Link Copied!

ความสำเร็จของทีมแบดจีนพื้นฐานดีหรือโชคช่วย

ระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา คงไม่มีใครปฏิเสธว่ามหาอำนาจในวงการแบดมินตันโลก คือ ทีมชาติจีน เพราะในทุกรายการที่ทีมจีนร่วมแข่งขัน จะเห็นนักกีฬาจีนทำผลงานยืนอยู่บนโพเดียมชนะเลิศบ่อยๆ แม้ในช่วงหลังจะมีทีมชาติญี่ปุ่นสอดแทรกมาเป็นผู้ท้าทายอยู่บ้าง แต่ผลงานในโอลิมปิก 2020 โตเกียวเกมส์ ก็แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีชาติไหนมาเป็นผู้ท้าชิงความเป็นมหาอำนาจในวงการลูกขนไก่โลกจากทีมจีนไปได้

แล้วอะไรล่ะ? คือเคล็ดลับสร้างความสำเร็จของทีมแบดมินตันจีน การบริหารงานที่ดี ทักษะการเล่นของนักกีฬาดี หรือเพียงแค่โชคช่วยในการแข่งขันเท่านั้น

การบริหารงานที่ดี ในหัวข้อนี้เราคงจะเข้าไปวิจารณ์ในแง่การทำงานไม่ได้ เนื่องจากรูปแบบการบริหารงาน หรือเป้าหมายของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ประเทศมหาอำนาจในกีฬาแบดมินตัน อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เดนมาร์ก อาจตั้งเป้าหมายที่ความสำเร็จสูงสุด คือการคว้าแชมป์ในทุกๆ รายการที่เข้าร่วมแข่งขัน บางประเทศโดยเฉพาะประเทศที่แบดมินตันยังไม่เป็นที่นิยม การบริหารงานอาจมุ่งเป้าหมายอยู่ที่การสร้างฐานนักกีฬาให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หรือไม่ก็มุ่งทำให้แบดมินตันได้รับความนิยมแพร่หลายในประเทศ มากกว่าผลการแข่งขันก็เป็นได้

ในเรื่องทักษะการเล่นของนักกีฬา จะดีได้ต้องอยู่ที่ปัจจัยพื้นฐานทั้งด้านการฝึกซ้อม สภาพร่างกาย จิตใจที่แข็งแกร่ง เทคนิคและรูปแบบการเล่น ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนเป็นส่วนผสมความสำเร็จของทุกชนิดกีฬา แต่เฉพาะกับทีมแบดมินตันจีนนั้นน่าจะมีอะไรที่มากกว่าชาติอื่นเป็นแน่ ไม่เช่นนั้นคงจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยาวนานกว่าหลายทศวรรษ

จากการที่ได้สอบถาม พูดคุย ทั้งกับตัวนักกีฬาทีมชาติจีนอย่าง เฉินหลง นักกายภาพการกีฬาจีนอย่าง หลิวอี หรือช่างภาพนักกีฬาจีนอย่าง ถางฉี ทำให้ได้ทราบถึงรูปแบบการฝึกซ้อมในแต่ละวันของทีมแบดมินตันจีน ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความคล้ายกันบ้างกับการฝึกซ้อมของนักกีฬาชาติอื่นๆ หรือแม้แต่สโมสรแบดมินตันหลายสโมสรในไทย โดยอาจมีความแตกต่างของโปรแกรมการฝึกซ้อม ระยะเวลาในการซ้อม รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่สำคัญอยู่บ้าง

มาเริ่มกันที่ช่วงเวลาฝึกซ้อมของทีมแบดมินตันจีน (หมายรวมถึงทีมชุดใหญ่ ชุดสอง ทีมเยาวชน)

โดยปกติการฝึกซ้อมในวันธรรมดา ช่วงเช้าเริ่มตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น. และช่วงบ่าย 15.00-18.00 น. ทั้งนี้สำหรับนักกีฬาที่ต้องการเน้นการฝึกซ้อมกับคู่หูให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น จะมีการเพิ่มเวลาโปรแกรมฝึกซ้อมอีก ทั่วไปจะใช้เวลาในตอนค่ำตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป โดยอาจจะเป็นไปได้ทั้งการฝึกซ้อมเพื่อความเข้าใจในคู่ขาก็ดี (สำหรับประเภทคู่) ความเข้าใจในรูปแบบการเล่นจากโค้ชยิ่งขึ้น (ประเภทเดี่ยว) หรืออาจจะเป็นการศึกษารูปแบบการเล่นของนักกีฬาต่างชาติ เน้นย้ำในจุดที่ต่างชาติเล่นเกมด้วยรูปแบบใด ก็จะเป็นการออกลูกหรือการฝึกซ้อมเพื่อแก้ทิศทางและปรับปรุงส่วนที่เป็นจุดบอดของตัวเอง โดยมีโค้ชเป็นคนคอยแนะนำวิธี รูปแบบการเล่น

ที่เพิ่มเติมกว่านั้นก็จะมีในเรื่องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ การเสริมความแข็งแกร่ง พละกำลังในการเล่นให้นานทนทานยิ่งขึ้น เพราะการแข่งขันแบดมินตันต้องใช้ร่างกายค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันระดับอาชีพ วิธีการฝึกซ้อมจึงต้องอาศัยการเข้ายิมหรือเล่นเวทเพิ่มเติม ซึ่งแผนการฝึกซ้อมการเวทเทรนนิ่งเพื่อสร้างความแข็งแกร่งเป็นอย่างไรนั้น ขอนำมาอธิบายดังนี้

ประการที่ 1 การบริหารร่างกายส่วนบน โดยใช้อุปกรณ์ อาทิ

1. ดัมเบล

การยกดัมเบลยังคงเป็นวิธีที่นิยมในการออกกำลังกายร่างกายส่วนบน โดยใช้ดัมเบล 2 ตัวที่มีน้ำหนักต่างกัน เพราะดัมเบลที่หนักกว่า ใช้สำหรับฝึกความแข็งแกร่งของแขนถนัด ส่วนดัมเบลน้ำหนักเบาใช้เพื่อการวอร์มอัพแขน หรือยืดกล้ามเนื้อส่วนแขน

2. ดึงเชือก

การดึงเชือกเพื่อฝึกความแข็งแรงของวงแขนส่วนบน โดยยึดปลายเชือกด้านหนึ่ง จากนั้นดึงออกกำลังด้วยแขนทีละข้างสลับกัน หรือยึดเชือกไว้ตรงกลาง แล้วใช้แขนดึงเชือกทั้งสองข้างพร้อมกัน

3. บาร์เบล

การนอนยกน้ำหนักสามารถออกกำลังแขนส่วนบนและกล้ามเนื้อหน้าอกได้พร้อมกัน สามารถจัดน้ำหนักของบาร์เบลได้ตามความต้องการ แต่ไม่ควรหนักเกินจนร่างกายรับน้ำหนักไม่ไหว

ประการที่ 2 การบริหารข้อมือ

การบริหารข้อมือด้วย Rubber Band เป็นวิธีปฏิบัติทั่วไปในการเสริมสร้างความแข็งแรงของข้อมือ ครอบคลุมตั้งแต่หัว แขน ลงมาส่วนขา หรือแม้แต่นิ้วมือ ทุกส่วนมีความสัมพันธ์กันหมด การนำ Rubber Band มาใช้เพื่อฝึกการสะบัดข้อมือ ยืดวงแขน ยืดส่วนขา เพื่อเสริมสร้างความคล่องตัว

ประการที่ 3 การบริหารเอวและหน้าท้อง

เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อส่วนล่าง สามารถทำได้โดยใช้บาร์เบล การซิทอัพ การนอนหงายและยกตัวขึ้น-ลง การยกน้ำหนัก แม้กระทั่งการให้คนสองคนหันหลังชนกัน โดยคนหนึ่งถือลูกบอลอยู่ในมือ และหมุนตัวส่งบอลให้อีกฝ่าย ล้วนช่วยบริหารเอวและหน้าท้องให้แข็งแรงมากขึ้น

ประการที่ 4 การฝึกความแข็งแรงของขาส่วนล่าง (ใต้เข่า)

ฝึกโดยใช้ขาส่วนล่างยกน้ำหนัก ฝึกกระโดดเชือก กระโดดเท้าเดียว กระโดดกบ การฝึกซ้อมท่าต่างๆ ต้องอาศัยเทรนเนอร์ที่มีความชำนาญ จัดทำรูปแบบฝึกหัดกระโดดท่าต่างๆ ที่สอดคล้องกับการสร้างความแข็งแรงบริเวณขาส่วนล่าง

การฝึกฝนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย รวมถึงสมรรถนะ พละกำลังของร่างกายด้วยโปรแกรมการเทรนนิ่งดังกล่าว เป็นรูปแบบที่ทีมจีนปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างไรก็ดีเมื่อใกล้ถึงช่วงฤดูการแข่งขัน โดยเฉพาะในต่างประเทศก็ดี ทัวร์นาเมนต์แข่งขันระดับชาติก็ดี ส่วนใหญ่ทีมแบดมินตันจีนจะเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขันดังกล่าวประมาณ 1-2 เดือน โดยรูปแบบการฝึกซ้อมจะเปลี่ยนไปจากเดิม คือเน้นที่ระบบ รูปแบบการเล่น ความเข้าใจในเกมการเล่นในหมู่สมาชิกร่วมทีมมากกว่า รวมถึงการวางตัวผู้เล่นในแต่ละแมทช์แข่งขันล่วงหน้า โดยที่การฝึกซ้อมจะไม่หนักหน่วงเข้มข้นเหมือนที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บก่อนการแข่งขันนั่นเอง

นอกจากการฝึกซ้อมให้สภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ทีมแบดมินตันจีนยังให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง มีการใช้นักจิตวิทยาการกีฬามาช่วยสอนวิธีการบริหารสภาพจิตใจในช่วงสถานการณ์คับขันในระหว่างการแข่งขัน การสร้างความผ่อนคลาย การควบคุมอารมณ์ สติ ให้สงบนิ่ง เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยควบคุมร่างกายไม่ให้สูญเสียพละกำลังโดยใช่เหตุ ในทางตรงกันข้าม หากสามารถควบคุมจิตใจดีแล้วก็ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจคู่แข่งได้เหมือนกัน จากที่ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบก็อาจพลิกกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบได้ (โมเมนตั้มเปลี่ยน) ซึ่งในการแข่งขันแบดมินตันมักจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเสมอๆ

แล้วอย่างนี้คุณคิดว่าที่ทีมแบดมินตันจีนประสบความสำเร็จอยู่บ่อยๆ นั้น เกิดขึ้นเพราะพื้นฐานที่ดีหรือเพราะโชคช่วยล่ะ? เรามาลองติดตามดูว่า การแข่งขันแบดมินตันประเภททีมผสมชิงแชมป์โลก “สุธีรมานคัพ” ณ เมืองวันดา ประเทศฟินแลนด์ ที่กำลังแข่งขันอยู่ในตอนนี้ แชมป์เก่าอย่างจีนจะสามารถรักษาแชมป์ได้อีกสมัย หรือจะมีแชมป์ใหม่เกิดขึ้น คงได้พิสูจน์ในอีกไม่นานเกินรอ

โดย ปุ๊ กว่างโจว

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares