เดือนกุมภาพันธ์ที่เพิ่งผ่านไปในแวดวงการแบดมินตันโลก หากเป็นช่วงสถานการณ์ปกติจะมีการจัดการแข่งขันแบดมินตันประเภททีมในระดับทวีปต่างๆ ทั่วโลกพร้อมกัน ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป แอฟริกา แพนอเมริกา และโอเชียเนีย แต่ในปีนี้มีการยกเลิกแข่งขันในทวีปยุโรปและโอเชียเนียไป จึงอาจกล่าวได้ว่าการแข่งขันแบดมินตันประเภททีมชิงแชมป์เอเชีย 2022 หรือ Badminton Asia Team Championships 2022 ณ เมืองชาห์ อาลัม ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 15-20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น น่าจะเป็นการแข่งขันที่น่าสนใจมากที่สุดรายการหนึ่ง
แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะการแข่งขันปีนี้ไม่ได้รับความสนใจจากชาติมหาอำนาจแบดมินตันในเอเชียอย่างจีน อันมีสาเหตุจากกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของทางการในการปล่อยนักกีฬาของตัวเองเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนทีมไทยและทีมไต้หวันต่างก็ถอนตัวออกจากการแข่งขัน อันเกิดจากด้านความพร้อมและเพื่อความปลอดภัยของนักกีฬาจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน ประกอบกับชาติมหาอำนาจที่ร่วมแข่งขัน อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ต่างก็ส่งผู้เล่นในระดับดาวรุ่งเป็นส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าไม่มีนักแบดมินตันมือวางอันดับโลกใน 10 อันดับแรกอยู่ในทีมเลย
อย่างไรก็ดีขึ้นชื่อว่าเป็นการแข่งขันในระดับทวีป โดยเฉพาะทวีปเอเชียที่มีหลายประเทศถือเป็นชาติมหาอำนาจของกีฬาแบดมินตัน อย่างประเทศอินโดนีเซีย แบดมินตันคือกีฬาประจำชาติ ฉะนั้นแม้ว่าการแข่งขันในครั้งนี้หลายชาติไม่ได้ส่งผู้เล่นหลักมาเข้าร่วม ความน่าสนใจหรือแม้ฝีมือของผู้เล่นอาจยังไม่ถึงระดับโลก แต่เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เห็นผู้เล่นหน้าใหม่ ผู้เล่นดาวรุ่ง ผู้เล่นสายเลือดใหม่ที่ในอนาคตจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักของทีมชาติต่างๆ แน่นอน
ในประเภททีมชาย เจ้าภาพมาเลเซียส่ง “หลี่ ซื่อ เจี้ย” ชายเดี่ยวมือ 1 นำทีม โดยมี “อารอน เชี้ยะ” มือดีในประเภทชายคู่ ร่วมทีมพร้อมกับดาวรุ่งสายเลือดใหม่สู้ศึก ขณะสิงคโปร์นำทีมโดย “โล๊ะ เคียนยิว” แชมป์โลกชายเดี่ยวคนล่าสุด อินเดียนำทีมโดย “ลักยา เซน” เหรียญทองแดง ศึกชิงแชมป์โลกล่าสุด ฮ่องกงนำโดย “อึง กาลอง แองกัส” และ “ลี ชุก ยิว” สองมืออันดับโลกร่วมสู้ศึก แต่สำหรับอินโดนีเซียทีมวางอันดับหนึ่ง ญี่ปุ่นทีมวางอันดับสอง และเกาหลี ต่างก็ส่งผู้เล่นดาวรุ่งทั้งหมดร่วมศึกครั้งนี้
ส่วนในประเภททีมหญิง ชาติที่มีนักกีฬาระดับโลกร่วมทีมคับคั่งอย่างญี่ปุ่น มาในฐานะมือวางอันดับหนึ่ง โดยมีเกาหลีเป็นมือวางอันดับสอง ทั้งสองชาติต่างก็ส่งผู้เล่นชุดสองและผู้เล่นดาวรุ่งมาหาประสบการณ์ในการแข่งขันครั้งนี้ ที่พอจะคุ้นชื่อและมีชื่อเสียงมากที่สุดคงเป็นอินโดนีเซียที่ส่งอดีตแชมป์เยาวชนโลก “เกรกอเรีย มาริสกา ตุนจุง” เป็นมือหนึ่งทีม ขณะที่ชาติอื่นๆ อย่างเจ้าภาพมาเลเซีย อินเดีย ฮ่องกง หรือแม้แต่คาซักสถาน ส่งดาวรุ่งมาร่วมแข่งขันทั้งหมด ทำให้ดูเหมือนว่าทีมที่เข้าร่วมแข่งขันต่างไม่ให้ความสำคัญรายการนี้สักเท่าไร
นั่นคือการมองในด้านลบ แต่อย่างที่บอกในตอนต้น แม้ว่าจะเป็นการแข่งขันที่รวมบรรดาดาวรุ่งเป็นส่วนใหญ่ แต่มันคือ “โอกาส” ที่เขาและเธอเหล่านั้นจะมีเวทีให้ประลอง ดูมาตรฐานและศักยภาพตัวเอง เพื่อก้าวสู่การเป็นนักกีฬาที่ดีในอนาคตได้ ซึ่งหลายๆ ชาติที่ส่งก็คงคิดไปในทางดังกล่าวเช่นกัน
สำหรับผลการแข่งขัน ในประเภททีมชายปรากฏว่า เจ้าภาพมาเลเซียสามารถสร้างประวัติศาสตร์ให้กับตัวเองด้วยการคว้าแชมป์เอเชียมาครองได้เป็นครั้งแรก โดยในรอบแบ่งกลุ่ม มาเลเซียสามารถเอาชนะชาติร่วมสายอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และคาซักสถาน ได้ทั้งหมด รอบรองชนะเลิศปราบเกาหลีที่ระดมไปด้วยผู้เล่นดาวรุ่ง 3-0 ก่อนจะไปปราบอินโดนีเซียในรอบชิงชนะเลิศ 3-0 คู่ ผงาดคว้าแชมป์เอเชียในถิ่นตัวเองได้เป็นครั้งแรก ซึ่งแน่นอนผู้เล่นที่เป็นแกนหลักของทีมคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “หลี่ ซื่อ เจี้ย” ที่ลงทำการแข่งขัน 4 แมตช์ สามารถคว้าชัย ทำคะแนนให้ทีมได้ทั้งหมด
ส่วนในประเภททีมหญิง ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ก็เกิดขึ้นเช่นกัน เมื่ออินโดนีเซียสามารถคว้าแชมป์เอเชียประเภททีมหญิงมาครองอย่างยิ่งใหญ่ เพราะนี่คือแชมป์เอเชียครั้งแรกของอินโดนีเซียนั่นเอง โดยในรอบแบ่งกลุ่มอินโดนีเชียสามารถเอาชนะทีมร่วมกลุ่มอย่างเกาหลี ฮ่องกง และคาซักสถาน ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศด้วยการเป็นที่หนึ่งของกลุ่ม และนับว่าโชคดีเสริมส่งให้ทีมอีกด้วย เนื่องจากการถอนตัวของญี่ปุ่นในรอบรองชนะเลิศทำให้ทีมหญิงอินโดนีเซียสามารถพักผู้เล่นได้อย่างเต็มที่ จนสามารถปราบเกาหลีในรอบชิงชนะเลิศได้ 3-1 คู่
คงเดาได้ไม่ยากว่า “เกรกอเรีย มาริสกา ตุนจุง” เป็นผู้เล่นสำคัญที่นำทีมไปสู่แชมป์ โดยเธอลงแข่งขันทั้งสิ้น 3 แมตช์ สามารถเอาชนะได้ทั้งสามแมตช์เช่นกัน เป็นการเอาชนะ “ชุง อิน เหมย” คู่แข่งจากฮ่องกง และ “ซิม ยูจิน” ของเกาหลีในรอบแบ่งกลุ่ม ก่อนจะมาเอาชนะเกาหลีอีกครั้งในรอบชิงชนะเลิศ สร้างประวัติศาสตร์ให้กับทีมหญิงอินโดนีเซียได้ในที่สุด
เห็นอย่างนี้แล้ว คุณคิดว่าการที่ทั้งมาเลเซียในประเภททีมชาย และอินโดนีเซียในประเภททีมหญิง สามารถสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการแบดมินตันเอเชีย ด้วยการคว้าแชมป์ Badminton Asia Team Championships 2022 ครั้งแรกได้ทั้งสองชาตินั้น เป็นเพราะฝีมือหรือภาพลวงตา อันมีสาเหตุจากการถอนทีมของชาติมหาอำนาจแบดมินตันอย่างจีนก็ดี หรือการที่เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย ส่งผู้เล่นระดับเยาวชน ผู้เล่นมืออันดับโลกที่ไม่สูงนักเข้าร่วมแข่งขัน
สำหรับความเห็นผมนั้นไม่ใช่เรื่องของภาพลวงตา หรือการไม่ให้เกียรติชาติเจ้าภาพ แต่มันอยู่ที่การวัดฝีมือ การวัดศักยภาพของนักกีฬาสายเลือดใหม่ นักกีฬารุ่นใหม่มากกว่า ที่หลายชาติต้องการให้ผู้เล่นเหล่านี้ได้แสดงความสามารถออกมาในเวทีการแข่งขันที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่เขาแข่งขันอยู่เป็นปกติ มิฉะนั้นแล้วเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นดาวรุ่งรุ่นใหม่ นักกีฬาสายเลือดใหม่เข้าร่วมแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ที่ใหญ่ขึ้นเป็นแน่ จึงไม่แปลกที่ชาติมหาอำนาจจะวางแผนงาน ตารางการแข่งขันของเหล่าบรรดาดาวรุ่งทั้งหลาย
ที่สำคัญคือเป็นการสร้างทีม สร้างผู้เล่นกำลังสำรองให้มีความพร้อม เพื่อลงแข่งขันในมหกรรมกีฬาอื่นๆ ได้ด้วย อีกทั้งเป็นการวัดความสามารถของนักกีฬาตัวเองกับชาติอื่นๆ ในฝีมือระดับเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน หาจุดเด่น จุดด้อย เพื่อนำข้อผิดพลาดต่างๆ ไปพัฒนา ปรับปรุงแก้ไข ว่าต้องสร้างเสริมผู้เล่นในประเภทไหน ระดับไหนให้ดีขึ้นบ้าง เพราะชาติมหาอำนาจเหล่านี้ ผมเชื่อว่าคงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองไปข้างหน้ามากกว่าการส่งนักกีฬาระดับโลกมาตบเด็ก คว้าแชมป์ชั่วครั้งชั่วคราว หลังจากนั้นก็ไม่มีกำลังสำรองเสริมทีมชาติให้แข็งแกร่งในอนาคตต่อไป
เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว มาเลเซีย แชมป์เอเชียในประเภททีมชาย และ อินโดนีเซีย แชมป์เอเชียในประเภททีมหญิง ทั้งคู่คว้าแชมป์ Badminton Asia Team Championships 2022 มาได้เพราะฝีมือจากทีมชาติสายเลือดใหม่ ไม่ใช่ภาพลวงตาอย่างที่เข้าใจแน่นอน
แล้วคุณล่ะ เห็นด้วยกับผมไหมครับ
บทความโดย ปุ๊ กว่างโจว
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม