Link Copied!

ดูบอลเป็นเรื่อง บ้าบอล

ถ้าใครตามผลกระทบจากการที่ทีมชาติอังกฤษพลาดท่า ได้แค่รองแชมป์บอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป คงจะพอจะเข้าใจถึงความบ้าบอลของคนอังกฤษ มันเข้าไปอยู่ในสายเลือดจนบางครั้งก็เกินเลยออกมาเป็นการกระทำที่รุนแรง ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าคนไทยก็บ้าบอลไม่ต่างกับคนอังกฤษ เพียงแต่เรายังไม่เคยไปถึงจุดนั้น วันนี้เลยจะขอเล่าประสบการณ์ที่สนามศุภชลาสัยในวันชิงชนะเลิศคิงส์คัพให้ฟัง

ผมเป็นคนที่ดูบอลไทยมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยนั้นยังไม่มีการถ่ายทอดสด ถ้าเป็นการแข่งขันฟุตบอลรายการคิงส์คัพ ก็ไปดูที่สนามศุภฯ ค่าตั๋วสมัยนั้นถ้าจำได้ไม่ผิดนะครับ อัฒจันทร์ด้านสกอร์บอร์ด และด้านตรงข้าม รอบแรกราคา 10 บาท รอบชิงชนะเลิศ 20 บาท อัฒจันทร์ด้านคบเพลิง 20 บาท รอบชิงชนะเลิศ 30 บาท อัฒจันทร์มีหลังคา 50 บาท รอบชิงชนะเลิศ 80 บาท ที่ไม่ค่อยแน่ใจในราคาเพราะผมค่อนข้างโชคดีที่มักจะได้บัตร VIP เข้าไปนั่งฝั่งอัฒจันทร์ด้านมีหลังคาตรงกลาง ไม่ต้องไปเบียดกับใคร แต่ส่วนอื่นๆ เป็นที่นั่งปูนไม่มีเบอร์ที่นั่ง ใครมาก่อนนั่งก่อน ใครมาหลังก็เบียดๆ กันไป

หน้าสนามมีขายอาหารและน้ำให้นำเข้าไปกินดื่มได้ตามอัธยาศัย ด้านในบนอัฒจันทร์มีพ่อค้าแม่ขายเดินคล้องถาดไม้ที่มีเม็ดก๋วยจี๊ หมากฝรั่ง น้ำอัดลม แฮมเบอร์เกอร์ที่มีแต่วิญญาณหมูสับกับไส้กรอกชิ้นเล็กๆ ที่ทำเหมือนทะลักออกมาจากขนมปัง ถ้าคนเยอะมากๆ พ่อค้าก็ปักหลักอยู่ตรงประตูทางเข้ากัน เพราะเดินเบียดเข้าไปขายไม่ไหว

ผมเข้าไปดูบอลตั้งแต่สมัยที่ยังมีนักฟุตบอลอย่าง ไชยวัฒน์ พรหมมัญ เป็นผู้รักษาประตู, วิสูตร วิชายา, อำนาจ เฉลิมชวลิต, สุรศักดิ์ ตัณฑดิลก, ดาวยศ ดารา, ประพันธ์ เปรมศรี, สมพร จรรยาวิสูตร, สิทธิพร ผ่องศรี, สมชาย ชวยบุญชุม, พิชัย คงศรี, เชิดศักดิ์ ชัยบุตร และสิงห์สนามศุภฯ นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ มีอีกหลายๆ คนที่จำชื่อไม่ค่อยได้แล้ว สมัยนั้นไม่มีสื่อด้านกีฬาให้ติดตามมากมายเหมือนสมัยนี้

เวลาแข่งบอลคิงส์คัพสมัยก่อน ทีมชาติไทยมักจะส่งเข้าแข่งขัน 2 ชุด คือ ทีมชาติไทยชุดเอ กับทีมชาติไทยชุดบี เรียกได้ว่าเรามีนักเตะที่มีความสามารถมากพอที่จะจัดได้สองทีมเลย ซึ่งนักเตะที่อยู่ทีมบีนั้นต่อมาก็ขยับขึ้นมาติดทีมเอกันหลายคน

ในคิงส์คัพครั้งที่ 12 ปี พ.ศ. 2522 ผมได้เข้าไปดูการแข่งขันนัดที่ทีมชาติไทยชุดเอเข้าชิงชนะเลิศกับทีมชาติเกาหลีใต้ สมัยนั้นเกาหลีใต้จะส่งทีมชาติชุดใหญ่มาแข่งฟุตบอลรายการนี้เสมอ นักเตะของทีมชาติไทยสมัยนั้นตัวไม่ใหญ่นัก และความสูงก็ไม่ต่างกับนักเตะทีมชาติเกาหลีใต้มากนัก แต่อาจมีเรื่องความหนาของร่างกายที่เป็นรองบ้าง อย่างที่บางคนอาจจะพอทราบกันว่าตอนนั้นเวลามีแข่งขันบอลนักเรียนในประเทศ หลายโรงเรียนมักจะโกงอายุโดยการพยายามทำให้นักเตะตัวไม่สูงจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการให้เพื่อนขี่คอเป็นประจำเพื่อไม่ให้ตัวสูง หรือมีการขย่มไหล่กัน จะได้เล่นเกินอายุได้อย่างไม่มีใครสงสัย นักเตะของทีมชาติไทยจึงตัวไม่สูงนัก แต่ไม่เป็นปัญหาในระดับเอเชีย เพราะทุกชาติก็ตัวเท่าๆ กันหมด ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันนักเตะชาติอื่นๆ ในเอเชียอาศัยวิทยาศาสตร์การกีฬาช่วยอัปเกรดจนตัวสูงใหญ่กันไปหมดแล้ว

ในสนามวันนั้นทีมชาติไทยเล่นได้เหนือกว่าเกาหลีใต้พอสมควร มีลุ้นอยู่ตลอด นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ ที่แม้อยู่ในช่วงปลายๆ ของอาชีพนักเตะ (ถ้าจำไม่ผิดก็อำลาทีมชาติหลังจากจบฟุตบอลรายการนี้ไปเลย) ยังเล่นได้ดีสร้างความปั่นป่วนให้กองหลังเกาหลีใต้ตลอด และเป็นนิวัฒน์ที่ส่งบอลให้ ดาวยศ ดารา ยิงประตูโทนให้ทีมชาติคว้าแชมป์รายการนี้ไปได้อย่างสนุกสนาน

อีก 2 ปีต่อมา ผมได้เข้าไปอยู่ในสนาม “นัดสนามแตก” รอบชิงชนะเลิศฟุตบอลคิงส์คัพครั้งที่ 14 ระหว่างทีมชาติเกาหลีเหนือกับทีมชาติไทย นักเตะยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากยุคของสิงห์สนามศุภฯ ค่อนข้างเยอะ เริ่มจากผู้รักษาประตูเป็น สมปอง นันทประภาศิลป์ โกลทีมชาติไทยอันดับหนึ่งในใจผม กัปตันทีม อำนาจ เฉลิมชวลิต ยังคงเล่นอยู่ รวมถึง เชิดศักดิ์ ชัยบุตร, ประพันธ์ เปรมศรี, วิสูตร วิชายา มีนักเตะดาวรุ่งเพิ่มเติมมาอย่าง “เดอะตุ๊ก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, ชลอ หงษ์ขจร, มาด๊าด ทองท้วม, เฉลิมวุฒิ สง่าพล, วรวรรณ ชิตะวณิช, สุทิน ไชยกิตติ, สมพิศ สุวรรณพฤกษ์, สมพงษ์ วัฒนา, สุนทรา กล้าณรงค์

ก่อนแข่งพ่อพาผมขึ้นรถเมล์ที่หน้าโรงเรียนมาแตร์เดอี ลงรถเมล์หน้ากรมตำรวจ ตรงถนนพระราม 1 แล้วเดินต่อไปยังสนามศุภฯ เพราะเดินเร็วกว่านั่งรถเมล์ด้วยผู้คนที่เต็มทางเท้าจนล้นไปบนถนน เพื่อมุ่งสู่สนามศุภชลาสัย ตอนเดินผ่านหน้าช่องขายตั๋วก็รู้สึกถึงความโชคดีที่ตัวเองมีตั๋วแล้ว ไม่ต้องไปเบียดเสียดแย่งซื้อตั๋วกับคนอื่น วันนั้นผมนั่งอยู่อัฒจันทร์ฝั่งมีหลังคาเช่นเดิม ผู้คนแออัดยัดเยียดกันเต็มสนาม จนหลายคนต้องปีนรั้วลงไปนั่งในลู่วิ่ง และน่าจะมีการพังประตูเข้ามาทางลู่วิ่งโดยตรงด้วย ทำให้มีคนดูอยู่ด้านล่างเต็มไปหมด สารวัตรทหาร (สห.) ต้องทำงานหนักมาก เพื่อป้องกันไม่ให้คนดูลงไปใกล้ขอบสนามจนเกินไป ผู้คนก็เกรี้ยวกราดกับการกระทำของ สห. มักจะมีต้นเสียงตะโกนว่า “สห” แล้วก็มีเสียงขานตอบเป็นคำด่ารับกันไประหว่างรอการแข่งขันเริ่ม ขณะแข่งเวลาที่กรรมการเป่าแล้วไทยเสียเปรียบก็มักจะมีขวดน้ำ หรือสิ่งของลอยจากอัฒจันทร์ลงไปในสนาม สห. ต้องคอยเก็บออกมาไม่ให้รบกวนนักเตะ

ในวิกิพีเดียเขียนไว้ว่าปัจจุบันความจุผู้ชมของสนามศุภฯ รวม 19,793 ที่นั่ง แต่สมัยนั้นยังไม่มีเก้าอี้นั่ง แถมยังให้ยืนอออยู่หน้าประตู และบันไดทางขึ้นอัฒจันทร์ได้ เดิมก่อนมีเก้าอี้นั่งสนามศุภฯ น่าจะจุได้ 3-4 หมื่นคน แต่วันนั้นผมว่าน่าจะมีคนเบียดกันเข้าไปในสนามมากกว่า 6-7 หมื่นคนเลยทีเดียว (บางคนบอกว่ากว่า 8 หมื่นคนเพราะมีกองเชียร์อีกจำนวนมากเข้ามาในสนามไม่ได้) ผมมองไปยังอัฒจันทร์ด้านคบเพลิงฝั่งตรงข้ามก็ไม่เห็นช่องว่างแม้แต่นิดเดียว มองหาประตูทางเข้ายังไม่ค่อยเจอเลย แฟนบอลยืนออกันเต็มไปหมด ใครโหนรั้วได้ก็โหน ใครนั่งห้อยขาอยู่ตรงรั้วกันตกได้ก็ทำ แม้กระทั่งบนกระถางคบเพลิงก็มีคนดูไปนั่งอยู่ เวลามองลงไปในสนามเห็นแต่สีเขียวของหญ้ากับหัวคน บนลู่วิ่งก็เต็มไปด้วยคนดูจนชิดกับเส้นขอบสนาม

นัดนั้นทีมชาติเกาหลีเหนือแข็งแกร่งมาก และออกนำทีมชาติไทยไปได้ก่อนตั้งแต่ประมาณ 5 นาทีแรก แต่รายการคิงส์คัพครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวของ “เพชฌฆาตหน้าหยก” ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ก็ว่าได้ “เดอะตุ๊ก” ตามยิงตีเสมอให้ทีมชาติไทยได้ในครึ่งเวลาหลัง คนดูวิ่งเข้าไปแสดงความดีใจในสนามจนทำให้เกมต้องหยุดไป พักใหญ่กว่าจะเคลียร์คนดูออกจากสนามได้ หลังจากนั้นก็สู้กันสนุก นัดนี้เป็นนัดที่ทำให้สมปองกลายเป็นนายทวารสุดโปรดของผมไปเลย เพราะป้องกันหลายต่อหลายประตูได้อย่างเหลือเชื่อ สุดท้ายทำอะไรกันอีกไม่ได้เสมอกัน 1 ประตูต่อ 1 ในเวลา 90 นาที ต้องต่อเวลาออกไปอีก 30 นาที ผมจำได้ว่าในช่วงครึ่งหลังของการต่อเวลาทีมชาติไทยบุกไปทางประตูด้านสกอร์บอร์ด และก่อนจะหมดเวลาในครึ่งหลังของการต่อเวลานี้เองที่นักเตะเกาหลีเหนือทำแฮนด์บอลในเขตโทษ และก็เป็น “เดอะตุ๊ก” ที่เป็นคนสังหารจุดโทษสำเร็จ กองเชียร์ดีใจจนลงไปในสนามดั่งกับว่าชนะไปแล้ว จนร้อนถึงผู้ตัดสิน ตำรวจ และสารวัตรทหารที่จะต้องเคลียร์กองเชียร์ออกจากสนามเพื่อแข่งต่ออีกรอบ จนกรรมการเป่าเสียงนกหวีดยาวเหล่ากองเชียร์ในสนามก็วิ่งกรูลงไป แม้กระทั่งกองเชียร์บนอัฒจันทร์ก็ปีนรั้วกันลงไปจับนักเตะแบกขึ้นคอเดินไปรอบๆ สนาม กองเชียร์ดีใจกันราวกับว่าแต่ละคนถูกลอตเตอรีรางวัลที่ 1 กันเลยทีเดียว

นัดสนามแตกอีกนัดหนึ่งที่ไม่ได้ไปดูที่สนาม แต่มีโอกาสดูจากทางจอทีวีคือนัดรอบรองชนะเลิศของฟุตบอลรายการเดียวกันนี้ครั้งที่ 24 ในปี 2536 ที่ทีมชาติไทยชุดเอเอาชนะทีมเกาหลีใต้ (ที่ไม่ใช่ทีมชาติชุดใหญ่) ไปได้ 1 ประตูต่อ 0 จากการยิงประตูของเพชฌฆาตหน้าหยก นัดนั้นมีหัวหน้ากองเชียร์ระดับชาติ คุณ “เป็ด” ปริญญา สุขชิต ที่ชอบใส่ชุดซูเปอร์แมนโบกธงชาติไทย คอยนำเชียร์อยู่ด้านล่างสนามด้วย แต่สุดท้ายในการแข่งขันครั้งนั้นทีมชาติไทยเข้าไปแพ้ทีมชาติจีนในรอบชิงชนะเลิศ

นี่คือความบ้าบอลของคนไทยสมัยนั้น ขณะที่กรณีของทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลยูโรครั้งนี้ก็เริ่มมีการกล่าวโทษนักเตะที่ยิงจุดโทษพลาดบ้าง นักเตะที่ไม่ยอมยิงจุดโทษบ้าง โทษโค้ชที่วางแผนไม่ดีบ้าง แต่บ้านเราก็จะไปโทษเรื่องความฟิตของนักเตะ เรื่องการเล่นไม่เต็มที่ อย่างตอนที่ฟุตบอลไทยไปแพ้ในซีเกมส์ ก็มีข่าวว่านักเตะล้มบอล แฟนบอลก็มีอารมณ์ร่วมไปด้วยจนต้องมีการพาไปสาบานที่วัดพระแก้ว นี่ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับกับกองเชียร์อังกฤษตอนนี้เลย

ถ้าสมมติว่าทีมชาติไทยเราสามารถขึ้นไปอยู่ในระดับต้นๆ ของเอเชีย หรือมีโอกาสเข้าสู่ระดับนานาชาติ ผมว่ากองเชียร์ชาวไทยก็จะไม่ต่างอะไรนักกับกองเชียร์ทีมชาติอังกฤษ นี่ขนาดทีมชาติอังกฤษพลาดท่า ทั้งๆ ที่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในรอบ 55 ปีแล้ว คนไทยที่เชียร์อังกฤษยังหดหู่เศร้าหมองกันหลายคน ถ้าเป็นทีมชาติไทยพลาดท่าแบบนี้ ได้รองแชมป์บอลชิงแชมป์เอเชีย ผมว่าคงจะมีดราม่ากันมากมายทีเดียว

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares