Link Copied!
รากเหง้า

เพราะกำเนิดจากรากเหง้าเดียวกัน ตอนที่ 1

ในบรรดาเกมหมากกระดานทั้งหลายซึ่งมีมากมายหลายประเภทหลายชนิด หมากรุกไทยและหมากรุกสากลนับว่ามีความเหมือนและคล้ายคลึงกันอย่างมากที่สุด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหมากกระดานทั้งสองประเภทถือกำเนิดจากแหล่งเดียวกัน มีจุดเริ่มต้นมาจากรากเหง้าเดียวกัน แต่ผ่านห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงมาอย่างเนิ่นนาน จนทำให้มีลักษณะดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน…

บางสิ่งบางอย่างบนโลกใบนี้แม้จะอยู่ในที่แตกต่างกัน ห่างกันคนละมุมโลก กลับมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน และคล้ายคลึงกันอย่างน่าประหลาด นั่นอาจจะเป็นเพราะมันมีแหล่งกำเนิดหรือมีรากเหง้าเดียวกัน เพียงแต่ผ่านห้วงเวลาอันเนิ่นนาน จึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปจนเป็นดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

…บนโลกนี้มีมวยสากล และเรามีมวยไทย

…บนโลกนี้มีหมากรุกสากล และเราคนไทยก็มีหมากรุกไทย

สองเกมกีฬานี้เป็นภาพสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนและน่าภาคภูมิใจเป็นที่สุด

มีรูปแบบกีฬาการต่อสู้ด้วยมือเปล่ามากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น เค-วัน เอ็มเอ็มเอ จูยิตสู ชู้ตบ็อกซิ่ง ยูโด มวยปล้ำ แต่ทั่วทั้งโลกกลับให้การยอมรับว่า ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยอยู่ในระดับชั้นแนวหน้า โดดเด่น และเป็นที่น่าจับตามองมากกว่าใครทั้งหมด

และเมื่อคนทั้งโลกมีเกมหมากรุกสากลไว้สำหรับเล่นแข่งขันประลองปัญญา คนไทยก็มีหมากรุกไทยไว้เชิดหน้าชูตา แสดงถึงภูมิปัญญา ความคิดความอ่านของชนชาติตนเองเช่นเดียวกันกับมวยไทย

เมื่อเปรียบเทียบมวยสากลกับมวยไทย มวยไทยดูจะมีความหลากหลายในวิถีทางมากกว่า นอกจากความรุนแรง ดุดัน เด็ดขาด ซึ่งจัดว่าอยู่ในขั้นอันตรายถึงชีวิตหากเกิดความผิดพลาด ทั้งนี้มวยไทยยังมีกลยุทธ์อันหลากหลาย มีความสวยงามในลีลาท่าทาง จังหวะรุกรับ การแก้หรือกันทางมวย ซึ่งมากกว่าการทุ่มเทพละกำลังเดินหน้าเข้าโจมตีคู่ต่อสู้เพียงอย่างเดียว

ในมุมกลับกัน จากเกมกีฬาที่ใช้พละกำลังและร่างกายเข้าต่อสู้แข่งขัน เราลองหันมาพิจารณาเปรียบเทียบเกมกีฬาที่ใช้ปัญญา ความคิด และไหวพริบเข้าประลองกันว่า หมากรุกไทย เมื่อเปรียบเทียบกับหมากรุกสากลแล้วจะเป็นอย่างไร

หมากกระดานทั้งสองแบบนี้สามารถเปรียบเทียบกันได้ เพราะมีต้นกำเนิดมาจากรากเหง้าเดียวกัน นั่นคือ เกมจตุรงค์ (chaturanga) ซึ่งถูกประดิษฐ์คิดค้นนานกว่า 1200 ปีเศษล่วงมาแล้ว ทางแถบตอนเหนือของประเทศอินเดีย

มาดูสิ่งเหมือนกันมากที่สุด จนอาจจะพูดได้ว่าสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ในคราวจำเป็น นั่นคือ กระดานหมากรุก กระดานของหมากรุกทั้งสองชนิดผ่านห้วงเวลาที่ยาวนาน แต่กลับมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบน้อยมาก ในขณะที่รูปลักษณ์ตัวหมาก วิธีการเคลื่อนที่ของตัวหมาก รวมถึงกฎกติกา กลับพัฒนาเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันอย่างชัดเจน ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าว่า เราสามารถนำกระดานของหมากรุกทั้งสองแบบนี้มาใช้ทดแทนกันได้ถ้าจำเป็น หรือไม่จำเป็นก็ตาม (แต่อาจจะมีเสียงบ่นของนักหมากรุกไทย กับความไม่คุ้นชิน ไม่คุ้นสายตากับพื้นลายกระดานบ้างนิดหน่อย)

สิ่งที่เห็นว่าแตกต่างกันอย่างชัดเจนคงจะเป็นลายสีบนพื้นกระดาน กระดานหมากรุกไทยมีพื้นที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ 64 ช่องตาเรียงตัวกันในลักษณะ 8 x 8 ทุกช่องตามีสีพื้นเดียวกัน ซึ่งก็จะเป็นสีของวัสดุที่นำมาใช้ทำกระดาน เช่น ไม้ หรือปูนปั้น หมากรุกสากลมี 64 ช่องตาสี่เหลี่ยมจัตุรัสเหมือนกัน แต่จะมีสีสลับกันเป็นสีอ่อนและสีเข้มในลักษณะช่องตาที่ติดกันในแนวตรง ทั้งแนวตั้งและแนวนอนมีพื้นสีต่างกัน ช่องตาที่ติดกันในแนวทแยงจึงจะเป็นสีพื้นเดียวกัน และเวลาผู้เล่นหมากรุกสากลวางกระดานเพื่อเริ่มเล่น ช่องตามุมล่างสุดขวามือจะต้องเป็นช่องตาสีจางเสมอ ซึ่งผู้เล่นฝั่งตรงข้าม ช่องตาล่างสุดมุมขวาของเขาก็เป็นสีจางเช่นเดียวกัน

ช่องตาสีเข้มและสีจางนี้มีความสำคัญในการเล่นหรือการเดินหมากของหมากรุกสากล และผู้เล่นบางคนอาจจะใช้ประโยชน์ของสีที่แตกต่างนี้ วางแผนทางยุทธศาสตร์ล่วงหน้าได้เช่นกัน

หมากรุกสากลมีตัวหมากอยู่ชนิดหนึ่ง เรียกว่า บิชอป Bishop ทั้งสองฝ่ายมีฝ่ายละสองตัว ซึ่งตอนเริ่มต้นเกมนั้น บิชอปทั้งสองตัวของแต่ละฝ่ายตั้งอยู่บนช่องที่สีแตกต่างกัน ตัวหนึ่งอยู่บนช่องตาสีเข้ม อีกตัวหนึ่งอยู่บนช่องตาสีจาง และทั้งคู่จะเดินไปตามแนวทแยงจากจุดที่ตั้งเริ่มต้น ช่องตาแนวทแยง แน่นอนว่าจะต้องเป็นช่องตาสีเดียวกัน ดังนั้นบิชอปตัวที่ตั้งอยู่บนช่องตาสีเข้ม ก็จะเดินอยู่แต่บนช่องตาสีเข้มไปตลอดจนจบเกมหรือตลอดชีวิตของมัน ตัวที่ตั้งอยู่บนช่องตาสีจางก็เป็นไปในแบบเดียวกัน ควีนก็เป็นตัวหมากอีกหนึ่งตัวที่ต้องอาศัยประโยชน์จากความแตกต่างของสีพื้นในแต่ละช่องตา หมากควีนนั้นสามารถเดินได้รอบทิศ ทั้งแนวตรงและแนวทแยง เพียงแต่ว่าเมื่อควีนต้องการเดินแนวทแยงก็จะต้องเดินบนเส้นทางที่มีสีเดียวกันกับช่องตาที่เริ่มต้น เมื่อนางเริ่มต้นออกเดินจากช่องตาสีเข้ม ช่องตาสุดท้ายที่ไปหยุดยืนจะเป็นช่องตาสีจางไม่ได้ ในการเดินหรือเคลื่อนที่แนวทแยง ควีนจะเหมือนกันกับบิชอป

สีสลับเข้มจางบนกระดานยังเกี่ยวข้องกับการเดินหรือการเคลื่อนที่ของหมากอัศวินหรือม้า ม้าในหมากรุกสากลและหมากรุกไทยนั้นเหมือนกัน แต่ทำไมกระดานหมากรุกไทยจึงไม่มีลายสีสลับเข้มจางเหมือนกับกระดานของหมากรุกสากล ถ้ามันเกี่ยวข้องกับการเดินของม้า คำอธิบายนั้นพอจะเข้าใจได้ว่า ลายสลับสีเข้มและสีจางอาจจะไม่มีความจำเป็นสำหรับม้า เมื่อเทียบกับบิชอปและควีน แต่ช่องตารางลายสีเข้มจางนี้เกี่ยวข้องกับการเดินของม้าตามลักษณะที่ว่า ม้าจะเดินหรือเคลื่อนที่จากช่องตาที่มันยืนอยู่ไปยังช่องตาที่มีลายสีเข้มจางตรงกันข้ามกับช่องตาที่เริ่มต้น และช่องตานั้นจะต้องเป็นช่องตาที่อยู่ใกล้ที่สุดที่ไม่ใช่ช่องตาในแนวนอน แนวตั้ง และแนวทแยง

ฟังแล้วชวนสับสนและยากต่อการเข้าใจจริงๆ อย่างนั้นเราลองถอยออกมามองภาพทัศน์ของหมากรุกในความคิดรวบยอดกันก่อน

หลักการของเกมหมากรุกทั้งไทยและสากลนั้น คือมีพื้นที่เป็นแบบเมทริกซ์ เป็นสนามการประลองที่ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ เท่ากัน คือช่องตาสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ เรียงตัวกันในลักษณะ 8 x 8 เกิดเป็นตารางจำนวน 64 ช่องตา ผู้ประดิษฐ์คิดค้นเกมนี้ออกแบบให้มีสิ่งของบางอย่างสามารถเคลื่อนที่ไปมาตามช่องตาตารางเหล่านี้ สิ่งของเหล่านี้ถูกกำหนดให้มีลักษณะการเคลื่อนที่แตกต่างกันในหลากหลายรูปแบบ บางสิ่งเคลื่อนที่ไปตามแนวตั้งหรือแนวนอน บางสิ่งเคลื่อนที่ไปตามแนวทแยง และบางสิ่งก็เคลื่อนที่ไปได้ทั้งแนวตั้ง แนวนอน และแนวทแยง จากการออกแบบนี้ทำให้เราเห็นการเคลื่อนไหวบนกระดานหมากรุก เป็นเส้นทางขวางพาดไปมา รุก หรือเรือนั้น เคลื่อนที่ไปในแนวตั้งและแนวนอน บิชอปเดินไปตามแนวทแยง ส่วนควีนนั้นรวมเอาการเดินของบิชอปกับรุกเข้ามาไว้ด้วยกัน คือเคลื่อนที่ไปได้ทั้งแนวนอน แนวตั้ง และแนวทแยง นั่นหมายความว่า ถ้าเราวางหมากควีนไว้บนช่องตาบริเวณกลางกระดาน ควีนจะมีทิศทางการเคลื่อนที่ถึงแปดทิศทาง เช่นเดียวกับหมากคิง แต่ระยะในการเดินแตกต่างกัน

ตอนนี้ย้อนกลับมาที่หมากม้า จากตัวหมากหลายๆ แบบที่ถูกออกแบบให้มีเส้นทางการเคลื่อนที่ครอบคลุมถึงแปดทิศทางแล้ว ผู้ประดิษฐ์เกมหมากรุก (หรืออาจจะเป็นผู้ที่พัฒนาปรับปรุงเกมในภายหลัง) ยังออกแบบให้มีหมากตัวหนึ่งเคลื่อนที่ได้อย่างพิเศษ มีลักษณะการเดินเฉพาะตัว นั่นคือหมากม้านี่เอง

สมมุติว่าเราตัดส่วนกระดานหมากรุกออกมาส่วนหนึ่ง มีพื้นที่แค่ห้าช่องตาคูณห้าช่องตา หรือ 25 ตารางช่องตา ให้ช่องตรงกลางมีสีเข้ม จากนั้นเราวางหมากควีนลงไปช่องตาตรงกลางนี้ เราจะเห็นว่าตาเดินของควีนนั้นครอบคลุมไปถึง 17 ช่องตาจาก 8 ทิศทาง ถ้าเราระบายสีอะไรก็ได้ลงบนช่องตาทั้ง 17 ช่องนี้ จะเห็นว่าบนกระดานที่ตัดส่วนมานี้ ยังเหลือช่องตาว่างอีก 8 ช่องตา และเป็นช่องตาสีจาง และเราลองวางหมากม้าลงไป ยืนตำแหน่งในช่องตาเดียวกับหมากควีน และตรวจดูช่องตาเดินของมันก็พบว่า 8 ตารางช่องตาที่เหลือเป็นช่องตาเดินของม้านั่นเอง

อย่างนี้จึงพอสรุปได้ว่า ม้าหรืออัศวินมีทิศทางการเดินที่นอกเหนือไปจากทิศทางทั้งแปดของหมากควีน เมื่อรวมพลังการเดินของตัวหมากทั้งสองชนิด ม้าและควีนจึงมีทิศทางการเดินได้มากถึง 16 ทิศทางเลยทีเดียว

นี่จึงเป็นลักษณะที่พิลึกพิลั่นในการเดินของม้า ครูสอนหมากรุกสากลอาจจะยกทฤษฎีแนวคิดที่กล่าวมา นำมาสอนนักเรียนหมากรุกของพวกเขา เพื่อให้บังคับม้าได้อย่างถูกต้อง ในหมากรุกไทย เราไม่มีลายสีสลับบนกระดาน ครูหรือโค้ชหมากรุกไทยจึงสอนนักเรียนว่า ให้เดินม้าเป็นรูปตัวแอลในตัวอักษรภาษาอังกฤษ คือนับตาเดินในทางตรงก่อนไปสองช่อง แล้วจึงเลี้ยวหรือหักซ้ายขวาตามแต่ต้องการอีกหนึ่งช่องตา นั่นคือตาเดินที่หมากม้าจะเคลื่อนที่ไปได้

…ในตอนหน้าจะกล่าวถึงข้อเปรียบเทียบอีกบางด้านระหว่างหมากกระดานทั้งสองชนิดนี้ รวมทั้งประวัติความเป็นมาของการพัฒนาหมากรุกไทยพอสังเขปเท่าที่จะสืบค้นข้อมูลย้อนกลับไปได้ในอดีต

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares