โอลิมปิกฤดูร้อนปี 1989 กับ จุน โอชิกะ การบอยคอต สงครามเย็น และ กีฬาที่หนีไม่เคยพ้นการเมือง ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ที่มอสโก
การเมืองไม่ใช่เรื่องของกีฬา
กีฬาไม่ข้องเกี่ยวการเมือง
นั่นคือสโลแกนเท่ห์ๆ ของวงการกีฬาที่ไม่เคยเป็นจริง
โอลิมปิกที่กรุงมอสโกเมื่อปี 1980 ที่จบลงด้วยการเป็นกีฬาโอลิมปิกที่วุ่นวายที่สุด และขาดอรรถรสในการชิงชัยเป็นที่สุด
เพราะก่อนมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติจะเริ่มขึ้น ความคุกรุ่นระหว่างสองชาติมหาอำนาจมากที่สุดในขณะนั้นเดินทางมาถึงจุดที่เกิดการย้ายสนามรบมาไว้ที่สนามกีฬา
ในวันที่สหภาพโซเวียตเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1980 เคลื่อนกองทัพเข้าไปยึดครองอัฟกานิสถาน เสมือนเป็นการตบหน้าพญาอินทรีอย่างต่อเนื่อง
หลังจากที่พญาหมีขาวได้ชัยชนะในสงครามตัวแทนบนแผ่นดินอิหร่านที่เรียกกันว่า “ปฏิวัติอิสลาม” เมื่อเกิดการลงมติให้อิหร่านเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองไปสู่การเป็นสาธารณรัฐอิสลามในช่วงต้นปี 1979 ท่ามกลางการนองเลือดอย่างรุนแรงอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระดับผู้ปกครองของประเทศ
อะยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำทางศาสนาของอิหร่านที่โซเวียตคอยหนุนหลังอยู่ ได้สิทธิ์ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในฐานะผู้ชนะ ที่ไม่กี่ปีก่อนหน้าเคยเป็นอดีตคนที่ไม่มีแผ่นดินอยู่
นั่นจึงเท่ากับว่า พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี กษัตริย์ของอิหร่านที่สถาปนาตัวเองว่าเป็น King of the Kings จากการเป็นเด็กดีที่มีน้ำมันอันมหาศาลของชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ได้พ่ายแพ้ให้กับอดีตครูสอนศาสนาจนตัวเองได้ไร้แผ่นดินอยู่บ้าง
สาเหตุหลักคือการปกครองประเทศด้วยการกดขี่ประชาชน ไม่ฟังเสียงประขาชน และ เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบภายใต้การสนับสนุนจากโลกเสรีที่กระหายทรัพยากร
หลังจากนั้น ประธานาธิบดีเลโอนิด เบรซเนฟ ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น เขามั่นใจในแสนยานุภาพทางกองทัพ และหมากที่ชนะสงครามตัวแทนที่อิหร่าน เขาจึงสั่งกองทัพเข้ายึดครองอัฟกานิสถานเป็นสถานีต่อไป
ซึ่งคราวนี้ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ แห่งอเมริกา ไม่สามารถยอมให้ทำตัวเป็นผู้ถูกบาทาลูบพักตร์ได้อีกต่อไปแล้ว
เขาอยู่ในช่วงคะแนนตกต่ำในปีที่สามของตำแหน่งอันสั่นคลอน ยิ่งโซเวียตแข็งแกร่งเขายิ่งดูอ่อนแอ เพราะทำให้ภาพลักษณ์ผู้นำโลกฝั่งประชาธิปไตยของพวกเขาถูกท้าทาย จนกลายเป็นผู้อ่อนแอ สิ้นท่า และไร้พลังในสายตาชาวโลก
หนึ่งในมาตรการตอบโต้ที่เต็มไปด้วยกรุ่นไอจากควันไฟของสงครามนิวเคลียร์ ก็มีเรื่องราวของการแข่งขันกีฬาอยู่ในนั้น เมื่อ จิมมี คาร์เตอร์ ขอมติจากชาติในสนธิสัญญานาโต เพื่อตอบโต้โซเวียตด้วยการร่วมประกาศเจตนารมณ์ว่า
“เราจะบอยคอตกีฬาโอลิมปิก 1980 ที่สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ ชาวอเมริกันทุกคน รวมทั้งผมเอง จะไม่สนับสนุนการส่งนักกีฬาของเราไปร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่มอสโก””
จำนวนชาติทั้งหมดทั้งที่เป็นพันธมิตรทั้งใน และ นอกนาโต รวมทั้งหมด 66 ชาติ จึงได้บอยคอตกีฬานั้น ทั้งเป็นการบอยคอตด้วยการงดส่งนักกีฬาไปร่วมการแข่งขัน หรือ ส่งไปเพียงแค่บางประเภท แต่จะไม่มีการใช้ธงชาติ หรือเพลงชาติในพิธีการต่างๆ
ซึ่งประเทศไทย และ ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่งดส่งนักกีฬาไปแข่งขัน จึงทำให้ พเยาว์ พูนธรัตน์ ฮีโร่เหรียญทองแดงจากมอนทรีออลเกมส์ 1976 อดเป็นคนถือธงไตรรงค์นำหน้าขบวนนักกีฬา
::
และจากการการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่น และคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่น ที่เข้าร่วมการบอยคอตโอลิมปิก 1980 ด้วยการงดส่งนักกีฬาทุกประเภทไปแข่ง
จึงทำให้ทีมวอลเล่ย์บอลหญิงญี่ปุ่นเจ้าของเหรียญทองเมื่อปี 1976 จึงหมดสิทธิ์ไปป้องกันเหรียญทองที่มอสโกอย่างน่าเสียดาย นี่จึงเป็นเหรียญทองสุดท้ายในประวัติศาสตร์ของทีมวอลเลย์บอลหญิงของญี่ปุ่นอีกด้วย
สถานีโทรทัศน์อาซาฮี ซึ่งเป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดโอลิมปิกแต่เพียงผู้เดียวของญี่ปุ่น จึงเกิดอาการแอร์ไทม์ที่ว่างลงในช่วงเวลา 19.30 - 20.00 น. ของทุกวันศุกร์ เพราะการถอนตัวดังกล่าว
นายสถานีจึงได้นำเอาซีรี่ส์กีฬาเรื่อง 燃えろアタック ( Moero Attack ) ผลงานที่เป็นฉบับออริจินัลของ อิชิโนโมริ โชทาโร เข้ามาออกอากาศแทนตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 มกราคม ปี 1979 จนจบบริบูรณ์ลงเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ปี 1980 รวมทั้งหมด 71 ตอน
ส่วนในประเทศไทยนำเข้ามาฉายเมื่อปี พ.ศ.2523 ภายใต้ชื่อ “ยอดหญิงชิงโอลิมปิก” หลังจากออนแอร์ที่ญี่ปุ่นไปไม่กี่ตอน
ซึ่งบริษัท รัชฟิล์ม ทีวี เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นสถานีระดับแนวหน้าของไทย
โดยเป็นเรื่องราวของ จุน โคชิกะ สาวน้อยวัย 14 ปี ผู้กำพร้าแม่ ที่อยู่กับ โคทาโร ผู้เป็นพ่อที่ดูแลฟาร์มปศุสัตว์ในท้องถิ่นทุรกันดารของฮอกไกโด
ตั้งแต่จำความได้ จุนโตมาพร้อมกับความทรงจำที่พ่อพร่ำบอกกับเธอว่าแม่ตายไปแล้ว และ เธอก็ไม่มีแม้แต่ภาพถ่ายของแม่ให้ได้ดูต่างหน้าแม้แต่ใบเดียว
จุนจึงใช้รูปปั้นหินที่จมอยู่ที่ก้นแม่น้ำเป็นตัวแทนหลุมศพของแม่เธอ ในทุกครั้งที่เธอคิดถึงหรือท้อแท้ใจ เธอจะมาคุย และ สวดอ้อนวอนกับรูปปั้นหินนั้น
โคทาโรฝึกลูกสาวอย่างหนักหน่วงราวกับกองทัพฝึกนักรบตั้งแต่จุนมีอายุ 4 ขวบ เพื่อนบ้านบางคนพูดกันว่านี่คือการฝึกม้าพยศอย่างไร้ปราณีด้วยการควบมันไปทั่วฟาร์ม
วิ่งสิ วิ่ง วิ่ง วิ่งไปอย่าหยุดนะ คือ เสียงที่คนแถวนั้นคุ้นเคยในทุกๆ วัน และ ภาพที่เห็นกันจนคุ้นตาก็คือ จุนวิ่งแทบไม่เคยได้หยุดพักในทุ่งหญ้าที่ไม่เคยมีความใกล้เคียงกับทุ่งลาเวนเดอร์แม้แต่นิดเดียว
จนโคทาโรพาจุนมาฝึกกระโดดตบ โดยมีคุซูดามะ (ลูกบอลที่พับจากกระดาษ)ที่ห้อยลงมาจากต้นไม้สูงเป็นเป้าให้จุนกระโดดตบ
แต่มันอยู่สูงเกินไปจนจุนไม่เคยเอื้อมถึงเลย
จุนครุ่นคิดมาตลอดว่าทำไมพ่อจะต้องสั่งให้เธอกระโดดตบลูกบอลกระดาษนั้น เธอรู้เพียงว่านี่คือโปรแกรมฝึกพิเศษ
โคทาโรบอกกับจุนเพียงว่า “เมื่อคุซูดามะลูกนี้แตก ชีวิตใหม่ของลูกจะเริ่มต้น”
แม้จะเต็มไปด้วยคำถามที่ค้างคาใจ แต่จุนก็ยังคงฝึกฝนแบบนี้ที่กลายเป็นกิจวัตรประจำวันต่อไป และ เชื่อมั่นว่าคำพูดของพ่อเธอจะต้องมีความพิเศษอยู่ในนั้น
เธอเพียรพยายามฝึกร่างกายอย่างหนัก และ พยายามฝึกกำลังขาให้แข็งแรงมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่ลูกบอลกระดาษนั้น
วันแล้ววันเล่า กระโดดแล้วกระโดดเล่า
จนกระทั่งวันที่รอคอยก็มาถึง จุนกระโดดตบจนคุซูดามะแตก แล้วท่ามกลางเศษกระดาษที่ปลิวไสวก็มีกระดาษแผ่นหนึ่งปลิวลงมาตกบนมือของเธอ
กระดาษแผ่นนั้นคือจดหมายที่มีใจความว่า “โตเกียว”
จุนถามพ่อว่า “พ่อคะ นี่คืออะไร”
“ขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ถึงเวลาที่ลูกต้องย้ายไป ชิโรฟูจิ(Shirofuji Gakuen) ที่โตเกียวแล้วจุน”
“ชิโรฟุจิ กาคุเอน คืออะไรคะพ่อ”
“ที่นั่นเป็นโรงเรียนที่แม่ของลูกเคยเรียน และ เคยเป็นนักวอลเลย์บอล”
“แม่ของหนู… “
” ใช่ แม่ของลูกเคยอยู่ที่นั่น”
จุนจึงออกเดินทางไปที่โรงเรียนที่แม่เคยเรียน โดยมีเพียงความหวังว่าจะได้รู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับเเม่ของเธอเพิ่มขึ้น
จุนมีลุง และป้าสะใภ้ ที่รอคอยการมาของเธออยู่ที่โตเกียว
ที่โรงเรียน ชิราฟุจิ กาคุเอน ที่ปรึกษาของสโมสรวอลเลย์บอลของที่นั่นคือ ฮายามิสุ ไดโซะ เป็นคนรับช่วงดูแลเธอต่อ
“แม่ของเธอเป็นนักวอลเลย์บอลมือเก๋าของสโมสรวอลเลย์บอลที่ชิราฟุจิ กาคุเอน
ส่วนเธอ จุน โคชิกะ เธอจะต้องเข้าร่วมชมรมวอลเลย์บอลของเราตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”
จากนั้นคนทั้งประเทศก็ได้เห็นสาวน้อยจุนเป็นศูนย์กลางของทีม เธอค่อยๆ ชนะใจเพื่อนๆ จนดึงดูดให้เพื่อนร่วมทีมเริ่มตั้งใจฝึกซ้อม และ รู้รักสามัคคีมากขึ้น
ท่ามกลางการฝึกหนักของที่นี่ จุนอยู่ในสายตาของ ไดซุเกะ ฮายามิ ลูกชายของที่ปรึกษาของทีม ที่เป็นคนแรกที่ยื่นลูกวอลเลย์บอลให้เธอพร้อมบอกว่า “นำมันไปพิสูจน์ตัวเอง”
จุนมีเป้าหมายอันสูงสุดด้วยการต้องเก่งจนมีรายชื่อติดทีมชาติชุดลุยโอลิมปิกที่มอสโกให้ได้
แล้วเมื่อจุนทำสำเร็จ พ่อของเธอจะพาเธอไปพบแม่ แม่ผู้เคยเป็นมือตบของทีมแชมป์ระดับประเทศ และมีความฝันอยู่ที่การได้เหรียญทองโอลิมปิกที่โตเกียวเกมส์ เมื่อปี 1964
แต่โชคร้ายที่การฝึกอันหนักหน่วงของแม่ทำให้เอ็นที่ขาฉีกขาดจนเล่นวอลเลย์ต่อไปไม่ไหว จนทำให้เส้นทางแห่งความฝันของแม่จบลงก่อนโอลิมปิกครั้งนั้นจะเริ่มขึ้น 2 ปี
จินตนาการของผู้เขียนบทสูงมาก ไม่ว่าจะผ่านการกระโดดเสิร์ฟของจุนที่สวมหมายเลขห้าจนลูกบอลแบนโค้งหลอกคู่ต่อสู้ , ลูกตบฟ้าผ่าที่จุนต้องม้วนหน้ากลางอากาศหนึ่งรอบ และ ลูกกระโดดตบคู่ที่จุนกระโดดม้วนหน้ากลางอากาศพร้อมเพื่อนร่วมทีม
รวมทั้งอีกหลากหลายท่าไม้ตายของเพื่อนร่วมทีม และ ยังมีท่าเด็ดของคู่แข่งของพวกเธอมาหลอกล่อให้คนดูติดตาม
จนสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนตั้งใจฝึกกีฬา เช่นเดียวกับเรื่องสิงห์สาวเจ้าสนาม , เงือกสาวเจ้าสระ หรือการ์ตูนเรื่องดังอย่างกัปตันซึบาสะ
จนทำให้ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าทางการกีฬาอย่าวก้าวกระโดด จนกลายเป็นพี่ใหญ่แห่งเอเชียในกีฬาประเภทหลักร่วมกับจีน และ เกาหลีใต้มาจนถึงทุกวันนี้
รวมทั้งยังทำให้ค่ายละครดังอย่างกันตนาสร้างละครกีฬาดีๆ ขึ้นมาให้ได้รับชมกัน อย่างเช่น
ไต้ฝุ่น ละครเกี่ยวกับทีมวิ่งผลัดหญิง 4 x 100 เมตร
แชมป์ชิงแชมป์ ละครเกี่ยวกับกีฬาแบดมินตัน
ลมหายใจไม่เคยแพ้ ละครเกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอล
รวมทั้งละครอย่างเรื่อง โผน กิ่งเพชร อีกหนึ่งเรื่อง
จนบางครั้งผู้เขียนก็แอบอิจฉาคนที่ทันละครในช่วงปี พ.ศ.252.. ที่มีละครคุณภาพน้ำดีหลายเรื่องให้ได้เสพย์กัน
แล้วก็แอบหวังว่าในวันข้างหน้าจะมีนายทุนทุ่มเงินจ้างค่ายคุณภาพสร้างละครแบบนี้ขึ้นมาอีกสัก 1 2 3…. เรื่อง
อัพเดตเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬา ติดตาม PlayNowThailand.com ที่เฟสบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม