บิ๊ก กกท. เผยเร่งต่อรอง “ฟีฟ่า” ลดราคาค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เดดไลน์ก่อน 20 พ.ย.นี้ หากไม่ยอมลดจาก 1,600 ล้าน คนไทยอาจไม่ได้ดูบอลโลก
หลังจากที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้รับเงินสนับสนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 600 ล้านบาท ล่าสุด วันที่ 14 พ.ย.2565 ได้มีการเซ็นสัญญาลงนามบันทึกข้อตกลงอย่างเป็นทางการ (MOU) ณ ห้องประชุมสายลม 5021 สำนักงาน กสทช. กรุงเทพฯ โดยมี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ร่วมกับ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนจากทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม แม้จะได้เงินสนับสนุนจาก กสทช.จำนวน 600 ล้านบาท แต่ การกีฬาแห่งประเทศไทย ยังต้องหาเงินเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาทจากผู้สนับสนุนภาคเอกชนเพื่อนำไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า 3 องค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน)และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยืนยันที่จะให้เงินสนับสนุนรวมกันเป็นจำนวนเงินราว 400-500 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการซื้อลิขสิทธิ์ในครั้งนี้
ล่าสุด “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าว่า “ขณะนี้เรากำลังเร่งดำเนินการให้จบโดยเร็วที่สุด เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เราส่งไปให้ฟีฟ่านั้นครบถ้วนแล้ว เราอยากจะให้ฟีฟ่าพิจารณาเรื่องราคาที่เหมาะสมอีกครั้ง รวมไปถึงการแบ่งแพ็กเกจย่อยได้หรือไม่ ตรงนี้เราต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง”
“เรื่องเงินที่ยังขาดอีกเท่าไหร่ เราคงยังตอบไม่ได้ เพราะทางฟีฟ่ายังไม่ได้ตอบมาเรื่องจำนวนที่ชัดเจน เราพยายามต่อรองให้เขาลดราคาจาก 1,600 ล้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เดดไลน์ของเราคือก่อนวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ถ้าคุยไม่ลงตัวก่อนวันที่ 20 และฟีฟ่าเขาไม่ยอมลดราคาจริง ๆ คงต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ถ้ามันเป็นราคาที่สูงเกินไป เราคงรับไม่ได้ ครั้งนี้ก็อาจจะไม่มีการถ่ายทอดสดเกิดขึ้น แต่เรายังเชื่อว่าทางฟีฟ่าคงจะมีทางออกหรือข้อเสนออื่น ๆ ให้เราได้พิจารณา”
“หลังจากฟุตบอลโลกครั้งนี้ คงต้องมาหารือกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเดิมทีแล้วภารกิจเรื่องการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก เป็นภารกิจเสริมของ การกีฬาแห่งประเทศไทย เท่านั้น หากปกติแล้วมีภาคเอกชนต้องการซื้อลิขสิทธิ์ เราคงไม่มาร่วมประมูลแย่งกับภาคเอกชน เพียงแต่ครั้งนี้ไม่มีใครดำเนินการ เราจึงต้องเสนอตัวเข้ามาเพื่อคนไทยได้รับชมฟุตบอลโลก เชื่อว่าจากนี้คงมีการแก้ปัญหา เพื่อทำให้ครั้งหน้าเรามีสถานการณ์ที่ดีขึ้น” ดร.ก้องศักด ทิ้งท้าย