Link Copied!

เมื่อผมเป็นอาร์บิเตอร์ ตอน คนตาบอดเล่นหมากรุก 1

ผมเคยเล่าถึงเด็กหญิงตัวเล็กอายุยังไม่ถึง 5 ขวบดี ไปนั่งแข่งหมากรุกสากลในรายการแข่งขันระดับมาตรฐานท่ามกลางผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย วัยรุ่นหลากหลายช่วงอายุ จะแปลกใจไหมครับถ้าผมบอกว่า ในทัวร์นาเมนต์การแข่งขันรายการใหญ่ๆ ก็มีผู้พิการสายตาหรือคนตาบอดมานั่งร่วมแข่งขันอยู่ด้วยเหมือนกัน

คนตาบอดจะเล่นหมากรุกได้อย่างไร ในเมื่อไม่สามารถมองเห็นรูปตำแหน่งตัวหมากต่างๆ บนกระดาน พวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวหมากตัวไหนเป็นสีขาวหรือสีดำ ช่องตาไหนเป็นสีเข้มและช่องตาไหนเป็นสีจาง และยิ่งกติกาในเกมหมากรุกกำหนดไว้ว่า ผู้เล่นจับตัวหมากตัวไหนบนกระดานก็จะต้องเดินหมากตัวนั้น หรือกินหมากตัวนั้นในกรณีที่จับถูกตัวหมากของฝ่ายตรงข้าม (แต่จะเดินได้หรือเดินไม่ได้ กินได้หรือไม่ได้ ก็ต้องมาดูเป็นกรณีๆ ไป)

สำหรับเกมหมากรุก เกมของมวลมนุษยชาติผู้ครองโลกมายาวนาน ปัญหาเรื่องนี้มีทางออก ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับคนตาบอดและเข้าใจวิธีการการเรียนรู้และรับรู้เรื่องราวต่างๆ นานารอบตัวพวกเขาว่ามีวิธีการอย่างไร

ในแวดวงเกมกีฬาหลายๆ ประเภทที่จัดขึ้นสำหรับคนตาบอด หรือผู้ที่มีประสิทธิภาพในการมองเห็นอ่อนด้อย จะแยกระดับนักกีฬาออกเป็น 3 กลุ่ม หรือ 3 ระดับ คือ B1 (บีหนึ่ง), B2 (บีสอง) และ B3 (บีสาม) บีหนึ่ง คือนักกีฬาคนตาบอดที่ประสิทธิภาพการมองเห็นเป็นศูนย์ คือบอดสนิทนั่นเอง ส่วนบีสองและบีสามก็จะมีประสิทธิภาพในการมองเห็นเพิ่มมากกว่าประเภทบีหนึ่ง บีสองและบีสามบางทีก็เรียกว่า กลุ่มสายตาเลือนราง นอกจากนี้ยังอาจจะกำหนดรายละเอียดให้ลึกลงไปได้อีกว่า ผู้พิการสายตาบางคนก็มีความพิการมาตั้งแต่กำเนิด บางคนมาประสบกับความพิการในภายหลัง เช่น พิการจากอาการเจ็บป่วย หรือจากการประสบอุบัติเหตุ แต่ผู้จัดการแข่งขันกีฬาไม่ได้ถือว่าเป็นองค์ประกอบอะไรที่สำคัญมากนัก เพียงแค่ใบรับรองหรือหลักฐานทางการแพทย์ ซึ่งให้การรับรองว่านักกีฬานี้ได้ผ่านการตรวจวัดระดับการมองเห็นแล้ว ถูกจัดหรือระบุว่ามีประสิทธิภาพการมองเห็นอยู่ในระดับใด เมื่อเข้าร่วมทำการแข่งขันก็จะลงแข่งขันพบกับคู่ต่อสู้หรือคู่แข่งที่มีระดับการมองเห็นเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน

ในเกมการแข่งขันกีฬาหมากรุกสากลทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ เปิดโอกาสและสามารถรองรับการเข้าร่วมแข่งขันของผู้พิการทางสายตาทุกกลุ่มทุกระดับได้ โดยมีมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ รวมไปถึงบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับนักกีฬาที่มีความพิการสายตาโดยเฉพาะ (เช่น ห้องน้ำ ทางขึ้นลงทางเข้าห้องแข่งขัน ห้องพักที่สงวนไว้โดยเฉพาะในระหว่างทำการแข่งขัน)

รายการแข่งขันหมากรุกสากลโดยทั่วๆ ไปมักจะจัดในลักษณะเปิดกว้างสำหรับทุกคน หรือเราจะได้ยินอย่างคุ้นหูว่า รุ่นโอเพ่น ซึ่งไม่จำกัดคุณลักษณะอะไรที่เป็นพิเศษ เด็กและเยาวชน หรือแม้กระทั่งนักกีฬาสุภาพสตรี สามารถลงสมัครเข้าร่วมแข่งขันได้อย่างไม่มีอุปสรรคมากนัก (อุปสรรคที่ว่า เช่น นักกีฬามีอาการป่วยจากโรคเรื้อรัง หรือเป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ หรือมาร่วมแข่งขันแต่ต้องพึ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์ช่วยพยุงชีวิต อย่างนี้เป็นต้น) และไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่นักกีฬาผู้พิการทางสายตา ผู้ที่มีความพิการทางการได้ยิน ทางการพูด หรือพิการทางร่างกาย และไม่เป็นอุปสรรคมากจนเกินไปนัก ก็สามารถเข้าร่วมทำการแข่งขันได้อย่างปกติ ผู้จัดการแข่งขันและกรรมการที่ควบคุมดูแลจะให้ความช่วยเหลือดูแลในฐานะเป็นผู้พิการตามสมควร แต่จะไม่ให้การช่วยเหลือแก่ผู้พิการในฐานะนักกีฬาที่อาจจะก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับคู่แข่งขัน (กรรมการไม่ใช่แค่ไม่กระทำการใดๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ในการแข่งขันให้แก่นักกีฬาผู้พิการ แต่จะต้องคอยระมัดระวังดูแลไม่ให้นักกีฬาผู้พิการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคู่ต่อสู้ที่มีสภาพร่างกายปกติอีกด้วย)

องค์ประกอบอีกหนึ่งอย่างที่คงไม่กล่าวถึงไม่ได้ (นอกจากทรัพยากรและสิ่งอำนวยประโยชน์สำหรับนักกีฬาผู้พิการสายตา) และเป็นเรื่องเฉพาะสำหรับนักกีฬาผู้พิการสายตา คือ กฎกติกาข้อปฏิบัติที่ถูกออกแบบและนำมาใช้ในการแข่งขันหมากรุกสากลโดยเฉพาะ เรียกกันในหมู่กรรมการและผู้จัดการแข่งขันว่าภาคผนวกหมวดดีด็อก (Appendix D) ซึ่งก็คือ กฎกติกาข้อปฏิบัติจากคู่มือกรรมการของสหพันธ์หมากรุกสากลนานาชาติ ซึ่งก็จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อกำหนด กติกา คำแนะนำสำหรับนักกีฬาผู้พิการสายตา กรรมการผู้ตัดสิน ตลอดจนผู้จัดการแข่งขัน เพื่อทำการแข่งขันหมากรุกสากลอย่างมีมาตรฐาน

ตอนนี้ก็มาถึงส่วนที่สำคัญของเรื่อง คุณผู้อ่านคงจะรู้สึกขัดใจอยู่เล็กๆ ว่าเมื่อไรผมจะได้เล่าถึงวิธีการที่คนตาบอดเล่นหมากรุกกัน ก็ตอนนี้ล่ะครับ

กฎกติกาข้อหนึ่งของการแข่งขันหมากรุกสากลอย่างที่ได้เคยกล่าวถึงมาแล้วในตอนต้นคือ การจับต้องตัวหมาก ถ้านักกีฬาจับถูกตัวหมากตัวใดแล้ว หากเป็นตัวหมากของฝ่ายตนเองก็จะต้องเดินตัวหมากนั้น ถ้าเป็นตัวหมากของฝ่ายตรงข้าม ก็คือแสดงความตั้งใจว่าจะกินตัวหมากตัวนั้น (แต่จะใช้ตัวหมากอะไรไปกินก็เป็นสิทธิ์ของผู้ที่เดินหมากตานั้น) เรียกกันว่า ทัชมูฟ (Touch Move) เป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไปสำหรับนักหมากรุกสากลทุกคน ดังนั้นการสัมผัสจับต้องตัวหมากของนักกีฬาที่ตาบอดสนิท จึงเป็นข้อที่ติดขัด แต่ในเมื่อทางออกของปัญหาเรื่องนี้มีวิธีการเดียว คือต้องยอมให้นักกีฬาตาบอดสนิทได้จับต้อง คลำสัมผัสทั้งตัวหมากและพื้นกระดานเพื่อเล่นและเดินตัวหมากได้อย่างที่ต้องการ คราวนี้ก็มาประสบกับปัญหาในข้อต่อไป การจับและสัมผัสตัวหมากบนกระดาน นักกีฬาจะไม่มีทางทราบเลยว่าตัวหมากที่จับต้องหรือสัมผัสอยู่เป็นตัวหมากสีอะไร และเป็นของฝ่ายใด และขอบเขตของช่องตาบนกระดานอีก ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน จะวางตัวหมากได้ถูกต้องตามช่องตาหรือไม่ นี่ยังไม่รวมถึงการกวาดมือไปมาบนกระดานที่อาจจะทำให้ตัวหมากล้มกลิ้ง สักสองสามครั้งก็พอทำเนา แต่ถ้าล้มกันทุกตาที่เดินแล้วมาคอยจับนั่งตั้งใหม่ ทั้งคู่แข่งและตัวนักกีฬาคนตาบอดเองคงจะสติแตกจนไม่สามารถแข่งขันจนจบเกมได้

ก็ยังมีทางออกอยู่เช่นเคยสำหรับปัญหาเหล่านี้ ในเมื่อนักกีฬาคนตาบอดต้องการจับต้องสัมผัสตัวหมากและพื้นกระดาน และคู่แข่งขันที่เป็นคนปกติมีความไม่สะดวกจากตัวอย่างปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้ว การแยกและจัดให้นักกีฬาคนตาบอดมีกระดานที่ใช้ทำการแข่งขันเป็นส่วนตัวหรือเป็นของตัวเอง จึงเป็นคำตอบของปัญหาข้อนี้

กระดานหมากรุกคนตาบอด ถ้าพูดให้ชัดเจนลงไปอีกก็คือกระดานหมากรุกที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักกีฬาหมากรุกสากลผู้พิการสายตาทุกระดับได้ใช้งาน

เพียงการมองผ่านๆ ในครั้งแรก (ภาพประกอบ 1) กระดานหมากรุกและชุดตัวหมากก็ดูไม่มีอะไรแปลกหรือแตกต่างไปจากชุดหมากรุกสากลแบบมาตรฐานที่ใช้ในรายการแข่งขันทั่วไป ส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ 1 x 1 ฟุต อาจใหญ่หรือเล็กกว่าก็เล็กน้อย (ภาคผนวกหมวดดีด็อกได้ให้คำแนะนำว่าควรมีขนาด 20 x 20 ซม.) อาจจะต่อเติมด้านข้างของกระดานออกมาอีกพอประมาณไว้สำหรับเสียบตัวหมากที่ไม่ได้ใช้งานหรือตัวหมากที่ถูกกินมาแล้ว และมักทำด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักค่อนข้างเบา ไม้หรือพลาสติก และถูกออกแบบให้สามารถพับครึ่งได้ เพื่อประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ และมีความสะดวกในการพกพาติดตัว

เมื่อดูพื้นกระดานอย่างใกล้ชิด ลายตารางช่องตาบนกระดานออกแบบให้มีโทนสีตัดกันอย่างเด่นชัด หรืออาจจะเป็นสีเนื้อไม้ หรือสีของพลาสติกอะคริลิกแบบสีเดียวทั้งชิ้น ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของกระดานเป็นผู้พิการสายตาในระดับไหน คือ ถ้าเจ้าของกระดานเป็นผู้พิการสายตาระดับ B2 หรือ B3 ช่องตาที่มีโทนสีตัดกันอย่างรุนแรง จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของกระดานอย่างมาก เพราะช่วยในเรื่องการมองเห็นตัวหมากและช่องตาได้เร็วมากขึ้น แต่สีของช่องตาก็ควรจะแตกต่างออกไปจากชุดตัวหมากอีกขั้นหนึ่ง เช่น ถ้าชุดตัวหมากเป็นหมากสีขาวและดำ ช่องตาบนพื้นกระดานก็ไม่ควรเป็นสีขาวและดำ ควรจะเป็นโทนสีอื่นๆ

แต่สำหรับนักกีฬา B1 ซึ่งตาบอดสนิท ไม่สามารถมองเห็นได้เลย เรื่องสีจึงไม่จำเป็น ถ้าอย่างนั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าช่องตาไหนสีจางและช่องตาไหนสีเข้ม ปัญหาข้อนี้แก้ได้ง่ายมาก ตามกติกาข้อปฏิบัติภาคผนวกหมวดดีด็อกกำหนดไว้ว่า พื้นกระดานหมากรุกสำหรับคนตาบอดให้ช่องตาสีเข้มหรือสีทึบยกระดับสูงขึ้นมาจากช่องตาสีจางหรือสีอ่อนสักเล็กน้อย ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร พื้นกระดานจึงมีความสูงสองระดับแตกต่างกัน สลับกันตามแบบของกระดานหมากรุกปกติ อาจจะออกแบบให้มีสีเข้มสีจางเพิ่มลงไปอีก หรือปล่อยให้มีโทนสีตามธรรมชาติของวัสดุ ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลของเจ้าของกระดาน ดังที่ได้อธิบายมาก่อนหน้านี้

นอกจากนั้นจุดศูนย์กลางของทุกช่องตาบนกระดานจะถูกเจาะให้มีรูเล็กๆ เพื่อไว้สำหรับปักหรือเสียบตัวหมากลงไป หมายความว่า ตัวหมากที่ใช้บนกระดานนี้จะมีเดือยติดอยู่ใต้ฐานล่าง มีขนาดพอดีกับรูที่ช่องตาบนพื้นกระดาน เสียบลงไปได้อย่างมั่นคง แน่นหนา ไม่โยกคลอนหรือล้มลงเมื่อสัมผัสจับถูก นักกีฬาผู้พิการสายตาจึงสามารถจับต้อง คลำ และสัมผัสทุกสิ่งทุกอย่างบนชุดกระดานหมากรุกนี้ได้อย่างไม่มีปัญหารบกวน

มาถึงส่วนของตัวหมาก เราทราบแล้วว่านักกีฬาผู้พิการสายตาจะสามารถสัมผัสจับต้องตัวหมากได้อย่างไม่ต้องกลัวว่าตัวหมากจะล้มหรือเคลื่อนที่ เพราะเดือยที่ติดอยู่ใต้ตัวหมาก แต่เหลือปัญหาอีกนิดหน่อย เช่นเดียวกับช่องตาบนกระดาน นักกีฬาคนตาบอดจะรู้ได้อย่างไรว่า ตัวหมากตัวไหนเป็นหมากขาวหรือหมากดำ ผมลืมบอกไปว่า ชุดตัวหมากที่ใช้นั้นจะมีรูปร่างเค้าโครงเช่นเดียวกับชุดตัวหมากรุกมาตรฐานแบบสตอนตัน (Staunton) เพียงแต่ตัดทอนลดรายละเอียดของตัวหมากออกบ้าง คงไว้แต่ลักษณะที่เด่นชัดและสำคัญ เพื่อให้นักกีฬาผู้แข่งขันรับรู้ได้อย่างรวดเร็วว่ากำลังคลำสัมผัสตัวหมากอะไรอยู่ แต่การที่จะรู้ว่าตัวหมากตัวไหนเป็นของฝ่ายเราหรือฝ่ายเขา ภาคผนวกหมวดดีด็อกกำหนดให้ตัวหมากรุกทุกตัวของฝ่ายดำ จะต้องมีปุ่มหรือเดือยเล็กๆ อยู่บนหัวหรือส่วนบนสุด ในขณะที่ตัวหมากฝ่ายขาวจะเป็นแบบปกติไม่มีเดือยหรือปุ่มอะไร บางครั้งเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสัมผัสรับรู้ ชุดตัวหมากขาวอาจจะถูกปาดส่วนบนสุดของตัวหมากให้แบนเรียบ เพิ่มความเด่นชัด ความแตกต่างระหว่างหมากขาวและดำ

อุปกรณ์ชุดหมากรุกสำหรับคนตาบอดที่ผมได้อธิบายให้รู้จักนี้ ทำให้คนตาบอดสนิทและผู้พิการสายตาทุกระดับสามารถเล่นและแข่งขันหมากรุกได้ และยังสามารถทำการแข่งขันกับผู้เล่นที่มีสายตาปกติได้อีกด้วย ในโอกาสต่อไป ผมจะมาอธิบายถึงขั้นตอนวิธีการเล่นและแข่งขันของนักหมากรุกผู้พิการสายตาว่าเป็นเช่นไร ติดตามกันได้นะครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares