Link Copied!
เท่าเทียม

แข่งขัน…เท่าเทียม…เหมาโหล

ในความหลากหลายของสังคม ความเท่าเทียมแบบไหนจึงเหมาะสม และต้องเท่าเทียมแค่ไหนจึงจะพอใจกันทุกคน

เร็วๆ นี้วงการอเมริกันฟุตบอลเพิ่งจัดงานคัดเลือกตัวนักกีฬาจากระดับมหาวิทยาลัยเข้าสู่ลีกระดับอาชีพ NFL ซึ่งโดยระบบแล้ว ทีมที่อันดับการแข่งขันฤดูกาลก่อนหน้าย่ำแย่รั้งท้าย ก็จะได้สิทธิ์คัดเลือกตัวก่อน เพื่อให้ทีมนั้นๆ สามารถคว้าดาวเด่นฝีมือดีมาเสริม สร้างทีมให้กลับมาแข็งแกร่ง มีสถิติการแข่งขันที่ดีขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งยกระดับไปสู่ทีมลุ้นแชมป์กันเลยทีเดียว

เท่าเทียม

ไม่เพียงลีกอเมริกันฟุตบอลอาชีพเท่านั้น กีฬาหลักๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ใช้ระบบการคัดเลือกตัวนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัยเข้าสู่ลีกอาชีพในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ทั้งบาสเกตบอล เบสบอล หรือซอกเกอร์ แนวคิดดังกล่าวผสมผสานกับกฎการเงินที่ว่า ทีมจะต้องจ่ายเงินภาษีฟุ่มเฟือย (Luxury Taxes) เพิ่มเติมให้ลีก ในกรณีที่ค่าตอบแทนของนักกีฬาในทีมรวมแล้วเกินกว่าเพดานที่ลีกกำหนด ตลอดจนกรอบเวลาซื้อขายตัวนักกีฬา ล้วนแล้วแต่เพื่อสร้างกลไกให้การแข่งขันสูสีคู่คี่กันมากยิ่งขึ้น ความสามารถของทีมจะไม่ต่างกันจนเกินไป หากปราศจากกลไกดังกล่าว ทีมที่ฐานะการเงินดีก็จะเป็นทีมเจ้าบุญทุ่มซื้อตัวนักกีฬาเด่นระดับเทพเข้าสู่ทีม ทำให้ช่องว่างระดับความสามารถของแต่ละทีมในลีกยิ่งถ่างมากขึ้น

แนวคิด “ความเท่าเทียมกันของโอกาส/กระบวนการ” (Equality of Opportunity/Process) ของการเป็นแชมป์ดังกล่าว ก็ได้พิสูจน์ประสิทธิผลให้เห็นในหลายวาระแล้ว เช่น ใน NBA ชิคาโก บูลส์ ตอนเป็นทีมไม้ประดับ และได้คัดเลือกตัว ไมเคิล จอร์แดน เข้าสู่ทีมจนสร้างทีมระดับตำนานได้ถึง 6 แชมป์

ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ทีมชายขอบรัฐเท็กซัสที่ก่อนหน้านี้แข่งในลีกรอง CBA พอได้ตัว ทิม ดันแคน เข้ามาช่วยสร้างแชมป์ 5 ครั้งให้กับทีม

หลังจากตกต่ำไปพักหนึ่งหลังยุคโชว์ไทม์ แอลเอ เลเกอร์สก็ได้ โคบี ไบรอันท์ มาช่วยพาทีมไปสู่แชมป์ 5 ครั้ง

เมื่อขึ้นสหัสวรรษใหม่ คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ก็ได้ดราฟต์อันดับ 1 ที่ชื่อ เลบรอน เจมส์ นำแชมป์แรกในประวัติศาสตร์ทีมมาสู่เมืองที่ร้างแชมป์มาตลอด

ฟากของโกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส ก็ใช้การดราฟต์รอบที่ 1 คัดเอาทั้ง สเตฟ เคอร์รี และ เคลย์ ทอมป์สัน คู่หูสแปลชบราเธอร์ส ที่ช่วยกันนำถ้วยแชมป์มาประดับเมืองหลังห่างหายไปหลายสิบปี แถมด้วยสถิติชนะฤดูกาลปกติสูงสุดตลอดกาลอีกต่างหาก

เท่าเทียม

แต่เดี๋ยวก่อนครับ กลไก “ความเท่าเทียมกันของโอกาส/กระบวนการ” ที่กล่าวมาไม่ได้การันตีว่าทีมที่ได้ดราฟต์นักกีฬาตัวเด่นๆ เป็นทีมแรกๆ จะประสบความสำเร็จเสมอไปนะครับ

ฟิลาเดลเฟีย เซเวนตีซิกเซอร์ส ได้ตัว อัลเลน ไอเวอร์สัน ซึ่งเป็นดราฟต์อันดับ 1 ก็ไม่เคยได้แชมป์อีกหลังผ่านยุค ดอกเตอร์เจ จูเลียส เออร์วิง

ส่วนวอร์ริเออร์สก็ไม่ได้แชมป์ทันทีที่มีเคอร์รีและทอมป์สัน แต่ต้องรอจนโค้ช สตีฟ เคอร์ เข้ามาทำทีม

จอร์แดนและบูลส์ต้องใช้เวลาถึง 7 ปีกว่าจะได้แชมป์ กรณีของคลีฟแลนด์กับ เลบรอน เจมส์ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเจมส์ต้องพเนจรออกจากทีมไปได้แชมป์กับไมอามี ฮีท ก่อนแล้วจึงกลับมาพาทีมเถลิงแชมป์ในภายหลัง

และอีกหลายๆ ทีมที่ได้นักบาสดราฟต์อันดับ 1 ก็ไม่เคยได้แชมป์เลยเช่นกัน

ถึงแม้กระบวนการคัดเลือกตัวและกฎเกณฑ์ของลีกที่นำมาใช้เพื่อสร้างโอกาสให้ทีมที่ด้อยกว่า อ่อนกว่า ได้พัฒนาขึ้น แต่ในประวัติศาสตร์ของ NBA ทีมที่ได้แชมป์เป็นจำนวนสูงสุดก็ยังคงเป็นแอลเอ เลเกอร์ส และบอสตัน เซลติกส์ ทั้งๆ ที่สองทีมนี้ไม่ค่อยได้คัดเลือกตัวในลำดับต้นๆ บ่อยครั้งนัก

…ความเท่าเทียมของโอกาส อาจไม่ได้นำไปสู่ความเท่าเทียมของผลลัพธ์เสมอไป…

หันมามองฝั่งทุนนิยม ซึ่งเป็นอีกฝั่งหนึ่งที่แต่ก่อนไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ เลย เพิ่งมีกฎการเงินกำกับเมื่อไม่นานมานี้เอง เช่น ในวงการฟุตบอลของยุโรป ทีมที่ทุนหนามักจะเชื่อในวิธีใช้เงินซื้อความสำเร็จ ทีมใหญ่อย่าง เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา, เอซี มิลาน, ยูเวนตุส, เชลซี, หรือสองทีมแดงฟ้าเมืองแมนเชสเตอร์ ทีมเหล่านี้มักจะได้แชมป์อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจว่า เรอัล มาดริด ยุคที่มีนักฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลกเกือบทุกตำแหน่งในสนาม ทีมที่ประกอบด้วย โรนัลโด, ซีดาน, เบ็คแฮม, คาร์ลอส, และอีก 7 นักเตะมือหนึ่งในตำแหน่งของตน ก็ไม่ได้แชมป์ในปีนั้น

เท่าเทียม

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยุคที่ใช้เงินซื้อนักเตะระดับโลกเข้าสู่ทีม กลับประสบความสำเร็จน้อยกว่ายุคที่ใช้เด็กปั้นจากอะคาเดมีของตัวเอง

ยังไม่นับกรณีของเลสเตอร์ ซิตี้ ที่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีก โดยไม่ได้มีนักเตะนามกระเดื่องโลกอยู่ในทีมเลย

กรณีตัวอย่างวงการฟุตบอลของยุโรปที่ทีมเจ้าบุญทุ่มไม่ได้ประสบความสำเร็จเสมอไปนั้น ก็ไม่ต่างจากใน NBA ที่หลายทีมพยายามใช้ช่องว่างของกฎเกณฑ์สร้างทีมตามแนวคิดบิ๊กทรี (Big Three) โดยสร้างทีมรอบๆ ผู้เล่นระดับพระกาฬ 3 คน ตัวอย่างเช่น ฮูสตัน ร็อกเก็ตส์ ยุครวมพล ฮาคีม โอลาจูวอน, สกอตตี พิพเพน และ ชาร์ลส์ บาร์คลีย์ ก็ไม่ได้แม้แต่เข้าชิง หรือเลเกอร์สยุคที่เจอแรงกดดันให้ทวงแชมป์คืนจนสร้างทีมที่ผู้เล่น 4 ใน 5 คนแรก คือผู้เล่นระดับเข้าสู่หอเกียรติยศทั้งสิ้น แต่ทีมที่มี ชาคีล โอนีล, โคบี ไบรอันท์, คาร์ล มาโลน และ แกรี เพย์ตัน กลับพ่ายแพ้ให้กับ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ที่เงินเดือนของผู้เล่น 5 คนแรกรวมกัน ยังไม่เท่ากับเงินเดือนของโอนีลคนเดียวเลย

นี่คือเสน่ห์ของกีฬา สูตรของการได้ชัยชนะนั้นไม่เคยแปรเปลี่ยนไปเลย ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานสปิริตของทีม ความกลมเกลียวเป็นเนื้อเดียวกันทั้งนักกีฬาและสตาฟโค้ช ฝีมือของผู้บริหารที่สร้างทีมอยู่ภายนอกสนามกีฬา ทัศนคติของผู้เล่นที่ไม่ได้คิดว่าตัวเองสำคัญกว่าทีม ความเสียสละของผู้เล่นที่ตั้งใจลดผลสำเร็จส่วนตัวเพื่อความสำเร็จของทีมส่วนรวม ความเคร่งวินัยของผู้เล่นทั้งตัวหลักและผู้เล่นอาวุธลับที่พร้อมจะสำแดงฝีมือเมื่อโอกาสอำนวยให้

นี่คือแก่นของกีฬาที่สำคัญโดยเนื้อแท้ ไม่ต่างจากแก่นของไม้ที่ทรงคุณค่า และจะคงทนยาวนานกว่ากระพี้หรือเปลือกนอกที่สามารถขัดสี ลงแล็กเกอร์ให้สวยได้ดังใจนึก

…หันมามองที่ใกล้ตัว…

โลกทุกวันนี้แสดงความเคารพความแตกต่างในมิติต่างๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา รสนิยมทางเพศ ความเป็นปัจเจกชน ตลอดจนความเห็นต่างทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการที่องค์กรจัดหาสถานที่ละหมาดให้แก่พนักงานชาวมุสลิม ลงปฏิทินวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ ไว้ บางองค์กรให้ลาหยุดได้ในวันเกิด การไม่ปล่อยให้เรื่องเพศสภาพมากีดกั้นโอกาสก้าวหน้าตามสายงานอาชีพ รวมถึงการแสดงความเห็นทางการเมืองได้อย่างอิสระในขอบเขตที่ไม่กระทบต่อองค์กร

เท่าเทียม

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดีทั้งสิ้นหากปฏิบัติบนพื้นฐานความตั้งใจที่ดี กระบวนการที่โปร่งใส และไม่ปล่อยให้ความไม่เป็นกลางทางความรู้สึก พัฒนาไปสู่ความไม่เป็นธรรมในทางปฏิบัติ

ความไม่เป็นกลางทางความรู้สึกนี้ หลายครั้งก็พัฒนาไปสู่แนวคิด “เหมาโหล” ที่พิพากษาบุคคลหรือเหตุการณ์ไปก่อนจะรับรู้รับทราบข้อเท็จจริงครบถ้วน

หากเกิดเหตุการณ์พนักงานผู้ชายทำร้ายร่างกายพนักงานผู้หญิง ผู้ทำหน้าที่สอบสวนก็มักจะด่วนสรุปไปแล้วว่าจะต้องไล่พนักงานชายออก โดยไม่ลงโทษพนักงานหญิงเลย ทั้งๆ ที่ในข้อเท็จจริงพนักงานหญิงอาจจะด่าทอพนักงานชาย ใช้วาจาล่วงเกินถึงบุพการี จนทำให้พนักงานชายบันดาลโทสะ หรือกรณีร้องเรียนเรื่องการคุกคามทางเพศ หลายๆ ครั้งผู้ชายมักจะมีแนวโน้มถูกตัดสินว่าผิดโดยไม่มีการสอบถาม จนอาจจะตกหล่นบางข้อเท็จจริงไปว่าหญิงผู้ร้องเรียนนั้นอาจอยู่ในสถานะผู้ป่วยโรคจิตอ่อนๆ

ในอีกมุมหนึ่งผู้หญิงมีความสามารถไม่แตกต่างจากผู้ชายในหลายๆ ด้าน และในปัจจุบันคนที่มีอายุน้อยกว่าก็อาจจะมีความสามารถไม่ต่างจากคนอายุมากกว่า แต่เราก็มักพบเห็นประกาศรับสมัครงานที่บ่งชี้ช่วงอายุ หรือเพศเป็นเงื่อนไขการคัดเลือก ซึ่งนี่ก็เป็นสมมติฐานแบบเหมาโหลอีกแบบหนึ่ง

หลายประเทศกำหนดโครงสร้างคณะกรรมการของบริษัทมหาชนให้ต้องมีสัดส่วนของกรรมการเพศใดเพศหนึ่งตามจำนวนที่กำหนดไว้ แนวคิดเช่นนี้มองเผินๆ ก็แลดูเหมือนจะส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และเมื่อมีกระแสเคารพความแตกต่างเช่นนี้ออกมา ก็มักจะมีงานวิจัยของสถาบันต่างๆ ช่วยสนับสนุนว่าการมีองค์ประกอบที่หลากหลายของกรรมการมันดีอย่างนั้นเด่นอย่างนี้ ทั้งที่องค์กรที่เป็นโจทย์วิจัยก็ไม่ได้กำหนดสัดส่วนองค์ประกอบคณะกรรมการไว้ก่อนหน้านี้เลย

นี่ยังไม่นับรวมข้อเท็จจริงที่ว่า เวลามีนักวิจัยไปสอบถามหรือวิเคราะห์ประสิทธิผลของคณะกรรมการบริษัท มันจะมีบริษัทไหนตอบไม่ดีเกี่ยวกับกรรมการบริษัทตัวเองหรือครับ

ดังนั้นหากดูในรายละเอียด กฎเกณฑ์เหล่านี้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของผลลัพธ์มากกว่าความเท่าเทียมกันของโอกาส และความโปร่งใสของกระบวนการ

ผู้หญิงหลายคนเก่งเรื่องคำนวณและคิดเป็นระบบมากกว่าผู้ชายส่วนใหญ่ ก็ควรจะได้โอกาสเป็นกรรมการในบริษัทวิศวกรรม ในทางตรงกันข้าม ผู้ชายหลายคนที่รสนิยมและความสามารถด้านแฟชั่นดีเด่น ก็ควรได้โอกาสในการเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือกรรมการบริษัทผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นได้เช่นกัน

แล้วทำไมไม่ดูที่ความสามารถและให้ความสำคัญกับมันมากกว่าสัดส่วนจำนวนคนและเพศที่กำหนดไว้ นี่ก็แนวคิดเหมาโหลอีกรูปแบบหนึ่ง และการกำหนดโควตาสัดส่วนก็เป็นเสมือนการยอมรับกลายๆ ว่ากระบวนการคัดเลือกกรรมการกำลังมีปัญหา

กระแสบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรมในบางจุด กลับถูกกระพือให้เป็นกระแสระดับโลก ก็ด้วยทัศนคติเหมาโหลนี่ล่ะครับ กระแส Black Lives Matter กระจายไปทั่วโลก จนลามไปถึงแนวคิดการเปลี่ยนผู้แสดงภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ให้เป็นผู้ชายผิวสีหรือผู้หญิง แถมยังมีการร้องขอให้มีตอนที่ เจมส์ บอนด์ มีรสนิยม LGBT เพิ่มมาอีก นี่ก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะ เอียน เฟลมมิง ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่องนี้เสียชีวิตไปแล้วหรือเปล่านะครับ เลยให้ความเห็นเรื่องนี้ไม่ได้

การสร้างความเท่าเทียมในบางเรื่องก็ไม่ทราบว่าดีหรือไม่นะครับ ที่ก้าวล้ำเข้าไปถึงในเรื่องสันทนาการซึ่งควรเป็นสิ่งจรรโลงใจมากกว่า อันที่จริงก็มีภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยที่ยกย่องวีรบุรุษวีรสตรีผิวสี ไม่ว่าจะเป็น Miles Davis: Birth of the Cool สารคดียกย่องอัจฉริยะทางดนตรีแจ๊ซ หรือภาพยนตร์ Hiddden Figures ที่ยกย่องสตรีผิวสีในองค์การนาซา เป็นต้น

เท่าเทียม

กระแสลามไปถึงการเรียกร้องเปลี่ยนแปลงบทเรียนประวัติศาสตร์ ขอทุบทิ้งทำลายอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญบางคนที่อาจมีประวัติเกี่ยวโยงกับการค้าทาส รวมถึงกระแสความไม่พึงพอใจในชาติตนเอง จนกระทั่งนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของอังกฤษถึงกับเหลืออด ต้องออกมาปรามแกมขอร้องว่า อย่าไปโฟโตช็อป (Photoshop) ประวัติศาสตร์เลย

ท่านนายกฯ บอริส คงเจตนากระแซะๆ เหน็บๆ ว่าหากเห็นปัญหาในปัจจุบันก็พึงหาทางแก้ไขเพื่ออนาคต ดีกว่าจะไปบิดเบือนอดีตเพื่อให้ได้ดังใจในปัจจุบัน

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ต่างจากความต้องการสร้างความเท่าเทียมของผลลัพธ์โดยไม่สนใจกระบวนการ และบางครั้งยังจะมีแนวโน้มว่าบิดเบือนข้อเท็จจริงอีกต่างหาก

การพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ขาดสมดุล และไม่ได้เอาประโยชน์สุขของสังคมส่วนรวมเป็นตัวตั้งนี้มักจะไม่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้วคนจะเห็นว่า ระบบ กระบวนการ และผลลัพธ์ที่ตั้งอยู่บนหลักการ คุณค่า ความดี และการกระทำสิ่งที่ดีหรือที่เรียกว่า Merit System มีเหตุและผลดีกว่า ตลอดจนที่มาที่ไปที่เหมาะสมกว่า

นี่ก็ถือว่ายังดีนะครับที่การเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้ลามมาถึงวงการกีฬาและดนตรี เพราะยังไม่มีใครเรียกร้องให้ทีมกรีฑาจากจาไมกาออกสตาร์ตหลังนักแข่งชาติอื่นสัก 20 เมตร ไม่มีใครมาร้องเรียนให้ทีมใน NBA ต้องมีผู้เล่นห้าคนแรกเป็นคนผิวขาวสัก 2 คน เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นผิวสี ไม่มีใครกดดันให้ จอห์น เมเยอร์ กลับไปเล่นเพลงป๊อบแบบ Your Body is a Wonder Land เพราะเพลงบลูส์เป็นของคนผิวสี ไม่มีใครร้องเรียนให้ แลร์รี คาร์ลตัน เลิกเล่นเพลงแจ๊ซเพราะมันพัฒนามาจากเพลงบลูส์

เท่าเทียม

โดยธรรมชาติแล้วคนเราแตกต่างกันตั้งแต่กำเนิด และมนุษย์เป็นสายพันธุ์ที่อยู่รวมกันเป็นสังคม ความคิดความเห็นที่ต่างกันก็เป็นเรื่องธรรมชาติ และในทุกสังคมก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ข้อขัดแย้งจึงถือเป็นเรื่องธรรมดา

ข้อขัดแย้งนั้นไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล ศาสนา (เช่น สงครามครูเสด) หรือระดับโลก (เช่น สงครามโลก) ก็ล้วนแล้วแต่มีข้อดีของมันอยู่คือเป็นบทเรียนให้สังคมได้เรียนรู้และพัฒนาจากข้อขัดแย้งนั้นๆ หากเพียงเราจะต้องมองย้อนและสะท้อนความคิดผ่านเลนส์ที่ไม่บิดเบี้ยว และตรรกะที่ไม่บิดเบือน

ในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์ ขนาดสันฐานของโลกยังไม่กลมดิกเลยครับ ทุกคนทุกสังคมล้วนมีข้อดีข้อเสีย คนเราจน รวย เก่ง ไม่เก่ง แข็งแรง อ่อนแอ มีความสุข ความทุกข์ไม่เท่ากัน เราจึงมีความไม่เป็นกลางโดยธรรมชาติ แต่หากเรามีความเป็นธรรมและพร้อมเข้าใจผู้อื่น ทั้งเราและสังคมก็จะมีสุขไม่น้อยเลยนะครับ

ทำนองเดียวกันกับการมุ่งเป้าที่ความเท่าเทียมของผลลัพธ์อย่างเดียว โดยไม่ใส่ใจกับกระบวนการอันชอบธรรมและโปร่งใส หรือใช้ผลลัพธ์เป็นตัวตัดสินความชอบธรรมของกระบวนการ (End justifies Means) นอกจากปัญหาที่ต้องแก้จะไม่ลุล่วงแล้ว ยังกลับจะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีกด้วย

ข้อเรียกร้องหลายอย่างในปัจจุบัน ตั้งต้นมาจากสิ่งไม่ชอบธรรม แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ คนที่ออกมาเรียกร้องก็ไม่ได้ใช้วิธีการอันชอบธรรมเช่นกัน แถมยังเหมาโหลว่าคนคิดต่างเป็นฝั่งตรงข้ามอีกต่างหาก

ตั้งสติกันสักนิดก็คงดีครับ คนเราไม่เป็นกลางหรอกครับ แต่ขอให้เป็นธรรมก็พอ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares