มาทำความรู้จักกับคนรุ่นพ่อของ Generation X และ Y กันนะครับ
ต่อจากตอนแรกที่ผมได้เล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเกี่ยวกับคนรุ่นผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ Veteran ในตอนนี้เรามาทำความรู้จักกับคนรุ่นพ่อของคนรุ่น Generation X ส่วนใหญ่และ Generation Y ตอนต้นนะครับ คนรุ่นนี้มีชื่อเรียกตามสากลนิยามว่ารุ่น Baby Boomer
ชื่อรุ่นนี้ไม่ได้หมายความว่า “เด็กระเบิด” ที่เกี่ยวข้องกับ แดงไบเล่ หรือ ปุ๊ระเบิดขวด ในหนัง 2499 อันธพาลครองเมืองแต่อย่างใดนะครับ แม้ว่าตอนเป็นวัยรุ่นคนรุ่นนี้จะนิยมหวีผมใส่น้ำมันแบบ เอลวิส เพรสลีย์ เต้นร็อกแอนด์โรล และระเบิดขวดก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือประกอบการต่อยตีในสมัยนั้นก็ตามที
ที่มาของชื่อรุ่นนั้นมาจากข้อเท็จจริงที่ในช่วง ค.ศ. 1946-1964 (พ.ศ. 2589-2507) อัตราการเกิดพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก สาเหตุหลักก็เพราะหลังช่วงสงคราม ผู้คนมีโอกาสลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวกัน อัตราการเกิดจึงเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้านั้นที่ผู้ชายส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปรบ เสียชีวิตไปก็เยอะ และไม่สามารถสร้างครอบครัวได้ก็มาก
หากมองในมิติสถิติการเกิดเพียงอย่างเดียวก็จะพบว่าช่วงเวลาการเกิด Baby Boomer ของแต่ละประเทศต่างกันออกไป กรณีประเทศญี่ปุ่นช่วงที่อัตราการเกิดสูงลิบอยู่ในช่วง 1947-1949 โดยมีอัตราเกิดใหม่อย่างน้อยถึง 2 ล้านคนต่อปีในช่วงนั้น
ส่วนประเทศไทยก็มีช่วงระยะเวลาเริ่มหลังจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แต่หากมองในภาพรวมทุกประเทศมีอัตราการเกิดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งสิ้น
ในปัจจุบันคนรุ่นนี้จะมีอายุอยู่ระหว่าง 57-75 ปี
แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ปัจจัยที่หลอมรวมค่านิยม ทัศนคติ และความเชื่อของคนรุ่นนี้คือ บริบททางสังคมและการเมืองที่มีความเข้มข้นไม่แพ้คนรุ่นสงครามโลกเลยครับ มาดูกันครับว่าปัจจัยนั้นคืออะไร
⏰⏰⏰
ก. สงครามเย็น
หลังมหาสงครามที่พรากชีวิตคนทั้งโลกไปเป็นจำนวนมาก มนุษยชาติก็พบกับสงครามในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ สงครามเย็น อันเกิดจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยและค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ปรับรูปแบบจากการทำสงครามโดยใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ กลายเป็นทำสงครามด้วยการสื่อสาร การโฆษณาชวนเชื่อ อาศัยความรู้สึกอันเปราะบางของประชาชน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในหลายประเทศที่ต้องเจอวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจหลังจากสงคราม เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ลัทธิทางการเมือง ในเวลานั้นประเทศรอบข้างของไทยล้วนแล้วแต่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ เกิดสงครามกลางเมืองในหลายประเทศ สนธิสัญญาต่างๆ ถูกร่างขึ้นมามากมาย แต่โชคร้ายที่ส่วนใหญ่สร้างปัญหามากกว่าแก้ไข
ในประเทศไทยการต่อสู้ระหว่างสองค่ายการเมืองยืดเยื้อเป็นระยะเวลานาน เริ่มจากยุค Baby Boomer เลยไปถึงยุค Generation X ซึ่งคนทั้งสองรุ่นนี้ไม่มากก็น้อยจะมีประสบการณ์ชีวิตที่ได้เห็นการต่อสู้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐบาลในสมัยต่างๆ
ด้วยเหตุที่ว่าประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางการเมืองใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร และใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย คนไทยที่เชื่อในลัทธิคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้นจึงต้องตกอยู่ในฐานะผู้ร้ายไปโดยปริยาย นักศึกษา หรือประชาชนที่ต้องหนีเข้าป่ากลายเป็นคนทรยศชาติ โดยไม่ต้องสนใจว่าเหตุผลหรือแรงจูงใจคืออะไร
ในพื้นที่หลายๆ จังหวัดที่มีเขตพื้นที่สีชมพู (รหัสสีน่ารักเชียวครับ แต่เป็นรหัสสีบ่งชี้พื้นที่ที่รับอิทธิพลพรรคคอมมิวนิสต์) ความเป็นอยู่ของประชาชนค่อนข้างลำบาก เพราะมีการสู้รบอยู่เนืองๆ การเดินทางไปมาหาสู่กันก็ต้องระมัดระวัง ข่าวสารที่ทั้งสองฝ่ายสาดให้ร้ายกันก็เข้มข้นและมีต่อเนื่อง
ในสมัยนั้นการสื่อสารไม่ได้ทันท่วงทีหรือ Real Time แบบทุกวันนี้ แถมหากอยากสอบทานข้อเท็จจริงก็ยากมากๆ ดังนั้น “การเชื่อฟังผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพทั้งในครอบครัวและสังคม” จึงเป็นสิ่งที่คนรุ่นนี้ยึดถือ
ข. สถาบันครอบครัว
สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยหลังสงครามอยู่ในสภาวะเปราะบางมาก เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลก ในช่วงนั้นประเทศไทยถูกกดดันทางการเมืองจากประเทศญี่ปุ่นที่มีแสนยานุภาพทางทหารมากกว่า ต้องตัดความสัมพันธ์และประกาศตนเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จึงเป็นการสิ้นสุดมาตรฐานปริวรรตเงินปอนด์สเตอร์ลิง หรือการอิงค่าเงินบาทกับเงินปอนด์ของอังกฤษ มาอิงกับเงินเยนของญี่ปุ่นในอัตรา 100 บาทเท่ากับ 100 เยน ทั้งๆ ที่ค่าเงินที่แท้จริงนั้น 100 บาทควรจะมีค่าเท่ากับ 155.70 เยน
การถูกบีบบังคับเชิงนโยบายเช่นนี้ทำให้ค่าเงินบาทด้อยค่าลงไปถึง 36% มิหนำซ้ำธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลานั้นยังต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุล และใช้เป็นเงินสนับสนุนจักรวรรดิญี่ปุ่นเพื่อการสงครามในพื้นที่ประเทศไทย ทั้งนี้รัฐบาลยังต้องทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องกันหลายปีเพื่อฟื้นฟูประเทศ ค่าเงินบาทจึงลดลงเรื่อยๆ ภาวะเงินเฟ้อจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทั้งรุนแรงและกินเวลายาวนาน จนเลยหลังสงครามสิ้นสุดไปอีกหลายปี ในช่วงนั้นจึงเป็นยุค ‘ข้าวยากหมากแพง’ ที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประเทศไทย
ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ คนรุ่นนี้จึงตั้งหน้าตั้งตาทำงานหนักเพื่อสร้างอนาคตให้ครอบครัวมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ใช้จ่ายอย่างประหยัดและรอบคอบ อดออมเพื่อใช้ยามจำเป็นและเพื่ออนาคตของครอบครัว
มีคำกล่าวว่าคนรุ่นนี้ทำงานไม่มีวันเกษียณ ทำจนทำไม่ไหว สำหรับคนรุ่นนี้หากเห็นว่าครอบครัวยังไม่กินดีอยู่ดี ก็จะไม่เคยมีคำว่า ความสมดุลเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว เข้ามาในสารบบความคิดเลยครับ
นอกจากนี้การสร้างครอบครัวและการพึ่งพากันในหมู่เครือญาติ การนับถือญาติผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสกว่า ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ครอบครัวของคนรุ่นนี้จึงมีขนาดใหญ่ จึงไม่น่าประหลาดใจหากจัดงานรวมญาติกันของบางครอบครัว จะมีคนมาร่วมถึงหลักร้อย “ครอบครัวจึงเป็นสถาบันที่สำคัญ”
ตระกูลคหบดีสำคัญๆ ที่มีอิทธิพลในธุรกิจและสังคมปัจจุบันหลายตระกูลมีจุดเริ่มความเจริญรุ่งเรืองในช่วงนี้
สำหรับคนสมัยนั้น ความมั่นคงของครอบครัว และความกินดีอยู่ดีของสมาชิกจึงเป็นเรื่องสำคัญ นั่นคือนิยามความปลอดภัย (Safety) และความมั่นคง (Security) ของคนรุ่น Baby Boomer ซึ่งต่างจากคนรุ่นสงครามโลกที่นิยามความปลอดภัยคือ การเอาชีวิตรอด ส่วนนิยามความมั่นคงคือ การมีแผ่นดินไว้อยู่อาศัย
ค. สังคมแห่งความหวัง และความสำคัญของการศึกษา
ทุกครั้งที่มนุษย์ผ่านความยากลำบากแสนสาหัสมาได้ ความหวังและการเห็นโอกาสก็เป็นสิ่งที่ตามมา ประเทศที่ต้องก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่ มักจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ประชาชน
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในช่วงนี้ เปลี่ยนโฟกัสจากการใช้เพื่อการทหารและการเมือง มาสู่การพัฒนาเพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน
ที่สำคัญที่สุดวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นได้เปิดโลกทัศน์ให้แก่คนทั้งโลกได้พบกับขอบเขตใหม่ของการค้นคว้าวิจัย นั่นคือ การเปิดโลกอวกาศ (Aerospace) การแข่งขันส่งดาวเทียมและจรวดขึ้นสู่อวกาศเป็นไปอย่างเข้มข้น
ชื่อของเจ้าไลก้า สุนัขที่เป็นตัวแทนสปีชีส์ทั้งหลายบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินนี้ เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก เมื่อมันเดินทางในจรวดสปุตนิก 2 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1957
และในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961 ยูริ กาการิน ก็กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศและโคจรรอบโลกได้สำเร็จ
วิทยาการที่ก้าวหน้าเช่นนี้กระตุ้นให้ความคิด ความหวัง และมุมมองต่อพัฒนาการ กว้างไกลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะดินแดนที่มนุษย์สามารถจะเดินทางไปพิชิตได้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงพื้นผิวโลกอีกต่อไป
“ตั้งใจเรียนนะลูก จบมาจะได้เป็นเจ้าคนนายคน”
ประโยคนี้คือวาจามหานิยมของคนในรุ่นนี้ ซึ่งพร่ำสอนให้ลูกหลานให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะพวกเขาไม่ได้มีโอกาสร่ำเรียนสูงกันทุกคน ภาระในการสร้างและดูแลครอบครัวทำให้โอกาสในการเรียนในระบบมีน้อย และพวกเขาเห็นคนที่จบการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี โดยเฉพาะในระบบราชการ
ในสมัยนั้นภาพลักษณ์กับตำแหน่งหน้าที่การงานสัมพันธ์กันอย่างมาก และด้วยประเทศอยู่ในช่วงฟื้นฟู คนเก่งยุคนั้นจึงมักมุ่งเข้ารับราชการทั้งราชการพลเรือน และราชการทหาร หากท่านผู้อ่านลองไปเปิดทำเนียบผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือกรมทางหลวง ก็จะพบว่าวิศวกรมือเยี่ยมของประเทศไทยต่างดำรงตำแหน่งสำคัญในทั้งสององค์กร
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนสำคัญก็มาจากข้าราชการทหารหรือตำรวจ
คนในรุ่นนั้นให้ความเคารพเชื่อถือคนที่มีการศึกษาสูง และด้วยคนที่มีการศึกษาสูงมักจะก้าวหน้ามีตำแหน่งใหญ่โตในสังคม การให้ความสำคัญกับลำดับชั้น (Hierarchy) จึงเป็นอีกค่านิยมหนึ่งของคนรุ่นนั้น
ในทางสังคมชนชั้นปกครองที่มีอิทธิพลต่อประเทศก็ยังคงเป็นทหาร ตำรวจ และข้าราชการ ด้วยประเทศยังคงต้องอาศัยภาครัฐในการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ
แต่หากมองให้ลึกซึ้ง พลเรือนหลายตระกูลก็ใช้ความมานะบากบั่น พากเพียรสร้างอาณาจักรทางธุรกิจในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งต่อมากลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงชีวิตของคนรุ่นถัดมา
🎼🎼🎼
การเปิดกว้างทางสังคมและวิทยาศาสตร์ของยุค Baby Boomer ส่งผลต่อพัฒนาการของดนตรีในยุคนี้เป็นอย่างมาก หากจะพูดว่าช่วงนี้คือช่วงการบ่มเพาะกระแสดนตรีในสาขาที่สำคัญๆ ของโลก ก็คงจะไม่เกินความจริงนะครับ เพราะสาขาดนตรีที่สำคัญๆ เช่น บลูส์ ร็อก ฟังก์ อาร์แอนด์บี ก็มีจุดกำเนิดในช่วงนี้
พัฒนาการของดนตรีของยุค มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นของ Baby Boomer ราชาร็อกแอนด์โรล เอลวิส เพรสลีย์ ได้ขยายความนิยมของเพลงประเภทนี้ไปทั่วโลก โดยอาศัยวิวัฒนาการของวิทยุกระจายเสียงและการผลิตแผ่นเสียง ตลอดจนการเดินทางข้ามทวีปที่ทำได้ง่ายขึ้น ดนตรีประเภทนี้จึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของคนรุ่นนี้
อิทธิพลของเอลวิสได้ส่งผลให้เกิดวงดนตรีในสาขาป็อบร็อกระดับตำนาน ที่ทุกวันนี้เพลงของพวกเขายังคงได้รับความนิยม วงดนตรีนั้นมีฉายาว่า วงสี่เต่าทอง หรือ เดอะ บีทเทิลส์ ที่สร้างกระแสความนิยมตลอดช่วง 1960s อัลบั้ม A Hard Day’s Night, Sgt. Pepper Lonely Hearts Club Band และ Abbey Road ถือเป็นงานมาสเตอร์พีซในยุคนั้น
วิวัฒนาการของวิทยุกระจายเสียง ยังได้เปิดโลกคนฟังเพลงให้ได้รู้จักกับดนตรีแบบละติน ชื่อของ อันโตนิโอ คาร์ลอส โจบิม, เจา กิลแบร์โต และ คาร์ลอส ซานตานา เริ่มเป็นที่รู้จัก สำหรับรายหลังนั้นในช่วงรอยต่อของทศวรรษ 60s และ 70s เพลง Black Magic Woman ของเขาได้รับความนิยมในประเทศไทยมาก ในฐานะเพลงที่ถูกขอให้เปิดในวงเต้นรำบ่อยที่สุดเพลงหนึ่ง นั่นหมายถึงประชาชนคนไทยทั่วไปก็สามารถเข้าถึงดนตรีจากต่างชาติได้ในที่สุด
คำว่าดนตรีไม่มีพรมแดน ก็มาถึงเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรมในยุคนี้นี่เองครับ
ดนตรีแจ๊สซึ่งเป็นดนตรีกระแสหลักของคนในยุคสงครามโลกก็ยังคงมีพัฒนาการต่อเนื่อง นอกเหนือจาก ไมลส์ เดวิส และ จอห์น โคลเทรน ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก วิวัฒนาการของเพลงแจ๊สก็ต่อยอดไปเป็นเพลงในแนวอาร์แอนด์บี โลกได้รู้จักกับชื่อของ เรย์ ชาร์ลส์ ศิลปินผู้พิการทางสายตา และ มาร์วิน เกย์ ผู้ที่รังสรรค์อัลบั้มอมตะตลอดกาลอัลบั้มหนึ่งที่ชื่อ What’s Going On
ดนตรีแจ๊สยังขยายขอบเขตไปสนธิกับดนตรีละติน และสร้างประวัติการณ์เมื่ออัลบั้ม เก็ตซ์/กิลแบร์โต (Getz/Gilberto) กลายเป็นอัลบั้มแจ๊สแรกที่ชนะรางวัลแกรมมี่ ทั้งยังคว้ารางวัลวิศวกรรมการบันทึกเสียงยอดเยี่ยมในสาขาที่ไม่ใช่เพลงคลาสสิกอีกด้วย
เมื่อวิทยาการ ศิลปะ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาบรรจบกัน โลกก็มักจะมีผลงานศิลป์ชิ้นเอกเกิดขึ้นเสมอ ไม่แพ้ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการเลยครับ
ความขัดแย้งและหลากหลายของอุดมคติทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำของสังคมหลังสงคราม ก็สร้างสาขาดนตรีที่มุ่งแสวงหาข้อเท็จจริงและอุดมคติในรูปแบบต่างๆ กำเนิดของดนตรีสาขาเพลงเพื่อชีวิต และนักร้อง/นักแต่งเพลง (Singer/Songwriter) ที่มีชื่อเสียง และอิทธิพลหลายคน อาทิ บ็อบ ดีแลน ก็มีจุดกำเนิดในช่วงเวลานี้ และเป็นตัวอย่างให้นักดนตรีรุ่นหลัง เช่น ครอสบี สติลส์ แนช แอนด์ ยัง, ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเกล, เจมส์ เทย์เลอร์, โจนี มิตเชล รวมถึง จิม โครเช ได้เดินตามรอย
การแสวงหาอุดมคติของคนรุ่นนั้น เมื่อมาเจอกับการใช้ยาเสพติดที่แพร่หลาย ก็กลายเป็นแนวเพลงไซเคเดลิกร็อก ที่ต่อยอดจากเพลงบลูส์ร็อก สร้างประสบการณ์ดนตรีหลอนๆ เปิดจินตนาการเหนือจริง
การบรรจบกันของแนวคิดดนตรีไร้พรมแดน หรือดนตรีคือภาษาสากล การแสวงหาอุดมคติ และยาเสพติด ก็ได้สร้างปรากฏการณ์เทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่โลกเคยมีมา นั่นคือเทศกาลดนตรีวู้ดสต็อก
การเปิดจินตนาการทางดนตรีที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ในภายหลังยังได้ต่อยอดจนเกิดเป็นดนตรีในสาขา โพรเกรสซีฟร็อก ที่มีวงดนตรีพิงค์ฟลอยด์เป็นด่านหน้าของนักบุกเบิก
พัฒนาการด้านวิศวกรรมการบันทึกเสียง เครื่องเสียง และอุปกรณ์ดนตรี เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างดนตรีที่ทรงพลัง และมิติของเสียงที่กว้างขวาง ดนตรีเฮฟวีเมทัลก็มีจุดกำเนิดในสมัยนี้เช่นกันครับ หากแต่ได้รับความนิยมกว่าในคนรุ่น Generation X ตอนต้น
กลับมาที่บ้านเรานะครับ ในช่วงต้นของคนรุ่นนี้ แม้ความนิยมของดนตรีไทยยังคงมีอยู่ แต่เริ่มถูกแทนที่ด้วยดนตรีไทยสากล ที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมการลีลาศอันเป็นที่นิยมในเขตเมือง ส่วนในต่างจังหวัดนั้น เพลงพื้นบ้าน เพลงรำวง ก็มีพัฒนาการกลายไปเป็นเพลงลูกทุ่ง การเล่นเครื่องดนตรีสากลมีความแพร่หลายทั้งในเพลงไทยสากลและเพลงไทยลูกทุ่ง
แนวดนตรีที่บ้านเราเรียกกันว่า สตริงคอมโบ ก็เกิดขึ้นในสมัยนี้นะครับ วงดนตรีระดับตำนานแบบ ดิ อิมพอสสิเบิล และ รอยัล สไปรท์ ก็เริ่มตั้งวงกันในช่วงปลายยุคนี้ โดยเริ่มต้นจากการเล่นเพลงสากลหรือเพลงฝรั่งที่คนไทยสมัยนั้นนิยมเรียกกัน สร้างชื่อเสียงจนสามารถบันทึกเสียงอัลบั้มเพลงไทยได้ในช่วงยุคต้นของ Generation X
สงครามเวียดนามนำพาทหารอเมริกันที่มาพร้อมการตั้งฐานทัพจีไอที่โคราช ในช่วงสงครามเวียดนามระหว่าง พ.ศ. 2504-2518 นอกเหนือจากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มากับทหารแล้ว แนวเพลงบลูส์ร็อกและเฮฟวีเมทัลก็มาพร้อมกับพวกเขาด้วย ประเทศไทยจึงมีจุดกำเนิดคนดนตรีแนวนี้จากเหตุการณ์นี้เอง แหลม มอริสัน กีตาร์คิง ก็เกิดจากวงดนตรีที่เล่นในค่ายทหาร วงคาไลโดสโคป ก็เริ่มฟอร์มวงในช่วงนี้เช่นกัน
ทั้งสองวงนี้เป็นต้นแบบให้เกิดวงเฮฟวีเมทัลที่มีเนื้อร้องภาษาไทยในภายหลัง พวกเขาคือ วงเนื้อและหนัง (Flesh and Skin) และ ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ ซึ่งเป็นวงโปรดของคนในรุ่นหลัง
วงดนตรีในประเทศไทยที่มีพื้นฐานแนวคิดการเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องความเป็นธรรม การแสวงหาข้อเท็จจริง ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดนตรีอะคูสติก ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในหมู่นิสิตนักศึกษา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของดนตรีเพื่อชีวิต เช่น วงคาราวาน และวงแฮมเมอร์ซึ่งเติบโตงอกงามในช่วงต้นของคนรุ่น Generation X เช่นกัน
⚽️⚽️⚽️
เมื่อการเดินทางข้ามทวีปสะดวกสบายขึ้น การแข่งขันฟุตบอลโลกก็เริ่มมีตัวแทนจากหลายทวีปเพิ่มมากกว่าเดิม ในช่วงระหว่างปี 1930-1978 นั้นฟุตบอลโลกจะแข่งขันกัน 16 ทีม ก่อนที่จะขยายเป็น 24 ทีมในปี 1982 และ 32 ทีมในปี 1998 จนถึงปัจจุบัน
ฟุตบอลโลกของคนรุ่น Baby Boomer เป็นฟุตบอลโลกที่ชาติแดนละตินแสดงความยิ่งใหญ่ให้โลกได้ประจักษ์
เริ่มต้นในปี 1950 ที่บราซิล โดยอุรุกวัยกลับมาทวงแชมป์คืนได้ด้วยการชนะเจ้าภาพบราซิลในนัดชิง 2-1 ว่ากันว่าประตูชัยในนาทีที่ 79 ของ อัลซิเดส กิกเกีย ทำให้สนามมาราคานาที่ในวันนั้นมีผู้ชมถึง 173,850 คน เงียบงันอย่างน่าใจหาย
ปี 1954 ที่สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนีตะวันตกใช้สปิริตต่อสู้กับยอดทีมและเสียงเชียร์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับพวกเขา พลิกชนะยอดทีมยุโรปฮังการี 3-2 หยิบแชมป์แรกให้ประเทศที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรสงคราม
เด็กชายจากหาดโคปาคาบานาช่วยกันพาลูกหนังแดนแซมบ้าเถลิงแชมป์โลก 2 ครั้งซ้อนด้วยชัยชนะเหนือชาติเจ้าภาพสวีเดน 5-2 ในปี 1958 และชัยชนะเหนือเชคโกสโลวาเกีย 3-1 ในปี 1962
สำหรับมหกรรมฟุตบอลโลกนั้น ในช่วงระหว่างปี 1930-1970 ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมเลยแม้แต่ในรอบคัดเลือก
ในส่วนของกีฬาโอลิมปิกกลับมาจัดแข่งใหม่หลังว่างเว้นไปเพราะภัยสงคราม ในปี 1948 ลอนดอน เกมส์ มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติที่ไม่อนุญาตให้นักกีฬาจากเยอรมนีและญี่ปุ่นเข้าร่วม
ต่อมาในปี 1952 เฮลซิงกิ เกมส์ สหภาพโซเวียตกรีฑาทัพนักกีฬาเข้าแข่งขันและประสบความสำเร็จด้วยการคว้าเหรียญทองและเหรียญรวมมาเป็นอันดับที่ 2 แต่ก็ถูกตั้งคำถามกับระบบการพัฒนานักกีฬาในแบบ Full-time Sponsorship ว่าโดยพฤตินัยแล้ว นักกีฬาชาตินี้เป็นนักกีฬาสมัครเล่นจริงหรือเปล่า เพราะมีรายได้จากการดำรงชีพในฐานะนักกีฬาของรัฐ แม้จะไม่ได้แข่งขันในกีฬาอาชีพก็ตาม
ปี 1956 เมลเบิร์น เกมส์ มีเหตุการณ์ต่อยตีกันในสนามในการแข่งโปโลน้ำระหว่างสหภาพโซเวียตและฮังการี เนื่องจากนอกสนามนั้นสหภาพโซเวียตได้ทำการรุกรานประเทศฮังการี นอกจากนี้เป็นครั้งแรกที่กีฬาศิลปะการบังคับม้า จำเป็นต้องจัดแข่งที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนแทน เนื่องด้วยสถานการณ์ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในกลุ่มประเทศสหราชอาณาจักร
เหตุการณ์สำคัญสำหรับประเทศไทยในการแข่งขันครั้งนี้คือ การที่ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันในโอลิมปิก แม้จะเป็นการได้แข่งเพียงนัดเดียว เพราะเป็นระบบแพ้ตกรอบ และพ่ายสหราชอาณาจักรไปอย่างหมดรูป 0-9 แต่ก็เป็นนัดประวัติศาสตร์สำหรับทีมฟุตบอลชาติไทย
โลกได้รู้จักกับ เคสเซียส เคลย์ (มูฮัมหมัด อาลี) ผู้คว้าเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกกรุงโรมในปี 1960 ผู้ซึ่งภายหลังกลายเป็นนักชกอาชีพที่ดีที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา
จุดเปลี่ยนที่วิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เกิดขึ้นในโตเกียว เกมส์ 1964 ที่มีการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมไปยังหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้โอลิมปิก เกมส์ เป็นกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่างทั่วถึงแท้จริง ทำให้คนทั้งโลกรับรู้ประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ ไม่จำกัดประสบการณ์นั้นไว้เฉพาะนักกีฬา ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ชมในสนามอีกต่อไป
⏰⏰⏰
หากเราคิดถึงคนรุ่นสงครามโลกว่าเป็นผู้คนที่มีบทบาทสำคัญให้ประเทศของเรายังคงความเป็นเอกราชจนถึงปัจจุบัน คนรุ่น Baby Boomer ก็คือผู้คนที่วางรากฐานของประเทศหลังสงคราม อันเป็นพื้นฐานความเจริญของประเทศในภายหลัง
สีสันของพัฒนาการด้านวัฒนธรรม สังคม กีฬา ดนตรี และวิทยาการของคนรุ่นนี้ ก็รับได้ว่ามีสีสันที่น่าตื่นตาตื่นใจ ไม่แพ้คนรุ่นใดๆ
ในตอนต่อไปเราจะมาทำความรู้จักกับคนรุ่น Generation X นะครับ
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม