แบดหญิงเดี่ยวในปัจจุบัน การมีฝีมืออย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง เพื่อก้าวไปสู่ระดับแนวหน้าของโลก ดังเช่น เฉิน ยู่เฟย, อากาเนะ ยามากูชิ และ อัน เซยอง
ยังไม่สายเกินไปกับการร่วมแสดงความยินดีในความสำเร็จของนักแบดมินตันไทยในรายการไฮโล โอเพ่น 2021 ที่เยอรมนี และรายการที่เพิ่งจบไปกับไดฮัทสุ อินโดนีเซีย มาสเตอร์ 2021 ซึ่งทั้งสองรายการเป็นรายการแข่งขันบีดับบลิวเอฟ เวิลด์ทัวร์ซุปเปอร์ระดับ 500 และ 750 ตามลำดับ โดยรายการที่เยอรมนี ในประเภทหญิงเดี่ยว “น้องครีม” บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ สามารถคว้าแชมป์รายการระดับ 500 นี้เป็นครั้งแรก ด้วยการปราบ เหยา เจีย หมิน จากสิงคโปร์ 2-0 เกม (21-10, 21-14) และประเภทคู่ผสม บาส/ปอป้อ เดชาพล พัววรานุเคราะห์ / ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย สามารถเอาชนะ ประวีณ จอร์แดน / เมลานี อ๊อคตาเวียนติ ของอินโดนีเซีย 2-0 เกม (22-20, 21-14) และรายการที่อินโดนีเซียเอาชนะ ตัง ชุนมัค / เซี๊ยะ อิงซวด จากฮ่องกง 2-0 เกม (21-11, 21-12) คว้าแชมป์ที่ 4 และ 5 ของปีนี้ได้สำเร็จ
หากจะกล่าวแบบไม่อ้อมค้อมต้องยอมรับว่า การแข่งขันรายการที่เยอรมัน เป็นการแข่งขันระดับ 500 ที่มีนักกีฬาท็อปเท็นระดับโลกเข้าร่วมแข่งขันค่อนข้างน้อย จึงเป็นโอกาสอันดีให้กับนักแบดมินตันไทยและชาติอื่นๆ ที่มีอันดับโลกรองลงมา มีโอกาสสร้างความสำเร็จในการคว้าแชมป์ดังกล่าวได้มาก คู่แข่งขันอาจจะไม่แข็งแกร่งมากนัก หากพูดกันจริงๆ แล้ว นักแบดมินตันมือระดับโลกหลายรายต่างก็เตรียมตัวเพื่อร่วมการแข่งขัน 3 รายการใหญ่ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เพราะเป็นรายการที่ระดับสูงกว่าอย่าง อินโดนีเซีย มาสเตอร์ รายการระดับ 750 (ที่เพิ่งจบการแข่งขัน) อินโดนีเซีย โอเพ่น รายการระดับ 1000 และรายการเวิลด์ทัวร์ไฟนอล ทัวร์นาเมนต์สุดท้ายที่รวมเอาผู้ที่ได้คะแนนสะสมสูงสุด 8 อันดับของแต่ละประเภท มาชิงแชมป์เพื่อความเป็นที่สุดของปี 2021
แต่ไม่ว่าอย่างไร การเป็นแชมป์ ยากหรือง่ายอย่างไรก็คือแชมป์ ถือเป็นเกียรติประวัติตัวเองในระดับนานาชาติเหมือนกัน
กล่าวถึงเรื่องดีๆ ของวงการแบดมินตันไทยมาซะยืดยาวแล้ว คงต้องวกกลับมาถึงหัวข้อที่ว่า ทำไม..แบดหญิงเดี่ยว ฝีมือดีไม่พอแล้ว กันดีกว่าครับ จริงๆ ความหมายของคำว่า “ฝีมือดี” ไม่ได้มีแค่เรื่องลีลาการเล่นที่สวยงาม ดูแล้วเพลินตา เทคนิคดี ออกลูกแม่นยำเท่านั้น แต่ปัจจุบันความแข็งแรงแข็งแกร่งของร่างกาย มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของนักกีฬามากกว่าในอดีตมากมายจริงๆ โดยเฉพาะในประเภทหญิงเดี่ยว
เพราะในอดีต สมัยที่รูปแบบการนับคะแนนให้ฝ่ายเสิร์ฟได้แต้มถึง 15 แต้มก่อนในประเภทชาย และ 11 แต้มในประเภทหญิง จึงจะได้เกมนั้นๆ ก็ยังมีความห่างช่วงคะแนนชายหญิงถึง 4 แต้ม ไม่เหมือนปัจจุบันที่ระบบนับคะแนนแบบแรลลี่ 21 แต้มเท่ากันทั้งชายและหญิง ฉะนั้นหากมีความแข็งแรงของร่างกายที่ดีย่อมได้เปรียบคู่แข่งอย่างไม่ต้องสงสัย
ปัจจุบันนักแบดมินตันประเภทหญิงเดี่ยวที่ถือว่ามีฝีมือ เทคนิคที่ยอดเยี่ยม แถมมีพร้อมด้วยความแข็งแรงและร่างกายที่แข็งแกร่ง ผมขอยกให้ 3 คนนี้ ได้แก่ เฉิน ยู่เฟย, อากาเนะ ยามากูชิ และ อัน เซยอง โดยหากใครที่ติดตามผลงานของทั้งสามคนแล้ว คงต้องบอกว่าทั้งหมดขึ้นชื่อว่าเป็น “นักแบดมินตันสายลาก” อย่างแท้จริง
เฉิน ยู่เฟย เหรียญทองโอลิมปิก 2020 โตเกียวเกมส์
เฉิน ยู่เฟย เป็นนักแบดจีนที่มีรูปร่างบาง แต่ในความบอบบางกลับเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อและแข็งแรง จุดเด่นของยู่เฟยอยู่ที่การเล่นที่แน่นอน เล่นแจกลูกไปทุกมุมของคอร์ท ตีแรลลี่ได้นานไม่มีหมด เมื่อใดที่คู่ต่อสู้เผลอ ยู่เฟยก็จะใช้ลูกโอเวอร์เฮดครอสคอร์ทที่เป็นจุดเด่น เอาลูกลงเร็วเพื่อให้คู่ต่อสู้เสียจังหวะเสมอ ข้อเสียของยู่เฟยที่มักจะเห็นอยู่บ่อยๆ หากในเวลาที่เจอกับคู่ต่อสู้ที่เล่น Long Rally นานๆ โดยไม่แสดงอาการล้าให้เห็นในทุกๆ ไม้ จะเป็นยู่เฟยเองที่เร่งปิดแต้มนั้นๆ จนนำมาซึ่งการเล่นเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นลูกตบไล่เส้นออกข้าง หรือลูกถนัดโอเวอร์เฮดครอสคอร์ทก็จะติดเน็ต ไม่ก็ตีออกข้างไปเอง ซึ่งที่ผ่านมาเธอเองก็ได้ปรับรูปแบบการเล่นใหม่ ลดการตีเสียเองให้น้อยลง ด้วยการไม่สนใจว่าคู่ต่อสู้จะตีนานแค่ไหน เธอก็จะไม่เร่งชิงจังหวะก่อน เพราะนั่นเท่ากับการเปิดช่องผิดพลาดให้ตัวเธอเอง จึงเป็นเหตุที่เธอจำเป็นต้องรักษาสภาพความพร้อม และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกายอยู่เสมอนั่นเอง
อากาเนะ ยามากูชิ แชมป์ 2 รายการที่เดนมาร์กและฝรั่งเศส
หากจะบอกว่าชั่วโมงนี้อากาเนะเป็นนักแบดหญิงเดี่ยวที่แข็งแกร่งแข็งแรงที่สุดประจำปี 2021 คงไม่มีใครปฏิเสธเป็นแน่ เนื่องจากตั้งแต่หลังโอลิมปิก 2020 โตเกียวเกมส์ เข้าสู่ช่วงการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ประเภททีมอย่างสุธีรมานคัพและอูเบอร์คัพ อากาเนะลงแข่งขันให้ทีมญี่ปุ่นในฐานะมือ 1 ของทีมทุกรอบ อีกทั้งทัวร์นาเมนต์ประเภทบุคคลอย่าง เดนมาร์กโอเพ่นและเฟรนซ์โอเพ่น เธอก็เข้าร่วมแข่งขันในฐานะมือวางอันดับ 2 และ 1 ตามลำดับอีกด้วย แถมยังสามารถคว้าแชมป์ทั้งสองรายการ ยังไม่พอ รายการไดฮัทสุ อินโดนีเซีย มาสเตอร์ 2021 ที่เพิ่งจบลง อากาเนะก็สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ แม้ว่าจะพ่ายให้แก่ อัน เซยอง 0-2 เกม (17-21, 19-21) ได้เพียงแค่รองแชมป์ก็ตาม อย่างไรก็ดีสำหรับผมแล้ว ยังคงยกตำแหน่ง “นักแบดหญิงแกร่งของปี 2021” ให้เธออย่างไม่ต้องสงสัยครับ
สมญานาม “ตุ๊กตาญี่ปุ่น” ที่แฟนแบดชาวไทยตั้งให้นั้น มาจากรูปร่างป้อมๆ และการเล่นของอากาเนะที่มักชอบล้มลุกคลุกคลานรับลูกตามมุมต่างๆ ของคอร์ท ในยามแข่งขันเหมือนตุ๊กตาล้มลุกญี่ปุ่น แม้การเล่นจะเหมือนสมญานาม แต่กลับได้คะแนนจากการล้มลุกแบบนี้บ่อยๆ แม้อากาเนะจะตัวป้อม เล็ก ตัน ดูเหมือนสรีระเธอเป็นข้อเสียเปรียบคู่ต่อสู้ แต่เปล่าเลย เธอแสดงให้เห็นว่าสรีระร่างกายแบบนี้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเล่นประเภทเดี่ยว อีกทั้งจุดเด่นของอากาเนะคือ มีการเล่นลูกได้ทั่วทุกมุมของคอร์ทโดยไม่เสียเปรียบเลย สามารถรีเทิร์นลูกต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ มีการเล่นโดยใช้ยุทธวิธีโต้กลับไปมาได้ไม่มีหมด จนทำให้คู่ต่อสู้ทนไม่ไหวตีเสียเองเป็นส่วนใหญ่
และที่สำคัญกลยุทธ์การเล่นของอากาเนะในปัจจุบัน จะดูว่าคู่แข่งมีความแข็งแรงของร่างกายมากแค่ไหน และเธอจะใช้ยุทธวิธีในการเล่นเกมแรก ลากคู่ต่อสู้เพื่อศึกษาว่าคู่ต่อสู้เล่นอย่างไร แข็งแรงมากน้อยแค่ไหน ไม่สนใจว่าเกมแรกจะได้หรือเสียแต้มเท่าไหร่ เพราะเธอมั่นใจว่าด้วยสภาพความแข็งแกร่งของเธอ สามารถเอาชนะได้ในเกมที่เหลือ ยกเว้นเมื่อประเมินว่าคู่ต่อสู้มีความแข็งแรงแข็งแกร่งพอๆ กัน เธอก็จะทำทุกวิธีเพื่อให้จบภายในสองเกม แต่หากทำไม่ได้ เธอเองก็สามารถเล่นเกมสามต่อได้โดยไม่มีปัญหา
อัน เซยอง ดาวรุ่งพุ่งแรงของเกาหลีใต้
สาวน้อยวัย 19 ปีชาวเกาหลีใต้คนนี้ เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนสามารถก้าวขึ้นเป็นมือ 1 หญิงเดี่ยวของทีมชาติเกาหลีใต้ ด้วยสไตล์การเล่นไม่ดุดัน ไม่สวยงามแต่แน่นอน ไม่ค่อยตีเสียเอง บางครั้งจึงอาจไม่เป็นที่ถูกใจแฟนแบดมินตันทั่วไป จุดเด่นของ อัน เซยอง ก็คือการเล่นที่เนิบนาบ ช้า มักจะยั่วให้คู่ต่อสู้เร่งเกมจนทำให้ตีเสียเอง หรือไม่ก็เปิดช่องให้ อัน เซยอง เข้าทำในช่วงเวลาที่คู่แต่อสู้สมาธิหลุด จนไม่เล่นตามสไตล์ตัวเอง อัน เซยอง มักเล่นลูกแจกไปทุกมุมของสนาม และจะเล่นลูกฉาบฉวยเมื่อคู่ต่อสู้หลงเหลี่ยมคือ ลูกโอเวอร์เฮดดรอปช็อต ขณะที่สรีระของเธอก็มีส่วนคล้าย เฉิน ยู่เฟย คือลำตัวบางแต่แข็งแรง การเคลื่อนที่ไปยังมุมต่างๆ ของคอร์ททำได้เร็ว และไม่เสียเปรียบ
ประกอบกับการฝึกซ้อมที่เข้มข้น การเล่นเวทที่สม่ำเสมอ ทำให้ อัน เซยอง แข็งแกร่งและแข็งแรง แม้ว่าจะมีปัญหาอาการบาดเจ็บจนต้องขอรีไทร์ในนัดชิงเดนมาร์กโอเพ่น แต่เธอใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็ว เข้าร่วมแข่งขันรายการเฟรนซ์โอเพ่นในสัปดาห์ต่อมาได้อย่างเหลือเชื่อ แม้ท้ายสุดเธอพ่ายแพ้อากาเนะอีกครั้งในรอบรองชนะเลิศก็ตาม เพราะนักกีฬาโดยส่วนใหญ่แล้ว หากเริ่มมีอาการบาดเจ็บขึ้นมา ความแข็งแกร่งทางร่างกายจะลดทอนไป แม้ว่าในอดีตจะเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งแข็งแรง แต่หากมีอาการบาดเจ็บรบกวนขึ้นแล้ว โอกาสที่จะกลับมาแข็งแกร่งแบบเดิมแทบเรียกว่าเป็นศูนย์ ตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น คาโรลินา มาริน หลังการบาดเจ็บบริเวณเอ็นหัวเข่าก็สามารถกลับมาได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ไม่สมบูรณ์เหมือนอดีตจนต้องกลับไปรักษาตัวอีกครั้ง จนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถกลับมาแข่งขันได้
แบดหญิงเดี่ยวในปัจจุบัน การมีฝีมืออย่างเดียวคงไม่เพียงพอ สภาพร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง เป็นปัจจัยหลักสำหรับนักกีฬาทุกประเภท แต่สำหรับประเภทหญิงแล้ว น่าจะเรียกได้ว่ามันเป็นยิ่งกว่าปัจจัยหลัก เป็นพื้นฐานเบื้องต้นสำหรับการก้าวสู่ความเป็นระดับโลกอย่างสมบูรณ์แบบที่แท้จริง
โดย ปุ๊ กว่างโจว
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม