Link Copied!

ผู้คน-ดนตรี-กีฬา จากรุ่นสู่รุ่น ตอนที่ 1: คนรุ่นสงครามโลก (Veteran)

มารู้จักคนรุ่นที่มีฉายาว่า รุ่นแห่งความเงียบ หรือ คนรุ่นสงครามโลก หรือ ถ้าพูดให้ใกล้ตัวก็คือ คนรุ่นคุณทวดของเรากันครับ

ความน่าสนใจของโครงสร้างประชากรโลกในปัจจุบันประการหนึ่งคือ เป็นช่วงเวลาที่คนจาก 5 Generation อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน ไม่ว่าจะสังคมงาน สังคมครอบครัว หรือในสังคมสาธารณะทั่วไป ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็เพราะโลกในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเกิดขึ้นของเหตุการณ์สำคัญของโลก ทำให้กรอบความคิดเชิงสังคม และค่านิยมของคนแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันออกไป

เราทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันถือว่ามีความโชคดีเป็นอย่างมาก เพราะมีโอกาสมากมายมหาศาลที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิต มุมมองต่อชีวิตและสังคมจากคนแต่ละรุ่น ซึ่งมีทั้งสีสัน ความทรงจำที่มีคุณค่า บทเรียนที่พึงศึกษา ตลอดจนความเข้าใจที่กระจ่างชัดขึ้นในค่านิยมของคนแต่ละรุ่น

มาดูกันนะครับว่าคนในแต่ละรุ่นมีความน่าสนใจอย่างไร และอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้แนวคิดของคนแต่ละรุ่นแตกต่างกันไป

แล้วดนตรี กับกีฬาในแต่ละยุคสมัยล่ะครับ มีอะไรที่น่าสนใจหรือไม่

⏰⏰⏰

มาเริ่มกันที่รุ่นแรกนะครับ คนรุ่นนี้ในปัจจุบันจะมีอายุในช่วงระหว่าง 76-93 ปีนะครับ หรือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1928-1945 (พ.ศ. 2471-2488) คนรุ่นนี้ถูกตั้งสมญานามว่า “รุ่นสงครามโลก” เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจในช่วงชีวิตของพวกเขาคือ สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีผลอย่างยิ่งต่อค่านิยม ทัศนคติในการทำงาน และความผูกพันกับครอบครัว

ในแนวคิดตะวันตก คนรุ่นนี้ยังถูกกล่าวถึงด้วยคำว่า “รุ่นแห่งความเงียบ” หรือ Silent Generation อะไรทำให้คนรุ่นนี้ค่อนข้างเงียบขรึมกว่าคนรุ่นอื่น มาติดตามกันครับ

ผู้คนที่เกิดในช่วงเวลานั้น เป็นบุตรธิดาของคนรุ่นที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 โลกที่พึ่งผ่านประสบการณ์การฆ่าฟันกันเองของมนุษย์อย่างที่ไม่เคยพบเห็นและรับรู้มาก่อน จากประสบการณ์เลวร้ายนั้น รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงมุ่งมั่นในการจัดระบบเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง ในระดับนานาชาติ สนธิสัญญาแวร์ซายเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1919 เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 และจัดระเบียบโลกหลังมหาสงคราม แต่เป็นที่น่าเศร้าว่าเงื่อนไขของสนธิสัญญานั้น กลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมหาสงครามที่ใหญ่กว่า และนำมาซึ่งการสูญเสียที่มากกว่า

นอกเหนือจากที่คนรุ่นสงครามโลกจะมีประสบการณ์ตรงและทางอ้อมจากมหาสงครามทั้ง 2 ครั้งแล้ว คนรุ่นนี้ยังได้มีโอกาสในการรับรู้โลกาภิวัตน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลก ผ่านประสบการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่ถูกจดจำกันในนาม The Great Depression ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1936 ยิ่งทำให้ประเทศต่างๆ เร่งจัดระบบระเบียบภายในประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจและระบบความมั่นคงของชาติ เพราะการล่าอาณานิคมผ่านสงครามและการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ เริ่มเป็นที่ประจักษ์ชัดในสายตาผู้นำประเทศในช่วงเวลานั้น

ผู้คนในรุ่นผ่านสงครามจึงเป็นผู้คนที่ต้องทำงานในระบบที่คนรุ่นก่อนสร้างขึ้น เป็นผู้คนที่รับรู้ถึงการสูญเสียคนที่รัก สมาชิกในครอบครัวซึ่งจากไปด้วยภัยสงคราม เป็นประชาชนผู้ต้องสร้างฐานะและครอบครัวภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เปราะบาง และซากปรักหักพังของสงคราม

ผู้คนในรุ่นนั้นจึงมุ่งมั่นก้มหน้าก้มตาทำงาน พวกเขาเงียบขรึมกว่าคนรุ่นอื่นเพราะความเศร้าจากการสูญเสีย และความยากลำบากที่ต้องฝ่าฟัน

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของคนรุ่นนี้คือ “การเอาตัวรอด” ซึ่งผมคงไม่ต้องอธิบายนะครับว่าทำไม

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านรุ่นหลังหรือน้องๆ คนรุ่นใหม่ อาจจะมีความเข้าใจคุณทวดหรือคุณปู่คุณย่าของเราดีขึ้นนะครับ ว่าทำไมท่านถึงย้ำกับเราว่าต้องทำงานหนัก เชื่อฟังผู้ใหญ่ ซื่อสัตย์และจงรักภักดีกับประเทศชาติ รวมถึงคำตำหนิที่เราได้รับจากท่านเมื่อเราตื่นสาย เพราะเวลานั้นเป็นทรัพยากรที่มีค่าสำหรับคนรุ่นของท่าน ยิ่งมีเวลาก็ยิ่งมีโอกาสสร้างสิ่งที่ดี

บริบทเชิงสังคมและการเมืองที่สำคัญอีกประการหนึ่งของคนรุ่นนี้ ก็คือแนวคิด “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ในยุคนั้นเกิดผู้นำนามอุโฆษหลายคน ไม่ว่าจะเป็นท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม, มุสโสลินี ผู้นำอิตาลี และ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำประเทศเยอรมนีที่สั่งเดินทัพรุกรานประเทศอื่น ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว สร้างประวัติศาสตร์อันโหดร้ายผ่านกระบวนการล้างสมองให้ประชาชนเห็นความชอบธรรมของการเข่นฆ่า

สำหรับประเทศไทยในยุคนั้น ผู้คนได้รับรู้ถึงความหมิ่นเหม่ในการสูญเสียความเป็นเอกราช อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่เหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 2 ความแตกแยกทางความคิดระหว่างการสนับสนุนฝ่ายอักษะ (แนวร่วมเยอรมนี-อิตาลี-ญี่ปุ่น) และการร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร (นำโดย สหรัฐอเมริกา-อังกฤษ-รัสเซีย) เกิดขึ้นอย่างรุนแรง การแตกแยกทางความคิดในสมัยนั้นรุนแรงไม่แพ้ในปัจจุบันเลยครับ เพียงแต่เป็นการแตกแยกทางความคิดในวิธีการที่จะทำให้ประเทศชาติอยู่รอดปลอดภัย มีแผ่นดินให้อยู่อาศัย มีผืนดินให้สร้างบ้านและสังคมเพื่อคนไทยรุ่นหลัง

คนในรุ่นนั้นได้เห็นกองทัพมหาจักรพรรดิญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย และได้รับรู้เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการให้ความร่วมมือฝ่ายอักษะ ซึ่งส่งผลให้เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศอาชญากรสงคราม และยังคงความเป็นเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้

จากสภาพแวดล้อมที่คนรุ่นนั้นต้องเผชิญ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมคนรุ่นนั้นจึงยึดความคิดตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่ต่างจากคนรุ่น Generation Y หรือ Z ในปัจจุบัน และด้วยความซับซ้อนทางสังคมและการเมืองที่พวกเขาต้องพบเจอ ก็ไม่น่าจะเป็นที่แปลกใจเช่นกันนะครับว่าทำไมการสื่อสารของคุณทวดของน้องๆ หลายคนจะออกแนวสื่อสารทางเดียว สั่งสอน อบรมเสียมากกว่า เพราะคนสมัยนั้นไม่ได้มีเวลาเหลือเฟือเลยครับ

หากแต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พฤติกรรมที่เอาความเชื่อความคิดของตนเองเป็นตัวตั้งของคนรุ่นสงครามนั้น ไม่ได้เป็นความคิดเพื่อตนเอง แต่เป็นความคิดเพื่อความปลอดภัยของครอบครัว ลูกหลาน และประเทศชาติ

🎼🎼🎼

ด้วยสมรภูมิหลักส่วนใหญ่ในสงครามโลกทั้งสองครั้งอยู่บนผืนแผ่นดินทวีปยุโรป จึงส่งผลให้พัฒนาการของดนตรีที่เคยมีศูนย์กลางในยุโรปนั้นชะงักงันไป ดนตรีคลาสสิกที่กำลังพัฒนาไปพร้อมๆ กับการพัฒนาศิลปะในแขนงอิมเพรสชันนิสม์และเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ ความนิยมของโอเปรา บัลเลต์ ตลอดจนการเกิดขึ้นของมูแลง รูจ รวมทั้งเพลงแจ๊สที่มาถึงปารีสพร้อมทหารอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ล้วนแล้วแต่ต้องหยุดความเคลื่อนไหวและการพัฒนา

ตรงกันข้ามกับสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีอิทธิพลต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นอย่างมาก แต่ไม่มีการสู้รบและสมรภูมิรบบนแผ่นดินพญาอินทรีเลย ที่ใกล้ที่สุดก็คือเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นถล่มฐานทัพเพิร์ล ฮาร์เบอร์ในมลรัฐฮาวาย

ดังนั้นศูนย์กลางการพัฒนาการดนตรีของโลกในตอนนั้น จึงย้ายไปอยู่ที่โลกใหม่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นพัฒนาการที่แตกแขนงฉีกออกไปจากแนวทางเดิม ซึ่งเป็นดนตรีที่มีพื้นฐานจากดนตรีคลาสสิก อันเป็นดนตรีของชนชั้นสูง กลายเป็นดนตรีที่มีพื้นฐานการพัฒนาจากดนตรีที่ร้องเล่นกันในหมู่ผู้คนทั่วไป (Folks)

เพลงบลูส์ที่มีรากเหง้ามาจากการร้องเล่นในหมู่ทาสผิวสีในไร่ฝ้าย ได้รับความนิยมมากขึ้นและพัฒนากลายไปเป็นดนตรีแจ๊ส ซึ่งเบ่งบานในทศวรรษ 1940 และ 1950 ตัวอย่างที่ดีที่สุดของพัฒนาการนี้คือ อัลบั้ม Bird Blows the Blues ของ ชาร์ลี พาร์กเกอร์ ออกในปี 1949

พัฒนาการเพลงแจ๊สก้าวกระโดดเป็นอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวเพลงฟรีแจ๊สและคูลแจ๊ส เกิดขึ้นและหยัดยืนอย่างสง่างาม สร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้ดนตรีแจ๊สมีพัฒนาการต่อยอดจนถึงทุกวันนี้ สุดยอดอัลบั้มที่น้อยคนที่ฟังแจ๊สจะไม่รู้จักก็คือ อัลบั้ม Kind of Blue ของเจ้าพ่อคูลแจ๊ส ไมลส์ เดวิส และอัลบั้ม Time Out ของ เดฟ บรูเบ็ค ควอเต็ท ที่ออกพร้อมกันในปี 1959

รากของดนตรีบลูส์ยังแตกแขนงกลายไปเป็น ร็อกแอนด์โรล โลกหลังสงครามจึงได้รู้จัก เอลวิส เพรสลีย์, ชัค เบอร์รี และ ลิตเติล ริชาร์ด ราชาเพลงร็อกยุคบุกเบิก

ดนตรีอีกแขนงหนึ่งที่เกิดจากผู้คนผิวขาวในช่วงนี้คือดนตรีคันทรี ซึ่งเป็นที่นิยมและเติบโตในเชิงพาณิชย์ได้อย่างน่าทึ่ง สุดยอดอัลบั้มเพลงคันทรีในช่วงนั้นคือ Dust Bowl Ballads ชุดที่ 1 และ 2 ของ วูดดี กัทรี ซึ่งออกในปี 1940 ดนตรีที่สะท้อนชีวิตชาวไร่ชาวนาในประเทศ

ฟากดนตรีที่เล่นในคลับปารีสนั้น ก็มีการต่อยอดในอเมริกาด้วยนักร้องทั้งฝ่ายชายและหญิง อัลบั้ม In the Wee Small Hours ของ แฟรงก์ ซินาตรา และ Lady in the Satin ของ บิลลี ฮอลิเดย์ กลายเป็นอัลบั้มอมตะที่ผู้คนทุกยุคสมัยนิยมเปิดเคล้าบรรยากาศฝนตกพร้อมเครื่องดื่มดีๆ สักแก้ว

ในฝั่งโลกเก่ายุโรปนั้น แม้จะบอบช้ำจากภัยสงคราม ก็ยังรังสรรค์ดนตรีชั้นเยี่ยมจากพื้นฐานของตนเองอย่างมั่นคง อัลบั้ม Chansons Des Cafés de Paris ของ เอดิท เพียฟ ซึ่งออกในปี 1948 ตอกย้ำวัฒนธรรมที่สืบสานอยู่รอดผ่านยุคสงคราม ส่วนค่ายคลาสสิกก็มี The Goldberg Variations ของ เกล็นน์ กูลด์ หนึ่งในงานดนตรีที่ตีความบทประพันธ์ โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค ได้อย่างหมดจดงดงาม

นอกเหนือจากอมตะอัลบั้มที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว อีกหนึ่งผลงานดนตรีที่มีอิทธิพลต่อจิตใจและความรู้สึกของผู้ฟังทุกผู้ทุกวัยในสมัยนั้นก็คืออัลบั้ม Merry Christmas ของ บิง ครอสบี ที่ออกในปี 1945 เป็นดนตรีที่ให้ทั้งความหวัง กำลังใจ ปลอบประโลมผู้คนที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งที่โลกเคยมีมา

ย้อนกลับมายังสยามประเทศ เรารับวัฒนธรรมดนตรีต่างประเทศ เป็นความบันเทิงทางเลือกมาตั้งแต่ทศวรรษ พ.ศ. 2470 ก่อนสมัยแนวคิดนำพาประเทศสู่ความเป็นอารยะของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสียอีก ในขณะนั้นดนตรีไทยยังคงเป็นที่นิยม แม้ว่าวงปี่พาทย์ชั้นนำส่วนใหญ่จะอยู่ในอุปถัมภ์ของเจ้านาย แต่การละเล่นดนตรีไทยก็เป็นไปอย่างกว้างขวาง เพลงพื้นบ้าน พื้นเมือง ก็หาฟังได้ตามงานรื่นเริงต่างๆ

ต่อมาเมื่อท่านจอมพลขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ นโยบายการนำประเทศสู่ความเป็นอารยะก็ถูกถ่ายทอดกึ่งบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนดนตรีไทย ก็เป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติของท่านผู้นำ และเป็นที่มาของพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการบรรเลงดนตรี พ.ศ. 2486 กำหนดรายละเอียดยิบย่อยเกี่ยวกับการร้องเล่นดนตรีไทย จนทำให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจในหมู่ครูเพลงและคนปี่พาทย์เป็นอย่างมาก แม้แต่ชาวบ้านก็มีข้อจำกัดในการหยิบเครื่องดนตรีมาบรรเลงเพื่อความสำราญ เพราะไม่มีบัตรนักดนตรี ท่านผู้อ่านที่เคยชมภาพยนตร์ไทยเรื่องโหมโรงจะรับรู้เรื่องราวเหล่านี้เป็นอย่างดี

ด้วยกลไกทางนโยบายและกฎหมายดังกล่าว ดนตรีสากลจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย ผู้คนเริ่มเห็นงานลีลาศ เริ่มได้รับฟังดนตรีจากเครื่องดนตรีสากลมากขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับดนตรีไทยที่มีบทบาทในสังคมลดน้อยถอยลง ครูเพลงชั้นนำหลายคนที่ส่วนใหญ่มีพื้นเพจากอัมพวาก็จำต้องถ่ายทอดวิชาความรู้กันอย่างเงียบๆ

ดนตรีไทย และ ดนตรีสากล แลดูเหมือนจะอยู่ร่วมกันได้ยาก

แต่แล้วก็มีครูเพลงอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนพื้นเพอัมพวาเช่นกัน ได้หยิบเอาดนตรีสากลมาเชื่อมโยงกับคำร้องทำนองแบบไทย สร้างเป็น “ดนตรีไทยสากล” ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างดนตรีตะวันตก เสียงจากเครื่องดนตรีสากล ห่อหุ้มเนื้อหาเพลงและอัตลักษณ์ด้านภาษาที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างไพเราะ เข้าถึงง่าย จึงเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ต่อมาภายหลังท่านได้ตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดนตรีที่เพลงยอดนิยมหลายต่อหลายเพลงถูกนำมาร้องคัฟเวอร์ใหม่จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ครูเอื้อ สุนทรสนาน คือครูเพลงที่มีคุณูปการต่อวงการดนตรีไทยอย่างใหญ่หลวง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

⚽️⚽️⚽️

การแข่งขันฟุตบอลโลกเกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ฟุตบอลโลกครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ประเทศอุรุกวัย ในปี ค.ศ. 1930 โดยการแข่งขันครั้งแรกมีขึ้นพร้อมกัน 2 นัด และสองทีมแรกที่กำชัยเป็นประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโลกคือ ฝรั่งเศส ที่เอาชนะเม็กซิโก 4-1 และ สหรัฐอเมริกาที่อัดเบลเยียมไป 3-0 ฟุตบอลโลกครั้งแรกสุดจบลงด้วยการคว้าแชมป์โลกของอุรุกวัยทีมเจ้าภาพ ยอดทีมในสมัยนั้นที่ก่อนหน้านี้คว้าเหรียญทองในฟุตบอลโอลิมปิกมา 2 สมัยซ้อนในปี 1924 และ 1928

อิตาลีคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2 ครั้งถัดมาในปี 1934 และ 1938 ในช่วงนี้กีฬาถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรณรงค์อุดมคติและแนวคิดทางการเมือง ที่เห็นได้อย่างแจ่มชัดคือกีฬาโอลิมปิกปี 1936 “เบอร์ลิน เกมส์” ซึ่ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ใช้เป็นกลไกในการประกาศนโยบายและอุดมคติของชนชาติอารยัน และเป็นการแข่งขันครั้งแรกที่มีการวิ่งคบเพลิงไฟโอลิมปิก แต่สิ่งที่น่าประทับใจที่เกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่น่าอึดอัดใจก็คือ การที่ เจสซี โอเวน นักกีฬาผิวสี สร้างปรากฏการณ์คว้า 4 เหรียญทอง ว่ากันว่าฮิตเลอร์ถึงกับหนวดกระดิกด้วยความไม่สบอารมณ์ที่นักกีฬาซึ่งไม่ใช่เผ่าพันธุ์อารยัน แถมยังมาจากประเทศโลกใหม่ มาสร้างตำนานในการแข่งขันที่ตนเองต้องการประกาศศักดา

เมื่อความขัดแย้งทางการเมือง ความบาดหมางระหว่างชาติมหาอำนาจ บ่มเพาะจนถึงจุดเดือด มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น ส่งผลให้ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกไปอีก 12 ปี

บราซิล ชาติที่ควรได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันในปี 1946 แต่ต้องถูกยกเลิกไปเพราะภัยสงคราม รับหน้าที่เจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งที่ 4 ในปี 1950 แม้จะสมหวังที่ได้เป็นเจ้าภาพแต่ก็ต้องผิดหวังต่อหน้าแฟนบอล 173,850 คนในสนามมาราคานา เมกกะแห่งวงการฟุตบอล เมื่อพลาดท่าพ่ายอุรุกวัยไป 1-2 ในนัดชิงชนะเลิศ

4 ปีต่อมาชาติเป็นกลาง สวิตเซอร์แลนด์ รับหน้าที่เจ้าภาพในปี 1954 ปีที่คนยุคนั้นได้เห็นเยอรมนีตะวันตก ชาติที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรสงคราม ประเทศที่ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ภาระหนี้สินสงครามล้นพ้นตัว แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่สามารถเหยียบย่ำสปิริตของนักเตะแดนอินทรีเหล็กได้ พวกเขาเอาชนะฮังการี ทีมชั้นยอดที่มีนักเตะพรสวรรค์ชั้นเยี่ยมล้นทีม 3-2 ในรอบชิง คว้าแชมป์แรกให้มาตุภูมิ

ผู้คนที่เกิดในปี 1945 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของยุคคนรุ่นสงครามโลก มีอายุ 13 ปีในปี 1958 เป็นช่วงอายุของเด็กกำลังโต รับรู้เรื่องราวต่างๆ ด้วยตนเอง ในปีนั้นพวกเขาได้รู้จักกับยอดนักเตะดาวรุ่งที่ต่อมาก้าวขึ้นไปสู่การเป็นนักเตะที่ดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา เขาคือ “ไข่มุกดำ” เปเล่ ผู้พาทีมแดนแซมบ้าครองแชมป์เป็นครั้งแรกในฟุตบอลโลกที่สวีเดน

⏰⏰⏰

ชีวิตของคนรุ่นสงครามโลกเป็นไปอย่างยากลำบาก การสร้างตัวการสร้างชีวิตเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่พัฒนาการของดนตรีและกีฬาที่เกิดขึ้นในยุคนั้น บอกให้เราได้รู้ว่า ไม่ว่ามนุษย์จะประสบความยากลำบากขนาดไหน ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมทั้งทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ก็จะพัฒนาต่อไป และยิ่งลำบากแค่ไหน อัตราเร่งของการพัฒนาและการแตกแขนงของศิลปะวิทยาการก็เป็นไปในอัตราที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ความเป็นชาติและการรักษาความภูมิใจของชาติเป็นเรื่องสำคัญในทุกยุคทุกสมัย แต่คนรุ่นสงครามโลกของไทย คือผู้คนที่มีความสำคัญในการธำรงรักษาเอกราชของประเทศไทยไว้จนถึงปัจจุบัน

หากท่านผู้อ่านชอบใจบทความ อย่างลืมติดตามต่อตอนที่ 2 นะครับ “คนรุ่น Baby Boomers” ครับ

อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊คทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม

Total
0
Shares