คุณค่าของงาน คุณค่าของคน – มุมมองจากภาพยนตร์ Ford v Ferrari ความต้องการพิสูจน์ความยิ่งใหญ่และความเป็นเอกด้านวิศวกรรมยานยนต์
นอกเหนือจากการเป็นสิ่งสร้างความบันเทิง แผ่นบันทึกความทรงจำให้ใครหลายต่อหลายคนแล้ว ภาพยนตร์ยังเหมือนเป็นหนังสือเล่มใหญ่ให้คนได้ค้นลึกหาเกร็ดข้อคิด ทั้งยังเป็นกระจกหลายมุมที่สะท้อนให้เห็นชีวิตจริงได้อย่างไม่น่าเชื่อ
.
ภาพยนตร์ Ford v Ferrari ก็เช่นกัน นอกเหนือจากเส้นเรื่องที่เกี่ยวรัดรอบๆ ความต้องการพิสูจน์ความยิ่งใหญ่และความเป็นเอกด้านวิศวกรรมยานยนต์ ผ่านการประลองความเร็วในสนามแข่ง ระหว่างค่ายรถยักษ์ใหญ่จากโลกเก่านามว่าเฟอร์รารี และเจ้าอาณาจักรยานยนต์จากโลกใหม่เช่นฟอร์ดแล้ว หนังยังเดินเส้นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของตัวละครหลักคู่ขนานกันไปอย่างมีสีสันและกลมกลืน
หากมองให้ลึกซึ้ง ชีวิตของตัวละครหลักในเรื่องก็ไม่ได้แตกต่างจากการดำเนินชีวิตของคนรอบๆ ตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวการณ์ปัจจุบันที่หลายต่อหลายคนต้องพ้นสภาพจากพนักงานประจำ มาตั้งต้นชีวิตใหม่ด้วยธุรกิจของตนเอง หรือแม้กระทั่งคนรุ่นหลังที่นิยมสร้างธุรกิจของตัวเองมากกว่าการเป็นคนเล็กๆ ในบริษัทใหญ่ ก็ประสบปัญหาไม่แพ้กัน เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก
แม้ชื่อหนังจะสื่อนัยของการชิงดีชิงเด่นของสองบริษัทใหญ่ แต่หนังเรื่องนี้ก็เล่าคุณค่าของคนและคุณค่าของงานได้ดีไม่น้อยเลย
**********
เค็น ไมล์ส วิศวกรผู้ปราดเปรื่องเรื่องเครื่องยนต์และพิสมัยความเร็ว ทั้งในแง่การเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถด้านวิศวกรรมของเขา และสิ่งเติมเต็มความสุขของนักแข่ง เมื่ออยู่บนรถแข่งเค็นสามารถหลอมรวมเครื่องจักรที่ไร้ชีวิตจิตใจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและความรู้สึกส่วนตัว แค่ฟังเสียงหรือสัมผัสความสั่นสะเทือน เขาก็สามารถรู้ได้ว่าจะดูแลรักษา บำรุง และปรับปรุงรถอย่างไร
คนแบบเค็นคือ สูตรสำเร็จของนักแข่งรถผู้ยิ่งใหญ่เฉกเช่น นิกกี เลาดา อดีตแชมป์รถสูตร 1 ผู้ล่วงลับ…คนที่รักและรู้ในสิ่งที่ทำอย่างลึกซึ้ง
หากในชีวิตจริงเค็นเปิดร้านซ่อมรถเล็กๆ รองรับลูกค้าได้ครั้งละไม่กี่คน มีลูกค้าประจำที่ประทับใจความรู้จริงของเขา แต่ก็ไม่ได้มีลูกค้าใหม่เพิ่มมากนัก เพราะหลายคนเข็ดขยาดที่เขาพูดจาแบบมะนาวไม่มีน้ำ หลายต่อหลายครั้ง เค็นยังไล่ตะเพิดลูกค้าที่ไม่รู้คุณค่าของเครื่องยนต์โดยไม่ได้ตั้งใจด้วย
ในอีกมุมหนึ่ง เค็นก็เป็นเสมือนกูรูหัวร้อนผู้ไม่สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้ ไม่ต่างจากผู้เชี่ยวชาญในองค์กรต่างๆ ที่มักจะมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
คนเก่งอย่างเขาจึงจำกัดตัวเองอยู่ในโลกแคบๆ ที่ซึ่งทุนและทรัพยากรจำกัด โอกาสในการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่สมความสามารถก็ถูกจำกัดไปด้วย
**********
.แคร์โรลล์ เชลบี อดีตแชมป์รถแข่งรายการเลอ มองส์ (Le Mans) ปี 1959 รายการแข่งรถมหาโหด 24 ชั่วโมง ถูกว่าจ้างจากบริษัทฟอร์ด ให้พัฒนารถแข่งรุ่น GT40 เพื่อลงแข่งโดยมีเป้าหมายหลักคือการล้มยักษ์เฟอร์รารีในการแข่งเลอ มองส์
แคร์โรลล์รับข้อเสนอจากฟอร์ดโดยมีเงื่อนไขว่าเขาต้องได้ เค็น ไมล์ส มาเป็นวิศวกรร่วมพัฒนา แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าการมีคนแบบเค็นอยู่ในทีมอาจทำให้งานการเดินไม่ราบรื่น ด้วยมีแนวโน้มสูงที่ผู้บริหารระดับสูงของฟอร์ดจะไม่ชอบหน้าเค็น เพราะกริยาที่ไม่ยอมใครของเค็น ทว่าแคร์โรลล์ก็ยังยืนกรานความคิดของตนเพราะเขารู้ดีว่าเค็นคือปัจจัยความสำเร็จของงานครั้งนี้ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งแคร์โรลล์จำต้องเป็นคนกลางที่อยู่ระหว่างข้อขัดแย้งอันร้อนระอุระหว่างเค็นและฝ่ายบริหาร
.
แคร์โรลล์รู้ดีว่าเค็นจะสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้หากเข้าถึงทุนทรัพย์และทรัพยากร ซึ่งบริษัทใหญ่เท่านั้นที่จะจัดสรรให้ได้ แต่สิ่งที่ตามมาหลังการได้มาซึ่งทรัพยากรนั้น ก็คือการเมืองในองค์กรที่ผู้ดูแลการจัดสรรทรัพยากร ย่อมอยากจะยื่นมือมาจัดการควบคุม
.
ในฐานะอดีตแชมป์ที่ต้องลาจากวงการก่อนเวลาอันควรด้วยปัญหาโรคหัวใจ แคร์โรลล์จึงต้องการจะกลับไปสู่ความเป็นแชมป์อีกครั้ง แม้จะในฐานะของผู้จัดการทีมก็ตาม การรับงานครั้งนี้เขาจึงมีเป้าหมายส่วนตัวเช่นกัน
.
แคร์โรลล์เป็นตัวแทนของผู้บริหารและผู้นำทีม ที่ต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคในการนำทีมไปสู่ความสำเร็จ หลายครั้งต้องโอนอ่อนผ่อนตามฝ่ายบริหารซึ่งสร้างความไม่เข้าใจกันในทีม แต่หลายหนก็ต้องยืนหยัดปกป้องทีมจากฝ่ายบริหาร เขาเป็นคนที่ต้องบริหารความสมดุลระหว่างเป้าหมายส่วนตัว เป้าหมายองค์กร คุณค่า หลักการ และการเมือง
.แม้ว่านิสัยส่วนตัวจะแตกต่างกันอย่างมาก แต่ท้ายสุดแล้วแคร์โรลล์และเค็นก็กลายเป็นทีมที่มุ่งมั่น เพราะทั้งคู่มีสิ่งที่รักที่จะทำเหมือนกัน และที่สำคัญกว่านั้นคือ เค็นได้เห็นแคร์โรลล์ปกป้องเขาและความฝันของเขาเมื่อครั้งฝ่ายบริหารไม่ต้องการให้เขาลงแข่ง ความเชื่อใจระหว่างเพื่อนสองคนจึงเกิดขึ้น
ในปี 1963 ลี ไอเอค็อกคา ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฟอร์ด ได้เสนอไอเดียธุรกิจให้กับ เฮนรี ฟอร์ด ที่ 2 (Henry Ford II) ให้เข้าซื้อกิจการของเฟอร์รารีซึ่งขณะนั้นประสบปัญหาขาดแคลนเงินสด ลีเชื่อว่าการเข้าซื้อกิจการค่ายรถระดับตำนานและการเข้าร่วมแข่งรายการเลอ มองส์ จะช่วยสร้างแบรนด์และเพิ่มยอดขายได้มหาศาล
.
การณ์กลับกลายเป็นว่าหลังจากที่ เอ็นโซ เฟอร์รารี ได้รับข้อเสนอจากบริษัทฟอร์ด เขากลับใช้ข้อเสนอนั้นเป็นพื้นฐานในการต่อรองราคาให้บริษัทเฟียต (Fiat) ค่ายรถสัญชาติเดียวกันเข้าซื้อกิจการ บนเงื่อนไขว่าเอ็นโซจะยังมีสิทธิ์เต็มในการควบคุมกิจการของเฟอร์รารีดังเดิม
การเข้าซื้อกิจการที่ล้มเหลวของลี เป็นกรณีศึกษาที่ดีของการมองข้ามองค์ประกอบเกี่ยวกับความรู้สึกของคนและคนที่เกี่ยวข้อง ค่ายรถยุโรปนั้นมักมองค่ายรถฝั่งอเมริกาในฐานะผู้ต่ำต้อยกว่า นอกจากนั้นสิ่งที่เจ้าของกิจการชาวยุโรปให้ความสำคัญคือการสืบทอดความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แนวคิดทุนนิยมที่ใช้บริษัทเป็นเครื่องมือสร้างความร่ำรวยจากการขายกิจการ
.
ความล้มเหลวในการซื้อกิจการของบริษัทฟอร์ด และความแพรวพราวทางธุรกิจของเฟอร์รารีนี้ ได้ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างทั้งสองบริษัทในรายการเลอ มองส์ ไม่ได้มีความหมายเฉพาะการแข่งรถเท่านั้น การแพ้ชนะในการแข่งจึงเป็นทั้งการเอาคืนในกรณีที่ฟอร์ดชนะ หรือการตราหน้าซ้ำในกรณีที่เฟอร์รารีคว้าชัย
.
ความรู้สึกดังกล่าวได้ส่งผ่านเป็นความกดดันให้แคร์โรลล์และเค็น ต้องพัฒนารถและสร้างทีมที่มีเป้าหมายเพียงสิ่งเดียว นั่นคือการโค่นเฟอร์รารีในรายการเลอ มองส์
ลีโอ บีบี ผู้บริหารระดับสูงอีกคนหนึ่งของบริษัทฟอร์ด รับหน้าที่ดูแลทีมแข่งขันเลอ มองส์ปี 1966 หลังจากที่ฟอร์ดพ่ายต่อเฟอร์รารีอย่างหมดรูปไปเมื่อปี 1965 ไม่มีรถของฟอร์ดแม้แต่คันเดียวที่แข่งจบ ซึ่งก็เป็นไปตามคำทำนายของเค็น ผู้ซึ่งถูกกันไม่ให้ลงแข่ง
.
แม้ว่าเค็นจะทำนายผลการแข่งขันได้แม่นราวกับตาเห็น แต่มันกลับสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับผู้บริหารระดับสูง
.
เมื่อลีโอเข้ารับตำแหน่ง เขาจึงยื่นคำขาดแก่แคร์โรลล์ว่า เขาไม่ต้องการเห็นเค็นลงแข่งในปี 1966 แต่แคร์โรลล์ก็วิ่งเต้นต่อรองกับเฮนรีโดยตรง ยื่นเงื่อนไขว่าหากเค็นสามารถชนะรายการเดย์โทนาได้ บริษัทต้องให้เขาลงแข่งรายการเลอ มองส์ แคร์โรลล์รู้ดีว่า โอกาสที่จะชนะนั้นจะมีได้ก็ต่อเมื่อให้นักแข่งผู้พัฒนารถลงแข่งเอง ซึ่งก็คือเค็น
.
เฮนรีรับข้อเสนอโดยมีเงื่อนไขว่าเค็นจะต้องลงแข่งรายการเดย์โทนาในชื่อ เชลบี อเมริกัน ไม่ใช่ฟอร์ด…
ในวันแข่ง แคร์โรลล์และเค็นก็ได้รับรู้ความจริงว่า ลีโอส่งรถแข่งของฟอร์ดซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กับค่ายรถนาสคาร์เข้าแข่งด้วย…
.
แต่สุดท้ายเค็นก็คว้าชัยและสิทธิ์การลงแข่งเลอ มองส์ได้สำเร็จ
.
**********
.
การแข่งขันรายการเลอ มองส์ ปี 1966 มีเรื่องที่กล่าวขานกันเป็นตำนานอยู่ 2 เรื่อง
.
เรื่องแรกคือ การดวลกันระหว่างเค็น และ ลอเรนโซ บันดินี นักแข่งของเฟอร์รารี ที่เส้นทางตรงมัลเซนน์ (Mulsanne Straight) ซึ่งบี้กันจนเครื่องยนต์ของเฟอร์รารีถึงกับพัง ส่งผลให้ไม่เพียงแค่เค็นเอาชนะลอเรนโซได้ แต่ยังเขี่ยให้เฟอร์รารีออกจากการแข่งไปด้วย
.
ฟอร์ดเอาชนะเฟอร์รารีได้อย่างสมบูรณ์แบบ…
.เรื่องที่ 2 เกิดขึ้นในรอบสุดท้าย ขณะที่เค็นกำลังนำการแข่งขันอย่างขาดลอย โดยมีรถของฟอร์ดอีก 2 คันอยู่ในลำดับที่ 2 และ 3 ลีโอสั่งให้แคร์โรลล์วิทยุบอกเค็นให้ชะลอรถ เพื่อให้รถของฟอร์ดอีก 2 คันตามทัน และเข้าเส้นชัยพร้อมกัน สร้างโอกาสในการถ่ายภาพแห่งชัยชนะส่งเสริมแบรนด์และการตลาด
ในตอนแรกเค็นไม่เห็นด้วยเนื่องเพราะต้องการทำสถิติเร็วที่สุดต่อรอบ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของเครื่องยนต์ GT40 ให้โลกได้รับรู้ความยิ่งใหญ่ของวิศวกรรมยานยนต์อเมริกันด้วยวิธีของเขา แต่ในที่สุดเขาก็โอนอ่อนผ่อนตาม ชะลอรถจนเพื่อนร่วมทีมอีก 2 คันตามทันและเข้าเส้นชัยพร้อมๆ กัน เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของฟอร์ด…ตามวิธีของลีโอ
.
ด้วยกติกาการแข่งขันที่กำหนดไว้ แม้จะเข้าเส้นชัยใกล้เคียงกัน แต่เค็นต้องเสียแชมป์ให้กับแม็คลาเรน นักแข่งผู้ซึ่งสตาร์ตหลังเขา 60 ฟุต ซึ่งหากเค็นไม่ยอมทำตามคำขอของฝ่ายบริหาร เขาก็จะเป็นนักแข่งที่ได้ครองสามแชมป์ เดย์โทนา-เซอบริงก์-เลอ มองส์ ซึ่งหาได้ยากยิ่งในสมัยนั้น
.
แม้จะผิดหวังแต่เค็นก็รู้สึกขอบคุณแคร์โรลล์ที่ทำให้เขาได้ลงแข่งรายการนี้จนจบ
.
การตัดสินใจออกคำสั่งของลีโอ เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่ใส่ใจคุณค่าของคนของผู้บริหารบริษัทฟอร์ด
.
**********
.
กลับมามองใกล้ตัว ในเกือบทุกๆ องค์กรมีคนแบบเค็น, แคร์โรลล์, ลี และลีโอ อยู่เสมอ ประเด็นอยู่ที่องค์กรจะเห็นคุณค่าของคนแต่ละประเภทอย่างไร องค์กรจะมีระบบใดที่ทำให้แต่ละคนสร้างผลงานที่ดีได้โดยไม่ถูกลดทอนคุณค่า และองค์กรจะมีแนวปฏิบัติที่ป้องกันไม่ให้การทำผลงานของคนหนึ่งส่งผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมต่ออีกคนหนึ่งได้อย่างไร
.
คนแบบเค็นและแคร์โรลล์มีความสุขได้ด้วยรักในสิ่งที่ทำ ตั้งใจทำให้ดีที่สุด และไม่ปล่อยให้คุณค่าของตัวเองถูกตัดสินด้วยคนอื่น แต่ให้ผลงานที่สร้างสรรค์เป็นเครื่องบ่งชี้คุณค่าแทน
คนทั้งสองเป็นต้นแบบแห่งกำลังใจสำหรับคนที่ต้องออกมาทำงานอิสระหรือตั้งต้นธุรกิจตนเอง มีความสุข และมีคุณค่าได้แม้จะไม่ได้อยู่ในสังกัดของบริษัทใหญ่
.
ผู้บริหารแบบลีโอก็เข้าข่ายคนที่มีแนวคิด “ผลลัพธ์บ่งบอกความชอบธรรมของวิธีการ (End justifies Means)” คนแบบนี้แม้จะสร้างผลงานได้แต่คงไม่สามารถสร้างความยั่งยืนให้องค์กรได้ เพราะขาดซึ่งหลักการที่ดี
.
พฤติกรรมที่สะท้อนการไร้จิตสำนึกที่ดีของลีโอ ตอกย้ำความสำคัญเรื่องจรรยาบรรณของผู้บริหารองค์กรใหญ่ ที่ซึ่งมีทุนและทรัพยากรพอให้สร้างสรรค์สิ่งยิ่งใหญ่ได้ ก็ควรจะมุ่งเน้นหาโอกาสที่จะทำสิ่งเหล่านั้น มากกว่าการทำงานให้ผ่านๆ ไปวันหนึ่ง หรือเอาแต่มุ่งหาประโยชน์ให้ตนเองเป็นหลัก โดยไม่สร้างคุณค่าในวงกว้างเลย
.
**********
.
แม็คลาเรน ผู้ชนะการแข่งขันรายการเลอ มองส์ ปี 1966 กล่าวกับผู้ใกล้ชิดเสมอว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ชนะที่แท้จริง เขาใช้แรงบันดาลใจจากความเก่งกาจด้านวิศวกรรมของเค็น เป็นพื้นฐานก้าวไปสู่การเป็นผู้สร้างรถแข่งสูตร 1 ในนาม แม็คลาเรน
.
เฟอร์รารีและแม็คลาเรนยังเป็นค่ายรถที่เข้าร่วมการแข่งรถสูตร 1 อย่างต่อเนื่อง เป็นแชมป์โลกรวมกันหลายสมัย ทั้งสองบริษัทให้ความสำคัญกับการสร้างความสามารถแกนหลัก ซึ่งก็คืองานด้านวิศวกรรมยานยนต์ที่เป็นเลิศ และให้ความสำคัญสูงสุดกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังงานวิศวกรรม…นั่นคือบุคลากร
.
ส่วนฟอร์ดกลายเป็นค่ายรถธรรมดาค่ายหนึ่งซึ่งอย่าว่าแต่รถแข่งเลย รถยนต์นั่งส่วนบุคคลก็ยากที่จะเอาชนะค่ายรถแดนอาทิตย์อุทัย ค่ายรถจากโลกใหม่ในสายตาผู้บริหารฟอร์ด…