว่าอายุ 17 ปีและต้องทำแบบนั้นให้น้องชายของตัวเอง และไม่มีสักครั้งที่ผมได้ยินว่า ไม่ ฉันไม่อยากพาเขาไป”
หลังจากนั้นสเตอร์ลิงก็ย้ายไปที่ลิเวอร์พูลในปี 2010 ด้วยค่าตัว 500,000 ปอนด์ และได้โอกาสลงสนามครั้งแรกให้ทีมชุดใหญ่ในเดือนมีนาคม ปี 2012 เมื่อ เคนนี ดัลกลิช เปลี่ยนตัวเขาลงสนามในเกมที่หงส์แดงแพ้ต่อวีแกน 2-1 ประตู ที่แอนฟิลด์นี้เองที่เขาได้แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในโลกของฟุตบอล แม้ว่าตอนจบระหว่างลิเวอร์พูลกับสเตอร์ลิงอาจจะไม่สวยงาม แต่นั่นก็เป็นหนทางของนักฟุตบอล การย้ายไปแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และทำงานกับ เป๊ป กวาร์ดิโอลา ทำให้เกมฟุตบอลของสเตอร์ลิงก้าวหน้าไปอีกขั้น
ชีวิตในทีมชาติอังกฤษของสเตอร์ลิงไม่สวยหรู #TheHatedOne เป็นสิ่งที่สเตอร์ลิงนำมาใช้ในวันที่ 11 มิถุนายน 2016 หลังเกมที่ลงเล่นให้ทีมชาติอังกฤษเสมอกับรัสเซียในเกมเปิดสนามของฟุตบอลยูโร 2016 เขาตกเป็นเป้าวิจารณ์จากแฟนบอลอย่างหนัก ถึงผลงานในระดับสโมสรที่สวนทางกับทีมชาติ ใน 45 เกมแรกของการรับใช้สิงโตคำราม เขาทำได้แค่ 2 ประตูเท่านั้น ทว่าถึงตรงนี้จำนวนประตูมากขึ้น และกลายเป็นตัวหลักในทีมของเซาท์เกต
กว่า 5 ปีที่เด็กชายสเตอร์ลิงใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงบนรถเมล์ทุกวันเพื่อไล่ตามความฝันในการเป็นนักฟุตบอล ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เขาจะได้รับการยอมรับจากแฟนบอลในระดับที่ควรจะเป็น
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม