กีฬามวยสากลสมัครเล่นในโอลิมปิกต้องเผชิญมรสุมอย่างหนักก่อนจะเริ่มการแข่งขันโตเกียวเกมส์ หลังจากที่สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติหรือ AIBA ถูกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC แบนไม่ให้จัดการแข่งขันในโอลิมปิก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเงินและการคอร์รัปชั่น ส่งผลให้ไอโอซีต้องจัดชุดทำงานใหม่ขึ้นมาดูแลการจัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในโอลิมปิกครั้งนี้ โดยดูแลจัดการตั้งแต่ในรอบคัดเลือก ซึ่งทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปด้วยดี แต่จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้การแข่งขันรอบคัดเลือกในเลกสุดท้ายต้องถูกยกเลิกกลางคัน ทำให้โควตาที่จะคัดเลือกนักชกเข้ารอบสุดท้ายโอลิมปิกที่เหลือ ต้องคัดเอาจากแรงกิ้งที่คณะกรรมการจัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นที่ไอโอซีจัดตั้งขึ้นมาเป็นผู้ดำเนินการ
แม้ว่าจะโดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ยุติธรรม เนื่องจากคะแนนที่ใช้ในการจัดอันดับเป็นคะแนนเก่าในช่วงก่อนที่โควิด-19 จะระบาดตั้งแต่ต้นปี 2019 แต่ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วในสภาวะเช่นนี้
สุดท้ายแล้วการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นโอลิมปิกก็เริ่มต้นขึ้นโดยมีนักมวยจากทั่วโลก 291 คนจาก 81 ประเทศเข้าทำการแข่งขัน
การชิงชัยใน 13 รุ่นมีการเปลี่ยนแปลงจากโอลิมปิกริโอ 2016 อยู่พอสมควร ซึ่งแม้จะมีการชิงเหรียญทอง 13 เหรียญเท่ากัน แต่มีการเพิ่มเหรียญทองมวยหญิงจากเดิม 3 รุ่นเป็น 5 รุ่น และลดเหรียญทองมวยชายจาก 11 รุ่นเหลือ 8 รุ่น
ทั้งนี้กติกาการแข่งขันก็มีการเปลี่ยนมาใช้กรรมการให้คะแนน 5 คน หลังจากที่โอลิมปิกครั้งก่อนมีกรรมการให้คะแนน 3 คน แต่ยังคงยึดระบบการให้คะแนนแบบยกละ 10 คะแนนเหมือนเดิม และมวยชายยังไม่สวมเฮดการ์ด ขณะที่มวยหญิงสวมเฮดการ์ดเช่นเดิม
สำหรับการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นโอลิมปิกโตเกียวเกมส์ ทีมกำปั้นไทยฝ่าด่านเข้ารอบสุดท้าย 5 คน โดย 4 คนแรกผ่านการคัดตัวในการชกชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศจอร์แดน เมื่อต้นปี 2019 คือ ธิติสรรค์ ปั้นโหมด รุ่น 52 กก., ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี รุ่น 57 กก., สุดาพร สีสอนดี ในรุ่น 60 กก.หญิง และ ใบสน มณีก้อน รุ่น 69 กก.หญิง
ขณะที่นักชกความหวังอย่าง วุฒิชัย มาสุข ในรุ่น 69 กก.ไม่ผ่านรอบคัดเลือกในเลกแรก แต่ก็ยังมีหวังที่จะมาคัดตัวในรอบสุดท้าย แต่อย่างที่กล่าวข้างต้น จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ไอโอซียกเลิกการแข่งขันคัดตัวในเลกสุดท้าย และไปดูแรงกิ้งของนักมวยในแต่ละรุ่น ส่งผลให้ไม่มีนักชกไทยที่มีแรงกิ้งสูงพอที่จะผ่านเข้ารอบสุดท้าย เนื่องจากวุฒิชัยเพิ่งจะเลื่อนรุ่นจากพิกัด 64 กก. มาชกในพิกัด 69 กก. ได้แค่ปีเศษ และในโอลิมปิกครั้งนี้ตัดรุ่น 64 กก. ออก จึงมีคะแนนสะสมในแรงกิ้งไม่สูงพอ
แต่โชคยังเข้าข้างทีมกำปั้นไทยอยู่บ้าง เนื่องจากเกาหลีเหนือประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันโตเกียวเกมส์ ทำให้นักชกเกาหลีเหนือในรุ่น 51 กก. หญิง ต้องถอนตัวออกไป และเป็น จุฑามาศ จิตรพงศ์ ที่มีแรงกิ้งรองลงมาได้โควตาไปแทน
แต่โชคดีได้ไม่นาน ข่าวร้ายก็มาเยือนทีมกำปั้นไทย หลังจากที่ ธิติสรรค์ ปั้นโหมด เกิดบาดเจ็บระหว่างการซ้อมต้องถอนตัวจากการแข่งขัน เหลือเพียง ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี, จุฑามาศ จิตรพงศ์, สุดาพร สีสอนดี และ ใบสน มณีก้อน ไปลุยศึกโอลิมปิกกันแค่ 4 คน
แต่ทีมกำปั้นไทยก็เตรียมทีมมาอย่างดี แม้จะมีปัญหาการเก็บตัวในสภาวะโควิด-19 ระบาดหนัก แต่ทุกคนก็พยายามกันอย่างเต็มที่ โดยในรอบแรก หรือรอบ 32 คนสุดท้าย 4 นักชกไทยคว้าชัยได้อย่างพร้อมหน้า ฉัตร์ชัยเดชาเอาชนะ ปีเตอร์ แม็คเกรล นักชกสหราชอาณาจักร 5-0, จุฑามาศเอาชนะ รูเมย์ซา บูอาลัม นักชกแอลจีเรีย 5-0, สุดาพรเอาชนะ มาเรีย โฮเซ ปาลาซิออส นักชกเอกวาดอร์ 5-0 และ ใบสนเอาชนะ ซาดัท ดัลกาโตวา นักชกรัสเซีย 4-1
จากนั้นในรอบ 16 คนสุดท้าย ฉัตร์ชัยเดชาที่ชกโอลิมปิกสมัย 3 ยังโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมเอาชนะ เมียร์โก คูเอลโญ่ นักชกอาร์เจนตินา 4-1, จุฑามาศล้างตาเอาชนะ ไอริส แม็กโน นักชกฟิลิปปินส์ ที่ตัวเองเคยแพ้มาในการแข่งขันซีเกมส์ แบบเหนือชั้น 5-0 ขณะที่สุดาพรปราบ ซิมรานจิต คัวร์ นักชกอินเดียที่มีแรงกิ้งอันดับ 4 ในทัวร์นาเมนต์แบบสบายๆ 5-0 ทว่าใบสนที่ต้องมาเจอกับ กู หง นักชกจีน แรงกิ้งอันดับ 2 ในรุ่น ดีกรีเหรียญเงินเวิล์ดแชมเปี้ยนชิพ 2 สมัย ซึ่งใบสนประสบการณ์เป็นรองแพ้คะแนนไป 0-5 อย่างน่าเสียดาย ตกรอบเป็นคนแรกของทีมกำปั้นไทย
ในรอบ 8 คนสุดท้ายซึ่งถือเป็นรอบสำคัญคือเป็นรอบชิงเหรียญทองแดง ฉัตร์ชัยเดชาต้องเจอกระดูกชิ้นโตอย่าง ลาซาโร อัลวาเรซ นักชกคิวบา ดีกรีเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2 สมัย เหรียญทองชิงแชมป์โลก 3 สมัย โดยเกมการชกเป็นไปอย่างสูสี ยกแรกฉัตร์ชัยเดชาเดินเข้าหาแต่คิวบาก็ใช้การดึงหลบและสวนคืน ทำคะแนนนำไปก่อน ยกสองนักชกไทยแก้เกมด้วยการชกเป้าใหญ่เน้นตัดลำตัว คะแนนกลับมาสูสี ต้องชิงดำยกสุดท้ายแบบฉัตร์ชัยเดชาเป็นรองนิดๆ เพราะคะแนนตามหลัง 2 คน เสมอ 2 คน และ ชนะ 1 คน ยกสาม ฉัตร์ชัยเดชาทำได้ดีในช่วงต้น แต่อัลวาเรซกลับมาฮึดโต้กลับได้สวยๆ ในช่วงปลาย ผลรวมคะแนนปรากฏว่า ฉัตร์ชัยเดชาแพ้ไป 2-3 เสียง ตกรอบไปอย่างน่าเสียดาย หลังลงจากเวทีนักชกวัย 36 ปีประกาศแขวนนวมทันทีหลังรับใช้ชาติมาอย่างยาวนานถึง 16 ปี
ขณะที่รุ่น 51 กก. หญิง จุฑามาศเจอกับมวยแกร่งอย่าง บุสนาซ คาคิโรกูล นักชกตุรกีดีกรีเหรียญเงินเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ ซึ่งนักชกไทยชกผิดจังหวะในยกแรกคะแนนตามหลัง ทำให้ยกสองต้องเร่งเดินแต่กลับไปหลงเหลี่ยมโดนดักต่อยจนสุดท้ายแพ้ไป 0-5 ตกรอบไปอีกคน
คนสุดท้ายของทีมกำปั้นไทย ในรุ่น 60 กก. หญิง สุดาพร สีสอนดี เจอกับ แคโรไลน์ ดูบัวร์ นักชกสหราชอาณาจักรดีกรีแชมป์เยาวชนโลก โดยเกมการชกเป็นไปอย่างสนุก ยกแรกสุดาพรทำแต้มนำไปก่อน แต่ยกสองดูบัวร์เร่งเกมขึ้นมาจนคะแนนสูสี ก่อนที่ยกสุดท้าย สุดาพรชกแบบคุมเชิงดักหมัดซ้ายได้สวยๆ หลายครั้งก่อนครบยกกรรมการให้สุดาพรเฉือนชนะไป 3-2 เสียง ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศได้สำเร็จพร้อมตุนเหรียญทองแดงเป็นอย่างน้อย
โดยเกมการแข่งขันในรอบรองชนะเลิศ สุดาพรต้องมาเจอกับ เคลลี แอน แฮร์ริงตัน คู่ปรับเก่าชาวไอริช ที่เคยแพ้มาอย่างหวุดหวิดในการชกชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2018 และการชกก็คล้ายกับไฟต์ก่อนหน้านี้ที่เจอกัน แฮร์ริงตันชกแบบชิงจังหวะ สุดาพรก็ชกแบบระวังตัวไม่บุ่มบ่ามเดินเข้าหา การชกเป็นไปอย่างตึงเครียดจนถึงยกสุดท้าย สุดาพรที่คะแนนตามอยู่พยายามเร่งเกมแต่ก็ไม่ผ่าน ครบ 3 ยกแพ้ไป 2-3 เสียง แต่ก็ยังได้เหรียญทองแดงมาครองพร้อมทวงศักดิ์ศรีทีมกำปั้นไทยที่มีเหรียญโอลิมปิกติดมืออีกครั้งหลังจากที่พลาดไปเมื่อโอลิมปิกครั้งก่อน
สุดาพร นักชกสาววัย 29 ปีจากจังหวัดอุดรธานี ถือเป็นนักชกหญิงไทยคนแรกที่ได้เหรียญโอลิมปิก และเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นคนที่ 14 ที่ได้เหรียญโอลิมปิกต่อจาก พเยาว์ พูนธรัตน์ เหรียญทองแดงโอลิมปิกมอนทรีออล 1976, ทวี อัมพรมหา เหรียญเงินโอลิมปิกลอสแองเจลิส 1984, ผจญ มูลสัน เหรียญทองแดงโอลิมปิกโซล 1988, อาคม เฉ่งไล่ เหรียญทองแดงโอลิมปิกบาร์เซโลนา 1992, สมรักษ์ คำสิงห์ เหรียญทองโอลิมปิกแอตแลนตา 1996, วิชัย ราชานนท์ เหรียญทองแดงโอลิมปิก 1996, วิจารณ์ พลฤทธิ์ เหรียญทองโอลิมปิกซิดนีย์ 2000,พรชัย ทองบุราณ เหรียญทองแดงโอลิมปิกซิดนีย์ 2000, มนัส บุญจำนงค์ เหรียญทองโอลิมปิกเอเธนส์ 2004 และเหรียญเงิน ปักกิ่ง 2008, วรพจน์ เพชรขุ้ม เหรียญเงินโอลิมปิกเอเธนส์ 2004, สุริยา ปราสาทหินพิมาย เหรียญทองแดงโอลิมปิกเอเธนส์ 2004, สมจิตร จงจอหอ เหรียญทองโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 และ แก้ว พงษ์ประยูร เหรียญเงินโอลิมปิกลอนดอน 2012
ต้องมาติดตามว่า โอลิมปิกปารีส 2024 ทีมกำปั้นไทยจะพัฒนาผลงานจากเดิมได้มากแค่ไหน กับทิศทางและอนาคตที่ไม่แน่นอนของมวยสากลสมัครเล่นที่สหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ หรือ AIBA จะเคลียร์มลทินกลับมาเป็นที่ยอมรับของไอโอซีได้หรือไม่ รวมทั้งปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ตกคือเรื่องความยุติธรรมในการตัดสิน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทุกคนยอมรับกับกีฬาที่ตัดสินจากสายตาของมนุษย์ กลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายอยากให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการตัดสินมากขึ้นเหมือนอย่างกีฬาอื่น
ขนาดกีฬายอดนิยมอย่างฟุตบอลยังต้องยอมแหวกม่านประเพณี เปลี่ยนแปลงมาใช้เทคโนโลยีตัดสินแทนมนุษย์ในบางจุด หรือกีฬาที่เคยถูกวิจารณ์ว่าโคตรโกงอย่างเทควันโด ยังยอมเปลี่ยนแปลงให้ใช้เกราะไฟฟ้ามาช่วยตัดสินให้คะแนน มีการย้อนดูภาพช้าในจังหวะออกอาวุธที่ไม่ชัดเจน ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก เชื่อว่ามวยสากลสมัครเล่นก็ไม่น่าจะต้านทานกระแสสังคมได้นานสักเท่าไร
หากมวยสากลสมัครเล่นยังดื้อดึงให้สายตาคนตัดสินเหมือนเดิม ก็คงจะเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ และอาจจะถึงขั้นถูกถอดจากโอลิมปิกเลยทีเดียวหากไม่มีการปรับปรุง ณ จุดนี้
โดย สุรเดช อภัยวงศ์
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม