หลายคนตั้งคำถาม สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีการวางแผนงานและเป้าหมายของทัพ “ช้างศึก” หรือยัง? หลังจากมีข่าวว่า สมาคมลูกหนังเวียดนาม ประกาศชัดขุนพล “ดาวทอง” จะต้องไปเล่นฟุตบอลโลก 2026 รอบสุดท้าย ให้ได้ แต่รู้หรือไม่? สมาคมฯในยุค “บิ๊กอ๊อด” นั้น มีแผนพัฒนาระยะยาว 20 ปี และเป้าหมายเดียวกันนี้มาก่อนตั้งนานแล้ว
The Master Plan : แผนแม่บทพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติระยะยาว 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579)
หลายคนคงเคยได้ยิน นับตั้งแต่ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก้าวเข้ามารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของวงการฟุตบอลไทย เมื่อเดือน ก.พ. ปี 2559 ได้ร่วมมือกับ ม.เกษตรศาสตร์ ในการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาฟุตบอลแห่งชาติระยะยาว 20 ปี (2560-2579) ซึ่งถือเป็นแผนพัฒนาฉบับแรกของ สมาคมฯ หลังจากก่อตั้งมาร้อยกว่าปี
แผนดังกล่าว แบ่งออกเป็น 4 ยุค เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานในแต่ละช่วง ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ได้แก่ 1.ยุควางรากฐาน (Standard Setting Era) ค.ศ. 2017-2021, 2.ยุคการพัฒนา (Development Era) ค.ศ. 2022-2026, 3.ยุคก้าวสู่เวทีโลก (World Stage Era) ค.ศ. 2027-2031, 4.ยุครักษาความยั่งยืน (Sustainability Era) ค.ศ. 2032-2036
ยุทธศาสตร์การพัฒนาฟุตบอลไทย มีเนื้อหาหลัก 3 ด้าน ด้านแรกคือเรื่องการพัฒนาองค์กร การจัดการภายในองค์กร รวมถึงสโมสรต่าง ๆ, การอบรมโค้ช, ผู้ตัดสิน และเวชศาสตร์การกีฬา ที่จะมีการพัฒนาทั้งเรื่องจำนวนและคุณภาพ รวมทั้งสร้างศูนย์ฝึกเป็นของตัวเอง ส่วนด้านที่สองคือเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถนักกีฬาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอลชาย, ฟุตบอลหญิง, ฟุตซอลชาย, ฟุตซอลหญิง รวมถึง ฟุตบอลชายหาด และด้านสุดท้ายคือเรื่องกระแสความนิยม ประกอบไปด้วย การตลาด, การประสานงานสื่อมวลชน และแฟนบอล
โดยเฉพาะแผนในด้านการพัฒนาขีดความสามารถของนักเตะทีมชาติที่มีรูปร่างเล็ก ทำให้ สมาคมฯ เล็งเห็นว่า “สแปนิช สไตล์” น่าจะตอบโจทย์ให้กับนักเตะไทย นั่นจึงเป็นที่มาของการเลือก “เอคโคโน” จากบาร์เซโลนา เข้ามาดูแลทีมชาติตั้งแต่เยาวชนรุ่นอายุไม่เกิน 14-21 ปี เพื่อเรียนรู้ระบบจากมืออาชีพและนำไปพัฒนาควบคู่กับแบบฉบับของตัวเองในคอนเซปต์ “Thailand’s Way” (ไทยแลนด์ เวย์)
จุดนี้น่าเสียดาย ถ้า สมาคมฯ ใจแข็ง ไม่อ่อนไหวไปกับกระแสกดดันจากโซเชียล แล้วยึดตามแผนไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะเห็นผลในอนาคต เพราะของแบบนี้ต้องใช้เวลา ชาติพัฒนาแล้วเขารอกันมาเป็นสิบ ๆ ปี แต่แฟนบอลไทยเรามักจะรอไม่ค่อยเป็น ยังไม่ทันก้าวแรกดี ก็จะเอาก้าวที่สิบแล้ว สุดท้าย “เอคโคโน” ก็เลยอยู่ไม่ได้
Thailand’s Way : ไทยแลนด์ เวย์
นี่คือวิธีการเล่นที่ “โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล คิดค้นเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของทีมชาติไทยในอนาคต หลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้นั่งตำแหน่งประธานเทคนิคในยุค “บิ๊กอ๊อด” สมัยแรก โดย สมาคมฯ หวังพัฒนาการเล่นแบบ “ไทยแลนด์ เวย์” อย่างจริงจังโดยปลูกฝังในการอบรมผู้ฝึกสอนทุกระดับ รวมทั้งได้มอบหมายให้ “เอคโคโน” นำมาใช้ในการสร้างพื้นฐานให้กับเด็กเยาวชนมีแนวทางการเล่นที่เหมือนเดิม
“โค้ชเฮง” อธิบายไว้ในเว็บไซต์ FA Thailand ว่า “Thailand’s Way” มี 11 ข้อ ซึ่งเรียกว่า Elefant Elf เป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า ช้าง 11 ตัว โดยในส่วนพื้นฐานการเล่นของแต่ละคนจะต้องประกอบไปด้วย
- Speed and Technique มีทักษะขณะเคลื่อนไหว เคลื่อนบอลไปข้างหน้าด้วยความเร็ว ไม่มีการหยุดยืนดู
- Toward Goal มีการเล่นที่มุ่งหน้าเข้าหาประตูคู่ต่อสู้
- Collective Play มีทีมเวิร์ค รู้จักการเล่นรวมกันเป็นทีม เวลาขึ้นเกมขึ้นไปพร้อมๆกัน
- Keep Moving เคลื่อนที่ไปกับบอลตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ใกล้บอลหรือห่างออกมา เพื่อความกระชับของรูปทรง (Shape Compact) และสมดุล (Balance) ของทีม
- Physical Contact มีความแข็งแกร่งทางด้านร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดการเสียเปรียบในการเบียดแย่งหรือครอบครองบอล
- Dual 1 v 1 มีความสามารถในการเอาชนะในสถานการณ์ 1 ต่อ 1 ไม่ว่าเกมรุกหรือเกมรับ
- Tactical Flexibility มีความยืดหยุ่นทางแทคติกที่เปลี่ยนไปเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในสนามหลากหลายรูปแบบ
- Regain the Ball Quickly แย่งบอลได้รวดเร็ว เวลาบอลเสียต้องแย่งคืนกลับมา ไม่ใช่ยืนดู
- Hungry for Goal มีความกระหายที่จะทำประตูคู่ต่อสู้ตลอดเวลา
- Competitive Mentality มีหัวจิตหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตามหลัง
- Winning Mentality มีความเป็นผู้ชนะทั้งในและนอกสนาม ใส่ใจรายละเอียดในการซ้อม เพื่อให้ตนเองสามารถเอาชนะในทุกๆ นาทีที่ลงแข่งขัน
เมื่อเด็กแต่ละคนได้รับการปูพื้นฐานครบทั้ง 11 ข้อ ก็จะเข้าสู่โครงสร้างการเล่นเป็นทีม นอกจากนี้ “โค้ชเฮง” ยังบอกไว้ว่า การที่จะสามารถเล่นได้ตามแนวทางของ Thailand’s Way จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความฟิตของนักกีฬา เนื่องจากการเล่นอันดุดัน น่าเกรงขาม จะต้องมีแรงกำลังในการบดคู่แข่งตลอดทั้ง 90 นาที
แน่นอนว่า “ไทยแลนด์ เวย์” ต้องใช้เวลา แต่น่าเสียดายที่ “โค้ชเฮง” มีเเต่คนด่าคนแซะเต็มไปหมด สุดท้ายก็ไปต่อไม่ได้ ทำให้ “ไทยแลนด์ เวย์” ไม่รู้จะไปต่อในทิศทางไหน? กับเป้าหมายใหญ่ในอนาคต
บอลไทยจะไปบอลโลก 2026
“อีก 9 ปีข้างหน้าเราต้องไปฟุตบอลโลกให้ได้ แม้ว่าตัวผมเองจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้แล้วก็ตาม” นี่คือเป้าหมายของประมุขลูกหนังไทย พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ประกาศไว้นานแล้ว รวมถึง การวางแผนยุทธศาสตร์ฟุตบอลแห่งชาติ 20 ปี ที่หลายคนอาจลืม
อย่างที่ทราบกันดี ในปี 2026 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า จะมีการเพิ่มทีมในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ที่ประเทศ แคนาดา , สหรัฐอเมริกา และ เม็กซิโก เป็นเจ้าภาพร่วม จาก 32 เป็น 48 ทีม รวมถึงโควต้าของทวีปเอเชียก็จะเพิ่มขึ้นจาก 4 ทีมครึ่ง เป็น 8 ทีม ซึ่งทำให้หลาย ๆ ทีมมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าพูดกันตรง ๆ โควต้าเดิมแทบจะถูกจองโดยขาประจำ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อิหร่าน, ซาอุดิอาระเบีย และ ออสเตรเลีย ที่เข้าผ่านเข้ารอบสุดท้ายแทบจะทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ถึงจะได้โควต้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 8 ทีม ก็ยังถือว่าเป็นงานที่ยากสำหรับทัพ “ช้างศึก” อยู่ดี เพราะยังมีหลาย ๆ ทีมในเอเชีย โดยเฉพาะจากตะวันออกกลาง เช่น อุซเบกิสถาน, อิรัก, สหรัฐอาหรับเอมิเรต, กาตาร์ หรือ แม้กระทั่ง ซีเรีย ที่มีโอกาสใกล้เคียงกับคำว่าฟุตบอลโลกมาหลายครั้ง รวมถึงอีกหลายทีมที่คาดหวังเหมือนเรา
แม้สมาคมฯจะมีเป้าหมายและแผนงานระดับ The Master Plan แต่เราคงต้องย้อนกลับมาถามตัวเองก่อนว่า ณ ตอนนี้ เราอยู่ ณ จุดไหนในระดับทวีป และระยะเวลา 4 ปีนี้ เราพร้อมแล้วหรือกับการที่จะเป็น 1 ใน 8 ทีมของเอเชีย ซึ่งผลงานในศึก เอเชียน คัพ 2023 รอบสุดท้าย น่าจะเป็นตัวชี้วัดให้เห็นภาพชัดขึ้น
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม