Link Copied!

เมื่อผมเป็นอาร์บิเตอร์ ตอน มวยล้ม ต้มคนดู (3)

ในตอนนี้เราจะมาว่าถึงเรื่องข้อดี ข้อด้อย ของระบบการแข่งขันแบบสวิส-แพริ่งกันครับ โดยเฉพาะในเรื่องของผลกระทบที่เอื้อต่อวิธีการและขบวนการโยนคะแนนให้แก่กันระหว่างผู้แข่งขัน ซึ่งก็จะเข้าทำนองที่ว่า มวยล้ม ต้มคนดู นี่เอง

ระบบสวิส-แพริ่งนั้นแก้ไขและสามารถรองรับปัญหาเรื่องผู้แข่งขันที่มีเป็นจำนวนมากได้เป็นอย่างดี ต่อให้มากถึงหลักร้อยหรือหลักพัน เงื่อนไขที่จะต้องนำมาพิจารณาอย่างสำคัญ นั่นคือจำนวนรอบหรือจำนวนเกมการแข่งขัน ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับจำนวนผู้เล่นในรายการแข่งขันนั้นๆ เมื่อมีผู้เล่นในระดับหลายร้อยคน จำนวนรอบหรือเกมการแข่งขันก็จะมากกว่าจำนวนรอบมาตรฐานปกติ เช่น อาจจะมีถึง 11, 13 หรือ 15 รอบก็เป็นได้

หรือถ้าจำนวนผู้เล่นมีเพียงไม่กี่สิบคน จำนวนรอบเกมการแข่งขันก็อาจจะลดลงมาเหลือเพียง 5 หรือ 7 รอบ และถ้ามีผู้เล่นอยู่ไม่ถึงสิบคน ผู้จัดการแข่งขันก็อาจจะประกาศให้การแข่งขันนั้นเป็นระบบราวด์โรบิน หรือแบบที่ผู้เล่นผู้แข่งขันจะต้องพบกันเองทั้งหมด จะว่าไประบบราวด์โรบินก็คือ ระบบสวิส-แพริ่งแบบเวอร์ชั่นเต็มนั่นเอง

รายการแข่งขันระดับนานาชาติหรือระดับประเทศรายการสำคัญๆ มักจะประกาศอย่างเป็นทางการก่อนว่าจะใช้ระบบการแข่งขันแบบใด ถ้าคาดว่าจะมีผู้เล่นสมัครเข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก ผู้จัดการแข่งขันก็มักตัดสินใจเลือกใช้ระบบสวิส-แพริ่ง เพราะมีความเหมาะสมมากที่สุด แต่มีข้อพิเศษปลีกย่อยบ้าง เช่น ถ้ารายการแข่งขันนั้นมีการแยกกลุ่มหรือแบ่งประเภทรุ่นออกเป็นประเภทย่อยๆ แล้วปรากฏว่าจำนวนผู้เล่นผู้แข่งขันในบางรุ่นอาจจะมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอที่ใช้ระบบสวิส-แพริ่งทำการประกบคู่แข่งขัน ผู้จัดการแข่งขันก็อาจจะเลือกใช้ระบบการแข่งขันแบบพบกันหมดแทน

นักหมากรุกสากลส่วนใหญ่นิยมชมชอบและคุ้นเคยกับระบบสวิส-แพริ่ง เพราะเป็นมาตรฐานการแข่งขันที่ใช้กันทั่วไปทั้งโลก และแน่นอนว่าองค์กรหมากรุกสากลหรือสมาคมหมากรุกสากลของประเทศต่างๆ ถ้าอยู่ภายใต้สังกัดสหพันธ์หมากรุกสากลนานาชาติ (ฟีเด้) จะใช้ระบบการแข่งขันแบบนี้เป็นหลักในการประกบคู่แข่งขัน เว้นเสียแต่ว่าจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับจำนวนผู้เล่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เมื่อรายการแข่งขันหนึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ถ้าในสมัยสัก 20 ปีก่อน ผู้จัดการแข่งขันจะใช้ระบบการแข่งขันแบบน็อกเอาต์ (knock out) หรือแพ้คัดออก แต่ถ้ายุคสมัยนี้ระบบสวิส-แพริ่งจะทำให้ผู้เล่นผู้แข่งขันมีส่วนร่วมและอยู่ในระบบการแข่งขันไปตลอดจนจบรายการ

ข้อดีนั้นมีมากมาย ข้อแรกสำหรับมือใหม่หรือนักหมากรุกที่ยังอ่อนประสบการณ์ และฝีมือระดับความแข็งแกร่งที่มีน้อย สวิส-แพริ่งจะเป็นสนามแข่งที่เปิดโอกาสให้นักหมากรุกเหล่านี้ได้มีโอกาสแสวงหาประสบการณ์ ความรู้ในโลกของหมากรุกได้อย่างเต็มที่ ถ้าเป็นระบบแพ้คัดออก เส้นทางการแข่งขันของนักหมากรุกมือใหม่เหล่านี้จะจบสิ้นทันทีเมื่อพวกเขาพบกับความพ่ายแพ้ในการแข่งขันรอบแรกเกมแรก พวกเขาอาจจะเดินทางไกล ข้ามเมือง ข้ามจังหวัด ข้ามประเทศเพื่อมาทำการแข่งขัน เสียค่าสมัคร ค่าเดินทาง หรือค่าที่พักไปเป็นจำนวนไม่น้อย แต่บทสรุปที่อาจดูโหดร้ายไปสักนิดคือ พวกเขาต้องออกจากระบบและรายการแข่งขัน เก็บประเป๋าเดินทางกลับทันที

ก็อย่างที่เราทราบกัน “นี่จะทำอย่างไรได้ กติกามันเป็นอย่างนี้ กลับไปฝึกฝนฝึกปรือให้ฝีมือเข้มแข็งมากขึ้น แล้วกลับมาร่วมสนุกกันใหม่ในโอกาสหน้า” แต่ถ้าเป็นสวิส-แพริ่ง ทุกคนจะได้อยู่ร่วมงานเลี้ยงจนถึงเวลาจับฉลากแกะกล่องของขวัญ (ถึงแม้คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้กล่องของขวัญเลยก็ตาม)

โดยทั่วไปในรายการแข่งขันสมัยปัจจุบัน ในเกมการแข่งขันแบบมาตรฐานที่กินเวลายาวนาน ผู้เล่นสามารถลุกขึ้นหรือผละออกจากโต๊ะที่นั่งหรือจากกระดานแข่ง เพื่อยืดเส้นยืดสาย ผ่อนคลาย เดินหาเครื่องดื่ม และอาจจะไปยืนชมบรรยากาศการแข่งขัน หรือรูปเกมบนกระดานแข่งขันอื่นๆ แน่นอนว่าผู้เล่นผู้แข่งขันจะทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ก็ต้องหลังจากที่ได้เดินตัวหมากของฝ่ายตนเองเรียบร้อยแล้ว จึงจะลุกออกจากที่นั่งได้

การไปยืนดูการแข่งขันของกระดานอื่นๆ นั้น ทำได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับกฎข้อบังคับของรายการนั้นๆ ในบางรายการผู้จัดการแข่งขันหรือหัวหน้ากรรมการอาจจะอนุญาต บางรายการก็ไม่อนุญาต เป็นสิทธิ์เฉพาะของแต่ละรายการแข่งขัน แต่ถ้าไม่มีเหตุผลอะไรเป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ การเดินชมดูเกมการแข่งขันของผู้แข่งขันคนอื่นๆ มักจะได้รับอนุญาตหรือกระทำได้ตามปกติ

ถึงแม้การเฝ้าชมเกมการแข่งขันกระดานอื่นๆ จะกระทำได้ตามการอนุญาต แต่ผู้ที่เฝ้าชมเกมก็ยังต้องระมัดระวังอย่างมากถึงการปฏิบัติตัวให้เหมาะสม หลักการมีเพียงแค่จะต้องไม่รบกวนผู้เล่นที่กำลังแข่งขันอยู่อย่างเด็ดขาด เรื่องนี้สำคัญที่สุด ถึงแม้ว่าจะมีการอนุญาตให้ชมและเฝ้าติดตามดูกระดานแข่งขันอื่นๆ ได้ แต่ผู้แข่งขันก็ยังมีสิทธิ์ร้องหรือแจ้งต่อกรรมการในกรณีที่ตนเองคิดว่าถูกรบกวนหรือทำให้เสียสมาธิจากผู้ชมที่อยู่ข้างกระดานแข่ง ซึ่งก็แน่นอนว่ากรรมการจะเตือนให้ผู้ชมผละออกหรือถอยออกจากโต๊ะแข่งขันให้มากที่สุด ผู้ชมก็ต้องปฏิบัติตามโดยดี จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งอะไรไม่ได้

จริงๆ แล้วมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายเกี่ยวข้องกับการเฝ้าติดตามชมเกมการแข่งขัน ซึ่งก็จะยุบยิบและเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน แต่ในบทความนี้ผู้เขียนคงจะเว้นข้ามไปไม่กล่าวถึง เพราะเรากำลังพูดคุยกันอยู่ในเรื่องของผลดีผลเสียของระบบการแข่งขันประกบคู่สวิส-แพริ่ง ที่มีต่อการเอื้อประโยชน์ หรือสมยอมผลการแข่งขันระหว่างผู้เล่น

มีอีกหนึ่งประเด็นที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับรายการแข่งขัน อย่างที่ได้อธิบายไว้ถึงระบบการแข่งขันประกบคู่แบบแพ้คัดออก ซึ่งถึงแม้จะใช้รองรับการแข่งขันที่มีผู้เล่นสมัครเข้าร่วมรายการเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งผู้เล่น ผู้จัดการแข่งขัน และผู้ให้การสนับสนุนการแข่งขันคงจะรู้สึกไม่ค่อยมีความสุขนัก คือจำนวนผู้เล่นผู้แข่งขันที่ต้องออกจากระบบการแข่งขัน และลดจำนวนลงไปทีละเท่าตัวตามจำนวนรอบการแข่งขัน จากจำนวนผู้แข่งขันสองร้อยกว่าคนในรอบแรก จนเหลือเพียงแค่คู่ชิงชนะเลิศเพียงสองคนในรอบสุดท้าย ถึงแม้จะมีการติดตามเฝ้าชมคู่ชิงชนะเลิศโดยผู้ชมจำนวนมาก แต่บรรยากาศน่าจะคึกคัก ครึกครื้น และดีที่สุดถ้าทุกคนได้อยู่ฉลองจนงานเลี้ยงจบลง

ผู้จัดการแข่งขันและโดยเฉพาะผู้ที่ให้การสนับสนุนการแข่งขันหรือสปอนเซอร์ (Sponsor) จึงรู้สึกมีความสุขและนิยมชมชอบระบบการแข่งขันประกบคู่แบบสวิส-แพริ่งมากกว่า

ในระบบการแข่งขันแบบแพ้คัดออกนั้น มีโอกาสเป็นไปได้อย่างมากที่ผู้แข่งขันฝีมือดี มีความแข็งแกร่งอาจจะพบเหตุไม่คาดฝัน พลาดพลั้งพ่ายแพ้ กระเด็นตกรอบไปตั้งแต่การแข่งขันรอบแรกๆ ไม่มีโอกาสได้แก้ตัว หรือได้แสดงฝีมือการเดินหมากในรอบต่อๆ ไป จริงอยู่ที่เราต้องยกเครดิตให้กับคู่แข่งขันที่สามารถพิชิตชัยบรรดานักโขกพลังวรยุทธ์สูงส่งเหล่านี้ได้ แต่ก็น่าจะดีกว่าและสนุกกว่าถ้ายอดฝีมือเหล่านี้ยังคงอยู่ในสนามประลองไปตลอด มีโอกาสได้แสดงความสามารถ เดินแต้มหมากที่ลึกซึ้งให้ผู้ชมคนอื่นๆ ได้ติดตามชม

หรือพูดง่ายๆ ว่า ตราบใดที่ผู้แข่งขันฝีมือดีเหล่านี้ยังอยู่ในระบบการแข่งขัน ผู้ชมก็จะมีโอกาสได้ชมเกมการแข่งขันที่เรียกกันว่าเป็น “บิ๊ก แมตช์” หรือ “บิ๊ก อีเวนต์” อยู่เรื่อยๆ ตามรูปแบบของการประกบคู่แบบสวิส-แพริ่ง

ข้อดีหรือคุณประโยชน์ในด้านอื่นๆ นั้นคงเป็นเรื่องทางเทคนิค อาทิเช่น การคำนวณและคิดค่าคะแนนเฉลี่ยมาตรฐานผลการเดินหมาก หรือที่เราเรียกว่า ค่าเรทติ้ง (Rating) ประจำตัวของผู้เล่น ซึ่งมักจะอ้างอิงและเชื่อมโยงอยู่กับระบบการแข่งขันการจัดประกบคู่แบบสวิส-แพริ่ง มากกว่าระบบการแข่งขันประกบคู่แบบอื่นๆ และรวมไปถึงการคิดคำนวณค่านอร์ม (Norm) สำหรับผู้เล่นผู้แข่งขันในการทำยศ (Title) อีกด้วย ซึ่งฟิเด้จะระบุข้อกำหนดและรายละเอียดให้ผูกพันเชื่อมโยงกับระบบสวิส-แพริ่ง หรือระบบการแข่งขันประกบคู่แบบพบกันหมด (Round Robin) เป็นหลัก

ตอนนี้มาว่ากันถึงผลเสียหรือข้อด้อยที่มีอยู่ในระบบการแข่งขันประกบคู่แบบสวิส-แพริ่งกันบ้าง อย่างที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวอ้างเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ระบบสวิส-แพริ่ง คือฉบับย่อของระบบการแข่งขันแบบราวด์ โรบิน หรือการประกบคู่แบบพบกันหมด ดังนั้นปัญหาอุปสรรค ข้อด้อยที่เกิดขึ้นในระบบประกบคู่แบบราวด์ โรบิน ก็มีอยู่ในระบบประกบคู่แบบสวิส-แพริ่งด้วย เพียงแต่จะมากน้อยและมีรายละเอียดที่แตกต่างก็ขึ้นอยู่กับผลการคำนวณของแอปพลิเคชั่นในคอมพิวเตอร์แต่ละรอบการแข่งขัน

การประกบคู่การแข่งขันแบบพบกันหมดหรือราวด์ โรบิน เกมและคู่ต่อสู้ในแต่ละรอบจะถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอนตายตัว ถ้าสมมุติว่ามีผู้แข่งขันบางคนคิดจะพูดคุยตกลงสมยอมผลการแข่งขันล่วงหน้า จะดำเนินการลงมือทำได้โดยไม่มีปัญหาในเรื่องเงื่อนไขของเวลา การประเมินผล และคาดการณ์ว่าผลการแข่งขันหรือคะแนนจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น จะทำได้ง่ายกว่าในระบบการแข่งขันแบบสวิส-แพริ่ง ผู้ที่คิดจะลงมือ “ล็อก” ผลการแข่งขันจะรู้ว่าคู่แข่งคนไหนหรือคู่ต่อสู้คนใดที่มีโอกาสจะทำให้ผลการแข่งขันไม่เป็นไปตามที่เขาต้องการ และต้องเปิดการเจรจาต่อรองด้วย หรือมีคู่แข่งขันคนไหนที่ตนเองมั่นใจว่าจะผ่านหรือสามารถเอาชนะได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม

ในระบบสวิส-แพริ่ง การคาดเดาหรือประเมินว่าในการแข่งขันรอบต่อไปจะพบกับคู่ต่อสู้คนไหนนั้น จะยากกว่า เพราะว่าการประกบคู่จะถูกคิดคำนวณโดยแอปพลิเคชั่นในคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะคิดแบบสุ่ม ยิ่งถ้ามีผู้เข้าแข่งขันในรายการจำนวนมาก การสุ่มเลือกประกบคู่จะยิ่งมีความหลากหลาย ไม่สามารถระบุเฉพาะเจาะจงได้อย่างง่ายๆ

แต่การคาดการณ์ล่วงหน้าว่าในรอบต่อไปจะพบกับคู่แข่งขันคนใดนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย ในกรณีที่มีผู้แข่งขันในรายการจำนวนไม่มาก และผ่านรอบเกมการแข่งขันไปมากแล้ว ในรอบท้ายๆ ด้วยผลคะแนนของผู้เล่นแต่ละคน การสลับเดินหมากเป็นฝ่ายขาวและดำ จำนวนและรายชื่อของคู่แข่งขันที่เคยพบกันไปแล้ว ผู้เล่นที่มีประสบการณ์และคุ้นเคยกับระบบประกบคู่แบบสวิส-แพริ่งก็อาจสามารถคาดเดาได้ว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะพบกับคู่แข่งขันคนใดในรอบต่อไป

เมื่อการคาดเดาว่าจะพบกับคู่แข่งขันคนใดในรอบต่อไปทำได้ยากขึ้น ก็ทำให้การเจรจาต่อรองผลการแข่งขันยากขึ้นไปด้วย เวลาที่เหลือน้อยอาจฉุกละหุกและกะทันหันเกินไป ทำให้การเจรจาต่อรองไม่ประสบความสำเร็จหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้

เช่นเดียวกับระบบการประกบคู่แบบพบกันหมด เมื่อไม่มีการคัดชื่อผู้เล่นคนใดออกจากรายการแข่งขัน ระบบสวิส-แพริ่งก็จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นที่ได้ประโยชน์จากการโยนคะแนนหรือสมยอมผลการแข่งขันอยู่ในระบบต่อไปจนจบรายการ นี่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการแข่งขันและคุณภาพของเกมการเล่นไม่สะท้อนตรงตามความเป็นจริง ผู้เล่นที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศอาจจะไม่ใช่ผู้เล่นที่ดีที่สุดของรายการแข่งขันนั้นๆ ก็เป็นได้ แต่เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเจรจาต่อรอง ตอบแทนผลประโยชน์ให้แก่กันและกันมากกว่า

แนวคิดอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผลการแข่งขันและคุณภาพของเกมการเล่นไม่สะท้อนตรงตามความเป็นจริง ซึ่งพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า เป็นการเจรจาต่อรองตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน คือการรวมพลังกันของผู้เล่นผู้แข่งขันที่มาจากทีม สโมสร หรือมาจากชมรมเดียวกัน เพื่อส่งคะแนนหรือโยนคะแนนให้กับผู้เล่นคนใดคนหนึ่งในทีมจนมีคะแนนสะสมสูงสุด

แนวคิดเช่นนี้ก็อย่างที่บอกครับว่าขึ้นอยู่กับมุมมองว่าเราจะพิจารณาจากแง่มุมไหน บางครั้งชื่อเสียงของทีมและสโมสรหรือชมรมอาจกลายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความสำเร็จส่วนตัว แนวความคิดและแผนการนี้บางทีก็ไม่ใช่เกิดจากผู้เล่น แต่มาจากหัวหน้าทีม ประธานสโมสร ประธานชมรม หรือโค้ชผู้ฝึกสอนประจำทีม โดยเพ่งเล็งในเรื่องชื่อเสียงความสำเร็จขององค์กรเป็นสำคัญ ผิดถูกอย่างไรคงจะต้องยกไปพูดคุยกันในบทความตอนหน้าครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares