“บอลไทยไปบอลโลก” อาจยังเป็นแค่ความฝัน แต่สำหรับ “ฟุตซอลไทย” สามารถบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ผ่านเข้าไปเล่น “ฟุตซอลโลก” ได้เป็นสมัยที่ 6 ติดต่อกันแล้ว
-ฝ่าโควิด…พิชิตตั๋ว
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ลุกลามไปทั่ว ส่งผลให้สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) ตัดสินใจยกเลิกศึกฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2020 ที่เติร์กเมนิสถาน แต่ยังต้องหา 5 ทีมตัวแทนทวีปเอเชียไป “ฟุตซอลโลก 2021” ที่ประเทศลิทัวเนีย ระหว่างวันที่ 12 กันยายน – 3 ตุลาคม ที่จะถึงนี้
เมื่อไม่สามารถจัดทัวร์นาเมนต์ได้ “เอเอฟซี” จึงใช้วิธีคิดคะแนนจากผลงานในรายการชิงแชมป์เอเชีย 3 ครั้งหลังสุดคือปี 2014, 2016 และ 2018 ปรากฏว่า อิหร่าน, ญี่ปุ่น และอุซเบกิสถาน คือ 3 ทีมแรกที่ได้เป็นตัวแทนโดยอัตโนมัติ
ส่วน 4 ทีมที่มีคะแนนรองลงมาคือ ไทย, เวียดนาม, อิรัก และเลบานอน จะต้องมาเพลย์ออฟ เพื่อหาอีก 2 ทีม ซึ่งผลการจับสลากประกบคู่ ปรากฏว่าไทยได้เจออิรัก โดยจะเตะ 2 นัดชี้ชะตา ทีมไหนเป็นผู้ชนะสกอร์รวม จะซิวตั๋วไปชิงแชมป์โลกที่ลิทัวเนียทันที
แต่จะเตะเหย้า-เยือนที่อิรัก 1 นัด และไทย 1 นัด ก็เดินทางลำบาก เพราะโควิด-19 ไม่ยอมลดราวาศอกให้ เลยต้องนัดไปดวลกันสนามกลางในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่ไม่มีมาตรการวุ่นวายนัก
แม้สถิติจะชี้ไทยเหนือกว่าอิรักชัดเจน หลังเคยเจอกันมาในเวทีชิงแชมป์เอเชีย 5 ครั้งก่อนหน้านี้ ไทยชนะรวด ตั้งแต่ปี 2001 ที่อิหร่าน ไทยชนะ 8-2, ปี 2002 ที่อินโดนีเซีย ไทยชนะ 3-1, ปี 2003 ที่อิหร่าน ไทยชนะ 3-1, ปี 2007 ที่ญี่ปุ่น ไทยชนะ 7-4 และปี 2008 ที่ไทย ไทยชนะ 1-0 แต่หลังจากนั้นก็ไม่เจอกันมา 13 ปีแล้ว
ยิ่งการโคจรมาเจอกันครั้งนี้ อิรักเหมือนตายแล้วฟื้น เพราะพวกเขาตกรอบคัดเลือกชิงแชมป์เอเชียไปแล้ว แต่เมื่อเอเอฟซีงัดกติกานี้มาใช้ อิรักที่คว้าอันดับ 4 ชิงแชมป์เอเชีย เมื่อปี 2018 เลยกลับมามีลุ้นอีกเฮือก แถมยังได้ไปเตะสนามกลางในอาหรับที่คุ้นชินกว่า
ขณะเดียวกัน อย่าลืมว่า “ช้างศึกโต๊ะเล็ก” เจอโควิดป่วน ทำให้เตรียมตัวกันแบบฉุกละหุก กะทันหัน ได้ซ้อมที่ไทยได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ กอปรกับต้องขาดอาวุธหนักอย่าง “เทพอาร์ม” ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง ที่ติดค้าแข้งอยู่ในญี่ปุ่นกับนาโกยา โอเชียนส์ จึงเป็นเครื่องหมายคำถาม?
เกมเพลย์ออฟที่ตัดสินชะตากันเพียง 2 นัดอย่างนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น!!!
อย่างไรก็ตามด้วยกึ๋นของโค้ช โฆเซ มาเรีย เมนเดส “ปูลปิส” ที่ขน 14 ขุนพลบุกยูเออี นำโดยตัวเก๋าอย่าง “กัปตันช้าง” กฤษดา วงษ์แก้ว, จิรวัฒน์ สอนวิเชียร, เจษฎา ชูเดช, ณัฐวุฒิ หมัดยะลาน และแข้งดาวรุ่งฉายา “พ่อมดฟุตซอล” คนล่าสุดอย่าง มูฮัมหมัด อุสมานมูซา
รวมไปถึง คทาวุธ หาญคำภา, คณิศร ภู่พันธ์ (ผู้รักษาประตู), ชัยวัฒน์ แจ่มกระจ่าง, รณชัย จูงวงษ์สุข, อภิวัฒน์ แจ่มเจริญ, พรมงคล ศรีทรัพย์แสง, วรุฒ หวังสะมาแอล, นาวิน รัตนวงศ์สวัสดิ์, วรศักดิ์ ศรีหรั่งไพโรจน์
ทั้งหมด…ไม่ทำให้กองเชียร์ผิดหวัง!!!
นัดแรกถล่มขาดลอย 7-2 นัดสองย้ำแค้น 4-0 สกอร์รวมสองนัดชนะไปเบ็ดเสร็จเด็ดขาด 11-2
-ลุยฟุตซอลโลกสมัยที่ 6
ตั๋วสู่ “ลิทัวเนีย” ของทัพ “ช้างศึกโต๊ะเล็ก” แม้จะเพียงแค่ 2 ก้าว แต่เป็นก้าวแห่งความกดดันที่จะพลาดพลั้งไม่ได้โดยเด็ดขาด
เพราะตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ทีมฟุตซอลชาติไทยตีตั๋วไปเล่นรอบสุดท้าย “ฟุตซอลโลก” มาแล้ว 5 สมัยต่อเนื่องไม่เคยขาด นับตั้งแต่ฟุตซอลโลก ครั้งที่ 4 ที่กัวเตมาลา ปี 2000 ตามด้วยที่ไต้หวัน ปี 2004, ที่บราซิล ปี 2008, ที่ไทย ปี 2012 และหนล่าสุดที่โคลอมเบีย ปี 2016
แน่นอนว่า “ฟุตซอลโลก 2021” ที่ลิทัวเนีย เป้าหมายของทีมฟุตซอลชาติไทยยังคงเหมือนเดิม คือการเข้าไปแข่งขันรอบสุดท้ายให้ได้เป็นสมัยที่ 6 ติดต่อกัน เพราะนี่คือเกียรติยศของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่สามารถเข้าร่วมรายการในระดับเมเจอร์ใหญ่ของฟีฟ่า นอกเหนือจากฟุตบอลหญิง ในขณะที่ฟุตบอลชายยังเป็นแค่ความฝัน
ความสำเร็จในครั้งนี้ นอกจากต้องชื่นชมเหล่านักเตะและทีมงานสตาฟโค้ช ที่ช่วยกันทุ่มเทจนฝ่าโควิดพิชิตตั๋วสู่ลิทัวเนียได้ตามเป้าหมายแล้ว ที่ลืมไม่ได้คือ “บิ๊กป๋อม” อดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ ประธานพัฒนาฟุตซอล ผู้อยู่เบื้องหลังมาตลอด 20 กว่าปี
จากจุดเริ่มต้นเป็นศูนย์ ณ ปัจจุบัน ฟีฟ่า แรงกิ้ง ของทีมฟุตซอลชาติไทย อยู่อันดับ 17 โลก และรั้งที่ 3 เอเชีย เป็นรองแค่อิหร่าน (อันดับ 6 โลก) และญี่ปุ่น (อันดับ 14 โลก) ส่วนในอาเซียนคือเบอร์ 1
ถึงแม้ว่าผลงาน 5 ครั้งที่ผ่านมา “ช้างศึกโต๊ะเล็ก” จะทำได้ดีที่สุดแค่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ในปี 2012 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และครั้งล่าสุดในปี 2016 ที่โคลอมเบีย
แต่ ณ เวลานี้ สามารถพูดได้เต็มปากว่า “ช้างศึกโต๊ะเล็ก” เป็น “ขาประจำ” ในศึกฟุตซอลโลกไปแล้ว
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม